“ไม่เคยรู้ว่ารัก”
คำพูดสั้นๆ ของ กาญจนา อุบลสูตรวนิช นี้ไม่ได้พูดถึงคนรัก แต่พูดถึงการทำอาหารที่กลายเป็นความรักอยู่ในดีเอ็นเอโดยไม่รู้ตัว
คำพูดนี้ไม่ได้ใช้อธิบายเพียงเธอคนเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง คุณยายอนงค์ นาควัชระ แม่วัย 86 ปีของเธอ และ ‘ม่ำ’ – จักรพงษ์ อุบลสูตรวนิช ลูกชายคนเล็กวัย 36 ปี
คนทั้ง 3 รุ่น ช่วยกันปรุงรสความรักจากก้นครัวจนทำให้ ‘หวานละมุน’ กลายเป็นร้านขนมไทยในดวงใจของคนเชียงใหม่มานานกว่า 30 ปี
หากถามถึงจุดเริ่มต้นความสำเร็จ เรื่องราวที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ไม่ได้อบอวลไปด้วยแพสชันแบบที่รู้ตัวตั้งแต่แรกเหมือนหลายๆ ความสำเร็จที่เคยได้ยิน เพราะสำหรับหวานละมุนแล้ว ทั้งหมดเริ่มต้นจากแผนปราบเด็กติดทีวีช่วงปิดเทอม
พ่อสายเฮี้ยบ แม่สายหวาน
ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ในซอยเล็กๆ ย่านใจกลางกรุงที่เรียงรายไปด้วยบ้านเดี่ยวคนชั้นกลาง
“ถั่วแปบมาแล้วจ้า ถั่วแปบมาแล้วจ้า”
เสียงเด็กหญิงวัยประถมตะโกนเรียกลูกค้าบ้านใกล้เรือนเคียงให้รู้ว่าทีมขายถั่วแปบดิลิเวอรีมาถึงหน้าบ้านแล้ว ขบวนถั่วแปบนี้มีพี่สาวคนโตเป็นคนถือตะกร้าเดินนำ ตามด้วยน้องอีก 2 คน เดินตามกันมา
“ช่วงปิดเทอมพ่อรำคาญที่เห็นพวกลูกๆ 5 คน นอนเรียงกันหน้าทีวีเหมือนสูบยาฝิ่น เลยให้แม่ทำถั่วแปบวันละ 100 ตัว แล้วให้ลูกออกไปขายวันละ 3 คน มีพี่ 2 คนโตยืนพื้น ส่วนน้องอีก 3 คนสลับกันไปวันละคน เงินที่ขายได้ทั้งหมดพ่อให้เอาไปบริจาคมูลนิธิ”
กาญจนา หรือ ติ๋ม ลูกสาวคนโตที่ปัจจุบันอายุ 66 ปี อดีตหัวหน้าทีมงานถั่วแปบดิลิเวอรีย้อนถึงความทรงจำวัยเยาว์
“ขนมถั่วแปบของแม่อร่อยมาก ทุกวันจะมีคุณหญิงข้างบ้านเหมาไปครึ่งหนึ่ง ส่วนบ้านอื่นๆ ก็บอกว่าให้มากดออดเรียกได้เลย”
20 ปีต่อมา หลังจาก พจนา นาควัชระ พ่อสายเฮี้ยบ ณ ตอนนั้น เกษียณราชการจากกรุงเทพฯ และย้ายไปทำไร่กุหลาบอยู่ที่เชียงใหม่ ขนมถั่วแปบก็กลายเป็นใบเบิกทางให้กับลูกสาวคนโตจนเติบโตงอกงามกลายเป็น ‘หวานละมุน’ ร้านขนมและอาหารไทยชื่อดังมาจนถึงวันนี้
ในวันฉลองครบรอบวันเกิดของบุพการีเมื่อหลายปีก่อน ชายชราวัย 90 ปี กล่าวติดตลกกับลูกหลานที่มาอวยพรว่า
“พวกเธออย่ามาหาว่าฉันใจร้ายที่ให้ไปขายถั่วแปบนะ ดูยัยติ๋มสิ ทุกวันนี้มีอาชีพเพราะถั่วแปบจนเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว”
คิตเช่นโค้ช – คิด เช่น โค้ช
