“กระบวนการต่าง ๆ ทำให้คนรุ่นลุงได้เปิดใจรับฟังเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องต่าง ๆ ว่าเราสามารถคุยกันในมิติอื่น ๆ ได้ ถึงแม้เราจะมีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน” ภูธน เพชรพิฆาฏ หรือ ลุงภู อายุ 72
“แม่ยังบ่นคำเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเรามองเห็นความสุขง่ายขึ้นและเข้าใจแม่มากขึ้น ไม่ตัดสินแม่จากอารมณ์ของตัวเอง แต่มองลึกไปถึงเหตุผลและอารมณ์ของแม่มากขึ้น” อิชยา พิลารักษ์ หรือ น้องน้ำหวาน อายุ 17
ผ่านไปแล้วสำหรับ เวิร์กช็อป“เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน” ครั้งที่ 6 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มนุษย์ต่างวัยจัดขึ้น ที่ จ. เชียงใหม่ โดยเวิร์กช็อป รอบนี้มีผู้เข้าร่วม เกือบ 30 คน ตั้งแต่อายุ 17 จนถึง 72 ปี โดยใช้เวลา 2 วัน 1 คืน ร่วมทดลองและรับฟังซึ่งกันและกัน เพื่อหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้เราต่างกัน “วัย” หรือ “ใจ”
สสส. และทีมงานมนุษย์ต่างวัย ต้องขอขอบคุณผู้เข้าร่วมทุกคนที่พาตัวเองมาเข้าร่วมเวิร์กช็อปพร้อมหัวใจที่เปิดกว้าง และช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนต่างวัยได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อไม่ให้วัยกลายมาเป็นปัญหาของการอยู่ร่วมกัน
วันนี้มนุษย์ต่างวัยรวบรวมบรรยากาศและความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาฝากกันครับ
“พอเรามีทัศนคติทางการเมืองที่ต่างกันเราก็เข้ากับเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้เลย บางคนด่าเราแรง ๆ ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไล่ให้คนรุ่นเราตายให้หมดก็ยังมี”
ภูธน เพชรพิฆาฏ หรือ ลุงภู อายุ 72 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่อายุมากที่สุด ของกิจกรรม “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”ครั้งที่ 6 เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ อยากเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่มากขึ้น และอยากแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนต่างวัยให้รู้ว่า เราไม่ใช่ไดโนเสาร์รอวันสูญพันธ์ เราเพียงคิดต่างกันในบ้างเรื่อง
“ต้องบอกก่อนว่าลุงคือหนึ่งในคนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่อาจจะเห็นต่างกับเด็กรุ่นใหม่ และความเห็นต่างก็เป็นบ่อเกิดที่ผลักให้คนรุ่นลุง แทบไม่เข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอะไรอยู่ เพราะทุกครั้งที่เริ่มอยากลองเปิดใจคุย หรือทุกครั้งที่แสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเอง แม้จะไม่ได้ใช่คำพูดรุนแรงหยาบคาย ก็มักจะตกเป็นเป้าให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ รุมโจมตี ด่าทอสารพัด หนักสุดที่ลุงเคยเจอคือ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับมุมมองของตนเอง กลับถูกคนรุ่นใหม่ต่อว่า และไล่ให้ไปตาย
“สำหรับตัวลุง เราไม่ได้มีเจตานาไม่ดี เพียงแต่เราคิดต่างกันเท่านั้น ลุงตั้งคำถามมาตลอดว่าทำไมการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องที่แบ่งแยกคน และผลักให้เราห่างกันมากขึ้นทุกวัน แบ่งคนออกเป็นยุคไดโนเสาร์ กับเด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม วาทะกรรมแห่งความเกลียดชังทั้ง ๆ ที่มิติอื่นของชีวิตที่เราสามารถแชร์กันได้ ”
“ลุงจึงตัดสินใจเข้าร่วมเวิร์คช็อปครั้งนี้ เพราะอยากลองมาเปิดใจกับคนในวัยต่าง ๆ ดูว่าจะมีใครตัดสินเราจากสิ่งที่เราคิดต่างบ้างไหม”
#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”
