วันนี้มนุษย์ต่างวัยนำภาพบรรยากาศสนุก ๆ ของกิจกรรม “ชีวิต ซีซัน 2” กับคลาสเรียนวิชา “Urban Farm”
เรียนรู้เทคนิคปลูกผักจิ๋ว ปลูกรายได้ให้งอกงาม ! มาแชร์ให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าประทับใจไปด้วยกัน
เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา มนุษย์ต่างวัยได้พาผู้ร่วมกิจกรรม 61 คน ไปบุกฟาร์มลุงรีย์ พร้อมเรียนรู้เทคนิคปลูกผักจิ๋ว และแนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ในวัยเกษียณ
นอกจากวิชาความรู้แบบจัดเต็มจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้มีโอกาสลิ้มรสเมนูสุดพิเศษจากฟาร์มลุงรีย์ที่ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ฟินมากกก”
และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้จากกิจกรรมในวันนี้คือการที่เราทุกคนได้มาเจอกัน ได้ส่งพลัง ส่งแรงเชียร์ให้กันและกัน ได้กลายเป็นเพื่อนใหม่ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ที่แต่ละคนมี ทีมงานทุกคนเชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะกลับไปต่อยอดและพัฒนาการงานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
“จริง ๆ สนใจเรื่องปลูกต้นไม้อยู่แล้ว พี่ปลูกเคล ปลูกสมุนไพรฝรั่งต่าง ๆ แล้วก็กำลังตามหาความรู้ เรื่องการปลูกผักไมโครกรีนตามยูทูบอยู่พอดี โชคดีที่ติดตามเพจมนุษย์ต่างวัยอยู่แล้ว พอเจอประกาศในเฟซบุ๊กปุ๊บก็สมัครเลยทันที
“ มาวันนี้ประทับใจมากได้ทั้งความรู้ที่นำไปใช้ได้เลย ได้กินอาหารและขนมที่อร่อยมาก น้อง ๆ ทีมงานใส่ใจมาก เพราะพี่แจ้งไปว่าพี่แพ้แป้งสาลี ทางทีมก็จัดหาอาหารและขนมที่ไม่ใส่แป้งสาลีมาให้ แถมบรรยากาศกิจกรรมก็น่ารักมาก เพื่อน ๆ ที่ได้มาเจอกันก็มีความเฟรนด์ลี่มาก ๆ
“ดีใจที่ได้มาในวันนี้ ได้ออกมาพบปะเพื่อนใหม่ ได้ความรู้ที่เราสนใจ ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้เพื่อไปประกอบการตัดสินใจว่าสิ่งที่เราชอบ มันตรงกับความต้องการของเราจริงไหม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเราจะได้เอาไปเป็นข้อมูลในการเลือกสิ่งที่เราอยากจะลงมือทำต่อไปในอนาคต”
“เราทำงานออฟฟิศไม่เคยได้สัมผัสกับกิจกรรมแบบนี้ เลยอยากมาลองดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบที่มาวันนี้ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งโอกาส ถ้าเราได้เจอสิ่งที่เราชอบก็จะได้ศึกษาต่อยอดไปเรื่อย ๆ
“วันนี้พอได้มาเจอเพื่อนที่มาว่าเขาสนใจแนวนี้จริง ๆ นอกจากความรู้จากวิทยากรแล้วก็ได้ความรู้จากเพื่อน ๆ ด้วย ได้ฟังคำถามของเขา คนที่เขาสนใจก็จะมีคำถามในมุมมองที่เราไม่เคยมองมาก่อน ได้รู้ว่าคนที่ชอบเกษตรจริง ๆ เขาทำประมาณนี้ เขาหาความรู้กันประมาณนี้ ต้องมีการรวมกลุ่มกันอย่างไรบ้าง
