ตอนนี้การดูหนังสักเรื่องนั้นแสนง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปโรงหนังเหมือนเก่า เรามีสตรีมมิ่ง มีอินเทอร์เน็ต จะควักมือถือขึ้นมาดูหนังตอนไหนก็ได้แม้แต่ในรถเมล์ หากจะเดินเข้าโรงภาพยนตร์ก็แสนง่าย เพียงแค่จองตั๋วล่วงหน้า เปิดคิวอาร์โค้ดให้พนักงานสแกนได้ในไม่กี่นาที แต่เทคโนโลยีสุดแสนจะรวดเร็วและทันสมัยนี้ใช่ว่าจะตอบโจทย์สำหรับทุกช่วงวัยโดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ
สำหรับคนวัยเกษียณ การออกจากบ้านไปดูหนังในโรงภาพยนตร์สักเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ความซับซ้อนทันสมัยของเทคโนโลยีอาจกลายเป็นความยากลำบากจนกลายเป็นอุปสรรคเข้าถึงความบันเทิง ทั้ง ๆ ที่ผู้สูงอายุวันนี้ เป็นกลุ่มคนที่ผูกพันกับการดูหนังในโรงภาพยนตร์มากกว่ากลุ่มไหนเสียอีก เมื่ออายุมากขึ้น การออกจากบ้านไปโรงหนังก็ดูจะไม่ง่ายนัก ทั้งการเดินทาง ค่าใช้จ่าย แถมประเภทของหนังที่ฉายก็ไม่อยู่ในความสนใจและโรงหนังยุคใหม่ก็เหมือนจะไม่ใช่ที่ทางของพวกเขาอีกต่อไป แม้ในใจลึก ๆ ก็ยังอยากย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นอีกครั้ง
มนุษย์ต่างวัยคุยกับ คุณมดเอ็กซ์ – สัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และคุณเบล – วชิราภรณ์ ขวาของ ผู้ดูแล “โครงการภาพยนตร์กับผู้สูงอายุ” ที่จะเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของโครงการและการจัดโรงหนังสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ! เพื่อพาให้พวกเขาเดินย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงเวลาแห่งความสุขในอดีตเพื่อทำให้ชีวิตกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
โรงหนังสูงวัย – เริ่มต้นจากชวนผู้เฒ่าออกมาดูหนัง ป้องกันโรคสมองเสื่อม
คุณมดเอ็กซ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการโครงการว่า เมื่อราว 5-6 ปีที่แล้วได้มีโอกาสร่วมงานจัดฉายภาพยนตร์กับศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ (ประธานชมรมสมองใส ใจสบาย ศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาฯ) และ รศ. นพ. สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม ในครั้งนั้นมีเป้าหมายฉายหนังให้ผู้สูงอายุดูเป็นหลัก แม้ครั้งแรกจะมีผู้เข้าชมเพียง 50 คนเท่านั้น แต่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนกระทั่งขยายกลุ่มผู้ชมเป็น 200 คน ทั้งคนไข้และบุคคลทั่วไป หลังชมภาพยนตร์จบ มีกิจกรรมเสวนาร่วมกับวิทยากรรับเชิญเพื่อชวนคุยและให้ความรู้
