Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

ความสุข มิตรภาพ เป้าหมาย และบ้านต้นไม้ของสิริลักษณ์ ธรรมาภรณ์

“คำถาม”

ก๋า-สิริลักษณ์ ธรรมาภรณ์ เป็นคนพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด เธอเกิดที่อำเภอบางปะหันเมื่อ 57 ปีที่แล้ว ในครอบครัวที่พ่อเป็นครูและแม่เป็นช่างตัดเสื้อฝีมือดี ในยุคนั้นบ้านแต่ละหลังยังหันหน้าออกริมน้ำ เนื่องจากผู้คนยังสัญจรทางเรือเป็นหลัก บ้านแทบทุกหลังจะมีความเป็นธรรมชาติ ร่มรื่น ซึ่งสิริลักษณ์ยังจำบรรยากาศเหล่านั้นได้ดี

“เราโตมาจากบ้านริมน้ำ ซึ่งบ้านแต่ละหลังในตอนนั้นจะเป็นบ้านแบบยกใต้ถุนสูง มีต้นไม้ มีแปลงผัก ผู้คนสัญจรทางน้ำกันเป็นหลัก มีการค้าขายทางเรือ มีก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขายกันในเรือจริง ๆ กาแฟ ไอติม พวกนี้ก็ซื้อจากเรือ แม้แต่เนื้อหมูก็ซื้อในเรือ” หญิงวัย 57 เล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งยังเด็ก

ชีวิตวัยเด็กที่อยู่กับวิถีริมน้ำและธรรมชาติที่บ้านเกิดของสิริลักษณ์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเธอมีอันต้องเข้าไปเรียนต่อในระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะได้งานทำเป็นสถาปนิกในบริษัทแห่งหนึ่ง

หลังทำงานเป็นสถาปนิกอยู่พักหนึ่งสิริลักษณ์ก็ลาออกมาเปิดโรงงานผลิตของแต่งบ้านส่งออกเป็นของตัวเอง กระทั่งอายุใกล้ 40 ก็มีเหตุต้องถอนตัวออกจากกิจการ เหตุส่วนหนึ่งคือ ไม่สามารถสู้กับสินค้าที่มาจากต่างประเทศได้

“หลังจากเราเลิกทำโรงงานก็ไปทำบริษัทออกแบบภูมิสถาปัตย์กับเพื่อน ๆ ซึ่งทำได้อยู่ราว 10 ปี ก็ค่อย ๆ ขยับตัวออกมา ช่วงนั้นงานไม่ค่อยมี ประกอบกับเราเริ่มมีคำถามเข้ามาในชีวิตด้วย”

คำถามของสิริลักษณ์ในเวลานั้นก็คือ เธอจะมีชีวิตเป็นแบบไหนเมื่ออายุเริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างในเวลานั้นยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ต่างอะไรจากหมอกควันที่ลอยอยู่ในอากาศ มันเป็นเพียงคำถามที่โผล่ผุดขึ้นมาแต่ยังคงหาคำตอบไม่ได้

“ในเวลานั้นความคิดของเรายังคงลอย ๆ อยู่ คือเรามีคำถามว่าเมื่ออายุมากขึ้นเราจะมีชีวิตแบบไหน เรารู้แค่ว่าเราปรารถนาที่จะตายดี อยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ อยากปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่การไปนั่งนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ได้ดูแลพ่อแม่ เรารู้คร่าว ๆ ประมาณนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร หรือถ้ากลับบ้านไปแล้วจะมีงานทำหรือเปล่า ถ้าต้องกลับบ้านจริง ๆ ชีวิตจะไปรอดไหม มันจะเป็นจริงอย่างที่เราคิดหรือเปล่า”

ในช่วงเวลาดังกล่าวสิริลักษณ์มีอายุจะย่างเข้า 50 หากเปรียบชีวิตเป็นการเดินทางก็นับได้ว่าเธอเดินทางมาไกลเกินกว่าครึ่งชีวิตแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเดินทางมายาวนาน แต่ดูเหมือนหนทางข้างหน้าของสิริลักษณ์ในช่วงขึ้นต้นเลข 5 กลับยังเต็มไปด้วยความขมุกขมัวไม่แน่นอน

น่าสนใจเหลือเกินว่า ท่ามกลางหมอกควันและคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หญิงวัยครึ่งศตวรรษคนหนึ่งจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในชีวิต

“คำตอบ”

แม้จะเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มานานแต่สิริลักษณ์ไม่เคยมีความคิดที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง หรือฝากบั้นปลายชีวิตเอาไว้ที่เมืองหลวงแห่งนี้

“เราเบื่อกรุงเทพฯ ไม่อยากมีบั้นปลายชีวิตอยู่ที่นี่ เราไม่เคยมีความคิดที่จะซื้อบ้านเพื่ออยู่เป็นของตัวเองเลย อยู่ด้วยการเช่าเอาตลอด”

สิริลักษณ์ตั้งเป้าหมายในชีวิตในบั้นปลายเอาไว้ 3 ข้อ คือ 1. ต้องอยู่ในที่ที่อากาศดีมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ 2. งานที่ทำต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้และเป็นเหมือนการได้ปฏิบัติธรรมไปพร้อม ๆ กัน และ 3.ได้ดูแลอยู่ใกล้ชิดบุพการี โดยในพี่น้องทั้งหมดเธอเป็นคนเดียวที่ไม่มีครอบครัว จึงน่าจะมีเวลาให้พ่อและแม่มากกว่าใคร

หลังจากตั้งเป้าหมาย สิ่งหนึ่งที่สิริลักษณ์ล่วงรู้ได้ทันทีก็คือ การต้องกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เธอซื้อที่ดินในตำบลบ้านเกาะ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านพ่อแม่มากนัก

สิริลักษณ์เลือกปักหมุดที่บ้านเกิดแต่ยังไม่รู้ว่าชีวิตจะเลี้ยงชีพหรือทำอะไรต่อไป จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรพอเพียงในหลักสูตร ‘ธรรมธุรกิจ…ยักษ์กับโจน’ ของ ‘อาจารย์ยักษ์’ วิวัฒน์ ศัลยกำธร และโจน จันได ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี คำถามมากมายในชีวิตก็ค่อย ๆ คลี่คลายและได้รับคำตอบ

“พอไปอบรมกลับมา เราได้คำตอบเลยว่าเราจะทำเกษตรอินทรีย์ โคก-หนอง-นาโมเดลที่บ้าน โดยนำแนวความคิดและองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของเรา อธิบายง่าย ๆ ก็คือเรากลับมาจัดการสร้างที่อยู่อาศัย สร้างแหล่งอาหาร และระบบนิเวศขึ้นมาในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเป้าหมายว่าจะใช้จ่ายให้น้อยลงและพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด”

หลังกลับมาจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติฯ หญิงร่างเล็กก็จัดการออกแบบพื้นที่ 8 ไร่ครึ่งของตนเองโดยกำหนดพื้นที่จำนวน 3 ไร่เศษ เป็นพื้นที่สำหรับการทำสวนและเกษตรกรรม ถัดมาตรงบริเวณริมน้ำจำนวน 1 ไร่จะเป็นสำหรับการทำที่อยู่อาศัย

ในส่วนของการทำเกษตรนั้น เธอลงแรงปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น คะน้า กวางตุ้ง กะเพรา โหระพา น้ำเต้า มะเขือ ขึ้นฉ่าย หอม ฟักทอง ฟักแฟง บวบ ขนุน ฝรั่ง สาเก มะขามเทศ ฯลฯ รวมทั้งไม้ใหญ่อย่างตะเคียน พยุง แคนา มะฮอกกานี ฯลฯ ขณะเดียวกันพื้นที่ที่เหลือตรงบริเวณโซนกลางทุ่งก็ตั้งใจไว้ว่าจะทำนาปลูกข้าว

ด้านที่อยู่อาศัยสิริลักษณ์ตั้งใจว่าจะสร้างบ้านไม้ในสวน โดยเธอได้ออกแบบตัวบ้านให้ช่างมาปรับพื้นที่ และเตรียมไม้เตรียมอุปกรณ์สำหรับสร้างบ้านไว้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ไปเห็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ หญิงวัยกลางคนก็เปลี่ยนใจทันที

“เราเห็นต้นไม้ใหญ่ 3 ต้นที่อยู่ริมน้ำ ด้านหนึ่งเป็นต้นก้ามปูกับต้นก้านเหลืองที่รากพันกันจนแทบจะเป็นต้นเดียว ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นต้นก้ามปูอีกต้น เราเห็นแล้วก็คิดว่าน่าจะสร้างบ้านบนต้นไม้ได้ทั้ง 2 ด้าน เจตนาในตอนนั้นคิดว่าจะสร้างให้เพื่อนฝูง แล้วก็ผู้คนที่เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติฯ มาพัก ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจหรือรายได้อะไรหรอก”

