‘เถื่อน’ คือคำคุณศัพท์ที่มักใช้คู่กับคำว่า ‘ป่า’ ในบริบทที่เน้นย้ำถึงความไร้อารยธรรม ผิดกฎหมาย และรุนแรง แต่ความเป็นจริงแล้วอารยธรรมต่างๆ ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากป่าแทบทั้งสิ้น
ทอง แก้วใจมา ชายวัย 73 ได้ช่วงชิงคำว่า ‘ป่าเถื่อน’ กลับมานิยามความหมายใหม่ให้คืนสู่รูปรอยอันแท้จริง ผ่านการใช้ชีวิตและการบริหารธุรกิจที่ชื่อว่า ‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’
อยู่กับเถื่อน
ห่างจากเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’ ตั้งอยู่ริมลำธารในหมู่บ้านแม่แมะ ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้มีโฮมสเตย์มากมาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่มีโฮมสเตย์แห่งหนึ่งแตกต่างไปจากที่พักแห่งอื่น
‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’ มีบ้านพัก 2 หลังที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ไม่มีพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ ส่วนอาหารก็มีเพียง 4 เมนู ได้แก่ ไข่เจียว ปลาดุกย่าง แกงหยวกใส่ไก่ และน้ำพริก กับผู้ดูแลอายุ 73 ปี แต่คิวแน่นตลอดทั้งปีอย่างไม่น่าเชื่อ
“ที่พักที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ถ้าจะมาต้องทำใจนะครับ” ทอง แก้วใจมา ผู้เป็นทุกอย่างของ ‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’ บอกประโยคนี้มากกว่า 1 ครั้ง ถ้าใครอยากจะมา ‘อยู่เถื่อน’ ต้องทำใจว่า จะไม่ได้รับความสะดวกสบายเหมือนที่พักแห่งอื่นๆ เพราะเขาเลือกที่จะออกแบบให้ ‘อยู่เถื่อน’ สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนกับธรรมชาติ
“ในหมู่บ้านมีไฟฟ้า มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตครบครับ แต่ถ้าขึ้นมาพักที่นี่จะไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม จะมี ไฟเป็นตะเกียงเล็กๆ แจกให้ห้องละ 1 ดวง ห้องน้ำก็เปิดโล่งเป็นธรรมชาติ มาเที่ยวป่าจะเอาอะไรกันนักหนา สมัยปู่ย่าตาทวดจะกินน้ำก็เอาใส่กระบอกไม้ไผ่” ลุงทองย้ำอีกครั้ง ‘ต้องทำใจ’ แต่รอบนี้มีแถมว่า ‘มาเที่ยวป่าจะเอาอะไรมากมาย’
อยู่เถื่อน โฮมสเตย์ ประกอบด้วย บ้านพัก 2 หลัง ได้แก่ บ้านวิวลำธาร และบ้านลานผิงไฟ ผู้อยู่เบื้องหลังสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้คือ ลุงทอง อดีตสล่าผู้แปงบ้านให้ผู้คนมาทั้งชีวิต
“ผมเป็นช่างเป็นสล่าแปงบ้านมาทั้งชีวิตครับ” บ้านเกือบทุกหลังในหมู่บ้านเป็นฝีมือและหยาดเหงื่อของลุงทอง
“หลังจากเรียนจบ ผมช่วยพี่ชายทำงาน พี่ชายเป็นช่างสร้างบ้านอยู่ก่อนแล้ว พอพี่ชายเสียชีวิต ผมก็ยึดอาชีพนี้มาตลอด มีความรู้ติดตัวจากการช่วยพี่ชาย ผมเป็นสล่าแปงบ้านมาตั้งแต่ค่าแรงวันละ 12 บาท ขึ้นมา 25 บาท 80 บาท 300 บาท จนมาได้ค่าแรงมากที่สุด 600 บาท ตอนสร้างบ้านให้ตรี (ผู้จัดการอยู่เถื่อน โฮมสเตย์) พอสร้างบ้านของตรีเสร็จ ก็มาสร้างบ้านพักของอยู่เถื่อน แล้วผมก็หยุด ไม่ได้สร้างบ้านอีกเลย”
ภูมิทัศน์ที่เราเห็นในอยู่เถื่อน โฮมสเตย์ เป็นผลงานเชิงช่างชิ้นสุดท้าย ก่อนที่ลุงทองจะเกษียณตัวเองจากการเป็นช่างแปงบ้าน เพื่อเริ่มต้นการเป็นเถ้าแก่บริหารจัดการโฮมสเตย์ในวัย 73