“สำหรับลุงการมาที่นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนมุมมองเราไปหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่รูปแบบการจัดกิจกรรมที่ทันสมัย ไม่เหมือนภาพในหัวที่เราคิดไว้ว่าคงมานั่งจดบันทึกการประชุม ใส่ชุดทางการ เหมือนงานสัมมนาทั่วไป พอมาถึงที่จัดงาน สถานที่ถูกวางเต็มไปด้วยหมอน เต็มไปด้วยคนที่ต่างวัยกันสุด ๆ ตั้งแต่อายุ 17 จนถึง 72 แบบลุง มันทำให้คิดได้ว่าโลกก็เปลี่ยนไปจากที่เราคิด คนรุ่นใหม่เขามีแนวคิดดีดีในการจัดกิจกรรมแบบนี้ที่คนวัยเราไม่เคยเห็นมาทั้งชีวิตเหมือนกัน
“ลุงชอบทุกกิจกรรมโดยเฉพาะช่วง Deep listening ที่มีการเปิดใจรับฟังกันโดยไม่ตัดสิน และสามารถเลือกได้ว่าอยากขอกำลังใจ หรือขอคำปรึกษา หรือไม่ขออะไรเลยก็ได้ น้อง ๆ หลาน ๆ ที่นี่ทุกคนมาเพื่อพร้อมจะฟังเรื่องราวของคนในวัยที่ต่างกัน เป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่าเราสามารถฟังสิ่งที่เด็ก ๆ คิดได้โดยไม่ตัดสิน ใช้หัวใจฟังเขาจริง ๆ ในขณะเดียวกันเรื่องราวของคนแก่วัย 72 ที่ไม่รู้จะจากโลกนี้ไปวันไหนก็มีคนเปิดใจฟังอย่างไม่ตัดสินเช่นเดียวกัน
“สำหรับลุงกิจกรรมครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดประตูหัวใจให้เรายอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจว่าเด็ก ๆ คิดอะไรจากมุมของเขาที่เขาเป็น ไม่ใช่จากมุมของเรา ได้ย้อนไปนึกถึงตัวเองตอนเด็ก กับเด็กรุ่นใหม่ตอนนี้ว่าแตกต่างกันมากเพียงใดจากโลกยุคปัจจุบัน และที่สำคัญคือทำให้เรียนรู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่จริง ๆ ที่เราคุยกับน้อง ๆ ได้ หัวเราะด้วยกันได้ ยิ้มด้วยกันได้ เล่นสนุกด้วยกันได้ และมีเรื่องให้เชื่อมโยงกันเสมอ แม้ว่าวัยเราจะต่างกันเป็น 10 หรือ 20 ปีก็ตาม
“ทำไมแม่ไม่เคยเห็นเวลาอ่านหนังสือ แล้วชอบบ่นให้เราอ่านหนังสือตลอด เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมกันมาจน จนรู้สึกว่าทำไมเราและแม่ถึงไม่เข้าใจกันบ้างเลย”
อิชยา พิลารักษ์ หรือ น้องน้ำหวาน อายุ 17 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่อายุน้อยที่สุดของกิจกรรม “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”ครั้งที่ 6 เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ อยากเข้าใจแม่ และไม่อยากให้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ที่คนอื่นมองว่าเล็ก กลายมาเป็นแผลในใจที่ผลักให้เราห่างกันและไม่เข้าใจกันมาขึ้น
“พอเห็นกิจกรรมขึ้นมาโปรโมทว่าจะมีมาจัดที่เชียงใหม่ ก็ตัดสินใจทันทีที่จะเข้าร่วมตั้งแต่วันแรกอย่างไม่ลังเล เพราะรู้สึกว่า เริ่มมีระยะห่างกับแม่ในบ้างเรื่อง แค่เรื่องที่เขาบ่นซ้ำ ๆ หลาย ๆ ปี อย่างเช่นการไล่ให้เราไปอ่านหนังสือ พูดซ้ำ ๆ ว่าอ่านหนังสือได้แล้ว อ่านหนังสือบ้าง ทั้ง ๆ ที่เราจัดการตัวเองตลอด อ่านตลอดแต่แม่แค่ไม่เห็นในช่วงที่อ่าน มันกลายเป็นความเหนื่อย ความรำคาญใจ และอึดอัดใจว่าทำไมแม่ไม่เข้าใจและมองไม่เห็นสิ่งที่เราตั้งใจทำมาตลอด จนบางครั้งก็มองข้ามความหวังดีที่แม่เตือน กลายเป็นหงุดหงิดใจไปเลย การมาครั้งนี้จึงมาด้วยความตั้งใจเต็มที่ว่า จะต้องมาหาวิธีการรับมือกันความสัมพันธ์ และเปิดใจกับคนวัยต่าง ๆ เพื่อเข้าใจแม่ตัวเองให้ได้มากขึ้นกว่านี้
#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”
“สิ่งที่ได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้คือ บรรยากาศที่อบอุ่นทำให้ความกลัว ความไม่กล้าแสดงออก ความไม่กล้าพูด ถูกทลายออกไปหมด เป็นครั้งแรกที่จับไมค์แนะนำตัวแล้วไม่เสียงสั่น เพราะทุกคนเหมือนมาพร้อมจะฟังในแบบที่เป็นความคิดของเราที่อายุ 17 จริง ๆ แบบไม่ตัดสินว่าใครถูกหรือผิด เราเด็กเกินไปที่คิดแบบนี้ แม่ถูกเสมอ มันเลยกลายเป็นบรรยากาศที่ทำให้พร้อมจะเดินเข้าไปฟังเรื่องราวของใครสักคนที่วัยต่างกับเราได้แบบจริงใจที่จะฟัง โดยไม่ตัดสินใครทั้งนั้น