“ครั้งแรกที่จัดฉาย เราเลือกเรื่อง The Theory of Everything (2014) ประสบความสำเร็จมาก คนชื่นชอบ ครั้งถัดมาเลยลองเลือกหนังเกี่ยวกับสุขภาพและผู้สูงอายุมาฉาย เช่น เรื่องภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พอหนังจบ เราก็จัดเสวนาแลกเปลี่ยนกับวิทยากรรับเชิญ ตอนนั้นคนชอบมาก ผมคิดว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดีทีเดียว เราเห็นตรงกันว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงวัยเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมคือการอยู่บ้านเฉยๆ เราอยากหากิจกรรมให้เขาทำ ดึงออกมาพบปะผู้คน สังสรรค์ หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ให้เขายัง active อยู่เสมอ ยิ่งในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้สูงอายุบางกลุ่มยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต ความสนใจหรือการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ย่อมมีจำกัด แต่ภาพยนตร์ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีเรื่องราว มีมิติ ชวนคิด ชวนคุยได้หลายประเด็น ”
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้น จึงกลายเป็นกิจกรรมภาพยนตร์เพื่อผู้สูงอายุ จัดฉายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นประจำต่อเนื่องกันมากว่า 40 ครั้งแล้ว ทำให้ทางหอภาพยนตร์ริเริ่มกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวควบคู่กันไป
“เรากลับมาคิดกันว่า ที่หอภาพยนตร์เองก็น่าจะมีแบบนี้เหมือนกันนะ ช่วงแรกมีคุณมนัส กิ่งจันทร์ เจ้าหน้าที่ของหอฯ ที่เป็นคนชอบดูหนังไทยเก่าๆ อยู่แล้ว มาเป็นผู้ดูแลกิจกรรม ครั้งแรก ๆ ผู้ชมที่เข้ามาดูมาจากโรงพยาบาลชุมชนในละแวกใกล้เคียง จึงกลายเป็นว่าตอนนี้มีกิจกรรมโรงหนังผู้สูงอายุทั้ง 2 ที่เลย ทั้งที่หอภาพยนตร์ และโรงพยาบาลจุฬาฯ”
เลือกหนังอย่างเข้าใจ ตอบโจทย์ผู้สูงวัยทุกกลุ่ม
กลุ่มผู้สูงอายุที่มาดูหนังที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และหอภาพยนตร์ ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน กลุ่มโรงพยาบาลจุฬาฯ จะมีทั้งคนไข้และบุคคลทั่วไป แต่กลุ่มหอภาพยนตร์มักเป็นผู้สูงอายุในพื้นที่ ทำให้การเลือกประเภทของหนังย่อมต่างกันไปด้วย
“การฉายหนังที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เราจะเน้นหนังที่มีประเด็นการแพทย์ เน้นการให้ความรู้ ชวนคิด ชวนคุยเป็นหลัก แต่บางครั้งก็มีข้อจำกัดนะ เราเคยฉายหนังเรื่องหนึ่ง ตอนจบมันเศร้ามาก มีคนไข้มาสะท้อนให้คุณหมอฟังว่าหนังวันนั้นมันทำให้เขาดิ่ง ครั้งนั้นเป็นบทเรียนสำคัญเลยว่าต้องเลือกหนังที่ดูจบแล้วรู้สึกดีกลับไป ตอนจบต้องคลี่คลายได้ หนังบางเรื่องเนื้อหาดีเช่น เรื่องอัลไซเมอร์ มันใกล้ตัวเขามาก แต่ถ้าหนังมันมีโทนเศร้าๆ ทำให้คนดูรู้สึกดาวน์ เราจะไม่เลือกมา
แต่ถ้าเลือกหนังเฮฮามากๆ บางทีก็อาจไม่เหมาะเหมือนกันนะ ผมเคยเลือกหนังเรื่องหนึ่ง เป็นหนังสนุกสนานเฮฮา เพราะเห็นว่าเป็นช่วงปีใหม่ แต่มันไม่มีสาระอะไรเลย เลยไม่รู้ว่าดูจบจะชวนคนดูคุยอะไรได้เนี่ย (หัวเราะ) ตอนนั้นคุณหญิงฯ ได้ให้ไอเดียกับผมอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ว่าอย่าทรีท คนแก่เป็นคนแก่ เวลาเลือกหนังให้เขาดูสักเรื่อง อย่าเอาแต่คิดว่าต้องเลือกหนังดูง่ายๆ เบาๆ สนุกๆ อย่าคิดว่าเขาดูหนังยากๆ ไม่ได้ เราต้องพยายามท้าทายเขา กระตุ้นให้เขาฝึกสมองตลอดเวลา” คุณมดเอ็กซ์กล่าว
