‘ยอด ยากูซ่า สตูดิโอ’ ร้านทำผมของยายหลุยกับหลานยอด ร้านเสริมสวย 2 เจนฯ แห่งเมืองตะกั่วป่า

“ถ้าจะกลับบ้าน ต้องมีเงินเท่าไรถึงจะกลับได้ เเต่พอมานึกดี ๆ เรารอไม่ได้แล้ว ถ้าเรารอ เเล้วมีใครเป็นอะไรไป มีใครสักคนไม่อยู่ ภาพที่เราคิดไว้ก็จะไม่สมบูรณ์เเล้ว”

ชื่อเสียง เงินทอง ความสนุกสนานในแวดวงบันเทิง และการอยู่ท่ามกลางผู้คน อาจไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมดของชีวิต เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือคนที่เรานึกถึงในวันที่มีปัญหาทุกข์ใจ เหนื่อยจนแทบลุกขึ้นยืนไม่ไหว คนที่เฝ้ารอให้เรากลับบ้านและพร้อมจะโอบกอด ดูแลหัวใจ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเรา

มนุษย์ต่างวัยชวนไปติดตามเรื่องราวของ ‘ยอด ภาสุ เหมียนบุตร’ ช่างทำผมวัย 44 ปี ที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตเมกอัป อาร์ทิส แถวหน้าแห่งวงการ เพื่อกลับบ้านไปสร้างร้าน ‘ยอด ยากูซ่า สตูดิโอ’ ร้านทำผมสุดชิกกลางเมืองตะกั่วป่าที่หลายคนทักท้วงว่าจะไปไม่รอด แต่ยอดกลับเชื่อมั่นว่า เขาทำได้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดูแลทั้งความฝันและคนที่รักไปพร้อมกัน เพื่อให้คุณยายวัย 87 ปี ยังได้ทำสิ่งที่รักและให้ตัวเองได้กลับไปดูแลครอบครัวในวันที่ทุกคนยังอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา.

“เราฝันอยากเป็นช่างเสริมสวยมาตั้งเเต่เด็ก ๆ เพราะเคยตามคุณเเม่ไปทำผมเเล้วนั่งในร้านได้นานโดยที่ไม่รู้สึกเบื่อเลย ยิ่งเกิดมาก็เห็นคุณยายทำร้านเเล้ว เราชอบอะไรสวย ๆ งาม ๆ

“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่เเล้ว ถ้าไปบอกที่บ้านว่าอยากเป็นช่างเสริมสวย ทุกคนจะงง จะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร เเละเป็นห่วงว่าจะไปไม่รอด แต่เรารู้เเล้วว่าเราอยากเป็นช่างเสริมสวย ก็คิดว่าต้องไปเรียน เราต้องพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้ เลยตัดสินใจขอเงินที่บ้านก้อนหนึ่ง เเล้วขึ้นรถทัวร์ไปกรุงเทพฯ ไปเช่าห้องอยู่กับเพื่อน 4 คน ตอนนั้นเราก็ไปหางานทำเพิ่ม พอเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เราก็ไปเรียน นั่งรถเมล์ 3 ต่อ นั่งเรืออีกต่อไปเรียนช่วงเช้า เเล้วกลับมาทำงานช่วงบ่าย เราทำงานในห้าง มีวันหยุดเเค่วันเดียว ตื่นแต่เช้า หิ้วลังเหล็ก ต่อรถ ต่อเรือ ไปเเบบนี้เเทบทุกวัน

“พอเรียนจบก็ไปทำงานเเบรนด์เครื่องสำอางในห้าง เราทำทั้งงานขายเครื่องสำอางและแต่งหน้า จนมีโอกาสได้ไปทำแบรนด์ใหญ่ ทำงานเเค่เดือนเดียว ก็ถูกส่งไปทำเเบ็กสเตจ มีโอกาสได้เเต่งหน้าทั้งงานถ่ายนิตยสาร เเละเเฟชั่นโชว์ จนเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการ ได้ไปฝรั่งเศส เรารู้สึกว่าตัวเองมาไกลมาก เราตามคุณชมพู่ไปงานเเฟชั่นวีก เเล้วนึกย้อนกลับไปวันเเรกที่เราเเบกกระเป๋าจากต่างจังหวัดขึ้นรถทัวร์มา บอกกับตัวเองว่าในที่สุดเราก็มาถึงเเล้วนะ”

“เรามักจะพูดกับเพื่อนในวงการว่า เราอยากเปิดร้านเสริมสวย เพื่อน ๆ เเทบไม่มีใครสนับสนุนเลย เขาอยากให้เราอยู่ทำงานในวงการต่อ เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเลยเสียดายกัน เเต่สำหรับเรามันรู้สึกว่าฝันมันยังไม่เต็ม