“ตอนเปิดการ์ดความรู้สึกคือสิ่งที่มหัศจรรย์มาก เราไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าอารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์มันมีมากมาย เราถึงได้เข้าใจอะไรต่อมิอะไรในเรื่องเดียวกันต่างออกไป และการได้เห็นมุมมองของคนแต่ละวัย ได้คุยกับแม่ ๆ ที่มีลูกวัยเดียวกับเรา ทำให้เราเข้าใจในมุมของแม่มากยิ่งขึ้นว่าที่แม่พูดแบบนี้เพราะอะไร แบบที่ไม่เอากำแพงของความรู้สึกของตัวเองมาตัดสิน และแม่ ๆ ที่มีลูกในวัยเดียวกับเราก็ได้ฟังมุมมองของเราว่าเด็กรุ่นนี้คิดแบบนี้เพราะอะไร เพื่อเข้าใจลูกตัวเองได้มากขึ้น
“สิ่งที่เปลี่ยนไปเลยหลังจากจบเวิร์คช็อปครั้งนี้ก็คือ เรามีความสุขได้ง่ายขึ้นมาก แม่ก็ยังบ่นคำเดิม บรรยากาศเดิม ๆ แต่กลับเข้าใจเขามากขึ้น และก็มีความสุขมากขึ้นด้วย จริง ๆ ถ้ากิจกรรมครั้งนี้ขยายต่อเราก็อยากให้แม่ตัวเอง รวมถึงแม่ ๆ ที่มีลูกเป็นวัยรุ่นได้เข้าร่วม เพื่อที่จะได้ลองเปิดใจยอมรับในความแตกต่าง และมีความสุขร่วมกันได้จากความต่างของแต่ละวัย
“เสียดายที่รู้จักเวิร์กช็อปนี้ช้าไป ถ้าได้เข้าร่วมในวันที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ คงทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตแม่ และตัวเรามีความสุขมากกว่านี้”
ศานิตย์ ภู่บุบผา หรือ ลูกหมี อายุ 48 เล่าถึง เหตุผลในการตัดสินใจมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ เรามองว่าสักวันหนึ่งคนเราก็ต้องอยากกลับหรือมีเหตุให้กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวที่มีคนหลากหลายวัย ตัวเองก็เป็นหนึ่งในคนที่กลับไปอยู่กับครอบครัวในวันที่แม่ป่วย แล้วรู้สึกทำอะไรพลาดไปหลายอย่าง จึงอยากมาเรียนรู้เพื่อส่งต่อให้คนที่มีภาวะเช่นเดียวกัน ได้เข้าใจว่าจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างไรให้มีความสุข
“พี่คือคนที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาเป็น Caregiver เต็มตัว เพื่อดูแลแม่ที่ป่วยหลายโรค เราประเมินไว้แล้วว่าแม่น่าจะอยู่ไม่ถึง 10 ปี มันเป็น 10 ปีที่เหลืออยู่ที่เราจะได้ทำหน้าที่ตรงนี้ บวกกับวางแผนล่วงหน้าเพื่อจะเกษียณอยู่แล้วในช่วงอายุ 50 แค่ขยับเวลาให้เร็วขึ้น 2 ปีเพื่อมาดูแลแม่”
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทั้งเราและแม่ต่างอยู่เพื่อทำให้อีกคนสบายใจจนลืมนึกถึงความรู้สึกตัวเอง พี่เหนื่อยมากจากภาวะที่เผชิญ แต่พี่กดคำว่าเหนื่อยเอาไว้ในใจว่าไม่เป็นไรจนกลายเป็นความเครียด ซึ่งใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในระยะท้ายก็จะเข้าใจกันดีว่าต้องมีความเครียดใดบ้างที่ต้องเผชิญ จนในที่สุดการเก็บและไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเอง ส่งผลให้พี่กลายเป็น “โรคซึมเศร้า” ในขณะที่แม่รักเรามาก เขาเองก็ไม่แสดงความรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน ไม่ยอมรับความรู้สึกตัวเองว่ากำลังเจ็บ กำลังรู้สึกอะไร อดทนเก็บไว้เพียงเพราะไม่อยากเห็นลูกลำบาก อาการก็เริ่มลุกลามขึ้น มันทำให้พี่เสียดายว่าแม้เราจะดูแลแม่ได้ดีที่สุดแล้วเต็มความสามารถ แต่มีสิ่งที่หนึ่งที่ขาดหายไปคือการเติมความสุขทางใจให้กันและกัน”
#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”
