“วันที่เราเอาปลอกมือไปให้คุณตาที่ป่วยติดเตียง เราเห็นน้ำตาเขาไหลเลย เขาคงจะดีใจมากที่ไม่ต้องถูกมัดแขนผูกติดไว้กับเตียงอีกแล้ว”
มนุษย์ต่างวัยขอเป็นสะพานบุญ พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ พี่นก – วิลาวรรณ ประทีปพลีผล อายุ 60 ปี เจ้าของเพจ ‘ปลอกมือผู้ป่วยติดเตียง’ และเป็นผู้เปลี่ยนถุงน้ำเกลือในโรงพยาบาล จากขยะที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ให้กลายเป็นปลอกมือสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
เพื่อใช้ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยดึงสายน้ำเกลือและสายอาหารออก แทนการถูกมัดแขนผูกติดกับเตียง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่พี่นกเห็นพยาบาลท่านหนึ่งทำเป็นตัวอย่าง จนเกิดแรงบันดาลใจในการนำมาต่อยอดเป็นโครงการ ‘ปลอกมือผู้ป่วยติดเตียง’ ซึ่งพี่นกทำเป็นกิจกรรมหลังเกษียณมากว่า 4 ปีแล้ว
เพราะปลอกมือเป็นอุปกรณ์เสริมที่ไม่ได้จัดอยู่ในการรักษา ทางโรงพยาบาลจึงไม่ได้มีแจกฟรี
แต่เนื่องจากความจำเป็นของผู้ป่วยที่ต้องการใช้ปลอกมือมีจำนวนมาก ทำให้จากเดิมที่พี่นกต้องนำถุงน้ำเกลือมาเจาะรูและถักไหมพรมให้เป็นปลอกใส่มืออยู่เพียงลำพัง เริ่มมีการขยายกลุ่มเป็นวงกว้าง จนมีอาสาสมัครมาช่วยทำปลอกมือบริจาคไม่ต่ำกว่าปีละ 70 คน
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พี่นกลงแรงกาย แรงใจ แรงทุน เพื่อทำปลอกมือแจกให้ผู้ป่วยฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แถมกำไรที่เธอได้กลับมาก็ไม่ใช่ผลตอบแทนในรูปแบบของเงินทอง แต่เป็นรอยยิ้มของผู้ป่วยที่ทรมานจากการเจ็บป่วยน้อยลงทั้งกายและใจ
สิ่งที่เกิดในใจสำหรับผู้ป่วยติดเตียง คือ พวกเขารู้สึกว่าชีวิต “ไร้คุณค่า”
พี่นก วิลาวรรณ ประทีปพลีผล อายุ 60 ปี เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการทำปลอกมือผู้ป่วยติดเตียง ว่าเกิดจากความบังเอิญไปพบกับโครงการของพยาบาลท่านหนึ่ง ที่ทำปลอกมือโดยใช้ขวดน้ำ 1.5 ลิตร มาถักกับไหมพรม เพื่อเป็นถุงมือสำหรับป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียงดึงสายน้ำเกลือ หรือสายอาหารออก จึงเริ่มสนใจที่จะทำปลอกมือเพื่อบริจาค เพราะพี่นกมีความถนัดเรื่องการเย็บปักถักร้อยเป็นทุนเดิม และยังเป็นอีกคนหนึ่งที่มีพี่สาวป่วยติดเตียง
“เราเข้าใจความทรมานของผู้ป่วยติดเตียงมากๆ ว่าเขาต้องทรมานจิตใจที่กลายเป็นคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ควบคุมตัวเองไม่ได้และพยายามจะเอาสายอาหารหรือสายน้ำเกลือออก นอกจากจะเจ็บทั้งตัว การที่ต้องถูกมัดแขนติดกับเตียงยิ่งเจ็บปวดหัวใจมากขึ้นไปอีก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าผู้ป่วยดึงสายอาหารออก ญาติต้องพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพื่อใส่สายอาหารให้ใหม่ ซึ่งต้องเจ็บซ้ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตสูง”