“ตอนนี้กำลังหาตัวเองอยู่ อีก 8 ปี ก็จะเกษียณ ก็เลยพยายามเตรียมตัวไว้ก่อน ยังไม่เจาะจงว่าจะทำอาชีพเกษตร แต่มาลองดูก่อน ตอนนี้ค่อย ๆ หาความรู้ หากิจกรรมทำไปเรื่อย ๆ ถ้าใช่ก็ต่อยอด ถ้าไม่ใช่ก็หากิจกรรมใหม่ ยังมีเวลาให้เราได้ค้นหาตัวเอง”
“ตอนนี้เออร์ลี่รีไทร์ อยากออกมาลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยทำมาก่อน อย่างการทำงานเกษตร ที่มันสามารถทำสำเร็จได้ด้วยมือของเรา เรามีต้นทุน มีเวลาอยู่แล้ว ก็เลยอยากให้เวลากับตรงนี้มากขึ้น
“อย่างการปลูกผักมันทำงานกับใจเรา ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ อาหารที่เราปลูกเอง กินเอง ไม่ใช่สิ่งที่มีเงินแล้วจะซื้อได้ สิ่งที่ทำวันนี้เราว่ามันตอบโจทย์ตรงที่เริ่มจากอะไรที่เล็ก ๆ ก่อน ถ้าเริ่มจากยาก ๆ เลยมันจะท้อ แล้วรู้สึกว่าจะทำไม่สำเร็จ แต่สิ่งที่ทำวันนี้เรามองว่าเป็นจริงได้”
“พี่มองว่างานโปรแกรมเมอร์กับการปลูกผักเหมือนกันคือต้องเป็นนักคิด ตอนนี้อยู่ในช่วงเตรียมตัวเกษียณ พี่อยากทำอาชีพที่เกี่ยวกับสุขภาพ และที่สำคัญคือต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อมด้วย
“จินตนาการไว้ว่าอยากจะอยู่บ้านแล้วลงมือปลูกผักเป็นอาชีพ เมื่อก่อนมีสโลแกนประจำตัวว่าแค่กะเพรายังปลูกไม่ได้เลย ก่อนหน้านี้ดูคลิปปลูกผักบ่อยมากแต่ยังไม่เคยลองปลูกผักจริง ๆ จัง ๆ วันนี้ตั้งใจว่ากลับไปแล้วจะปลูกให้ได้ ถ้ายังทำไม่ได้อีก ก็ยังอุ่นใจที่มีเพื่อน ๆ ในไลน์กลุ่มกิจกรรมที่ได้เข้าในวันนี้ ให้เราได้ปรึกษาและลงมือปลูกผักไปด้วยกัน”
“พี่เองก็ทำเกษตรอยู่แล้ว อย่างต้นอ่อนทานตะวันก็ปลูกอยู่แล้ว แต่พี่ไม่เคยนึกไปถึงเรื่องของการแปรรูป วันนี้ได้ไอเดียเรื่องการแปรรูปที่น่าจะเอาไปต่อยอดกับงานที่เราทำได้“วันนี้รู้สึกดีที่ได้มาเจอเพื่อน ๆ รู้สึกมีพลังในการที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง แต่ละคนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ก็มาสนใจในเรื่องเดียวกัน มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
“ก่อนหน้านี้พี่หาความรู้จากยูทูบ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แต่การมาเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้คือเราจะได้เห็นความคิดที่หลากหลายจากคนอื่นที่มีประสบการณ์แตกต่างจากเรา ได้เรียนรู้จากคนอื่นด้วย ได้แลกเปลี่ยน และแบ่งปันความรู้ร่วมกับเพื่อน ๆ ตรงนี้คือข้อดีของการมาเข้าร่วมกิจกรรม”
“โอมากาเห็ด” เมนูอาหารกลางวันสุดพิเศษจากฟาร์มลุงรีย์ ที่ปรุงจากส่วนต่าง ๆ ของเห็ดที่ปลูกเองจากฟาร์มหลังร้าน ออกแบบเมนูอย่างสร้างสรรค์ ปรุงอย่างใส่ใจ จนออกมาเป็นเซ็ตอาหารที่ลงตัว บรรดาผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าประทับใจมาก”