“ตื่นเช้ามา เราจะถามตัวเองในกระจกว่าเราอยากทำอะไรต่อ ใช้ชีวิตอย่างไรต่อ ความคิดมันเเวบมาเรื่อย ๆ จนมาเริ่มชัดขึ้นช่วงโควิดที่มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น

“วันหนึ่งเราได้ไปทำงานใหญ่มาก เป็นงานระดับเอเชีย ทุกคนตื่นเต้นกันมาก ถ่ายรูปกันสนุกสนาน เเต่เราไม่ตื่นเต้นเเล้ว เราไม่อยากถ่ายรูป อยากรีบทำงานให้เสร็จ อยากกลับบ้าน ไม่รู้สึกว่ามันพิเศษสำหรับเราเเล้ว

“จนกระทั่งวันหนึ่งน้องสาวโทรมาบอกว่าพ่อไม่สบาย พ่อเจ็บขา เราก็เลยฉุกคิดว่าพ่อกับเเม่อยู่กันสองคน เขาจะอยู่กันได้ไหม น้องสาวก็มีครอบครัวไปแล้ว หรือเราจะกลับไปอยู่บ้าน เลยตัดสินใจโทรหาพ่อ เเล้วพ่อก็บอกให้กลับมาเลย เราสัมผัสได้ว่าเขาก็คงรอเราอยู่เหมือนกัน”

“พอดีคุณยายเปิดร้านเสริมสวยอยู่แล้ว เราเลยมาขอใช้พื้นที่ร้านของคุณยาย ปรับปรุงร้านใหม่ให้สวยขึ้นตะกั่วป่าเป็นเมืองเก่า มีเรื่องราวในตัวอยู่แล้ว เเต่มันเป็นสีเป็นโมโนโทน เราเป็นเเค่สีหนึ่งที่เข้ามาแต่งแต้ม เราคิดว่ามันเป็นความภูมิใจของเรานะ เราเกิดที่นี่ เรามาทำธุรกิจที่นี่ ทำโดยที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรกลับมา ทำเเบบนี้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวคนก็เห็นเอง

“เราต้องใช้ชีวิตอยู่ในร้านเกิน 12 ชั่วโมง เลยทำร้านให้สวย ให้อยากนั่งนาน ๆ การที่เราจะทำให้ลูกค้าสวยได้ เราต้องมีความสุขก่อน เราถึงจะส่งพลังดี ๆ ไปให้คนอื่นได้ เราจะไม่อยู่ในกรอบ เราจะทำชีวิตเเละร้านเราในเเบบเรา เราจะไม่ทำชีวิตเเละร้านเราในเเบบที่คนอื่นบอกว่าดี

“เราอยากให้เมืองมันโตขึ้น อยากให้คนทั้งโลกหันมามองบ้านเรา เดี๋ยวนี้โลกมันเเคบลงด้วยโซเชียล เราก็เเค่ทำให้คนรู้จักเราเดี๋ยวเขาก็มาหาเราเอง”

ยายหลุย กัลยารัตน์ ตันสกุล คุณยายของยอด เป็นช่างผมรุ่นใหญ่เเห่งเมืองตะกั่วป่า เล่าถึงอาชีพที่รักให้ฟังว่า “ยายทำผมมา 60 ปีเเล้ว เย็บผ้าด้วยนะ ตัดเย็บทั้งเสื้อนอก เสื้อใน ทำได้ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเรียน สมัยสาว ๆ ยายทำผมวันละเเปดเก้าคนเลยนะ โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ใคร ๆ ก็มาเกล้าผมไปเที่ยว เขารู้จักยายกันทั้งนั้น”

ร้านยายหลุยเป็นตึกเก่า ๆ มีประตูเหล็กเปิดไว้เป็นช่องเล็ก ๆ พอเดินผ่านได้ ยายจะเเขวนป้ายไว้หน้าบ้านว่า  “ให้เรียก” เพื่อเป็นการบอกลูกค้าให้รู้ว่าวันนี้ร้านเปิด ร้านเสริมสวยมีความสำคัญกับยายมาก เพราะยายหลุย ก่อร่างสร้างตัวมาจากอาชีพเสริมสวย ทำมาเรื่อย ๆ จนอายุ 87 ปี ยายทำร้านแบบบ้าน ๆ ง่าย ๆ เวลาสระผมให้ลูกค้า ยายหลุยก็ยังใช้ขันตักน้ำราดอยู่ ไม่ได้ใช้ฝักบัว

“การได้ทำผมเป็นอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ค่าใช้จ่ายจะสูง แต่เราทำมาจนอายุขนาดนี้ เราก็ภูมิใจ ที่ทำก็ไม่ได้คิดเรื่องร่ำรวยเเล้ว ยายไม่ชอบอยู่เฉย ๆ มันเหงา ยายชอบทำงาน ได้คุยกับเพื่อน ได้เจอคนบ้างก็มีความสุขแล้ว