สิริลักษณ์ตัดสินใจบอกช่างถึงสิ่งที่เธอคิดไว้ คำพูดที่สื่อสารออกไปไม่มีอะไรมาก “หยุดการสร้างบ้านในสวนเอาไว้ก่อน อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ให้นำมาสร้างบ้านต้นไม้แทน”

บ้านต้นไม้

บ้านต้นไม้ทั้ง 2 หลังของสิริลักษณ์ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ในการสร้างจนแล้วเสร็จ โดยหลังแรกเป็นบ้านไม้หลังเล็ก 2 ชั้น ด้านล่างเป็นระเบียง ด้านบนเป็นห้องพัก 1 ห้องมีเตียง 2 ชั้น ขณะที่อีกหลังเป็นบ้านต้นไม้หลังใหญ่กว่า มีห้องพัก 1 ห้องด้านบนเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงมีเตียงนอนคู่ และชั้นล่างจะเป็นห้องนั่งเล่น

นอกเหนือจากนั้นยังได้สร้างบ้านริมน้ำ 3 ชั้นเอาไว้ในบริเวณเดียวกัน ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ชั้น 2 เป็นห้องนอนเตียงเดี่ยว 4 เตียง ขณะที่ชั้น 3 เป็นห้องเตียงนอนคู่ เป็นห้องเดียวที่มีห้องน้ำในตัว และมีวิวสวยที่สุดในบรรดาห้องพักทั้งหมด ชื่อว่า ‘ห้องชมนก’

“อย่างที่บอกตอนแรกว่าเราไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจหรอก แต่พอเพื่อนที่มาเยี่ยมเขาแนะนำว่าให้ลองแชร์ลงใน Air bnb ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันสำหรับจองที่พักทางเลือกขนาดกลางและเล็กจำพวกเกสต์เฮ้าส์ โฮมสเตย์ แบบต่าง ๆ เช่น เรือบ้าน รถบ้าน บ้านต้นไม้ ดู ปรากฏว่าลงไปไม่ถึง 1 เดือนมีคนติดต่อเข้าพัก เป็นนักท่องเที่ยวคู่รักชาวอเมริกัน ที่มาฮันนีมูนที่ภูเก็ต แล้วแวะมาเที่ยวต่อที่อยุธยา จากนั้นก็มีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ แวะมาพักอีกเรื่อย ๆ

“ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวที่มาพัก เมื่อกลับไปก็จะรีวิวไว้ แล้วโดยมากก็จะมาพักตามที่รีวิวกัน ที่ผ่านมา 80 เปอร์เซ็นต์ ของนักท่องเที่ยวจะเป็นชาวต่างชาติ มีทั้งเยอรมัน ฮอลแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ญี่ปุ่น ฯลฯ จะมีช่วงหลังที่เริ่มมีคนไทยทยอยมาพักมากขึ้น”

นักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนที่บ้านต้นไม้ โดยมากจะมาเป็นครอบครัว แต่ก็มีไม่น้อยที่แบ็คแพ็คมาคนเดียว ด้วยเหตุนี้ห้องพักบางห้องจึงมีอารมณ์คล้ายกับโฮสเทลที่คนไม่รู้จักกันมาก่อนก็สามารถมาแชร์พื้นที่พักในห้องเดียวกันได้

“จะมีห้องพักที่เป็นห้องนอนเตียงเดี่ยว 4 เตียง สำหรับสาว ๆ ที่เดินทางมาคนเดียว ถ้าราคาเหมาแบบมาด้วยกันเป็นกลุ่ม ห้องนี้จะอยู่ที่วันละ 2,800 บาท แต่ถ้าพักคนเดียวก็จะคิดรายคน คนละ 700 บาท ซึ่งเราก็จะมีจักรยานไว้ให้ เผื่อเขาอยากปั่นไปเที่ยวในเมือง หรืออยากจะพายเรือดูวิถีชีวิตคนสองฝั่งคลอง ไปดูช้างอาบน้ำ ก็พายเรือจากบ้านเราไปได้เลย”

