ชวนรู้จักกับโลกใบใหม่ในแอปฯ ‘WeSing’ ของทวีพร เต็งประทีป โลกแห่งเสียงเพลงที่ทุกคนคือเพื่อนกัน

เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่ชายวัย 57 คนนี้ ผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาได้อย่างหวุดหวิด เมื่อเกิดหัวใจวายขณะเป็นผู้บริหารในบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง แต่แพทย์สามารถปั๊มหัวใจช่วยชีวิตให้ฟื้นคืนมาได้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ พี่วี – ทวีพร เต็งประทีป ต้องทบทวนเส้นทางของตัวเองจะเอาอย่างไรต่อไป

ในที่สุด พี่วีเลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ โดยไม่ต้องเคร่งเครียดจนเกินไปด้วยการทำงานเล็กๆ น้อยๆ และหวนคืนเวทีจับไมค์ร้องเพลงกับเพื่อนฝูงอีกครั้ง จนได้มาพบแอปพลิเคชัน WeSing ชีวิตของพี่วีก็เปลี่ยนไป เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และมิตรภาพจากเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้คลายเหงา และสร้างสมดุลชีวิตได้เป็นอย่างดี

เหมือนเที่ยวคาเฟ่ ร้องเพลงถูกใจตบรางวัลได้ แถมเป็นอาชีพเสริมได้อีก

“พอดาวน์โหลดแอปมาลองเล่นก็สนุกดีนะครับ เพราะอัดเป็นคลิปวิดีโอได้ แชร์ลิงก์การร้องเพลงของเราไปยังโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ เลยติดใจ และเล่นมาตลอดเกือบ 3 ปีแล้ว” พี่วี – ทวีพร เต็งประทีป เล่าถึงการค้นพบ WeSing ในช่วงโควิด-19 ซึ่งต้องเงียบเหงาอยู่กับบ้าน ทำให้ค้นหาความเพลิดเพลินจากการร้องเพลง โดยเริ่มจากแอปพลิเคชัน Joox ก่อน ซึ่งร้องเพลงได้ แต่เสียเงิน จึงลองค้นหาแอปอื่นๆ ที่ร้องเพลงฟรี จนมาเจอ WeSing เข้า

จุดเด่นของ WeSing ไม่ใช่แค่แอปคาราโอเกะที่ร้องเพลงจบแล้ว ก็จบแล้วจบเลย แต่เป็นเหมือนห้องบันทึกเสียง แถมมีเอฟเฟ็กต์ให้แต่งเสียงเพื่อเก็บไว้ฟังเอง หรือส่งไปอวดเพื่อนๆ ก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีห้องปาร์ตี้ให้เข้าไปเฮฮากัน สามารถไลฟ์สดได้ สร้างห้องของตัวเองได้ พอมีห้องเป็นของตัวเองปุ๊บ ก็สามารถจัดรอบโชว์ให้คนเข้ามานั่งดูได้ ถ้าใครชอบใจ ก็ให้เหรียญ ให้ดอกไม้ ให้เพชร เพื่อนำไปแลกเป็นเงินได้ ซึ่งเป็นช่องทางทำเงินอีกแบบหนึ่ง

“อารมณ์เหมือนเที่ยวคาเฟ่เลย คือถ้าเราร้องเพลงถูกใจ ลูกค้าที่มาฟังเพลง เขาจะคล้องพวงมาลัยให้ใช่ไหม ในแอปนี้ก็เหมือนกัน แถมมีพ่อยกแม่ยก มีแฟนคลับด้วย ทำให้เป็นช่องทางหารายได้จากตรงนี้ มีรายได้เท่าไหร่ WeSing จะหักเปอร์เซ็นต์ไปเล็กน้อย แล้วยังมีเกมส์ และอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ มีการปรับปรุงฟีเจอร์ตลอดเวลา บางคนอาจกังวลว่าจะมีมิจฉาชีพแฝงเข้ามาหลอกลวงหรือเปล่า แต่ด้วยฟังก์ชั่นของแอปไม่น่าจะหลอกลวงได้ แค่เราเล่นอย่างมีสติก็พอ”

