Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

เมื่อ “สุขภาพดีสร้างมูลค่าได้” เตรียมทุกคนให้พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

คาดคะเนว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้หลายพรรคการเมืองเริ่มนำเสนอนโยบายหาเสียงให้กับประชาชน และหนึ่งในนโยบายที่แทบทุกพรรคหยิบยกมาเรียกคะแนนเสียงก็คือ นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ แต่คำถามก็คือเพียงแค่การเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนให้กับผู้สูงวัยจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นได้จริงหรือ หรือยังมีอีกหลายสิ่งที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย

มนุษย์ต่างวัยชวนฟังความคิดเห็นจากศาสตราจารย์จอห์น หว่อง (Prof. John Wong) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และประธานร่วมสถาบันการแพทย์สหรัฐอเมริกา ถึงแนวทางการสนับสนุนผู้สูงวัยที่รัฐบาล (ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน) ก็ควรต้องทำ เพราะการเพิ่มจำนวนขึ้นของผู้สูงวัยที่สวนทางกับอัตราการเกิดของคนทั่วโลกที่ลดลงถึงร้อยละ 50 จะทำให้เกิดผลกระทบในหลากหลายมิติ

“โครงการสวัสดิการของรัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และต้องเริ่มลงมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากไม่เริ่มวันนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาความยากจนที่มากขึ้น และปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น รัฐบาลจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่เพียงแค่โครงการรัฐสวัสดิการต่าง ๆ แต่ยังต้องนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย”

“การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีเป็นหน้าที่ของรัฐบาล” เพื่อทำให้ “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีคือรากฐานของทุกคน” เพราะนี่คือเป้าหมายความยั่งยืนของโลก

โรดแมพสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ

จะเกิดอะไรขึ้น หากคนเราจะมีอายุยืนยาวขึ้นอีก 20 ปี และเกษียณอายุที่ 80 ปี แทนที่จะเป็น 55-60 ปี เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วงเวลา 20 ปี ที่เพิ่มขึ้นมานี้เองเรียกว่า “Health-created value” หรือการมีสุขภาพดีสร้างมูลค่าได้ แต่มูลค่าที่ว่านั้นคืออะไร และการที่จะสร้างมูลค่านี้ เราต้องเตรียมตัว หรือต้องได้รับการสนับสนุนอย่างไร

“มนุษย์ต่างวัย” ชวนทุกท่านมาหาคำตอบในประเด็นเหล่านี้กับศาสตราจารย์จอห์น หว่อง (Prof. John Eu-Li Wong ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และประธานร่วมสถาบันการแพทย์สหรัฐอเมริกา) และศาสตราจารย์ฮิโระยุกิ ฟุจิตะ (Hiroyuki Fujita ผู้ก่อตั้งบริษัท Quality Electrodynamics, หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท Canon Medical Systems Corporation, สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโอะกินาว่า) จากเวทีเสวนาระดับนานาชาติ “AHWIN Forum 2022” (Asian Health and Wellbeing Initiative) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ต้นทุนมนุษย์คือความมั่งคั่งสูงสุด และไม่มีอะไรมีมูลค่ามากไปกว่าการมีสุขภาพดี

ศาสตราจารย์ฮิโระยุกิ ฟุจิตะ ได้ให้มุมมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ความเจ็บป่วยคือความสูญเสียของประเทศชาติ เนื่องจากการมีสุขภาพดีหมายถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้มนุษย์สามารถเพิ่มผลผลิตได้

“ต้นทุนมนุษย์คือความมั่งคั่งสูงสุด จนไม่อาจสูญเสียได้ ไม่ว่าจะด้วยปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรม หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” ศ.ฟุจิตะกล่าว พร้อมประเมินว่า คนเราจะเกษียณที่ 67-75 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมดุลแล้วระหว่างการทำงานและการพักผ่อน นอกจากนี้ การยืดอายุเกษียณยังเพิ่มผลผลิตได้สูงถึงร้อยละ 20 ต่อคนด้วย ซึ่งหากตีเป็นมูลค่าจะสูงถึง 2-4 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อคน