ด้วยบรรยากาศร้านอาหารไทยที่ดูหรูหราแต่ไม่ชวนอึดอัด พร้อมด้วยมุมจิบชากาแฟริมน้ำของร้านหวานละมุน สาขาริมน้ำปิง ทำให้ลูกค้าทั้งไทยและเทศแวะเวียนมานั่งกินอาหารและถ่ายภาพกันไม่ขาดสาย หากไม่มีสถานการณ์โควิด -19 คนมักจะแน่นร้านจนที่นั่งไม่พอ หนึ่งในเมนูเด็ดของร้านนี้คือ ข้าวแช่สูตรพิเศษที่โดดเด่นทั้งรสชาติและการจัดจาน ระดับที่เห็นแล้วต้องถ่ายรูปอวดขึ้นเฟซบุ๊กก่อนลิ้มรส
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามเบสิกสำหรับคนเปิดร้านอาหาร
“คุณติ๋มเริ่มชอบการทำอาหารตั้งแต่เมื่อไหร่คะ”
เมื่อได้ยินคำถามนี้ คนถูกถามอมยิ้มพร้อมยิงคำถามกลับมาแทนว่า
“ถ้าบอกว่าไม่เคยคิดว่าตัวเองหลงใหลการทำอาหารมาก่อนเลยจะเชื่อไหมคะ”
เราขมวดคิ้ว ส่ายหน้า พร้อมรอฟังประโยคต่อไป
“แม่ไม่เคยสอนลูกให้ทำอาหาร แต่เสกอาหารอร่อยออกมาจากครัวทุกมื้อ แม่หายเข้าครัวไปไม่นานก็จะออกมาพร้อมกับขนมหน้าตาน่ากิน เดี๋ยวก็ถั่วแปบ เดี๋ยวก็ขนมชั้น
“แม่ทำให้เรารู้ว่าอาหารอร่อยเป็นอย่างไร”
บทพิสูจน์ความอร่อยวัดได้ไม่ยาก แค่ลูกๆ ทั้ง 5 คน แย่งกันกินหนุบหนับ หรือคนละแวกบ้านสั่งให้แม่ค้าขนมถั่วแปบตัวน้อยกดออดเรียกหากเดินมาถึงหน้าบ้าน เหล่านี้คือสิ่งที่การันตีได้เป็นอย่างดี ทั้งที่ตัวแม่ครัวเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าหลายอย่างที่ทำเป็นนิสัยนั้นสะท้อนถึงความรักในเรื่องอาหาร
ในวัย 86 ปี คุณยายอนงค์เล่าถึงความสนใจการทำอาหารที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอโดยไม่รู้ตัวว่า
“ถ้ายายไปกินอาหารร้านไหนอร่อย ยายก็จะเอามานั่งดูว่าเขาน่าจะใส่อะไรบ้าง แล้วก็ทดลองทำเองเลย” คุณยายอนงค์พูดพร้อมยิ้มน้อยๆ ตามสไตล์แม่บ้านยุคเก่า
พอถูกแซวว่า ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกว่า born to be คุณยายก็หัวเราะร่วนพร้อมพยักหน้า ก่อนจะตอบกลับว่า “ก็คงจะอย่างนั้นล่ะค่ะหนู”
ลูกสาวคนโตเสริมความเก๋าของบุพการีให้ฟังต่อว่า “เวลาแม่ทำอาหาร เห็นแล้วต้องใช้คำว่า ‘ทึ่ง’ เพราะไม่มีความโกลาหลอลหม่านอะไรเลย ค่อยๆ ทำ ทำไปเก็บไป ทำอะไรก็ทำนวลๆ ไม่โฉ่งฉ่าง นิ่มนวลเหลือเกิน ถ้าแม่ลงมือทำอะไรออกมาสักจาน มันจะเป็นรสมือของเขาจริงๆ ผิดกับเรา ตอนทำขนมชั้นครั้งแรก ผ่านไป 1 วัน ขนมชั้นยังไม่เป็นทรงเลย (หัวเราะ)
“อีกอย่างหนึ่ง ครัวของแม่จะดูเรียบร้อย สะอาดตาอยู่เสมอ ทั้งตะหลิวและมีดจะเรียงขนาดกันจากอันเล็กไปอันใหญ่”
ร้านหวานละมุนเริ่มต้นหลังจากคุณตาพจนาเกษียณอายุจากงานประจำในเมืองกรุงและย้ายครอบครัวมาอยู่เชียงใหม่ เวลานั้นลูกชายทั้ง 3 คนของลูกสาวคนโตกำลังอยู่ในวัยซน กาญจนาจึงเริ่มมองหาอาชีพใหม่ในเมืองเหนือ บุพการีของเธอจึงตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่ทำอะไรที่เราถนัด”
