“เบญจเพส” วัยแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด
“สมัยเรียนผมชอบทำกิจกรรม กับชอบเป็นจิตอาสาให้กับเด็ก ๆ ในต่างจังหวัด เลยต้องเดินทางตลอดเวลา ผมใช้วิธีไปแบบโบกรถ เพราะเราเป็นเด็กที่ไม่ได้มีเงินมาก เวลาไปเที่ยวไหนมาไหนก็ชอบไปโบกรถตามปั๊มน้ำมัน ใช้วิธีนี้มาตั้งแต่ ม.2 แล้ว เลยได้ไปเที่ยวมาหลายที่ นิสัยผมคืออยู่เฉย ๆ นานไม่ได้”
“การเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตผม คือทริปตอนอายุ 25 ปีพอดี ผมกับเพื่อนอีก 4 คนโบกรถเพื่อไปทำกิจกรรมอาสาให้กับเด็กบนดอยที่หมู่บ้านแม่ระมาด อำเภอแม่สองยางในจังหวัดตาก หลังจากนั้นก็จะเดินทางไปแม่ฮ่องสอนต่อ แน่นอนว่าพวกเราเริ่มจากโบกรถกันตั้งแต่กรุงเทพเลย แต่ระหว่างขึ้นเขารถก็เสียหลักตกข้างทางตอนนั้นจำได้ว่าตัวเองนั่งเอาหลังพิงกระจกฝั่งคนขับ ซึ่งช่วงที่รถตกเขาพยายามมีสติ ท่องในใจว่า ‘ไม่ตาย ไม่ตาย ไม่ตาย!’ แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ได้ยินแต่เสียง ปั้ง ปั้ง ปั้ง แล้วรถก็เสียหลักคว่ำ ผมกระเด็นออกจากรถ แล้วภาพมันก็ตัดไปเลย เหมือนอยู่ในความมืดสักพัก รู้แค่ตื่นขึ้นมาก็มองหาเพื่อน ๆ ก่อนเลย แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเป็นอะไรแม้แต่คนเดียว มีแต่ผมที่ปวดไปทั้งตัวจนลุกไม่ขึ้น ขยับร่างกายก็ไม่ได้”
“ผมถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ พอไปถึงก็เข้าห้องไอซียูโดยมีสายโยงสายยางพันเต็มตัว ส่วนแม่กับน้องชายก็รีบขึ้นมาจากกรุงเทพเพื่อมาดูอาการเรา ตอนนั้นผมแค่พูดหรือขยับตัวก็ลำบากมากแล้ว เลยพยายามนอนเฉย ๆ แม่ก็เข้ามากอด ช่วยเกาแขน ช่วยนวดให้ ซึ่งผมก็พยายามสื่อสารด้วยสายตาเพื่อบอกแม่ว่าผมไม่เป็นอะไรหรอก”
“มีเพื่อนแวะเวียนมาหาหลายคน จำได้เลยว่าทุกครั้งเพื่อนที่มาเยี่ยมเขาจะพยายามคุยแต่เรื่องสนุก ๆ แล้วทำให้ผมขำจนเจ็บซี่โครง แม่เลยต้องติดไปป้ายไว้หน้าห้องเลยว่า ถ้ามาเยี่ยมโสภณอย่าทำให้เขาหัวเราะนะ ให้เขานอนเงียบ ๆ ก่อน (หัวเราะ)”
“ผมจำไม่ได้ว่า พักรักษาตัวในโรงพยาบาลกี่วัน แต่ช่วงนั้นผมได้พลังงานดี ๆ จากคนที่มาเยี่ยมตลอด ทำให้เราไม่เหงาและก็มีกำลังใจมากขึ้น คิดว่ายังไงก็ต้องหายเป็นปกติแน่นอน แต่วันที่ทำให้ผมใจสลายคือหลังจากการผ่าตัดใหญ่เพื่อรักษาครั้งสุดท้าย ผมถามหมอว่ามีโอกาสหายไหม แต่หมอตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย เลยรู้ทันทีว่าตัวเองคงกลับมาเดินไม่ได้อีกแล้ว”
“แม่” คือคนที่อยู่ข้าง ๆ ผมในวันที่ยากลำบาก