นอกเหนือจากรายได้ที่พอเลี้ยงชีวิตได้แล้ว สิ่งสำคัญที่หญิงวัย 57 ได้รับจากบ้านต้นไม้ก็คือมิตรภาพจากผู้คนมากมายที่มาเยี่ยมเยือนที่นี่

“เราได้เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ได้มารู้จักกันที่บ้านต้นไม้เยอะมาก เราอยู่กันคนละซีกโลก แต่ได้มานั่งคุยนั่งแลกเปลี่ยนความคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมกัน ซึ่งนี่คือเรื่องราวและมิตรภาพที่งดงามมาก บางคนทุกวันนี้เรายังพูดคุยทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันอยู่เลย ทั้ง ๆ ที่เขากลับประเทศของเขาไปหลายปีแล้ว”

“ขณะที่เพื่อนเก่าหลายคนเมื่อรู้ว่าเราสร้างบ้านต้นไม้ก็แวะมาเยี่ยม มาพูดคุย ที่สำคัญยังได้พาอาจารย์ที่สอนเราสมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรานับถือเหมือนพ่อเหมือนแม่มาด้วย เราเคยตั้งใจว่ายังไงชีวิตนี้ก่อนตายเราจะไปหาอาจารย์ให้ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ตั้งแต่สร้างบ้านต้นไม้ อาจารย์ท่านมาหาเราถึง 3 ครั้งแล้ว สุดท้ายกลายเป็นว่าเราได้รับมิตรภาพ และสิ่งดี ๆ จากเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่า รวมทั้งคนที่ศรัทธานับถือ”

เป็นเวลาร่วม 8 ปีแล้ว ที่บ้านต้นไม้เปิดให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ทุกวันนี้สิริลักษณ์ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขดี อาจจะมีวุ่นวายบ้างในบางครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เนื่องจากเธอต้องจัดการทุกอย่างด้วยตัวคนเดียวจะมีก็เพียงแม่บ้านและน้าชายที่มีจิตอาสามาช่วยผ่อนแรงบ้างในบางเวลา

“ในแต่ละวันเราจะตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้ามาทำอาหารให้แขกที่เข้าพัก ทุกคนจะได้รับประทานประมาณ 8 โมง ซึ่งเราก็จะพูดคุยกับเขาว่าอะไรบ้างในจานที่เราปลูกเอง เขาก็จะชอบใจ เมื่อกินเสร็จแขกทุกคนจะล้างจานเอง จากนั้นเราก็จะมาปลูกผักเตรียมดิน เพาะเมล็ด ถ้ามีงานซ่อมบ้านก็ทำเอง ถ้าน้ามาก็ช่วยกัน ถ้าไม่มาก็ทำคนเดียวไปเพลิน ๆ ตกเย็นถ้ามีเวลาว่างก็ไปหาพ่อแม่ ไปดูแล และนั่งคุยกับท่าน บางวันถ้าวุ่นจริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้ไป นี่คือชีวิตของเราคร่าว ๆ ในแต่ละวัน”

เป็นแต่ละวันที่เต็มไปด้วยความด้วยความเรียบง่าย งดงาม และมีความสุขตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้

ความสุขและการเรียนรู้

แม้จะมีความสุขดีแต่เมื่อถามถึงเป้าหมาย 3 ข้อที่วางไว้แต่แรก สิริลักษณ์ยอมรับว่าถึงวันนี้เธอยังทำมันไม่ได้ทั้งหมด

“ถ้าพูดถึงเป้าหมายที่วางไว้ตั้งในตอนแรก 3 ข้อแล้ว เราว่าข้อ 3 ยังไม่ค่อยตอบโจทย์สักเท่าไหร่ อย่างข้อแรกอยู่ในที่ที่อากาศดีและสิ่งแวดล้อมเป็นธรรมชาติ ข้อนี้เราทำได้แน่นอน เพราะในพื้นที่ของเราร่มรื่น อากาศเย็นสบาย เต็มไปด้วยต้นไม้ ส่วนข้อ 2 เป็นเรื่องจิตวิญญาณ อยากทำงานให้เหมือนว่าเราได้ฝึกปฏิบัติธรรมไปในตัว ก็ทำได้ค่อนข้างดี การที่เราได้ปลูกต้นไม้ ทำสวนก็ทำให้เราได้พบกับความสงบ มีสมาธิค่อย ๆ ทำงานไปช้า ๆ ยกเว้นว่าในช่วงที่แขกเยอะก็มีวุ่นวายบ้าง”

