เรา (ต่าง) เหมือนกัน ครั้งที่ 7 ลดช่องว่างระหว่างวัย ด้วยการ “เปิดพื้นที่ใจให้กว้างกว่าเดิม”

ผ่านไปแล้วสำหรับเวิร์กช็อป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” ครั้งที่ 7 กิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกความต่าง ทั้งต่างเจเนอเรชัน ต่างเพศ ต่างวัย ต่างที่มา ต่างความคิดและความรู้สึก เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองเปิดใจในการสำรวจทั้ง ‘ตัวเอง’ และคน ‘ต่างวัย’ ให้ลึกลงไปกว่าที่ตามองเห็น เพื่อร่วมเรียนรู้ในการทำความเข้าใจ และปิดช่องว่างระหว่างวัยไปด้วยกัน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทีมงานมนุษย์ต่างวัยขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าจดจำ และสำหรับครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 ท่าน ซึ่งมาหลากหลายเจเนอเรชัน ทั้ง Z Y X  และ B ตั้งแต่อายุ 21 – 75 ปี

มนุษย์ต่างวัยเชื่อว่าเวิร์กช็อปครั้งนี้คงจะทำให้ใครหลายคนได้พบคำตอบของบางคำถามที่เคยติดค้างอยู่ในใจ และเข้าใจความคิดความรู้สึกของคนต่างวัยในมุมมองที่ต่างออกไปจากเดิม

นี่คือบางส่วนของภาพความสนุกสนาน ประทับใจ ที่อบอวลไปด้วยมวลแห่งความสุขของคนทุกวัยที่มาเรียนรู้ร่วมกันตลอด 2 วัน 1 คืนที่ผ่านมา ที่โรงแรมกาลนาน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท นนทบุรี

หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจและอยากมาสัมผัสกับบรรยากาศอบอุ่นแบบนี้ สามารถติดตามข้อมูลการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปได้ทางเพจมนุษย์ต่างวัย รวมทั้งเรายังมีอีกหลากหลายกิจกรรมสนุก ๆ และสร้างสรรค์ไว้ให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกันตลอดทั้งปี

“จริง ๆ เราติดตามเพจมนุษย์ต่างวัยอยู่แล้ว และมีความรู้สึกว่ามันทำให้เราเข้าใจคนอื่นในมิติที่หลากหลายขึ้น พอเห็นกิจกรรมนี้และเห็นว่าเป็นเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยก็เลยคิดว่าน่าจะเอาไปใช้ในการทำงานได้ เพราะตอนนี้ในทีมที่ทำงานมีน้อง ๆ เจน Z ค่อนข้างเยอะ แล้วก็ข้ามมาที่เราซึ่งเป็นเจน X เลย เราอาจจะไม่ได้มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัยโดยตรง แต่เรามีคุณค่าที่ยึดถือแตกต่างกัน เราก็เลยอยากจะเข้าใจเขามากขึ้น

“เราชอบกิจกรรมในช่วงแจกการ์ดเปิดความต้องการ เพราะมันทำให้เราติดและลังเลอยู่ 2 คำ คือ เป้าหมายชีวิต และความหมายของชีวิต เราสงสัยตัวเองตลอดเลยว่าทำไมเราถึงเริ่มเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แล้วพอเราไปชวนเพื่อน เขาก็จะคิดว่าเรามีปัญหา ทั้งที่จริง ๆ แล้วชีวิตเราก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร เราอาจจะแค่กำลังตามหาความหมายของชีวิตอยู่

“เราว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้คนเราต่างกันมันคือความไม่เข้าใจกันมากกว่าช่วงวัย ซึ่งความไม่เข้าใจมาจากการไม่เปิดใจ คน ๆ หนึ่งที่อยู่ต่อหน้าเรา เขาไม่ได้มีแค่สิ่งที่เรามองเห็น แต่เขาผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย แต่เราไม่เคยย้อนกลับไปทำความเข้าใจตรงนั้น สุดท้ายแล้วทุกคนมีความต้องการร่วมกัน คือ การถูกมองเห็น การถูกยอมรับ แต่การถูกมองเห็นของคนแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน พอเรารู้ความต้องการของเขา มันก็จะนำไปสู่ความเข้าใจพฤติกรรมและการแสดงออกของเขาด้วย

“สิ่งที่เราจะเอากลับไปใช้ในชีวิตคือทักษะการฟังและเข้าใจถึงที่มาที่ไปของคนอื่นจริง ๆ โดยเริ่มไปใช้กับน้อง ๆ ในทีมก่อน มองให้เห็นมากกว่าเรื่องราวที่เป็นพื้นฐาน เมื่อก่อนเรามองคนเป็นแค่ทรัพยากรในการทำงานอย่างหนึ่ง คิดว่าเราจะใช้ประโยชน์จากเขาอย่างไร แต่การเข้าเวิร์กช็อปนี้ทำให้เรามองเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา มีความเห็นอกเห็นใจ และมองในมุมของเขามากขึ้น ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาว่าเราในฐานะที่เป็นเจ้านายเขา เขามาทำงานกับเรา เขาอยู่กับเราสัปดาห์หนึ่ง 5 วัน วันหนึ่ง 8-9 ชั่วโมง บางครั้งมากกว่าอยู่กับครอบครัวด้วยซ้ำ อิมแพ็กที่มันเกิดกับเขาส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากตัวงาน จากการที่เขามาทำงานกับเรา พอคิดแบบนั้นมันก็ทำให้เราคิดว่าเราจะต้องดูแลใจเขาให้ดีขึ้น ทำให้ใจเราเบาลง และคิดว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และเราผิดพลาดได้ ดังนั้นเราจะใจดีกับตัวเองและคนอื่นให้มากขึ้น”