กาญจนาเล่าว่า “ตอนนั้นไม่รู้ว่า ‘เรา’ หมายถึงใคร คิดว่าน่าจะหมายถึงแม่มากกว่า เพราะตัวเราเองไม่เคยทำขนมมาก่อนเลย เป็นคนชิมอย่างเดียว”
แต่ดูเหมือนว่า ‘เรา’ ในที่นี้จะเป็นคำว่า เรา ที่รวมทั้งคุณยายอนงค์และลูกสาว เพราะแม้จะเริ่มเข้าวัยชรา แต่ผู้เป็นแม่ก็ยังถ่ายทอดวิชาที่ตัวเองถนัดให้ลูกผ่านการ ‘โค้ชชิ่ง’
“แม่เริ่มสอนทำขนมทีละอย่าง เริ่มจากขนมถั่วแปบ ลองทำไปส่งที่ตลาดธานินทร์ก่อนเป็นร้านแรก เริ่มจากส่งวันละ 100 ตัว วันแรกแค่ผ่านไปครึ่งวันก็ได้รับโทรศัพท์ว่า ขนมหมดแล้ว ภายในสัปดาห์เดียวก็เริ่มมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 ตัว ขายหมดทุกวัน เราต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อมานวดแป้ง คั่วงา ทำขนมไปส่งที่ตลาด แล้วค่อยไปส่งลูกที่โรงเรียน”
ขนมถั่วแปบได้รับการยกระดับจาก ‘ขนมปราบเด็กติดทีวี’ กลายเป็นรายได้ของอดีตหัวหน้าทีมขายวัยซน ทั้งยังเป็นใบเบิกทางให้กับขนมชั้น ขนมเหนียว และสารพัดขนมไทยอีกหลายเมนูที่เดินขบวนกันออกมาจากก้นครัว จนกระทั่งกลายเป็น ‘ขนมขึ้นตึก’ เพราะทำให้กาญจนาสามารถเปิดกิจการร้านหวานละมุน ร้านที่มีชื่อติดหูคนเชียงใหม่ตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก
“ชื่อร้านได้มาระหว่างนั่งรถตุ๊กตุ๊ก เราถามตัวเองว่าจะเปิดร้านขายขนมชื่ออะไรที่จะสื่อได้ว่าไม่หวานเจี๊ยบ เพราะคนชอบพูดว่าขนมไทยหวานจัง ตอนนั่งรถไปก็คิดไปว่าหวานอะไรดีที่ไม่หวานไป ก็ได้ชื่อหวานละมุนมา พอเปิดร้านแล้วถึงเพิ่งรู้ว่าคนชอบชื่อนี้กัน”
การตัดสินใจเปลี่ยนจากทำขนมส่งขายตลาดสดสู่การเปิดร้านในตึกแถวใจกลางเมืองนับเป็นการปักหมุดอาชีพให้กับกาญจนา และกลายเป็นธุรกิจของครอบครัวอย่างจริงจัง
จากที่ตั้งใจอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เธอเริ่มเรียนรู้การทำอาหารแบบใส่ใจทุกรายละเอียด คัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุดเท่าที่จะสรรหามาได้ อาทิ น้ำตาลสั่งตรงจากอัมพวา แป้งขนมสูตรดั้งเดิม กะทิคั้นสดใหม่ทุกวัน โดยมี ‘โค้ชแม่’ เป็นสุดยอดคอมเมนเตเตอร์ เพราะถ้ารสชาติผิดเพี้ยนไปเพียงนิดเดียว คุณยายอนงค์สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร
“แม่ไม่ได้ลงแรง แต่ลงสายตา เราทำ แม่ชิม บางครั้งแป้งยี่ห้อโบราณไม่มีขายแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนยี่ห้อจนกว่าแม่จะบอกว่าใช้ได้ แม่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับรายละเอียดทุกอย่างเพื่อให้ได้รสที่แม่ยอมรับว่า แบบนี้คืออร่อย”
