กิจกรรมเราต่างเหมือนกัน 5 เพราะแต่ละช่วงวัยคือความหลากหลาย ที่อยู่ร่วมกันได้

วัยหรือใจที่ทำให้เราต่างกัน นี่คือโจทย์ที่เวิร์กช็อป “เราต่างเหมือนกัน” ชวนผู้เข้าร่วมมาค้นหาคำตอบร่วมกัน ตลอด 2 วัน 1 คืน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 แล้ว โดยมีผู้เข้าร่วม 29 คน มีช่วงอายุตั้งแต่ 19 ปีถึง 72 ปี ครบทั้ง 4 เจเนอเรชันบางคนมาเป็นคู่ แม่-ลูก สามี-ภรรยา บางคนเกษียณอายุแล้ว บางคนอยู่ในช่วงวัยทำงาน และบางส่วนก็ยังเป็น นักศึกษา แต่ทุกคนต่างเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยความตั้งใจคล้ายคลึงกันคือการมาเรียนรู้ประสบการณ์และทำความเข้าใจคนต่างวัยเพื่อทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีคนหลากหลายราบรื่นและเข้าใจกันมากขึ้น

นี่คือบางส่วนของความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่หากว่าเพื่อน ๆ ท่านใดพลาดกิจกรรมครั้งนี้ “เราต่างเหมือนกัน” จะจัดขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ หากท่านใดสนใจรอติดตามข่าวผ่านทางเพจมนุษย์ต่างวัยนะครับ

ธนพล เจริญยิ่งสถาพร (เท็น-ลูกชาย) อายุ 23 ปี
วรรณา พาชยมัย (ณา-แม่) อายุ 59 ปี

“เราต่างเหมือนกัน” ครั้งนี้มีคู่แม่-ลูก คนเจนซีกับเบบีบูมเมอร์จูงแขนกันมาเข้าร่วมกิจกรรมคือ เท็น ธนพล เจริญยิ่งสถาพร อายุ 23 ปีและคุณแม่ณา วรรณา พาชยมัย อายุ 59 ปี ซึ่งทั้งคู่มาเข้าร่วมเวิร์กช็อปด้วยกันเป็นครั้งแรก
เท็นเล่าให้ทีมงานฟังว่าแม่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมภายนอกเท่าไรนัก เท็นเลยตัดสินใจชวนแม่มาทดลองร่วมกิจกรรม ตอนแรกแม่ก็ไม่ยอมมา เพราะไม่อยากออกจากพื้นที่เซฟโซนของตัวเอง แต่สุดท้ายแม่ก็ตกลง ทำให้เขาได้เห็นอีกมุมของแม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน

เหตุผลที่เท็นชวนแม่มาร่วมกิจกรรมก็เพราะเขามีความตั้งใจว่าจะไปใช้ชีวิตต่างประเทศ แต่ก็มีความกลัวว่าแม่จะเหงา จึงคิดริเริ่มพาแม่ออกจากบ้านมาใช้ชีวิต เพื่อเจอสังคมและโลกใบใหม่บ้าง เผื่อวันที่เท็นไม่อยู่กับแม่ แม่ก็จะสามารถใช้ชีวิตเองได้

“ผมตั้งใจสมัครให้แม่มาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะผมเคยเจอคนเกษียณที่เป็นโรคซึมเศร้า ผมไม่อยากให้แม่เป็นแบบนั้น ปกติแม่จะไม่ค่อยได้ออกจากบ้านเท่าไร เพราะแม่ทำงาน แล้วก็เลี้ยงลูกเป็นหลัก ทำให้เขามีสังคมน้อย ผมสังเกตว่าแม่ไม่ค่อยมีเรื่องเล่าเท่าไร ถ้าเทียบกับคนในวัยเดียวกัน ผมเลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะพาเขาออกมาร่วมกิจกรรมแบบนี้บ้าง อย่างน้อยให้เจอคนในวัยเดียวกันก็ยังดี

“พอได้มาทำกิจกรรมร่วมกันผมก็ได้รู้เลยว่า แม่ตัวเองเด็กมาก แม่ดูมีความสุข เขาดูสนุกสนานกับการได้เจอผู้คนในวัยใกล้ ๆ กัน ผมได้เห็นแม่ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ผมว่านี่คือก้าวแรกที่สวยงาม ที่จะพาแม่ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกบ้าน”

รุจิเรศ ธนูรักษ์ (ป้อม) อายุ 72 ปี
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่อายุมากที่สุด

“สาเหตุที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เพราะอยากเข้าใจคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ในช่วงที่สังคมกำลังแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย คนแต่ละวัยมักจะขัดแย้งกัน เราอยากรู้ว่าความคิดของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเข้ามาแล้วเราพบว่า ยุคสมัยของเขากับยุคสมัยของเรานั้นมีความแตกต่างกันทั้งด้านเทคโนโลยีที่เข้ามา เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และการใช้ชีวิตของเรากับเขาต่างกันโดยสิ้นเชิง”