ในเดือนนี้ โรงพยาบาลจุฬาฯ เลือกฉายเรื่อง The Social Dilemma (2020) เป็นสารคดีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ การเผยแพร่ข่าวปลอมต่างๆ และมีเวิร์กชอปการใช้เทคโนโลยีให้ผู้สูงอายุ ส่วนหนังทางฝั่งหอภาพยนตร์จะเน้นการให้ความบันเทิง สนุกสนานมากกว่าสาระทางการแพทย์เหมือนทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ผู้สูงอายุสามารถรวมกลุ่มกันมาแล้วเลือกหนังที่อยากดูมาได้เลย บางกลุ่มชอบหนังไทย บางกลุ่มชอบหนังฝรั่ง ขอแค่บอกมาทางหอภาพยนตร์จัดให้ได้หมด แถมบางเรื่องก็มีหลายเวอร์ชั่นเสียด้วย ทั้งหมดนี้ผู้สูงอายุไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมยังมีอาหารเลี้ยง
“เพราะเป้าหมายของหอภาพยนตร์คือการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไป รวมทั้งผู้สูงอายุได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ได้ออกจากบ้าน มาเจอผู้คน พบปะสังสรรค์ มามีกิจกรรม มีเพื่อน มีสังคม ไม่นอนเฉาอยู่บ้านเฉยๆ อยากดูเรื่องอะไร เราจัดให้ได้หมด เหมือนให้เขาปิดโรงหนังดูกันเองในกลุ่มสนุกๆ ที่สำคัญคือต้องไม่เดินทางลำบาก หรือไกลเกินไป เราคาดหวังเพียงแค่ให้เขามาดูหนัง แฮปปี้มีความสุข แล้วกลับบ้าน แค่นั้นก็พอแล้ว”
The Good Old Days – โรงหนังที่คิดถึง
ผู้สูงอายุในวันนี้ คือกลุ่มคนที่โตมากับโรงหนัง ไม่ได้โตมากับทีวีหรืออินเทอร์เน็ตเหมือนเด็กยุคหลัง การออกจากบ้านมาดูหนัง นอกจากความบันเทิงสนุกสนานแล้ว โรงหนังยังเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางใจ เป็นแหล่งบันเทิงเพียงไม่กี่แห่งในวัยหนุ่มสาวที่มีคุณค่าและความหมาย
“ผมเติบโตในช่วง พ.ศ. 2520 ตอนนั้นเราเริ่มมีทีวีดูที่บ้านกันแล้ว แต่ผมคิดว่ารุ่นผมยังเติบโตมากับโรงหนังนะ ยังมีโรงหนัง stand alone อยู่ ถ้าวันไหนเราได้ออกไปดูหนังนะ เราต้องเตรียมตัวแต่เช้า อาบน้ำแต่หัววัน แต่งตัวดีๆ ทั้งๆ ที่โรงหนังมันก็อยู่หลังบ้านนี่เอง ดูจบก็ต้องไปหาก๋วยเตี๋ยวกิน คือมันเป็นวันพิเศษ วันสำหรับการดูหนัง มันคือโอกาสพิเศษเลยแหละ (ยิ้ม) แต่หลัง พ.ศ. 2530 โรงหนัง stand alone เริ่มหายไปแล้ว ที่ๆ เคยเป็นโรงหนังกลายเป็นชอปปิงมอลล์ เป็นโรงหนังอยู่ในห้างฯแทน ทำให้วัฒนธรรมการดูหนังของคนยุคหลังเปลี่ยนไป มันไม่ใช่การไปโรงหนังเพื่อไปดูหนัง แต่เป็นคือการไปเที่ยวแล้วแวะดูหนังต่างหาก โรงหนังจึงอาจไม่ได้มีอิทธิพลกับคนยุคหลังมากเท่าคนรุ่นก่อนหน้า มันทำให้ทัศนคติต่อการดูหนังของคนแต่ละรุ่นต่างกันนิดหน่อย
“คนรุ่นผมยังผูกพันกับโรงหนัง คนรุ่นพ่อแม่ตายายยิ่งผูกพัน เพราะการหาความบันเทิงในวัยหนุ่มสาวของเขาคือโรงหนัง วันนี้เขาเป็นผู้สูงอายุแล้ว บางทีการได้กลับมาดูหนังในโรงภาพยนตร์มันเหมือนได้รำลึกความหลัง เราสังเกตเห็นว่าผู้สูงอายุชอบดูหนังไทย ชอบดูหนังที่เคยดูมาแล้ว เป็นหนังในความทรงจำที่เคยดูตอนเป็นวัยรุ่น เช่น แผลเก่า คู่กรรม หรือหนังที่มีดารานักแสดงที่เขารู้จักอยู่ในจอ ฉะนั้น