“แต่กับข้อสุดท้าย เรื่องการดูแลบุพการีนี่แหละที่ยังไม่ตอบโจทย์เสียทีเดียว เนื่องจากเรายังทำได้แค่เพียงไปหาไปดูแลท่านในช่วงเย็น ๆ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ควรจะต้องดูแลโดยการอยู่ในบ้านเดียวกัน เนื่องจากถ้ามีเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมาจะได้สามารถช่วยได้ทัน ก็มีข้อนี้แหละที่เราคิดว่าเราทำได้ไม่สมบูรณ์”
แม้จะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้งหมด กระนั้น สิริลักษณ์ยืนยันว่า ถึงวันนี้เธอคิดไม่ผิดที่เลือกกลับบ้าน ปลูกพืชปลูกผัก และมีรายได้จากการสร้างบ้านต้นไม้เปิดเป็นบ้านพัก

“เราว่าเราได้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนาและต้องการเกินกว่า 80% นะ อีก 20% ก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องไปทำการแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นในอนาคต”

นอกเหนือจากได้ใช้ชีวิตในแบบที่คิดไว้ สิริลักษณ์บอกว่าเธอยังได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากชีวิตในปัจจุบันอีกด้วย

“ถ้าจะถามว่าทุกวันนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการมีบ้านต้นไม้ และการที่เราเลือกกลับมาเป็นใช้วิถีเกษตร​ ก็ต้องบอกว่าเราได้เรียนรู้หลายอย่างเลย ที่แน่ ๆ อย่างแรกเราได้เรียนรู้ว่า ความสงบมีคุณค่ามากกว่าความสบาย มันเหมือนกับว่าถ้าข้างในเรารู้สึกสงบ เราจะรู้สึกว่ามันมีความพออยู่ข้างใน มันจะไม่ได้เรียกร้องหาความสบายอะไรอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก”

“ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มาพักที่บ้านต้นไม้ เราไม่ได้มีอะไรที่หรูหรา หรืออำนวยความสะดวกมากมายเหมือนกับโรงแรมหรือที่พักอื่น ๆ ไม่ได้มีแอร์ ไม่ได้มีพนักงานคอยบริการตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีแขกคนไหนเรียกร้องต้องการอยากได้สิ่งเหล่านี้ พวกเขาพึงพอใจที่จะอยู่กับความสงบและธรรมชาติมากกว่า”

“ข้อต่อมาที่ได้เรียนรู้ก็คือ ทุกที่ทุกแผ่นดินล้วนแล้วแต่มีข้อดี ข้อด้อย ด้วยกันทั้งนั้น บ้านเราเอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้แย่ เรามีองค์ประกอบ มีทรัพยากร มีธรรมชาติที่ดีมาก เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเรามีดีอะไร เราจะไปเป็นสุดยอดด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยี หรือหลาย ๆ อย่าง ซึ่งมันไม่ใช่รากของเรา”

“การที่พูดแบบนี้บางคนอาจจะคิดว่าเรากำลังถอยหลังเข้าคลอง แต่ในขณะที่เรากำลังเดินตามก้นเขา​​ หากเราแค่กลับหลังหัน เราก็กลายเป็นฝ่ายนำหน้าแล้วนะ​ (ตามคำกล่าวของปราชญ์​ชาวบ้าน​ พ่อคำเดื่อง​ ภาษี)​ เพราะฉะนั้นถ้าเราต่อยอด และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามี มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า”

มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความเชื่อเป็นของตัวเอง สำหรับหญิงวัย 57 ปีอย่างสิริลักษณ์ เธอเองก็มีความเชื่อในแบบของเธอ และไม่ได้บังคับให้ใครต้องคิดเหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือท่ามกลางความเชื่อนั้น เธอไม่ได้ปล่อยให้มันล่องลอยอยู่ในอากาศ หากแต่ลงมือทำความเชื่อนั้นให้สำเร็จและเป็นจริง

บ้านต้นไม้ และชีวิตของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ไว้ใกล้เกษียณกำลังบอกกับเราทุกคนว่า จงอย่าเป็นแค่คน ’กล้าคิด’ แต่ทุกครั้งที่มีความคิด จงเป็นคนที่ ’กล้าทำ’

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