“เราเคยสงสัยว่าทำไมเวลาลูกมีปัญหาอะไร ทำไมเขาไม่ค่อยเล่าให้เราฟัง พอได้ทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ที่รุ่นใกล้ ๆ กับลูก เราก็เริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วว่า อ๋อ! บางทีเขาแค่ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง อยากให้เราเชื่อใจเขา แล้วเราก็ไม่ได้สื่อสารกันมากพอ สิ่งที่กิจกรรมนี้สอนเรา คือการฟังอย่างเข้าใจ การฟังว่าในใจของเขาจริง ๆ กำลังส่งเสียงร้องบอกอะไรกับเรากันแน่ หลังจากนี้คิดว่าการรับฟังอีกฝ่ายคงจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน หลังจากนี้คิดว่าเราน่าจะเข้าใจเขา รับฟังเขาให้มากขึ้น

“ตอนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เราคิดอยู่ว่าเราจะไหวไหม เราไม่ค่อยไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ค่อยกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แต่ก็ตัดสินใจแล้วว่าจะมาเข้าร่วม การมาในครั้งนี้ถือว่าเรากล้ามาก ๆ ที่จะออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง แค่เรื่องการเดินทางมาร่วมกิจกรรม ก็ทำให้เราภูมิใจในตัวเองขึ้นมาได้มาก ๆ แล้ว กิจกรรมนี้สามารถนำไปใช้ได้กับคนทุกช่วงวัยเลย ไม่ว่าจะเป็นคนในบ้านวัยเดียวกับเราก็ตาม บางทีความขัดแย้ง อาจจะไม่ได้มีเรื่องของช่วงวัยแค่อย่างเดียว บางทีคนวัยเดียวกันก็ขัดแย้งกันได้เหมือนกัน”

ทูล นำพันธุ์วิวัฒน์ อายุ 36 ปี

“เราเข้าร่วมกิจกรรมแล้วก็คิดถึงแม่ตัวเองขึ้นมาเลย ว่าทำไมเขาถึงชอบมาหาเราในวันที่เราไม่ได้นัดกันล่วงหน้า ตอนนั้นเราก็ไม่ชอบและคิดแค่ว่าไม่ได้นัดแม่จะมาทำไม แต่กิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้แล้วว่า เพราะเขาต้องการครอบครัว และเราเองก็ไม่ได้ใส่ใจเขามากพอ ถ้ากลับไปครั้งนี้ เราจะกลับไปปรับมุมมองที่มีต่อคุณแม่ใหม่แน่นอน อย่างน้อยก็สื่อสารกันให้มากขึ้น และทำให้เราเข้าใจได้เลยว่า บางครั้งเราต้องมองให้ลึกถึงความต้องการของเขา มากกว่าพฤติกรรมที่เขาทำ”

“เราอยู่กับแม่มานาน เคยมีเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกัน ทำให้พาลเคยไม่คุยกับแม่นานถึง 8 เดือน แต่การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ปรับมุมมอง ปรับความคิดใหม่ที่มีต่อแม่ไป ถ้ากลับไปหลังจากจบกิจกรรมคงกลับไปกอดแม่ให้นานที่สุด”

“เราชอบกิจกรรมช่วง 4 ฤดู ที่ชวนให้เราทบทวนช่วงเวลาในชีวิต 4 วัยด้วยกัน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยชรา เรารู้สึกว่าประทับใจช่วงของวัยชรามากที่สุด มันทำให้เราสงสัยว่าคุณค่าของชีวิตเราตอนบั้นปลายคืออะไรกันแน่ กิจกรรมนี้ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาและตั้งคำถามกับตัวเราได้ดี จนเราต้องชะงักไปเมื่อเจอคำถามนี้”

พรรณทิพา ตรีวัฒนาวงศ์ (หม่วย) อายุ 58 ปี

“พี่มาเข้าร่วมกิจกรรมเพราะคำแนะนำของเพื่อน คิดว่าหัวข้อของกิจกรรมน่าสนใจมาก ส่วนตัวเราเองอยากให้ช่องว่างระหว่างวัยของเรากับลูกน้อยลง เพราะเรารู้สึกผิดกับเขาที่เราไปเลือกคณะเรียนให้ลูกโดยที่เขาไม่ได้มีความสุขในการเรียน ถึงแม้ว่าเขาจะจบการศึกษาแล้ว แต่สิ่งนั้นก็ยังค้างคาอยู่ในใจของเราและลูกอยู่เสมอ จึงส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเรากับเขามีมากขึ้น”

“เราอยากเข้าใจโลกของลูกให้มากขึ้น อยากปรับความเข้าใจเขา ให้เราเข้าใจกันมากขึ้น บางครั้งพอลูกเติบโตขึ้น เรารู้ความต้องการของเขาได้น้อยลง จนมีบางทีที่เราไม่รู้เลยว่าเขาต้องการอะไร”