“หากทำงาน 5 ปี จะมีเงินเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และถ้าทำงานต่อไปอีก 10 ปี จะมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่มีสิ่งใดมีมูลค่าสูงสุดเท่าการมีสุขภาพดีอีกแล้ว” ศ.ฟุจิตะกล่าว

ศ.ฟุจิตะยังมองต่อไปอีกว่า หากสามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของคนลดลงจาก 9.2 : 1,000 คน เหลือเพียง 2.3 : 1,000 คน นั่นหมายความว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 170 ล้านคน ภายในปีพ.ศ. 2593 ซึ่งจะยิ่งเพิ่มผลผลิต และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ พร้อมกันนี้ ยังกล่าวว่าหากคนวัย 55 ปี ทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี จีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 และหากคิดเป็นมูลค่าแล้วก็มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว

อายุยืนอย่างเดียวไม่พอ หัวใจคือการมีสุขภาพที่ดี

ในด้านของศาสตราจารย์จอห์น หว่อง มองว่าด้วยจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้จะเป็นเรื่องที่ควรเฉลิมฉลองให้กับปาฏิหาริย์ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็อดกังวลใจไม่ได้ว่าอีก 100 ปีต่อไป เราจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างไร หรือการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรต่ออายุที่ยืนยาวจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังมีเป้าหมายให้ทศวรรษนี้ (พ.ศ. 2564-2573) เป็นทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีด้วย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ผู้สูงวัยอายุ 60 ปี มีอัตราเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของคนทั่วโลกที่ลดลงถึงร้อยละ 50 ทำให้สถานการณ์ดังกล่าว เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต โครงสร้างครอบครัว และสังคม

ที่สำคัญคือเรื่องของงบประมาณ และโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้นั้น จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด เช่น โครงการประกันสังคม โครงการเกษียณอายุ โครงการด้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการสร้างพื้นที่สาธารณะ ระบบรักษาพยาบาล และอีกมากมาย ดังนั้น คำถามคือเราจะเตรียมตัวอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อจะมีสุขภาพดีตลอดชีวิตได้ หรืออย่างน้อยก็ชีวิตที่เหลือนับจากนี้

“การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีนั้นเกี่ยวข้องกับทุกด้านของชีวิต ซึ่งต้องเริ่มจากการมีสุขภาพที่ดีก่อน ตามมาด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคง การมีรายได้ที่เพียงพอ และโอกาสทางสังคมเพื่อพัฒนาตนเองให้สามารถยืดอายุการทำงานให้ยาวขึ้นได้” ศ.หว่องสรุปความหมายทั้งหมด และยังเพิ่มเติมอีกว่า ก็เพื่อเตรียมทุกคนให้พร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

รัฐบาลคือตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย

“โครงการสวัสดิการของรัฐถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย และต้องเริ่มลงมือทำอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะหากไม่เริ่มวันนี้ สิ่งที่ตามมาคือปัญหาความยากจนที่มากขึ้น และปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น” ศ.หว่องกล่าว

ศ.หว่องมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่า ปัญหาเรื่องความยากจน และสุขภาพที่ย่ำแย่ ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่ผู้คนยังคงต่างคนต่างอยู่ และขาดการพึ่งพากัน คือปัจจัยที่ทำให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ) ลดต่ำลง และสิ่งที่ตามมาคือ คนเราจะไม่สามารถมีสุขภาพดีตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้นได้

รัฐบาลจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่เพียงแค่โครงการรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่ยังต้องนำนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย ตามที่สถาบันการแพทย์แห่งชาติ (National Academy of Medicine) กำหนดให้ “การมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีเป็นหน้าที่ของรัฐบาล” เพื่อทำให้ “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีคือรากฐานของทุกคน” เพราะนี่คือเป้าหมายความยั่งยืนของโลก