WeSing คือวิถีชีวิตใหม่ และสังคมของคนหลายวัย

แอปนี้ทำให้สุขภาพจิตของผู้เล่นดีขึ้น เพราะได้ปลดปล่อยในบางเรื่อง ได้มีตัวตนที่อยากมีอยากเป็น ซึ่งพี่วีมองว่า ไม่ได้เสียหายอะไร หรือเดือดร้อนใคร บางคนอาจจะไม่สามารถผ่อนคลายแบบเปิดเผยได้ แต่เมื่อมาอยู่ในโลกใบนี้ ก็สามารถร้องเพลงเฮฮาได้ เป็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่ช่วยให้คนมีสังคม และสร้างเพื่อนใหม่ๆ ได้

“บางคนคุยกันมา 3 ปี ไม่เคยเจอตัว ไม่เคยรู้จักชื่อจริง แต่พอคุยกันแล้ว สัมผัสได้ว่าน้องเขานิสัยดี พี่เขานิสัยดี เป็นมิตรภาพแท้ๆ ที่เกิดขึ้น ผมว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของวัยผู้ใหญ่ที่ขาดสีสันในชีวิต ซึ่ง WeSing ช่วยเติมเต็มสีสันให้ ทำให้มีเพื่อนใหม่ เพราะแค่อยู่บ้านก็มีคนคุยออนไลน์ด้วยแล้ว”

พี่วีเล่าว่าสังคมของ WeSing เท่าที่ได้สัมผัสคือบางคนอยู่ในแอปเกือบทั้งวัน ทำให้ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหนให้เสี่ยงต่อการเดินทาง แค่เล่นแอปก็มีกิจกรรมให้ทำแล้ว นอกจากนี้ ระบบ AI ของแอปยังทำการสุ่มเพลงที่ผู้เล่นเคยร้องไว้ และเมื่อมีคนอื่นร้องบ้าง ก็จะมีการแจ้งเตือนให้เข้าไปลองฟัง หากชอบ ก็เพียงแค่กดติดตามเหมือนการเล่นเฟซบุ๊ก และยังเปิดให้คอมเมนต์โต้ตอบกันได้ จนกลายเป็นการสานสัมพันธ์กันต่อไป ซึ่งทำให้มิตรภาพดีๆ เกิดขึ้น

“ลองนึกถึงผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชราสิ ถ้าให้เล่นแอปนี้ ผมว่าจะช่วยให้หายเหงาได้เยอะ เพราะทำให้มีเพื่อนใหม่ และมีความหลากหลายในชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือแอปนี้ไม่ได้มีแต่ผู้สูงวัย แต่มีคนหลากหลายวัยมาก น้องบางคนที่มาคุยกับผมก็อายุสัก 20 ปี เริ่มจากกดติดตาม แล้วก็ได้พูดคุยกัน ทำให้ผมรู้จักเพลงใหม่ๆ จากเขา ส่วนเขาก็รู้จักเพลงเก่าๆ จากผม เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนเพลงกัน อย่างเพลง ‘นะหน้าทอง’ กับเพลง ‘ดวงเดือน’ ของ โจอี้ ภูวศิษฐ์ เพลง ‘ลมของกะลา’ ผมก็ร้องนะ แล้วก็เพลงสากลด้วย ในแอปนี้จะมีการลงเพลงใหม่ๆ เร็วมาก คนเล่นเป็นคนนำมาลงเอง จึงเป็นสังคมแห่งการแบ่งปันเรื่องเพลงกันไปเลย”

การหวนคืนของนักร้องยุค 90s พร้อมความทรงจำเก่าๆ

ตอนช่วงโควิด-19 พี่วีจะใช้เวลาอยู่ในแอป WeSing เฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันลดลงเหลือวันละครึ่งชั่วโมง เนื่องจากมีกิจกรรมร้องเพลงกับเพื่อนนักดนตรีเก่าแก่ในยุค 80s – 90s ที่กลับมารวมตัวกันใหม่ รวมทั้งเป็นแขกรับเชิญตามคอนเสิร์ตต่างๆ ด้วย เช่น ปลายเดือนกุมภาพันธ์จะไปเป็นแขกรับเชิญของ “ปาน-ธนพร” เพื่อขับร้องเพลง “คุณจะรักฉัน” ในอัลบั้มใหม่ของเธอ