“ประทับใจกิจกรรมเรื่องการฟังมากที่สุด มันทำให้พี่หม่วยเข้าใจได้ว่า เมื่อเราฟังใครแล้ว ปกติเราจะฟังแค่ในสิ่งที่เขาสื่อสารออกมาเป็นท่าทาง คำพูด แต่การฟังจริง ๆ แล้ว เราต้องฟังด้วยหัวใจ ฟังว่าลึก ๆ เขาต้องการอะไร เราจะนำสิ่งนี้ไปปรับใช้กับลูกของเราได้อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดเวลาที่เขาต้องการพูดกับเรา เราจะคิดถึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขามากขึ้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาดีขึ้น”

และสำคัญเลยการมาที่นี่ก็ทำให้ได้เจอกับคนที่เขามีลูกเหมือนกัน เป็นแม่เหมือนกับเรา ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันว่าเธอเจอเรื่องแบบนี้ไหม เธอจัดการกับมันอย่างไร เราผิดไหมที่ทำแบบนี้กับลูก เราได้เห็นความคิดของแม่ ๆ เหมือนเรา ได้มีเพื่อนใหม่ที่คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจเพิ่มขึ้นมา”

เดชาธร วรพันธุ์ (ทีม) อายุ 26 ปี

“ผมเข้าร่วมกิจกรรมเพราะอยากเข้าใจความคิดของผู้ใหญ่ในที่ทำงานเก่า ว่าทำไมเขาถึงอยากให้เราเคารพเขา ปกติแล้วคนรุ่นใหม่จะเคารพคนที่ความสามารถมากกว่าความอาวุโส แต่ทำไมคนเจนเอกซ์หรือเบบีบูมเมอร์ ถึงอยากให้เราเคารพเขา เพราะแค่เอาอายุมากกว่าเรา นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถามก่อนเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

“เมื่อเข้าร่วมเวิร์กช็อปมีการใช้เครื่องมือ NVC Card เพื่อนำไปสู่การเข้าใจความรู้สึกของคนที่เราคุยด้วย ตอนนั้นเราได้คำตอบจากพี่ ๆ เจนเอกซ์จึงได้เข้าใจว่า ความอาวุโสเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีค่า มันทำให้คนรุ่นเขามีความมั่นใจในตัวเอง ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เมื่อกลับมาคิดดูแล้ว ก็ไม่ต่างจากคนรุ่นเราตรงที่อยากให้คนอื่นเคารพเพราะเราเก่ง มีความสามารถ มันคือสิ่งที่จะทำให้เราภูมิใจในตัวเอง คิดได้ว่ามันคล้าย ๆ กัน แค่คนละที่มา

“โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าช่องว่างระหว่างวัยไม่มีอยู่จริง ช่วงหลัง ๆ สังคมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จนมันกลายเป็นว่า เราไปแบ่งแยกเขาตามช่วงวัยแทน ว่าคนวัยนั้นต้องเป็นแบบนั้น คนวัยนี้ต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนก็พยายามจะทำตัวเป็นคนเจเนอเรชันนั้น คนเจเนอเรชันนี้ พอคุยกับคนต่างเจเนอเรชัน ก็พยายามคุยแบบนั้นแบบนี้ เราว่าจริง ๆสำหรับเราแล้ว เรามองว่าคนเราจะเป็นแบบไหนไม่เกี่ยวกับเจเนอเรชันเลย แต่เกี่ยวกับตัวเขามากกว่า”

ภัทรภณธร เงินศรีสุข อายุ 34 ปี

“ปกติแล้วเป็นคนที่ชอบเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาตัวเองอยู่แล้ว แต่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมเราต่างเหมือนกันเพราะติดตามเพจมนุษย์ต่างวัยอยู่ จึงอยากมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ต่างวัยสักครั้ง เพราะชอบคอนเซปต์ของคำว่าเราต่างเหมือนกัน

“เราเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้มาเยอะมาก แต่เรารู้สึกประทับใจกับกระบวนการของกิจกรรมนี้ ที่มีการใช้อุปกรณ์เสริมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเซียมซีที่มีประเด็นต่าง ๆ เขียนอยู่ หรือเป็นไพ่ความรู้สึก ความต้องการ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ดีมาก มันมีโจทย์ที่ทำให้คนสตันไปเหมือนกันตอนเห็น บางเรื่องที่ไม่ได้หยิบออกมาเล่านานแล้ว บางประเด็นที่เรามองข้ามไป มันได้ฉุกคิดขึ้นมาใหม่เพราะคำบนเซียมซี คำบนไพ่นี่แหละ”

“กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะได้เพื่อนใหม่ ๆ ที่ต่างวัยกันแล้ว ยังทำให้รู้อีกว่าจริง ๆ แล้วทัศนคติมากกว่าที่ทำให้เราต่างกัน ไม่ใช่ช่วงวัย คนสูงวัยที่เข้าใจเด็กก็มี พอเราได้เจอแบบนี้มันลบล้างความคิดลบ ๆ ที่เราเคยเจอมาในอดีตไปทันที”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