“ในฐานกิจกรรมนี้จะให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการถนอมอาหารแล้วก็แปรรูปต้นอ่อนทานตะวัน ต่อยอดจากเมนูที่เราได้กินกันไป เราใช้เทคนิคการดองเปรี้ยว , ดองเค็ม วันนี้ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทำ “ส้มผัก” โดยการใช้ต้นอ่อนทานตะวัน ข้าวสวย แล้วก็เกลือ นำ 3 อย่างผสมกันแล้วก็ให้เวลาเป็นตัวจัดการในการบ่ม อยากให้ทุกคนได้ลองทำ และต่อยอดให้เป็นรสชาติของตัวเอง
“กิจกรรมที่เราทำกับกลุ่มคนที่อยู่ในวัยเกษียณและก่อนเกษียณแบบนี้ ผมคิดว่ามันคือการต่อยอดจากความรู้ที่แต่ละคนมีต่างกัน ทุกคนได้ร้อยเรียงแล้วก็เชื่อมต่อกัน ทุกคนเปิดโอกาสให้ตัวเองออกมาเจอเพื่อนใหม่เจอสิ่งใหม่ ๆ แล้วก็มองหาอะไรที่จะได้ทำเป็นอาชีพ หรือทำเป็นงานอดิเรกในช่วงเวลาเกษียณก็เป็นความสุขที่เราก็ได้แลกเปลี่ยนกันครับ”
“ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนเรื่องการออกแบบธุรกิจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสามารถคิดต่อยอดธุรกิจได้รอบด้านมากขึ้น
“ลำพังการที่จะปลูกผักอย่างเดียวอาจจะทำให้เกิดเป็นธุรกิจไม่ได้ มันอาจจะต้องเริ่มจากการหาตัวตนก่อน ด้วยการค้นหา ‘อิคิไก’ ว่าสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราถนัดคืออะไร ในหลักสูตรวันนี้ก็จะกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนตัวเอง มองเห็นถึงคุณสมบัติที่มีว่าจริง ๆ เรามีอะไรบ้าง ยิ่งค้นหาได้ก็ยิ่งนำไปต่อยอดได้เร็วขึ้น
“สำหรับคนวัย 40+ ที่กำลังมองหาอาชีพในบั้นปลายอยากให้เริ่มจากเข้าใจตัวเองก่อน แล้วค่อยเอาความเข้าใจมาพัฒนาเป็นธุรกิจจะทำให้เราทำอาชีพนั้นได้อย่างตรงจุดและมีความสุขมากขึ้น”
“ในส่วนของฐานปลูกจะแนะนำเรื่องของการปรุงดินสำหรับเพาะไมโครกรีน
โดยใช้มูลไส้เดือน ขุยมะพร้าว แกลบดำ และแนะนำระยะเวลาในการปลูก เทคนิคต่าง ๆ การปรุงดินที่ดีจะช่วยลดปัญหาโรคเน่า ใบเน่า ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ
“อยากบอกว่านักเรียนคลาสนี้น่ารักทุกคน เพราะตั้งใจมาก ๆ อยากให้ทุกคนได้มีความสุขกับการลงมือปลูกผักด้วยตัวเอง”
“การเก็บเกี่ยวไมโครกรีน พอโตเต็มวัยประมาณ 5- 7 วัน หรือ 10 – 14 วัน
เราก็จะตัด ล้างน้ำ น็อคน้ำเย็นแล้วเอาไปรับประทาน ถ้าเรารู้ลักษณะการเก็บเกี่ยว การเลือกอุปกรณ์ที่ดีจะทำให้ผักของเรากรอบ อร่อย และเก็บได้นานกว่า
“ผู้เข่าร่วมกิจกรรมในวันนี้แต่ละคนมีพลังมาก บรรยากาศการเรียนก็เต็มไปด้วยความสนุก สนใจกับสิ่งที่ทำจริง ๆ เราก็ให้คำแนะนำที่สามารถเริ่มต้นทำจากวัสดุในครัวเรือนก่อน ลองทำแบบเล็ก ๆโดยไม่ต้องลงทุนเยอะ คิดว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถกลับไปลงมือปลูกผักของตัวเองได้จริง ๆ ”