“หลังจากนั้น พอเราทำปลอกมือเสร็จคู่แรกจึงตัดสินใจขอทางโรงพยาบาลเพื่อเข้าไปดูการใช้งานจริง สิ่งที่เห็นคือคุณลุงที่ป่วยติดเตียง เมื่อพยาบาลค่อยๆ แกะเชือกที่มัดแขนและนำปลอกมือมาใส่ให้แทน แกก็ค่อยๆ บิดแขนแล้วยิ้มมองมือแบบน้ำตาซึม เหมือนไม่ต้องถูกกังขังแล้ว ยิ่งได้รู้จากพยาบาลว่ายังมีความต้องการปลอกมือเป็นจำนวนมาก เพราะมีไม่เพียงพอกับผู้ป่วย วินาทีนั้นทำให้พี่รู้สึกได้ทันทีว่าเราจะทำงานนี้เล่นๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องทำจริงจัง จากวันนั้นจนวันนี้ก็เป็นเวลา 4 – 5 ปี แล้วที่เราทำปลอกมือบริจาคให้กับผู้ป่วยที่ต้องการใช้
เปลี่ยนขยะไร้ค่า ให้มีค่าเพื่อผู้ป่วยติดเตียง
พี่นกเล่าต่อว่า “หลังจากเริ่มทำจากโจทย์แรกก็พัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ป่วยใส่แล้วไม่อึดอัด ระบายอากาศได้ดี ดูแลรักษาไม่ยาก เพราะขวดน้ำ 1.5 ลิตรที่เคยใช้ทำ ปัญหาก็คือมันแข็ง และเจาะระบายอากาศยาก ทำให้ผู้ป่วยอึดอัด พี่เห็นว่าถุงน้ำเกลือในโรงพยาบาลมีจำนวนมาก ข้อดีคือมีความอ่อนนุ่มกว่าขวดน้ำ ซึ่งถุงน้ำเกลือเหล่านี้พอใช้เสร็จก็กลายเป็นขยะ พี่ก็เลยเริ่มเข้าไปตามโรงพยาบาลเพื่อขอรับบริจาคขวดน้ำเกลือมาทำปลอกมือ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ”
“สำหรับขั้นตอนการทำปลอกมือ คือหลังจากที่ได้ถุงน้ำเกลือมาจากโรงพยาบาล ก็จะนำมาแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อนที่จะล้างน้ำ หลังจากนั้นก็ตากแดดตากลมจนแห้ง ก่อนที่จะนำตาไก่มาเจาะรู เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี และเย็บเข้ากับไหมพรมที่ถักขึ้นมาเป็นเหมือนปลอกของถุงมือ เพื่อความใส่สบายมากยิ่งขึ้น
“พอเสร็จแล้วก็นำไปกระจายบริจาคให้โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และผู้ป่วยตามบ้านที่ต้องให้อาหารทางสาย เพื่อลดการยึดมือผู้ป่วยกับเตียง”
ตลอด 2 ปี ที่เปิดรับคนช่วยถักปลอกมือ สิ่งที่ค้นพบคือพลังของจิตอาสา
“พลังสำคัญในการทำปลอกมือ สำหรับพี่มองว่าคือเหล่าจิตอาสา ที่มีใจอยากช่วยเหลือและร่วมบุญกันในครั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีจิตอาสาสมัครเข้ามาช่วยถักปีละ 70-80 คน จากเดิมที่พี่ทำคนเดียว เดือนนึงอาจจะได้แค่ 80 คู่ แต่พอมีคนช่วยทำเยอะๆ เดือนนึงก็จะได้ปลอกมือเพื่อบริจาค 300 – 400 คู่”
“หลักการของพี่นกคือจะไม่รับบริจาคเงินเด็ดขาด เพราะเราไม่ได้ต้องการเงิน บางครั้งทุนในการจัดส่ง หรือทุนค่าไหมพรมเราก็ออกเอง เพราะถือว่าเราได้บุญด้วย เป็นการทำบุญที่ช่วยคนอื่นได้จริงๆ สำหรับพี่มองว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่”