“แก่แล้ว เราสู้ไม่ไหวแล้ว งานช่างมันต้องปีนป่ายหลังคา ถ้าเกิดหล่นลงมาจากที่สูงจะลำบาก ผมเห็นเพื่อนบ้านตกลงมาจากที่สูงก็พิการกันหมด มันพลาดได้นะ พออายุมากขึ้นก็ตัดสินใจหยุดทำงานช่าง
“ตอนเริ่มสร้างอยู่เถื่อน ตอนนั้นผมอายุ 60 กว่าๆ เกือบๆ 70 แล้วนะ เราเห็นเพื่อนบ้านทำโฮมสเตย์กันเยอะ ก็เลยอยากทำเพื่อเพิ่มรายได้ แต่เราไม่ได้ทำเหมือนคนอื่นนะ เราทำในรูปแบบของเรา อีกอย่างเราอายุจะ 70 แล้ว แก่เฒ่าแล้ว ก็เลยลาออกจากการเป็นสล่ามาเป็นเถ้าแก่เจ้าของโฮมสเตย์” ลุงทองยิ้ม
อยู่เถื่อน โฮมสเตย์ เกิดจากการระดมสมองของคน 3 รุ่น ได้แก่ ลุงทอง ตรี เพื่อนบ้านที่ลุงทองไปช่วยสร้างบ้านให้ และทนงศักดิ์ ผู้เป็นลูกชาย
พวกเขาร่วมกันคิดอ่านวางแผนว่า จะทำอย่างไรให้ ‘อยู่เถื่อน’ เป็นโฮมสเตย์ที่แตกต่างไปจากโฮมสเตย์ในเมือง การท่องเที่ยว สถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่งานง่ายนัก แต่การสร้างความแตกต่างที่ดีที่สุดก็คือ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’
“ผมปรึกษาลูกชายว่าเราจะเอาแนวนี้ดีไหม เอารูปแบบและกิจกรรมในชีวิตของคนรุ่นปู่ย่าตาทวดกลับมาเป็นไอเดียหลักของโฮมสเตย์ ถ้าเราเอาแบบหรูๆ มันก็ลำบาก เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหรา เราลำบากมาตลอด อยู่กับธรรมชาติมาตลอด ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่สร้างที่นี่ให้เป็นตัวเราล่ะ พอคิดได้แบบนี้มันก็เลยไม่ยุ่งยาก ผมสร้างเองทุกอย่าง แม้แต่ถ้วยชามช้อนส้อมที่ทำจากกะลาก็ทำเอง ไอเดียนี้มาจากสมัยก่อน ตอนที่ผมมีลูกเล็กๆ เราไม่มีของเล่นให้ลูกเหมือนคนอื่น ผมก็เลยทำของเล่นจากกะลา ก็เอามาใช้เป็นไอเดียทำเครื่องครัวของเรา สร้างความประทับใจให้แขกเหรื่อได้ดีทีเดียว”
ตั้งแต่บ้านพัก ห้องน้ำ อ่างล้างมือ บันไดต่างระดับ ล้วนถูกออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ทักษะเชิงช่างและจินตนาการของลุงทองเนรมิตให้ ‘อยู่เถื่อน’ มีทั้งความเก๋และบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกับป่า
“คนที่มาพักที่นี่ชอบบอกว่าอิจฉาชีวิตของเรา เพราะเราอยู่ไกล เขาต้องลำบากเดินทางมา นั่งเครื่องบินแล้วเช่ารถต่อเข้ามาอีก พอกินข้าวเสร็จ ต้องล้างถ้วยล้างชามให้เจ้าของที่พักอีก ผมก็ซึ้งใจนะ คนที่มาพักที่นี่เขาล้างจานเองทุกคน เราไม่ได้บังคับนะ แต่เขาช่วยทำ เขาคงคิดว่าเหมือนมาบ้านตา บ้านยาย”
ที่นี่ เปิดบริการมาแล้วกว่า 5 ปี ไม่น่าเชื่อว่าครัวของอยู่เถื่อนจะมีอาหารเพียง 4 เมนู ได้แก่ ไข่เจียว ปลาดุกย่าง แกงหยวกใส่ไก่ และน้ำพริก
“เปิดมา 5 ปี มีเมนูแค่นี้” เหมือนลุงทองจะบอกเป็นนัยว่า 5 ปี 4 เมนู เถื่อนพอไหม
ส่วนกิจกรรมที่เป็นทางเลือกในการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวถูกออกแบบมาจากวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับป่า ซึ่งเป็นรากฐานดั้งเดิมของคนในชุมชนหมู่บ้านแม่แมะแห่งนี้
พรานป่าจะเป็นไกด์เดินป่า ซึ่งสามารถอธิบายคุณสมบัติของพืชสมุนไพรระหว่างเส้นทาง นอกจากนี้ยังมีเส้นทางน้ำตก การหาปลาในแม่น้ำ และกระบวนการเก็บใบชา