หลักคิดในการทำธุรกิจของร้านหวานละมุน คือ “ค่อยๆ โตไปทีละอย่าง” ขนมที่ได้รับเลือกให้ออกวางขาย 3 อันดับแรก คือขนมที่ติดอันดับของโปรดของคนในบ้านมากที่สุด ได้แก่ ถั่วแปบ ขนมเหนียว และขนมชั้น หลังจากนั้นจึงค่อยเพิ่มเมนูอาหารคาวแบบกินง่าย อาทิ ผัดไทย ข้าวคลุกกะปิ ขนมจีนซาวน้ำ ข้าวตังหน้าตั้ง เป็นต้น ลูกค้าที่ซื้อไปกินครั้งแรกล้วนกลับมาใหม่ และบอกต่อกันไปจนกลายเป็นร้านขนมไทยที่เป็นทั้งร้านประจำของคนท้องถิ่นและเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมา
หากรสมือแม่นำชื่อเสียงด้านความอร่อยมาให้ลูก ความซื่อสัตย์ที่พ่อปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์คือสิ่งที่นำชื่อเสียงด้านคุณภาพมาให้ร้านของลูกเติบโตอย่างมั่นคง เพราะลูกค้าวางใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าร้านนี้ไม่เคยขายขนมข้ามคืน
“พ่อเป็นคนซื่อสัตย์ที่สุดในโลก มีความทระนง เป็นตัวอย่างของความดีงามทั้งหมดให้กับลูก เราได้เลือดพ่อแม่มาทั้งคู่ พอเริ่มลงมือทำอาหาร เราก็เนี้ยบเหมือนแม่โดยไม่รู้ตัว ส่วนความซื่อสัตย์ของพ่อที่อยู่ในตัวเรา เมื่อจะทำร้านอาหาร เราก็มีหัวใจเลยว่า ต้องทำอย่างไรถึงจะทำออกมาได้ดีที่สุด เราคิดแต่ว่าอยากให้ลูกค้าได้กินของดีเหมือนที่แม่ทำให้เรากิน เราไม่เคยคิดหาวิธียืดอายุขนมเพื่อให้ขายได้นานเกิน 1 วัน เพราะต่อให้ลูกค้าไม่รู้ แต่เรารู้อยู่แก่ใจ แล้วความซื่อสัตย์ก็พาร้านของเราเติบโตมาได้จนถึงวันนี้”
การเติบโตของร้านที่มีพื้นฐานมาจากทั้งพ่อและแม่ทำให้ในปัจจุบันร้านหวานละมุนมีทั้งหมด 3 สาขาในเมืองเชียงใหม่และส่งขายในซูเปอร์มาร์เกตริมปิงอีก 5 สาขา
จากเด็กหลังห้องสู่เชฟหลังบ้าน
ณ ตึกแถวร้านหวานละมุนสาขาแรก ทุกๆ เช้า อาหารคาวหวานจะถูกจัดใส่ถ้วยเล็กๆ วางเรียงรายรอให้ลูกชายคนสุดท้องของกาญจนามาชิมก่อนนำออกจำหน่ายตามสาขาต่างๆ
‘ม่ำ’ – จักรพงษ์ อุบลสูตรวนิช ชายหนุ่มวัย 30 ปี รับหน้าที่นักชิมเช่นนี้ทุกวัน ไม่เคยมีแม้แต่วันเดียวที่เขาจะปล่อยให้พนักงานในร้านนำของออกขายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบรสชาติจากเขา
ตกบ่ายชายหนุ่มจะกลับบ้านเพื่อเข้าครัวของตัวเอง ลงมือทำเบเกอรีและอาหารฝรั่งที่คิดค้นสูตรขึ้นมาเองแล้วนำไปฝากขายที่ร้านของแม่ ขนมพายของเขาเริ่มติดลิ้นและได้รับการบอกต่อจนขายดีไม่แพ้ขนมไทยของแม่เลยทีเดียว
หากย้อนกลับไปในวัยเยาว์ จักรพงษ์นับเป็นลูกที่พ่อแม่เป็นห่วงมากที่สุดในบรรดา 3 พี่น้อง เพราะเขาไม่ชอบเรียนหนังสือ ผลการเรียนเทียบไม่ได้กับพี่ชายอีก 2 คนที่สามารถสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดัง
เมื่อไม่มีความฝันในรั้วมหาวิทยาลัยเหมือนคนอื่น เขาจึงกลายเป็นคนเงียบขรึม เก็บตัว ด้วยความเป็นห่วงของแม่ กาญจนาจึงพาไปช่วยงานที่ร้านจนทำให้เขาได้ค้นพบโลกใบเล็กที่ซุกซ่อนอยู่ในห้องครัวโดยไม่มีใครคาดคิด แม้แต่เจ้าตัวเอง
“ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบเข้าสังคม ไม่ได้มีความชอบอะไรเป็นพิเศษ เป็นคนไม่เคยมีความฝัน พ่อแม่มองไม่ออกเลยว่าโตขึ้นจะไปทำอะไรได้ ดูไร้อนาคตที่สุด ตอนเด็กติดเพื่อน ติดเที่ยว กินเหล้า ไม่กลับบ้าน พอโตขึ้น เพื่อนก็ต่างไปตามทางของเขา มีชีวิตที่ดีกันหมด แต่ผมยังอยู่จุดเดิม ไม่มีอะไรเลย
“ผมก็เลยต้องมาคิดทำอะไรให้ตัวเองจริงๆ จังๆ แม่เลยจับมาอยู่ร้าน สอนทำผัดไทย ทำมัสมั่น ผมเลยซึมซับความชอบทำอาหารเข้าไปโดยไม่รู้ตัว” หลานชายของคุณยายอนงค์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าครัวของเขา
นานวันผ่านไป แม่ผู้ใกล้ชิดลูกเริ่มเห็นแววเชฟฉายออกมาด้วยหน้าตาอาหาร
“ความสามารถบางครั้งมันซ่อนเสียลึกเลย เราเป็นห่วงลูกคนนี้มาก ไม่รู้ว่าลูกจะไปทางไหนดี พอเอามาอยู่ใกล้ๆ แล้วก็สังเกตว่าม่ำทำผัดไทยออกมาสวยจัง ทำมัสมั่นก็สวย เมื่อเขามีแววเป็นเชฟ เราเลยคุยกันในครอบครัวว่า ถ้าเขามีแววด้านนี้ เราควรสนับสนุนเขาไปให้ถึงที่สุดดีไหม คนเป็นพ่อแม่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินลูก เพราะบางเรื่องซึมซับอยู่ด้านในกลายเป็นแพสชันโดยไม่รู้ตัว”
ตั้งแต่เล็กจนโต จักรพงษ์ไม่เคยสนใจเรียนสิ่งใดเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อถึงวันที่เขาเอ่ยปากขอไปเรียนทำอาหารที่สถาบันเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต พ่อกับแม่จึงสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้เขาได้เติบโตตามเส้นทางที่สนใจ
กาญจนาเล่าต่อว่า “พอเรียนจบมา เขาอยากทำอาหารฝรั่งเพราะไม่อยากอยู่ใต้เงาแม่ ตอนแรกเราบอกว่า อย่าทำพายเลย มันจะขายได้วันละกี่ชิ้น เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ จนมาถึงวันนี้ ออร์เดอร์พายของเขาขายดี ช่วงเช้าเขาจะมาช่วยอาหารไทยของแม่ ส่วนช่วงบ่ายก็เข้าครัวอาหารฝรั่งของตัวเอง”
เมื่อลูกประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่รัก ความสุขของแม่ยิ่งทับทวี
“แม่ไม่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของเขาเลย ที่เราเคยห่วงใยเขา วันนี้เขาพิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้เอง”
ทุกวันนี้ ลูกชายคนเล็กเริ่มแตกไลน์เป็นแผนกขนมอบ แม้จะยังอยู่ภายใต้ชื่อหวานละมุนของแม่ แต่ทุกอย่างก็คิดและทำโดยลูก มีเมนูซิกเนเจอร์เป็นขนมพายไส้จัดเต็ม ใช้วัตถุดิบชั้นดีจนทุกคนติดใจกลับมาซื้อซ้ำ เขามีคติในการทำอาหารว่า “ช้าๆ ได้ขนมสวยงาม”