คุณฉิมเล่าว่า ช่วงเวลานั้นคือช่วงที่ตนเองและครอบครัวเจอกับมรสุมชีวิตอย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะไม่สามารถกลับมาเดินได้เหมือนเดิมแล้ว ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจแย่จนธุรกิจขนส่งของครอบครัวยังล้มละลายพอดี ครอบครัวคุณฉิมต้องขายรถและทรัพย์สินหลายอย่างเพื่อหาเงินมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่การเสียเงินจำนวนมาก ก็ยังไม่เท่าการที่ครอบครัวต้องมาเห็นลูกชายที่รักการผจญภัย ต้องกลายเป็นคนพิการ
“ไม่รู้เหมือนกันว่าผมซึมเศร้าอยู่ที่บ้านนานแค่ไหน แต่โชคดีที่ทั้งแม่และน้องชายของผมเป็นคนเข้มแข็ง พวกเขาไม่เคยแสดงความเศร้าหรือความอ่อนแอให้ผมเห็น เพราะคงรู้ว่าเวลานั้นผมต้องการกำลังใจมากที่สุด ผมเลยเริ่มกลับมามองใหม่ว่า ถ้าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกแย่ไปเรื่อย ๆ คนที่แย่กว่าคือคนในครอบครัว ผมเลยต้องกลับมาเข้มแข็ง มีสติ พยายามนึกถึงสิ่งที่เราเหลืออยู่ ซึ่งตอนนั้นโชคดีที่ว่าครอบครัวเรายังเหลือบ้านอยู่หนึ่งหลังไว้ให้อยู่ด้วยกัน”
“แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องง่าย วันหนึ่งตื่นมาเป็นคนพิการมันเลยเปลี่ยนชีวิตเราในทุกบริบท เวลาจะนั่ง นอน ใช้ไม้เท้าไปเข้าห้องน้ำ ก็ลำบากไปหมด ต้องปรับตัวอยู่พักใหญ่ ส่วนแม่ต้องออกไปขายของที่ตลาดแถวบ้านเกือบทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ขายแม่ก็ไม่เคยหยุดพัก เพราะแม่จะคอยไปหาหมอกายภาพเก่ง ๆ ตามโรงพยาบาลและสำนักต่าง ๆ เพื่อเอาวิธีทำกายภาพบำบัดใหม่ ๆ มาบอกผม
“เวลาอยู่ด้วยกัน แม่จะคอยดูแลส่วนที่ผมทำไม่ได้แทนให้ทุกอย่าง และไม่เคยมีแสดงความท้อแท้ในตัวผมออกมาให้เห็นแม้แต่ทางสายตาเลย ทุกครั้งที่ผมเศร้าแม่จะคอยมาตบหลังผม มากอดผม แล้วบอกผมเสมอว่า ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย’ ซึ่งมันทำให้ผมไม่กล้าท้อ เพราะแม่ยังมองผมเป็นลูกชายคนเดิมไม่เคยเปลี่ยนถึงผมจะพิการ
“ถึงผมจะรู้ว่าต่อให้ทำกายภาพบำบัดแค่ไหน ร่างกายก็ไม่มีวันเหมือนเดิม แต่ผมต้องเป็นคนเข้มแข็งแล้วใช้ชีวิตบนสองล้อต่อไปเพื่อแม่ให้ได้ ถึงร่างกายลูกชายคนนี้จะไม่เหมือนเดิม แต่แม่ต้องได้ลูกชายที่มีหัวใจเข้มแข็งคนเดิมกลับมา”
แม่ที่พร้อมอยู่เคียงข้างลูกในทุก ๆ วัน