“ดีใจนะที่หลานกลับมาทำร้านที่นี่ เราเห็นหลานใช้อุปกรณ์ใหม่ ๆ ก็ไปดูเขาทำ ไปลองใช้บ้าง พยายามเชียร์ให้คนมาร้านเยอะ ๆ มาทำกับหลาน เราเเก่เเล้ว ทำเเค่วันละคนก็ดีเเล้ว ทำพอให้มีความสุข  อันไหนทำได้ก็ทำ อันไหนทำไม่ได้ ก็ปล่อยไป เราเเก่เเล้ว ทำเท่าที่เราไหว”

“คุณยายเป็นช่างเสริมสวยรุ่นใหญ่ในพื้นที่ คุณยายรักในอาชีพเสริมสวย ก่อร่างสร้างตัวมาจากการทำผม ตอนเราจะกลับมา เราบอกคุณยายว่าเราจะทำร้านให้ดีขึ้น เเล้วให้คุณยายมาทำด้วยกัน คุณยายก็โอเค

“เรามองก่อนว่าคุณยายต้องใช้อะไรบ้าง เราเซตมุมหนึ่งเป็นมุมเก๋ ๆ ให้ อยากให้คุณยายมีกระจก เก้าอี้สวย ๆ ไว้ให้ลูกค้าของเขาบ้าง ส่วนอุปกรณ์ น้ำยาที่คุณยายใช้ เราไม่ได้เปลี่ยน เราเเค่ตกเเต่งร้านให้มันสวยขึ้นตามสไตล์เรา

“เราเป็นช่างเสริมสวย เราก็ลงทุนกับความสวยงาม เป็นอาหารตาให้คุณยาย คุณยายก็มีรอยยิ้ม ได้มองของสวย ๆ งาม ๆ ได้เห็นความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง การทำร้านช่วยให้คุณยายไม่เหงา อย่างน้อยก็มีเพื่อนคุย ถามสารทุกข์สุขดิบ ทำให้คุณยายมีสุขภาพจิตดี

“คุณยายเป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ เวลาเราทำผม เขาก็มายืนดูว่าเด็กสมัยนี้ทำอะไรกัน ฟอกสีผมยังไง ตัดผมยังไง เขาหัดใช้อุปกรณ์ที่ไม่คุ้นเคย จากที่เคยสระผมด้วยเตียงสระเก่า ๆ เเล้วใช้ขันตักราด พอเราติดก๊อกน้ำให้ คุณยายก็เปลี่ยนมาใช้ฝักบัว จนใช้เก่ง ใช้คล่อง

“เรายังอยากให้คุณยายทำงาน เพราะการที่ร่างกายยังได้ขยับ ทำโน่นทำนี่ ก็เหมือนให้คุณยายได้ออกกำลังกายไปในตัว ไม่อยากให้เขานั่งเฉย ๆ เขาอยากทำอะไรก็ให้เขาทำ คุณยายเป็นทั้งช่างเสริมสวยเเละช่างเย็บผ้า ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเอาผ้ามาให้คุณยายเย็บ คุณยายก็จะคำนวณว่ากี่เซน กี่มิล ได้ใช้สมองอยู่ตลอด ถึงเเม้คุณยายจะเดินเหินไม่ค่อยสะดวกเหมือนคนอื่น เเต่ด้วยใจ คุณยายยังเเข็งเเรง ยังทำงานได้”

“การได้เห็นรอยยิ้มของพ่อเเม่ทุกวัน ได้กินกับข้าวฝีมือเเม่ ถึงเเม้จะคุยกันบ้างไม่คุยบ้าง เเต่ก็รับรู้ได้ถึงความห่วงใยที่มีให้กันเสมอ

“ดีใจที่ได้กลับมาทำงานกับคุณยาย ทำให้เราเห็นว่าคนรุ่นเก่า เขาก็มีของดีในเเบบของเขา เราก็มีในแบบของเรา แค่เรียนรู้และยอมรับซึ่งกันเเละกัน ก็อยู่ด้วยกันได้

“เราว่าความสุขเป็นสิ่งที่หาได้รอบ ๆ ตัว เเค่เราตอบตัวเองให้ได้ว่าเราอยากมีชีวิตเเบบไหน การที่ชีวิตเราเจอทั้งสุขเเละทุกข์มันเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญ คือ เราต้องมีความสุขในเเบบที่เราอยากมี ไม่ใช่ใช้ชีวิตในเเบบที่คนอื่นอยากให้เป็น ถ้าเรามัวรอให้พร้อม มีเงินมาก ๆ รวยมาก ๆ เเล้วค่อยกลับบ้าน วันนั้นอาจไม่มีใครรอเราอยู่เเล้วก็ได้”

แผนที่ : ยอด ยากูซ่า สตูดิโอ 92 ถ.ศรีตะกั่วป่า ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 82110

089 505 2258

ร้านเปิดให้บริการทุกวัน : 10.00 – 20.00 น. 

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