การได้เข้ามานั่งดูหนังในโรงอีกครั้งของเขามันคือ the good old days สื่อภาพยนตร์คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาหวนระลึกถึงความสุข ความรู้สึกดีๆ ในวันเก่าๆ ที่ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างตอนที่เรานำหนังเก่าคลาสสิกมาจัดฉายในโรง บางเรื่องมีผู้สูงอายุเข้ามาชมเยอะมาก เช่น Lawrence of Arabia (1962) หรือ Gone with the Wind (1939) เพราะเป็นหนังที่เขาคุ้นเคย เขาพร้อมจะออกจากบ้านเพื่อมาดูในโรงเลย มันเหมือนเป็นหนังในความทรงจำของเขา” คุณมดเอ็กซ์กล่าว
“ส่วนมากผู้สูงอายุจะชอบหนังไทยคลาสสิก หนังไทยที่ฮิตสมัยก่อน หนังรางวัลตุ๊กตาทอง หรือไม่ก็เป็นหนังที่มีนักแสดงในช่วงวัยเดียวกับเขา เช่น มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, สมบัติ เมทะนี, กรุง ศรีวิไล, สรพงศ์ ชาตรี อะไรแบบนี้ แต่มีผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ชอบหนังใหม่ๆ เหมือนกันนะ เช่น พี่มาก..พระโขนง (2013) เพราะมันทำให้เขาไปนึกถึงเวอร์ชั่นเก่าที่มีคุณปรียา รุ่งเรือง รับบทแม่นาค ตอนปี 1959 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เขาเคยดูกันตอนเป็นหนุ่มสาว หรือเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ (2001) ที่มีบรรยากาศเก่าๆ และมีมิติทางสังคมหลายประเด็น” คุณเบลกล่าวเสริม
“ถ้าถามว่า ผู้สูงอายุที่มาเหล่านี้ ทุกวันนี้ยังไปดูหนังในโรงไหมปกติ? ผมคิดว่าน่าจะน้อยนะ เพราะด้วยเทคโนโลยีการไปดูหนังในโรงตอนนี้มันไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อกับผู้สูงอายุ การจองตั๋วถูกออกแบบให้ง่าย เร็ว ทันสมัย เหมาะกับวัยรุ่น แต่สำหรับผู้สูงอายุกลับเป็นเรื่องยาก โรงหนังทั่วไปกลายเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น หอภาพยนตร์จึงพยายามทำพื้นที่ตรงนี้ให้กับผู้สูงอายุ การเข้ามาดูหนังอาจต้องมีการลงทะเบียนบ้าง แต่จะไม่มีข้อจำกัดมากและมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ตลอดการรับชม เราพยายามทำยังไงก็ได้ให้เขาเข้าถึง เพราะเราเชื่อว่าโรงหนังเป็นสื่อความบันเทิงที่พวกเขาคุ้นเคย มันเป็นตัวเชื่อมให้เขายังกลับไปมีความสุขกับความหลังที่เขาหวนระลึกถึง
แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เขาก็ดู NETFLIX เหมือนกันนะ ผมคิดว่าเขาไม่ได้ยึดติด แต่ว่าต้องมาดูหนังในโรงหรอก แต่ปัญหามันเป็นเรื่องเทคโนโลยี อย่างพวกสตรีมมิงนี่จะให้เปิดดูเองคงเป็นเรื่องยาก จะกลัวในการกดนั่นกดนี่ ก็ต้องมีลูกหลานทำให้อยู่ดี” คุณมดเอ็กซ์ทิ้งท้าย