คุณสร้าง บุญสร้าง ฉิมจินดา วัย 74 ปี เล่าว่า ในตอนที่ลูกประสบอุบัติเหตุเหมือนชีวิตมืดมนไปหมด ต้องไปแอบร้องไห้ทุกวันโดยไม่ให้ลูกชายเห็น เพราะกลัวเขาจะจิตใจแย่ลงไปอีก และหลังจากธุรกิจครอบครัวล้มละลาย คุณสร้างต้องหาของไปขายที่ตลาดแถวบ้านเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว แต่เงินที่ได้มาก็ยังไม่พอใช้สำหรับดูแลลูกพการหนึ่งคน ทำให้มีช่วงเวลาที่คุณสร้างถึงขั้นคิดสั้น แต่ก็ต้องหยุดความคิดนั้นไปเมื่อลูกชายพูดกับเธอว่า “สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นไปแล้ว แต่เดี๋ยวปัญหามันก็จะผ่านไปเองครับแม่” ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาสู้เคียงข้างลูกในฐานะแม่คนหนึ่งอีกครั้ง
“ช่วงที่พาเขากลับมาอยู่บ้านแรก ๆ เรากังวลแทนเขามาก เพราะรู้ว่าลูกชายเป็นคนชอบเดินทาง ชอบไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง ถ้าเขาพิการจะใช้ชีวิตต่อได้ยังไง แต่ปรากฏว่าเขายอมรับสภาพตัวเองเร็วกว่าที่เราคิดไว้มาก หลังจากกายภาพได้แค่เดือนเดียว เขาก็ขอให้เราพาไปทำบัตรคนพิการกับหมอเลย ตอนที่หมอยืนยันว่าลูกเราเป็นคนพิการโดยสมบูรณ์ ลูกเราพยักหน้าแบบไม่สะทกสะท้านอะไรเลย ส่วนเราที่เป็นแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ แทบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ฟุบลงไปร้องไห้ เพราะเรายังทำใจไม่ได้ แต่เขาก็หันมาบอกเราว่าไม่เป็นไรหรอกแม่”
“ช่วงที่เขาเริ่มใช้ชีวิตในฐานะคนพิการ เราต้องปรับตัวหลายอย่าง ต้องเรียนรู้เรื่องการดูแล ของใช้ในบ้านก็ไม่เหมือนเดิม เพราะวิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไป ซึ่งเราก็พยายามดูแลให้เขาอยู่สบายในบ้านที่สุด แต่เขาก็อยู่แบบนิ่ง ๆ ได้ไม่นานก็ออกไปเที่ยวแบบโบกรถเหมือนเดิม เราก็มองว่าเขายังไม่เข็ดอีกหรือ บอกเขาแบบประชดว่าถ้าไปครั้งนี้เป็นอะไรอีกแม่ปลงแล้วนะ จะเกิดอะไรก็อีกแม่ไม่สนแล้ว แม่เหนื่อย ซึ่งแน่นอนว่าเราทำให้เขาเปลี่ยนใจไม่ได้ เราก็เลยต้องปล่อยเขา”
“พอลูกเราเริ่มเรียนที่ ‘วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่’ ได้ ก็เป็นช่วงที่เรากลับมามีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาก เพราะเราเห็นว่าเขาค่อย ๆ กลับมาชีวิต มีสิ่งที่รัก มีงานให้ทำ เวลาเห็นเขามีส่วนร่วมในงานโทรทัศน์ หรืองานอีเวนต์อะไรก็ตามเราก็ภูมิใจที่เขาทำได้ กลายเป็นว่าเขาเก่งกว่าเราสมัยช่วงอายุ 30 ต้น ๆ ซะอีก เพราะถ้าเป็นเราคงยอมแพ้ไปนานแล้ว แต่ลูกชายเราเป็นคนคิดบวกกับชีวิตจนน่าเหลือเชื่อ”
“ปัจจุบันเราได้มีบรรยากาศเที่ยวแบบครอบครัว อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสครั้งใหม่ที่ทำให้เราได้กลับมาดูแลเขาระหว่างเดินทาง เพราะเมื่อก่อนเราเอาแต่ทำงาน สนใจแค่เรื่องปากท้อง ทำให้เราไม่ได้ดูแลเขาอย่างที่ควร แต่การเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันตอนนี้มันกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น”