“การเข้าร่วมครั้งนี้ทำให้เรารู้ถึงกระบวนการการเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างจากการฟังจริง ๆ เรื่องบางเรื่องแค่เราได้พูด แล้วมีคนรับฟังเราจากใจจริงโดยไม่ตัดสิน เราก็อาจมีความสุขมากขึ้นกว่านี้ก็ได้ โดยเฉพาะเวิร์กช็อปสุดท้ายของวัน ที่มีการให้เพื่อสะท้อนคามรู้สึกว่าเราคิดแบบนี้ใช่ไหมจากเรื่องนี้ เหมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น ทำให้มองเห็นความต้องการของตัวเองชัดเจนขึ้นเช่นกัน มันทำให้รู้สึกว่ากระบวนการนี้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของคนต่างวัยได้ผ่านการฟังอย่างเข้าใจทั้งฟังใจตัวเอง และฟังใจผู้อื่น
“แม้จะเสียดายที่แม่ไม่อยู่แล้ว แต่ไม่เสียใจที่ได้มาเรียนรู้ในครั้งนี้เพราะเวิร์กช็อปนี้ทำให้พี่มีแรงบันดาลใจจะกลับไปเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนรอบตัว ที่ต้องการ เราจะฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน และสะท้อนบางอย่างให้เขาเข้าใจทั้งตัวเอง และเข้าใจทั้งคนอื่นได้
“เราเพิ่งเข้าใจเหตุผลของการปิดกั้นตัวเองมาตลอดในการทำความรู้จักผู้คนใหม่ ๆ โดยเฉพาะคนวัยเดียวกัน ก็เพราะเราไม่เข้าใจความคิดของคนวัยเดียวกัน”
กมลชนก ทองแสง หรือ กมล อายุ 23 ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”ครั้งที่ 6 เล่าว่า เหตุผลในการตัดสินใจมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้คือ อยากทำความรู้จักโลกในแง่มุมใหม่ เจอคนที่หลากหลายวัย อยากเปิดใจมากขึ้นในการทำความรู้จักและเข้าใจผู้คน
“เราคือคนหนึ่งที่ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่นมาตลอด เพราะรู้สึกสบายใจที่จะมีเพื่อนแค่ไม่กี่คนที่เป็นเซฟโซน ไม่ได้อยากทำความรู้จักใครเพิ่ม เพราะรู้สึกว่าความคิดของคนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปทำงานหลังเรียนจบได้เจอกับคนหลากหลายกลุ่ม มันทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างที่จะต้องอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันให้ได้ การมาครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการมาเติมเชื้อไฟในการเข้าใจคนอื่นที่แตกต่างกับเราดูบ้าง เพื่อจะเจอโลกในแง่มุมใหม่ ๆ
#ถอดรหัสใจ ผ่านสิ่งที่ได้จากเวิร์กช็อป “เรา ‘ต่าง’ เหมือนกัน”
“สิ่งที่ได้เรียรู้จากิจกรรมครั้งนี้คือเราไม่เคยรู้เหตุผลเลยว่าทำไมเราถึงกลายเป็นคนปิดกั้นตัวเองที่จะทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ จนมาเจอคำถามว่าคนวัยไหนที่เราไม่เข้าใจมากที่สุด พอคิดทบทวนกับคำถามนี้คนวัยนั้นกลับกลายเป็นคน Gen Z หรือคนวัยเดียวกับเรานั่นเอง เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเป็นแบบนี้คิดแบบนี้ ซึ่งเราแตกต่างออกไปจากคนวัยเดียวกันสุดท้ายก็เลยกลายเป็นกรอบที่ครอบไม่อยากให้เราทำความรู้จักใครเพิ่ม.
“การมากิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้เปิดใจ โดยเฉพาะช่วงการ์ดความรู้สึกที่ทำให้เราฝึกที่ยอมรับอารมณ์ตัวเอง และอยากเรียนรู้ตัวเอง รวมถึงยอมรับและอยากเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนที่หลายหลาย การได้มาลองนั่งฟังเรื่องราวของแต่ละคนแต่ละมุมมองที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัย มันทำให้เราค้นพบว่าผู้คนที่หลากหลายวัย มีความน่าสนใจในความคิดที่แตกต่างกันออกไป”
“สุดท้ายหลังจบกิจกรรมนี้ทำให้เราอยากออกไปเรียนรู้ผู้คนมากขึ้นหลังจากปิดตัวเองมาตลอด ไม่ใช่แค่สถานการณ์บังคับว่าต้องทำงาน ต้องเรียน ต้องรู้จัก เราอยากออกไปเรียนรู้ความต่างทั้งคนวัยเดียวกันและคนต่างวัย เพื่อใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข บนความหลากหลายของผู้คนที่คิดไม่เหมือนกับเรา”