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ศ.หว่องมองว่า ความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมีหลายเรื่อง ตั้งแต่การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีความสุขในชีวิต โดยไม่ปล่อยให้พวกท่านโดดเดี่ยว รัฐต้องจัดหาพื้นที่กิจกรรมให้ผู้สูงวัยมีที่ทางของตัวเองในการร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง รวมทั้งดึงครอบครัว และคนหนุ่มสาวเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเรื่องวัยที่แตกต่างกัน และอยู่ร่วมกัน โดยไม่แบ่งแยกให้พวกท่านรู้สึกไร้ความหมาย

ศ.หว่องยังมองไปถึงกลุ่มผู้สูงวัยในระบบทำงานด้วย เพราะหากผู้สูงวัยเหล่านั้นมีความสุขได้ ประสิทธิภาพในการทำงานย่อมดี และย่อมเพิ่มโอกาสให้สามารถยืดอายุการทำงานออกไปอีก 10-20 ปี ตามแนวโน้มได้

“การทำงานคือการสร้างจุดมุ่งหมาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐบาลจึงต้องสร้างและผลักดันนโยบายเพิ่มความสุขนี้ เพื่อให้เกิดการร่วมมือในภาคธุรกิจให้ได้” ศ.หว่องกล่าว

ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในมนุษย์จึงสำคัญ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเพิ่มต้นทุนทางสังคม และทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลควรต้องออกแบบระบบการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้รองรับการทำงานตลอดชีวิต รวมทั้งลดการกีดกันทางอายุ เพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วม และเพิ่มขีดความสามารถให้ได้

อีกประเด็นที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ คือการสนับสนุนให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของวัย และสนับสนุนความมั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะระบบการเงินจากองค์กรนายจ้าง รวมถึงดอกผลต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับอายุที่ยืนขึ้นด้วย ส่วนเรื่องสุขภาพ รัฐต้องลงทุนด้านสาธารณสุข โดยเปลี่ยนระบบดูแลสุขภาพให้คนเข้าถึงได้ และพัฒนาระบบให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลางเพื่อวัดผลความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในด้านผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น รวมถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเอื้อให้ทุกคนมีสุขภาพดี และทำงานได้นานขึ้นตามช่วงวัยที่ยาวขึ้น

ศ.หว่องเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมยุคใหม่มากเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในสังคมผู้สูงวัย โดยนำระบบประชาชนเป็นศูนย์กลางมาใช้ เพื่อรับฟังความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย พร้อมอุดช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มความยุติธรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม เช่น ที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ ความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชน

อย่างไรก็ตาม การหวังพึ่งรัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับชีวิตยุคใหม่ เพราะเราต้องพึ่งพาตัวเองด้วย เราสามารถเตรียมพร้อมด้วยการมีหรือกลับมามีสุขภาพที่ดีให้ได้ก่อน ทั้งร่างกายและจิตใจ ทัศนคติที่ดีของเรา การพัฒนาตัวเองของเรา การปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรู้เท่าทันโลก โดยไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ยึดโลกเป็นศูนย์กลาง

และเมื่อนำมาผสมผสานกับสิ่งที่ ศ.ฮิโรยุกิ ฟุจิตะ กล่าวว่าสุขภาพดีสร้างมูลค่าได้ รวมกับ ศ.จอห์น หว่อง กล่าวว่า เราจะมีอายุยืนยาวอย่างมีสุขภาพดีได้อย่างไร ก็จะทำให้เราพร้อมที่จะก้าวสู่วัย 60+ 70+ 80+ ที่ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ เมื่อทำได้แบบนี้แล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการนำภาษีประชาชนไปลงทุนเรื่องนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ทุกคนได้รับความสะดวกสะบายอย่างมีมาตรฐาน สมกับที่เป็นสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และ Win-Win กับทุกฝ่าย

ขอบคุณภาพจาก

  • pexels
  • AHWIN FORUM 2022

Credits

Author

  • นัธพร ศิริรังษี

    Author"มนุษย์โลกสวยที่เคารพความแตกต่างของผู้คน เพราะเชื่อว่านี่คือสีสัน และความหลากหลายในการดำรงชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจหมายถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่รอเราทุกคนอยู่ด้วย"

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