ความสุขไม่ได้อยู่บนภูเขา หรือทะเลที่เราอยากไป แต่มันคือการแบ่งปันเวลากับคนรอบข้างต่างหาก
หลังจากประสบอุบัติเหตุผมใช้เวลาช่วงอายุ 26-30 หมดไปกับความเศร้าเสียใจน้อยมาก แต่แทนที่ด้วยความอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อย่างเข้มข้นทุกวันแทน
“ผมอยากเป็นคนถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ส่งต่อไปให้คนอื่น ผมเลยมีโปรเจกต์ที่จะทำสื่อของตัวเอง ช่วงปลายปีที่แล้วผมสร้างเพจ ‘wheelwego’ ขึ้นเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการและผู้สูงอายุออกจากบ้านมาท่องเที่ยวมากขึ้น ผมได้น้องชายเป็นช่างภาพกับคอยขับรถ และมีคุณแม่เที่ยวเป็นเพื่อน ซึ่งเวลาไปเที่ยวกันเราก็จะบอกคนอื่นผ่านเพจของเราทุกครั้งว่าสถานที่นั้นมีห้องน้ำ ทางเดิน หรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้คนพิการและผู้สูงอายุอยู่ในจุดไหนบ้าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นจะได้พาคนในครอบครัวมาเที่ยว”
“ที่เป็นการท่องเที่ยวแบบครอบครัว เนื่องจากผมมองย้อนกลับไปแล้วเห็นว่าที่ผ่านมาผมเที่ยวคนเดียวกับเที่ยวกับเพื่อนฝูงมาตลอด แต่มีทริปครอบครัวน้อยมาก ผมก็มองว่ามันคงจะดี ถ้าเรา 3 คนที่มีกันอยู่แค่นี้ ได้ไปเที่ยวด้วยกันแบบพร้อมหน้า ไปผจญภัย และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยกัน ต้องสนุกแน่ ๆ ”
“หลังจากกลับมาเที่ยวกับครอบครัวในนามเพจ ‘wheelwego’ มันกลายเป็นความสุขที่ไม่มีอะไรมาแทนได้จริง ๆ และทำให้ผมได้รู้ว่าแม่ไม่ได้มีแต่มุมชอบทำงานบ้าน แต่เขายังเป็นคนรักการผจญภัยด้วย เมื่อไปเที่ยวเขาเปลี่ยนโหมดเป็นคนชอบความท้าทาย ทั้งเดินขึ้นเขา ดำน้ำ เดินป่า แบบไม่เหนื่อยเลย
“แต่ก่อนผมถือว่าต้องไปให้ถึงที่ด้วยตัวเอง ต้องปีนเขาเอง ว่ายน้ำเอง ถ้าไม่ได้ทำเองก็ถือว่าไปไม่ถึง แต่ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปในวันที่ท่องเที่ยวแบบคนพิการคือผมไม่สามารถไปทุกที่ด้วยรถเข็นได้ ผมเลยต้องเป็นคนนั่งดูแม่ทำสิ่งที่ผมเคยทำไปแล้วทั้งหมดแทน อย่างตอนไปขึ้นภูกระดึง ผมก็ไม่สามารถขึ้นไปกับแม่ได้ เลยต้องรออยู่ที่พักข้างล่าง แต่เห็นแม่เดินขึ้นไปอย่างมีความสุขด้วยตัวเองได้ ผมก็รู้สึกเบิกบานไปอีกแบบ เพราะมันคือการได้เห็นแม่ทำสิ่งที่ผมเคยทำได้มาก่อน ผมว่ามันแทนสิ่งที่ผมทำไม่ได้ในตอนนี้ได้จริง ๆ ”