“ที่ผ่านมา ผมไม่มีจุดที่คนอื่นภูมิใจในตัวผม นี่เป็นสิ่งที่ผมทำคนเดียว เวลาทำอาหาร ผมให้คุณค่ากับเวลาในการทำงาน กว่าจะได้เป็นพายออกมาขาย ผมใช้เวลา 4 ชั่วโมง เพราะทำแป้งเองตั้งแต่ขั้นแรก หรืออย่างเวลาทำหมูต้มเค็มก็ใช้เวลาต้ม 4 ชั่วโมง ทำน้ำสต๊อกอีก 8 ชั่วโมง
“แม่สอนผมตลอดว่า ทำอาหารต้องทำให้ดี ใช้ของดี และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ” จักรพงษ์เล่าถึงผลงานจากครัวของเขาที่สอดคล้องกับคำสอนของแม่
ผู้เป็นแม่กล่าวเสริมเรื่องการสอนลูกในการทำธุรกิจร้านอาหารให้ประสบความสำเร็จว่า “ไม่ว่าเราจะมีร้านดีแค่ไหน ถ้าคนทำไม่ซื่อสัตย์ ต่อให้ขยันแค่ไหน ร้านก็ไปไม่รอด เราจะสอนเสมอว่า ห้ามเอาของสั่วๆ มาขายให้ลูกค้า ถ้าทำแล้วไม่ดีต้องยอมทิ้ง ห้ามขาย เรื่องพวกนี้เขาได้จากยายและแม่ไปเต็มๆ”
ความฝันของชายหนุ่มที่เขาอยากไปให้ถึงคือการเปิดร้านอาหารสไตล์ของเขาเอง เสิร์ฟอาหารเช้าง่ายๆ มีเบเกอรีให้กิน มีกาแฟให้จิบ ส่วนตัวเจ้าของร้านอย่างเขาขอใช้เวลาทุ่มเทอยู่ในครัวเพื่อสร้างสรรค์เมนูอร่อยให้ลูกค้าทุกคน
สำหรับเขาแล้ว ก้นครัวเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยที่ทำให้เขาใช้เวลาลับคมมีดไว้ปกป้องตัวเองจากสายตาคนภายนอกซึ่งตัดสินความสำเร็จด้วยใบปริญญา
“อาหารสำหรับผมเป็นเหมือนดาบเอาไว้ปกป้องตัวเองจากการพิพากษาของสังคม ถ้าผมทำอาหารไม่เป็น ผมคงไม่มีอะไรดีสักอย่าง ผมจึงต้องลับมีดให้คมเพื่อเป็นอาวุธปกป้องตัวเองให้อยู่รอด”
บทสนทนา 3 รุ่น 3 รส
ที่โต๊ะอาหารร้านหวานละมุน สาขาริมน้ำปิง คุณยายอนงค์กำลังนั่งพูดคุยกับลูกสาวคนโตและหลานชายอย่างอารมณ์ดี บนโต๊ะมีเมนูอาหารของคน 3 รุ่น วางไว้อย่างน่ากิน ทั้งขนมถั่วแปบสูตรคุณยาย ข้าวแช่สูตรลูกสาวคนโต และพายไก่สูตรหลานชาย
จุดเด่นของอาหารคน 3 รุ่น แตกต่างกันไป รุ่นคุณยายเน้นรสชาติ ไม่เน้นจัดจาน รุ่นลูกสาวชอบจัดจานให้สวยงาม มองแล้วเพลินตา รุ่นหลานชายเน้นความอินเตอร์ผสมกับรสชาติแปลกใหม่และเข้มข้นด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศ เมื่อมารวมกันบนโต๊ะแล้วจึงกลายเป็น ‘ห่วงโซ่ความรัก’ ของคน 3 รุ่น ที่ร้อยโยงเข้าด้วยกันผ่านอาหาร 3 รส ที่ล้วนให้ความรู้สึกอบอุ่น น่าลิ้มลอง
คุณยายอนงค์นั่งมองลูกสาวและหลานชายคุยกันด้วยแววตาเปี่ยมสุขปนรอยยิ้มน้อยๆ ในขณะที่ลูกสาวของคุณยายเล่าว่า
“ความรักในการทำอาหารทำให้เรามีเรื่องคุยกัน ทุกวันนี้ม่ำเขาภูมิใจในตัวแม่ และแม่ก็ภูมิใจในตัวเขา จากที่เขาไม่เคยสนใจอะไรเลย เอาแต่สนุกไปกับเพื่อนจนครอบครัวเป็นห่วง แต่มาวันนี้เขาไม่เอาเพื่อนเลย มุ่งอยู่กับสิ่งที่เขาทำ สู้ให้สินค้าประสบความสำเร็จทีละตัว”