“ตอนแรกพลอยไม่ค่อยมีความหวังว่าตัวเองจะเชื่อมกับคุณย่าได้ แต่พอเห็นคอนเทนต์ของมนุษย์ต่างวัยพลอยเห็นว่ามีผู้ใหญ่หลายคนที่เปิดใจรับฟังลูกหลาน พลอยก็เลยคิดว่าน่าจะพอเป็นไปได้ และด้วยตัวงานของพลอยเองต้องนำเทคโนโลยี หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้าไปใช้งานในองค์กรของลูกค้า ซึ่ง

“พอมาเจอเวิร์กช็อปนี้ เห็นชื่อเวิร์กช็อปและแคปชันที่บอกว่าชวนมาเปิดใจตัวเอง มันทำให้พลอยกลับมาฉุกคิดว่าหรือบางทีการที่เกิดปัญหาขึ้นมันไม่ใช่ว่าคนอื่นเป็นอุปสรรคของเราแต่เราเองอาจจะเป็นอุปสรรคของคนอื่นอยู่หรือเปล่า พลอยก็เลยอยากมาหาคำตอบ

“พลอยชอบกิจกรรมช่วง 25 แกนคุณค่าในใจ มันเหมือนเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนเราว่าแม้คนเราแตกต่างกัน แต่เราสามารถเข้าใจกันได้จริง ๆ แล้วความเข้าใจนั้นมันจะทำให้ความแตกต่างสวยงาม ซึ่งพลอยคิดว่าจะนำตรงนี้ไปใช้ต่อเพื่อปรับในเรื่องการสื่อสารจากการสื่อสารในมุมของตัวเราเอง เป็นการทำความเข้าใจความต้องการในมุมของคนอื่นมากขึ้น เริ่มวางแผนการสื่อสาร พัฒนาการสื่อสารของตัวเองให้เข้าไปในใจคนมากขึ้นได้อย่างไร โดยพยายามเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้นก่อนจะเริ่มการสื่อสาร

“จากที่เราเคยตั้งคำถามตอนที่สมัครเข้ามาว่าเราอยากรู้ว่าเราเป็นอุปสรรคให้คนอื่นอยู่หรือเปล่า มันทำให้เราเห็นว่าเราอาจจะเป็นแบบนั้นอยู่จริง ๆ ก็ได้ เราใช้แกนของเราไปคิดแทนคนอื่น พลอยได้รู้แล้วว่าสิ่งที่ทำให้คนเราต่างกันไม่ใช่ วัย แต่คือใจแน่นอน ถึงแม้วัยเราจะต่างกัน แต่ถ้าใจเราสอดคล้องกัน เปิดรับไปด้วยกัน เราก็ไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น เราอาจจะต่างในเรื่องวัย แต่เราเหมือนในเรื่องทัศนคติ มุมมอง และความอยากที่จะรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์ มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัว และทำให้บรรยากาศการเรียนรู้มันดีมาก

“วันนี้นอกจากความรู้ สิ่งที่ได้กลับไปแน่ ๆ คือมิตรภาพ เหมือนเราเป็นคนใจดีที่มาเจอกัน แล้วคนกลุ่มนี้ก็จะไปใจดีกับคนอื่น ๆ ต่อ ถึงแม้ว่าเราจะต้องกลับไปเจอโลกข้างนอก แต่เวลาที่เรามีอะไรไม่สบายใจ เราก็จะกลับมานึกถึงพลังงานตรงนี้อีกครั้ง”

“เรากำลังก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมที่ชื่อ Active Senior ซึ่งต้องทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลาย มากทั้งคนในชุมชนที่มีความต่างวัย ต่างความรู้ ต่างประสบการณ์ เราเลยอยากมาเติมเต็มทักษะในเรื่องของการเข้าใจคนมากขึ้น

“ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเป็นปัญหาที่เจออยู่ตลอด อย่างในครอบครัว ตั้งแต่คุณแม่เสียไป  ความสัมพันธ์มันก็ห่างไปเรื่อย ๆ คุยกันน้อยลง เราก็อยากจะฟื้นความสัมพันธ์นี้กลับคืนมา ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ก็ต้องแก้ที่ตัวเราเอง