มาถึงตรงนี้ แฟนๆ มนุษย์ต่างวัยบางท่านอาจคุ้นว่า เอ๊ะ พี่วีเคยเป็นนักร้องยุค 90s หรือเปล่านะ ใช่เลย พี่วีคือหนึ่งในสมาชิกวง “ไหมไทยออเคสตรา” ของอาจารย์ดนู ฮุนตระกูล ซึ่งมีผลงานในอัลบั้มต่างๆ เช่น ‘ทีเล่นทีจริง’ ‘เทียบเสียง’ ‘ปักษ์ใต้บ้านเรา’ ฯลฯ และยังผ่านเวทีประกวดที่เป็นสัญลักษณ์ของยุค 90s ด้วย ทั้งคอนเสิร์ตคอนเทสต์ และสยามกลการ รวมทั้งเป็นนักร้องอาชีพที่โรงแรมมณเฑียร ในยุคที่ละครเวที ‘มณเฑียรทองเธียเตอร์’ ดังระเบิดเถิดเทิง เช่นเดียวกับการร้องเพลงในผับดังสุดฮิต ‘That’s it’ ในซอยศาลาแดง ซึ่งเป็นแหล่งกินดื่มของมนุษย์เงินเดือนยุค 90s

อย่างไรก็ตาม การเป็นนักร้องให้ยืนยาวในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พี่วีจึงต้องทำงานประจำควบคู่ไปด้วย จนถึงจุดหนึ่งที่ต้องเลือกเพื่อชีวิตที่มั่นคง จึงเลือกทำงาน และก้าวหน้าจนเป็นจีเอ็มในบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง ก่อนเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อทำงานจนหัวใจวายเฉียบพลัน กระทั่งหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว แต่คุณหมอปั๊มหัวใจช่วยชีวิตกลับคืนมาได้

เหมือนเกิดใหม่ เมื่อได้ลั้นลาอีกครั้ง

วันเฉียดตายของพี่วีเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาดูแลตัวเอง และทำสิ่งที่รักอีกครั้ง นั่นคือการร้องเพลงกับพี่ๆ น้องๆ ในวง King’s Composition Big Band ซึ่งนำบทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับร้อง และเล่นตามงานต่างๆ แบบจิตอาสา รวมทั้งวงสมัยเรียนมหาวิทยาลัยในนาม TU Band ซึ่งมีสมาชิกวัย 60-70 อยู่หลายคน

“วงเราเล่นได้หมด เพลงเก่า เพลงใหม่ เพลงลีลาศ ทุกคนดีใจที่ได้กลับมาเล่นดนตรีด้วยกัน ได้เจอเพื่อนเจอพี่เจอน้องที่คุยภาษาเดียวกัน ได้ใช้เวลาด้วยกันครั้งละนานๆ ทำให้เราไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยว และผ่อนคลายมากๆ ตอนนี้ชีวิตก็มีแต่ดนตรี ร้องเพลงกับวงไม่หนำใจพอ ก็ไปร้องต่อใน WeSing ซึ่งเป็นชีวิตที่ลงตัวในวัย 57 แล้วครับ”

พี่วี – ทวีพร เต็มประทีป ซึ่งเคยผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาแล้วเล่าอย่างสนุกสนาน โดยมีมารดา และสุนัขตัวโปรดรอคอยที่จะฟังบทเพลงที่ขับขานอีกครั้ง ขณะหนุ่มใหญ่คนนี้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา แล้วเริ่มขับร้องเพลง “ฝันกลางฤดูฝน” ในแอป WeSing ต่อ “เมื่อมีชีวิต ทุกคนมีสิทธิ์จะฝัน ต่างจิตใจกัน ต่างก็เลือกฝันกันไป ..”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