“กลายเป็นว่าการออกมาเที่ยว มาอยู่ข้างนอก มันทำให้คนในบ้านสนิทและผูกพันกันยิ่งกว่าตอนอยู่บ้านเสียอีก เวลาช่วยกันหาข้อมูล ช่วยกันหาร้านอาหารอร่อย ๆ หรือเวลาแม่กับน้องชายยอมหาทางพาผมขึ้นไปชมวิวบนเขากับพวกเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาจะขึ้นไปเองโดยไม่มีผมก็ได้”
“ถึงวันนี้ผมจะไม่สามารถทำบางอย่างได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ผมก็ได้เห็นมุมมองดี ๆ ของชีวิตมากกว่าเมื่อก่อนเยอะ เพราะผมยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ จึงรู้ว่าต้องไขว่คว้าสิ่งไหนมาเพิ่ม ซึ่งสำหรับผมมันคือการเรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อสังคม นี่แหละสูตรความสุขของชีวิตผมในตอนนี้”
ลูกคือพลังให้แม่ กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
“อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเราอยากเป็นพลังดี ๆ ให้ลูก เราเลยดูแลตัวเองทั้งกายและใจมาโดยตลอด ทำให้เรายังเดินทางไปกับเขาไหว เดิมทีเราคิดว่าอายุเท่านี้ต้องให้ลูกเข็นรถพาเที่ยวด้วยซ้ำ แต่เป็นคนที่ต้องเข็นลูกเที่ยวแทนเราก็สนุกไปอีกแบบ และนอกจากไปเที่ยวพร้อมกับลูกชายสองคนแล้ว ยังเป็นการทำตามความฝันเราด้วย เพราะหลาย ๆ ที่เราอยากไปตั้งแต่สมัยสาว ๆ แต่ไปไม่ได้ ทว่าพอเราได้มาเที่ยวตอนอายุเข้าเลข 7 ไปแล้ว ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนตอนสาว ๆ ไม่มีผิด
“ไม่ว่าจะไปไหน ลูกชาย จะคอยแนะนำให้เรากล้าทำอะไรใหม่ ๆ อย่างเดินขึ้นเขาหรือดำน้ำ ที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีเขาคอยให้กำลังใจอยู่ข้าง ๆ คอยบอกว่า ‘แม่ทำได้ แม่ยังไหว’ เราเลยกล้าทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และค้นพบว่าตัวเองยังทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างในวัยเท่านี้ ซึ่งมันเป็นการใช้ชีวิตที่คุ้มค่ามากว่าการเป็นคุณยายอยู่บ้านเฉย ๆ เสียอีก”
“ถึงเราจะไปเที่ยวกันหลายที่ แต่ท้ายที่สุดความสุขจริง ๆ มันคือการที่ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากันในทุกสถานการณ์ทั้ง แม่ ลูกชายคนโต ลูกชายคนเล็ก ตั้งแต่ช่วงที่ทุกข์ที่สุด จนถึงช่วงที่มีความสุขที่สุดตอนนี้ ทำให้เราอยากจะอยู่ไปนาน ๆ ด้วย เพราะจะได้ไปเที่ยวกับลูกอีกเรื่อย ๆ นี่แหละคือความความหมายของการมีอายุยืนยาวของเรา”
“ในอนาคต ลูกเขาอยากพาเราไปโดดร่ม กับดำน้ำสกูบา ซึ่งเราไม่รู้ว่าตัวเองจะไหวหรือเปล่า แต่ที่แน่นอนคือไม่ว่าลูกจะไปไหน เราก็จะไปกับเขา อยู่ข้าง ๆ เพราะต่อให้เขาจะเป็นคนเก่งแค่ไหน เราก็อยากให้ลูกรู้เสมอว่า จะมีแม่อยู่ข้าง ๆ และช่วยให้เขาผ่านพ้นทุกอุปสรรคระหว่างการเดินทางเสมอ”