เราจะพานักท่องเที่ยวเก็บใบชา คั่วและนวดใบชา จนกระทั่งชงชาดื่ม เราเอาความรู้ตรงนี้เผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เพราะที่ดินตรงนี้แต่เดิมบรรพบุรุษปลูกชา แต่ผมก็ปลูกลิ้นจี่เสริมด้วย ต้นชาเหล่านี้ก็เป็นมรดกของปู่ย่าตาทวดท่านทิ้งไว้ให้ เราก็สืบทอดมรดกของบรรพบุรุษ ชีวิตที่ผ่านมานอกจากเป็นสล่า ผมก็เก็บใบชาส่งลูกเรียนจนโตอย่างทุกวันนี้” ลุงทองเล่า
ทนงศักดิ์ แก้วใจมา ลูกชายของลุงทอง บอกว่ากิจกรรมต่างๆ ของอยู่เถื่อน เป็นการกระจายรายได้ไปยังคนในชุมชน รวมถึงเยาวชนที่รับมอบมรดกทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนและผ่องถ่ายไปยังสังคมร่วมสมัยของพวกเขา
“เราจะมีกิจกรรมเดินป่า ชมทิวทัศน์ ชมน้ำตก หากเดินป่าจะเริ่มหกโมงเช้า พาชมวิวดอยหลวงเชียงดาวซึ่งสวยงามมากในหน้าหนาว ถ้าเที่ยวน้ำตกจะต้องเดินตอนกลางวัน ห่อข้าวไปกินกันที่น้ำตก เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินร่วมชั่วโมง ขากลับเราจะเอาแหไปหาปลาตามลำห้วย เพื่อนำกลับมาทำกับข้าว
“โฮมสเตย์แห่งนี้ ไม่ได้ทำให้พ่อของเรามีรายได้คนเดียว แต่กระจายไปยังคนในหมู่บ้าน เช่น ไกด์พาเที่ยวน้ำตก ซึ่งจะต้องมีความรู้เรื่องต่างๆ ที่พบเจอระหว่างทาง เช่น สมุนไพร ทุกคนในหมู่บ้านเป็นพรานป่ากันอยู่แล้ว มีความรู้สามารถในการนำเที่ยว และแนะนำสิ่งที่พบเจอระหว่างทางได้ กิจกรรมในส่วนนี้ก็จะกระจายรายได้ไปยังคนในชุมชน ซึ่งมีแต่ตั้งเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่เราอยากเน้นไปที่เด็ก เพราะเด็กจะได้เก็บเกี่ยวสะสมความรู้ไปด้วย นอกเหนือจากที่ได้เรียนรู้จากพ่อแม่ของเขาอยู่แล้วด้วย” ทนงศักดิ์เล่า
‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’ มีอายุ 5 ปี ทนงศักดิ์มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของพ่อ จากการที่ลุงทองปรับตัวตลอดเวลาในระหว่างการทำโฮมสเตย์นี้ร่วมกันกับลูกชาย ซึ่งเป็นคนต่างเจเนอเรชั ่ น เพราะการปรับตัวถือเป็นคุณสมบัติแสนวิเศษที่มีอยู่ในธรรมชาติ
อยู่กับป่า
“พ่อเปลี่ยนทัศนคติไปมากหลังจากโฮมสเตย์เปิดมา 5 ปีครับ อยู่เถื่อนได้รับการตอบรับดีมาก พ่อมีความสุขนะ ไม่เหมือนตอนที่เราเริ่มทำกันเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนนั้นพ่อไม่มั่นใจครับ พ่อก็เป็นชาวบ้านธรรมดา ยังมองไม่เห็นว่าสิ่งที่พวกเรากำลังทำกันมันจะสำเร็จยังไง แต่ก็ก้มหน้าก้มตาทำกันมา ช่วงหลังแกปรับเปลี่ยนทัศนคติไปเยอะมาก ก็ค่อยเป็นค่อยไปทั้งผมและพ่อ” ทนงศักดิ์เล่า
ณ วัยหนึ่งของชีวิต สิ่งที่เคยทำได้ดีก็จะถูกความเสื่อมถอยของร่างกายฉุดรั้ง สายตาไม่ดีเหมือนก่อน ปฏิกิริยาไม่ว่องไวเช่นเคย ในสายตาของลูกชายวัย 43 พ่อผู้มีอายุ 73 ซึ่งทำงานก่อสร้างมาทั้งชีวิตควรจะยุติความผาดโผนที่ไม่เหมาะสมกับวัยชราเสียที
แต่การจะให้คนคนหนึ่งหยุดกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตแล้วนั่งอยู่บ้านเฉยๆ ทนงศักดิ์คิดทบทวนแล้วพบว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ส่งผลเสียมากกว่าผลดี