โอบกอดความหลากหลาย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การมีโรงหนังเพื่อผู้สูงอายุ แท้จริงแล้วการจัดการไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าโรงหนังปกติเลย ผู้สูงอายุส่วนมากที่มาใช้บริการอายุ 60-70 ปี เท่านั้น สุขภาพยังแข็งแรงและช่วยเหลือตัวเองได้ดีและคุ้นเคยกับการดูหนังในโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว ความเข้าใจสิ่งแวดล้อมในโรงหนังทำให้ปรับตัวได้ดี แต่จะมีบ้างที่แอร์หนาวไป และบางรอบอาจไม่ได้ดับไฟให้มืดสนิทเหมือนโรงหนังปกติ เพราะระหว่างหนังฉายต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย แต่การดูแลผู้คนที่หลากหลายย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ความสะดวกสบายและการได้โอกาสในการใช้บริการอย่างทั่วถึงนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทางหอภาพยนตร์คำนึง
“ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจความหลากหลายของคน ในสังคมเรา ไม่ใช่ว่าจะมีคนที่มี literacy (ความรู้) ไปเสียหมด มันจะมีคนที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แต่ก่อนเวลาผู้สูงอายุจะมาดูหนัง เขาสามารถ walk-in เข้ามาได้เลย แค่มาเซ็นชื่อหน้าโรงหนังก็พอ แต่ตอนหลังเราเริ่มเปลี่ยนระบบใหม่ เราคิดง่ายๆ ว่าให้เขาถือบัตรประชาชนมาใบเดียวพอ หรือคิดไปถึงว่าให้ใช้บัตรประชาชนผูกกับเบอร์โทรศัพท์เหมือนเมมเบอร์ตามห้างสรรพสินค้า มันน่าจะสะดวกขึ้นใช่ไหม? แต่เอาเข้าจริง คนมันหลากหลายมาก เราเจอทั้งคนที่ไม่มีบัตรประชาชนบ้าง ไม่มีโทรศัพท์มือถือบ้าง ผู้สูงอายุที่มาดูหนังประจำส่วนหนึ่งก็ไม่ได้เป็นคนมีเงินทองมากมาย การไม่มีโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนก็เป็นเรื่องปกติ จากโจทย์นี้ทำให้เราต้องมาคิดเรื่องการออกแบบกันต่อ ว่าต้องเผื่อถึงความหลากหลายแบบนี้ ต้องหาวิธีสนับสนุนเขา เพราะเขาเป็นกลุ่มที่เราทิ้งไม่ได้เด็ดขาด” คุณมดเอ็กซ์กล่าว
“แต่เราก็ได้เห็นว่าผู้สูงอายุหลายคนก็ทันสมัยนะ คล่องแคล่วเทคโนโลยี เข้าไปดูรอบหนัง จองที่นั่งได้ในเว็บไซต์ได้เองเลย แต่บางคนที่ทำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร อาศัยดูรอบหนังจากจดหมายข่าว แล้ว walk-in เข้ามาลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งไม่ได้ยุ่งยาก เพราะเรามีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือตลอดเวลา – คุณเบลกล่าวเสริม
ที่ผ่านมาเคยมีเคสที่ต้องแก้ปัญหาเหมือนกันนะ มีคุณลุงคนหนึ่งมาดูหนังประจำ เขามีกลิ่นตัวซึ่งอาจมาจากปัจจัยทางสุขภาพหลายอย่าง คนที่มาดูหนังคนอื่นก็เริ่มบ่นว่าโรงหนังมีกลิ่น มันเริ่มเป็นปัญหาที่รบกวนคนอื่นแล้ว ตอนนั้นเราเลยแก้ปัญหาโดยเตรียมเสื้อผ้า ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้เขาเปลี่ยนก่อนเข้าโรงบ้าง จัดห้องอาบน้ำให้บ้าง หรือผู้สูงอายุบางคนชอบมาพร้อมข้าวของพะรุงพะรัง เราก็จะช่วยดูแล ช่วยแก้ปัญหากันไปเป็นรายๆ ไปเพราะจุดยืนของเรายังยืนยันว่าเราจะดูแลเขา ให้พื้นที่แก่เขา เราจะไม่ไล่เขาออกไปเด็ดขาด เพราะมันคือความหลากหลายของคน เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ข้อจำกัดและปัจจัยบางอย่างทำให้เขาเป็นอย่างนั้น” คุณมดเอ็กซ์กล่าวทิ้งท้าย
โรงภาพยนตร์ – พื้นที่ทางสังคมสำหรับคนทุกวัย เพราะมากกว่าการมาดูหนัง คือการได้ออกจากบ้าน