“หลังๆ ความช่วยเหลือที่ได้รับการสนับสนุนมาก็จะเป็นขวดน้ำเกลือ และไหมพรม เราก็จะกระจายไหมพรมส่งให้กับจิตอาสา เพื่อถักส่วนของผ้าหุ้มข้อมือ ลดต้นทุนให้กับจิตอาสาด้วย เพราะต้นทุนในการทำปลอกมือแต่ละคู่คือ 40 – 80 บาท การส่งไหมพรมไปให้ก็ช่วยให้คนที่ไม่มีเงินทองมากมายยังสามารถร่วมบุญกับเราได้ด้วย”
เมื่อเราทำสิ่งดีๆ จะนำพาคนที่อยากทำสิ่งดีๆ มารวมกัน
พี่นกเล่าต่อว่า “จริงอยู่ที่ปลอกมือราคาไม่ได้แพงเกินไปกว่าที่ทุกคนจะหาซื้อและนำมาใช้ได้ แต่ในมุมกลับกันเมื่อมีผู้ป่วยในบ้าน ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นรอบด้านทั้งผ้าอ้อม แผ่นรองปัสสาวะ อาหาร ยา ผู้ดูแล เวลาที่ต้องทุ่มเทให้กับการดูแลผู้ป่วย และยิ่งบ้านไหนที่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ ทุกอย่างล้วนเป็นเงิน
การมีพื้นที่ตรงนี้เพื่อบริจาคให้กับผู้ป่วยก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เขาได้บ้าง หรือแม้กระทั่งในโรงพยาบาล ไม่มีหมอ หรือพยาบาลคนไหนอยากมัดผู้ป่วยไว้กับเตียง แต่การปล่อยให้เขาดึงสายต่างๆ ออกจากตัวก็เสี่ยงต่อชีวิตผู้ป่วยเช่นกัน การมีปลอกมือก็เหมือนช่วยให้คุณพยาบาลทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย”
“ที่สำคัญที่สุดคือคุณสมบัติของปลอกมือจากถุงน้ำเกลือ จะดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องรอแห้ง ไม่เปียก ไม่เลอะง่าย อายุการใช้งานนาน ผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องมีหลายคู่”
“สำหรับพี่นกยังไม่เคยรู้สึกอยากเลิกทำงานนี้เลย มันเหมือนยิ่งทำชีวิตเรายิ่งมีคุณค่า เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นคนดีหรือผู้ยิ่งใหญ่นะ แต่เรารู้สึกว่าบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญทุกชนิดคือบุญจากการให้ ให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และยังส่งต่อสะพานบุญไปถึงกลุ่มคนเกษียณให้ได้มีกิจกรรมในชีวิตด้วยและได้บุญร่วมกันไปด้วย นั่นคือความอิ่มใจที่สุด”
สำหรับใครที่ต้องการร่วมบุญ สามารถบริจาคไหมพรมหรือสมัครเป็นจิตอาสาได้ที่ Facebook : ปลอกมือผู้ป่วยติดเตียง
ปลอกมือที่ทำเสร็จทุกชิ้นจะบริจาคให้กับโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือผู้ป่วยให้อาหารทางสายที่บ้านก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ บริจาคฟรีทุกชิ้น ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
เพื่อส่งต่อถึงผู้มีความต้องการใช้ทุกคน
สำหรับผู้ที่สนใจขอรับบริจาคปลอกมือ ส่งชื่อ – นามสกุล ที่อยู่และเบอร์ติดต่อได้ที่ Facebook : ปลอกมือผู้ป่วยติดเตียง