ดีเอ็นเอจากก้นครัวของคุณยายยังส่งผ่านมาถึงหลานชายคนโตจนหันมาทำอาหารในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน ส่วนหลานชายคนกลางแม้ไม่ชอบทำอาหาร แต่นำความรู้ด้านการบริหารจัดการมาช่วยให้ธุรกิจของแม่ไปต่อได้ตรงตามทิศทางของการตลาดยุคใหม่มากขึ้น
“เราเหมือนคนว่ายน้ำเก่งแต่ตาบอด แล้วก็หูหนวก ไม่รู้เลยว่าลมพายุมาฝั่งไหน กว่าจะถึงฝั่งมันช้าเหลือเกิน ตอนนี้มีลูกชายคนกลางมาช่วยชี้ทางสว่าง เขาจะคอยทักว่า ‘แม่ครับ เดือนที่ผ่านมาแม่หมดเงินไปกับสินค้าตัวนี้มากเกินไป แม่ควรจะทำอะไรที่ขายดีบ้างเพื่อเพิ่มยอดขาย’ ลูกคนกลางเหมือนมาเป็นดวงตาให้เรามองเห็นว่าปัญหาคืออะไร ทำไมเดินไปแล้วช้าจัง เขาเก่งเรื่องตัวเลข ทำให้เรามองเห็นทางออก
“ส่วนคนโตก็กำลังจะเปิดร้านอาหารฝรั่งแถวสุขุมวิท แม้เขาจะเรียนจบด้านสินค้าหรูหรามาจากเมืองนอก สุดท้ายก็มาหลงรักการทำอาหารโดยที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อนเหมือนกัน”
หากคุณตาพจนาส่งต่อดีเอ็นเอความซื่อสัตย์ คุณยายอนงค์ส่งต่อความรักการทำอาหาร กาญจนาหรือแม่ติ๋มของลูกๆ ก็เป็นคนส่งต่อวิธีการบริหารร้านอาหารด้วยการให้เกียรติพนักงานผ่านการปฏิบัติให้เห็น นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านหวานละมุนจนถึงวันนี้ พนักงานทุกคนจึงไม่ได้เรียกเจ้าของร้านว่า ‘เจ้านาย’ แต่เรียกว่า ‘คุณแม่’
“ลูกเห็นวิธีดูแลพนักงานของเรา เราสอนเขาว่า เราจะได้รับเกียรติก็ต่อเมื่อเราให้เกียรติเขา อย่าสร้างความเกลียดชังให้พนักงาน เพราะถ้าเขาเอาแมลงสาบใส่แก้วน้ำให้ลูกค้าแค่แก้วเดียว ร้านเราก็ตายแล้ว ถ้าเขารักเรา เขาจะช่วยดูแลให้เราหมด การถืออำนาจบาตรใหญ่ไม่ใช่เรื่องดี ถ้าวันหนึ่งลูกเปิดร้านของเขาเอง เขาก็จะซึมซับวิธีการบริหารงานแบบนี้เพราะรู้ว่ามันได้ผล”
ก่อนจบบทสนทนา 3 รุ่น 3 รส ลูกสาวคนโตกล่าวว่าสิ่งที่เธอเสียดายมากที่สุดในชีวิต นั่นคือกว่าจะรู้ว่ามีแพสชันในการทำอาหาร คุณยายอนงค์ก็มีอายุไม่น้อยแล้ว
“วันที่เราสนใจการทำอาหาร แม่ก็แก่มากเกินกว่าที่เราจะไปรบกวน ถ้าเปรียบความรู้ของแม่เต็มร้อย เราได้มาครึ่งเดียว อีกครึ่งยังอยู่ในตัวแม่ที่เรายังไม่ได้เรียนรู้”
คุณยายอนงค์เจ้าของสูตรถั่วแปบในตำนานปิดท้ายบทสนทนาด้วยประโยคที่ฟังแล้วต้องอมยิ้มตามไปด้วยว่า
“ยายพูดได้เต็มปากเลยว่าสูตรของยายได้มาจากตรงหัวใจนี่แหละ (เอามือชี้ตรงหัวใจ) มันประหลาดนะหนู ยายไม่เคยจดสูตรออกมาเลยว่าต้องใช้กี่ช้อนตวง เลยไม่มีสูตรจดเก็บไว้
“ทุกอย่างมันอยู่ในหัวใจหมดเลย”