“บรรยากาศการดูหนังร่วมกันเหมือนในอดีตเริ่มหายาก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่คุ้นเคยกับการดูหนังในโรง หากจะออกไปข้างนอกเสียทีต้องมีลูกหลานพาออกไป เพราะการจองตั๋วหนังไม่ได้ง่ายสำหรับเขาอีกต่อไป แต่กิจกรรมโรงหนังเพื่อผู้สูงอายุเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุรวมตัวกันได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานหรือเทคโนโลยีมากนัก” คุณเบล เล่าให้เราฟังว่าสำหรับผู้สูงอายุ โรงหนังให้อะไรมากกว่าการไปดูหนัง
“มันทำให้เขาออกมาเห็นโลกได้ง่ายขึ้น ประสบการณ์ของเขามันเริ่มตั้งแต่ออกเดินทางเลยนะ การได้ก้าวขาออกมาจากบ้าน ได้เห็นผู้คนรายทาง ได้เห็นบ้านเรือนรอบๆ พอมาถึงที่นี่ก็ได้ดูหนังอีก ถ้าเป็นหนังที่เคยดูมาแล้วก็ได้รื้อฟื้นความทรงจำ หรือถ้าเป็นหนังที่ไม่เคยดูมาก่อน ก็ยิ่งได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับไปอีก ผู้สูงอายุหลายคนอยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานก็ไปทำงาน ไปโรงเรียนกันหมด พอได้ออกมาดูหนัง เขาก็มีสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคน
เดือนนี้จะมีกลุ่มแฟนคลับพี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์มา กลุ่มนี้เขามาเป็นประจำทุกปีเลยนะ ส่วนมากแฟนคลับพี่เบิร์ดก็เป็นผู้สูงวัย 50+ แล้ว บางทีก็เอาไฟล์หนังที่พี่เบิร์ดแสดงมาขอให้เราฉายให้ เพื่อเขาจะได้ดูด้วยกันในโรง บางทีก็ฉายคอนเสิร์ตของพี่เบิร์ด มีเล่นเกม ทำกิจกรรม บางครั้งพี่เบิร์ดก็ทำเซอร์ไพรซ์ Zoom ผ่านจอหนังมาหาด้วย การมีพื้นที่สร้างความสัมพันธ์แบบนี้ มันทำให้คนคลายความเหงาลงได้จริงๆ นะ และเราเองก็อยากเก็บบรรยากาศการดูหนังในโรงภาพยนตร์เอาไว้ ให้เหมือนเป็นมหรสพหนึ่งด้วย
ส่วนตัวเราคิดว่าการดูหนังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้สูงอายุจริงๆ ไม่จำเป็นเลยว่าดูจบแล้วต้องได้ข้อคิด ได้คำสอนอะไรหรือเปล่า เพราะฟังก์ชั่นแรกของหนังคือความบันเทิง และมันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว พอดูหนังจบ ทุกคนแฮปปี้ ได้กินข้าว ถ่ายรูปด้วยกัน ยิ่งมีหนังมาเป็นหัวข้อในการพูดคุยกันอีกมันยิ่งมีความสุข ยิ่งการได้มาดูหนังในโรง ทุกอย่างมันมืดหมด สิ่งเดียวที่เราต้องโฟกัสคือหนังในจอ ต้องจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลา การดูหนังใช้เวลาน้อยมาก แต่สิ่งที่ได้กลับมามันเป็นประสบการณ์พิเศษ สิ่งที่เราไม่ได้เจอทุกวันในชีวิต ไม่เหมือนทีวี โทรศัพท์มือถือที่เราต้องเห็น ต้องจับมันแทบตลอดเวลา
เราเคยลองสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่มาดูด้วยนะ ว่าเคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อนไหม? ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง? บางคนเล่าว่าเคยดูหนังเรื่องนี้ตอนฉายกลางแปลง หรือเล่าเรื่องความโด่งดังของดาราคนนั้นในอดีต เราจะได้ฟังประสบการณ์อีกแบบที่คนรุ่นเราไม่มีทางเข้าใจ ซึ่งเราเชื่อว่าเขามีความสุขที่ได้เล่าถึงวันเวลาในอดีต ” คุณเบลกล่าวทิ้งท้าย