“เราไม่อยากให้พ่อทำงานก่อสร้าง เพราะอันตรายสำหรับคนแก่ ก็เลยคิดทำโฮมสเตย์ด้วยกัน เพราะพ่อมีความรู้ทั้งเรื่องอาหารและงานก่อสร้าง ความสามารถพ่อก็เยอะด้วย พ่อทำได้หมด ถ้าให้พ่อพักอยู่บ้านเฉยๆ พ่อก็ไม่น่าจะยอม ถ้าจะให้พ่อเก็บใบชาก็ไม่ไหวแล้ว เราอยากหาวิธีหาเงินให้พ่อด้วย โจทย์ของเราคือทำยังไง ให้ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งพอพ่อเลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง มันจึงทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นจริงๆ” ทนงศักดิ์เล่า
เมื่อโฮมสเตย์เปิดให้บริการ จากวันแรกถึงวันนี้ ลุงทองก็เป็นทุกอย่างให้โฮมสเตย์แห่งนี้ได้จริงๆ ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง ทำความสะอาด ทำสวน ทำอาหาร และพนักงานเรียกแขก
จนกระทั่งเรื่องราวของ ‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’ ถูกบอกเล่าส่งต่อกันอย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ลุงทองผู้ตื่นมาก่อไฟตั้งแต่เช้ามืดกลายเป็นเหมือนดาราที่ปรากฎตัวอยู่ในทุกคลิปและทุกภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘อยู่เถื่อน โฮมสเตย์’
“คนที่มาพักที่นี่เขาประทับใจนะ ผมไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเป็นแบบนี้ เราทำแบบบ้านๆ ใครอยากมาก็ยินดีต้อนรับ ใครไม่ชอบแบบนี้ เราก็น้อมรับ เราก็ทำของเราไป แต่พอคนมาเยอะผมก็ตกใจนะ ส่วนมากเป็นคนรุ่นหลาน ที่มาแล้วก็บอกว่าเดี๋ยวจะรีวิวให้ ผมก็ไม่รู้จักหรอกว่ารีวิวคืออะไร เพราะไม่เคยเข้าไปดูเลย” ลุงทองเล่าพลางหัวเราะ
ลุงทองหลงรักทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา พร้อมนาฬิกาปลุกเคลื่อนที่ที่มีสองปีกสองขาซึ่งจะร้องขันบอกเวลาตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง สิ่งแรกที่ลุงทองทำคือ ก่อไฟ ที่ให้ทั้งแสงสว่างและความร้อนในการทำอาหาร
“ตีห้าตื่นมาก็มาก่อฟืนก่อไฟ ตั้งน้ำร้อนสำหรับชากาแฟให้นักท่องเที่ยว ผมเตรียมไว้แต่เช้า ต้มหม้อข้าวต้มรอเขาตื่น ทำแบบนี้ทุกวัน ลูกหลานมาเที่ยวเปลี่ยนหน้ากันมาเรื่อยๆ ถามว่าจำหนูได้มั้ย พ่อจำไม่ได้จริงๆ จำผมได้มั้ย พ่อจำไม่ได้จริงๆ แต่ก็มีความสุขนะ หลานๆ มาเที่ยวก็ขอถ่ายรูปกับตาหน่อย
“คนแก่เป็นวัยที่เหงานะ แก่มาก็ดับไป ถ้าไม่มีอะไรทำก็เหงา เราต้องใช้ชีวิตธรรมดาของเราไปนี่แหละ อยู่ให้เย็นก็เป็นสุข อยู่กับสิ่งที่เรามี เก็บชา ทำสวน หาอะไรทำไปเรื่อย” ลุงทองบอกเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา ไม่มีคำคม ไม่มีถ้อยคำสร้างแรงดลใจ แต่ความหมายหนักแน่นผ่านโมงยามของชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเถื่อนๆ
เถื่อนที่มีความหมายเอ่ยอ้างถึง ‘ป่า’ จุดกำเนิดอารยธรรมและภูมิปัญญาในการก้าวไปข้างหน้าท่ามกลางความธรรมดาและศักดิ์สิทธิ์
“เถื่อนก็คือป่า อยู่เถื่อนก็คือการอยู่ในป่าแบบคนบ้านเราสมัยปู่ย่าตาทวด ไม่มีอะไรเลิศหรู อยู่ร่วมกับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติก็ต้องรักษาธรรมชาติ นี่แหละอยู่เถื่อนในแบบของผม” ลุงทอง กล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเถื่อนๆ ตามธรรมดา