“อย่างหลาน ๆ ที่อยู่ในช่วงเจน Z เขาไปทำขนม เขาก็ไม่ใช้สูตรขนมของเรา แต่เลือกที่จะไป เรียนเองกับเชฟที่มีประสบการณ์ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดของคนในรุ่นเขามากขึ้น มีเรื่องอะไรเขาก็ไม่ได้มาถาม มาปรึกษา เพราะเขามีแนวทางที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง หรือ การทำงานท่องเที่ยวชุมชนที่เราต้องเจอเด็กรุ่นใหม่ที่เขาเข้ามาช่วยพ่อแม่ทำงาน ซึ่งเราคิดว่า เราจัดการได้ แต่เราเองก็ยังทำได้ไม่ดี การมาในคลาสนี้เราก็คิดว่าตอบโจทย์ มันเป็นการเปลี่ยนมายด์เซ็ตตัวเอง เพื่อที่จะข้ามผ่านกำแพงที่เรามี

“เราชอบกิจกรรมหน้าต่างกับกำแพงมากที่สุดมันเหมือนเป็นการปลดล็อกใจให้เราได้กลับมามอง ว่าไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร เราต้องแก้ที่ตัวเราก่อน ถ้าเราลดกำแพงของตัวเองได้ เราก็จะเปิดใจ  เปิดการรับรู้ ยอมรับ และเคารพในสิ่งที่คนอื่นเขาเป็นมากขึ้น ไม่ใช่เคารพในกรอบของเรา แต่ เคารพตัวเขาในแบบที่เขาเป็นจริง ๆ ไม่ว่าเขาจะต่างวัย ต่างการศึกษา หรือต่างบทบาทหน้าที่ กับเราก็ตาม ซึ่งจุดนี้เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงง่ายและทำให้เราสะกิดใจขึ้นมาว่าเรามีทัศนคติต่อผู้คนอย่างไร

“กิจกรรมครั้งนี้ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น และแก้ในจุดที่เราคิดว่าเราจะสามารถทำได้ดีขึ้น และนำเทคนิคที่เราได้เรียนรู้มาใช้ปรับรูปแบบการสื่อสารของเรา การได้มาเจอพี่ตุ๊กในวัย 75 ปี ที่เขายังแข็งแรง และยังมาร่วมกิจกรรมกับเราได้ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับไปดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ให้มีปัญหาด้านสุขภาพ เพื่อให้ในอีก 15 ปีข้างหน้า เรายังแข็งแรงแบบนี้อยู่”

“เรามาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้เพราะอาจารย์ที่คณะแนะนำมาเพราะคิดว่ากิจกรรมนี้จะเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับเรา และเป็นนำไปต่อยอดในการทำงานโปรเจกต์เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เรากำลังทำอยู่ได้ด้วย

“เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนที่มีความแตกต่างกับเราได้ อย่างเช่นคนที่มีความแตกต่างระหว่างวัย ซึ่งในบางครั้งก็เกิดความไม่เข้าใจกัน จากความคิดและมุมมองคนละแบบที่เกิดจากการพบเจอประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือการกลับมารู้ตัวและมองเห็นว่าเรากำลังรู้สึกไม่โอเค เริ่มดึงตัวเองกลับมา และทำความเข้าใจว่าไม่ได้มีใครผิดใครถูก ช่องว่างที่เกิดขึ้นสามารถเติมเต็มด้วยความเข้าอกเข้าใจได้ ซึ่งถ้ามองจากจุดนี้เราจะเห็นว่าทุกคนไม่ได้แตกต่างกันเลย

“การมาเข้าร่วมเวิร์กช็อปครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เราเห็นชัดขึ้นว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามทำความเข้าใจและฝึกตัวเองอยู่นั้น เรามาถูกทางแล้ว

“เราชอบกิจกรรมทุกช่วงเลย รู้สึกว่าเวลามันผ่านไปเร็วมาก เรายังคุยกันไม่จบ แต่เวลาแต่ละเซสชันมันหมดแล้ว ซึ่งเวลาที่เราทำอะไรที่เรารู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว แปลว่าเรากำลังมีความสุข ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 วัน 1 คืนของเวิร์กช็อปนี้ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น

“ก่อนเข้าร่วมเวิร์กช็อปเราก็มีความคาดหวังว่าเราจะเข้าใจว่าคนที่มีช่วงวัยแตกต่างกันว่าเขาคิด หรือรู้สึกอะไร แต่พอเรามาเข้าร่วมกิจกรรมจริง ๆ เรากลับพบว่ามันไม่ใช่แค่การเรียนรู้คนอื่นแต่มันยังสะท้อนให้เรากลับมาเรียนรู้ตัวเองด้วย ต่อให้เราต่างกันที่อายุ แต่เราก็มีทุกข์มีสุขเหมือนกัน เราต่างกันแค่ตัวเลขอายุ แต่ทุกคนต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถ้าเรามองกันด้วยความเข้าใจ เราก็ไม่แตกต่าง

เราคิดว่าจะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้กับตัวเองก่อน เพราะก่อนที่เราจะไปเยียวยาหรือรักษาคนอื่นได้ เราต้องแข็งแรงก่อน เราจึงจะสามารถมอบพลังให้คนอื่นได้ ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้ แต่ถ้าเราเต็มที่แล้วมันสวยงามเสมอ ไม่ว่าผลมันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