“ในวัยห้าสิบแปดปี ครูแบกความตั้งใจเต็มร้อยไปขอเรียนเป็นครูสอนโยคะ แต่พอไปถึง ครูเหมือนเด็กอนุบาลที่ไปเรียนกับพี่มหาลัย คนที่มาเรียนเขามีประสบการณ์อย่างน้อยๆ สองปี นอกจากครูจะไม่มีประสบการณ์แล้ว ยังอายุเยอะกว่านักเรียนคนอื่นหลายสิบปี
“ช่วงนั้นทั้งแอบเข้ามุมร้องไห้ ถอดใจซ้ำไปซ้ำมานับครั้งไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักยึดครูไว้คือ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดหรือดับ ตัวเราคือคนกำหนด ครูเลยยังสู้แม้รู้ว่ามันไม่ง่าย ”
มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ ครูเจี๊ยบ – อรเฉิด รังสิกุล เจ้าของสตูดิโอ ‘ฅนรักโยคะ’ วัย 70 ปี ครูสอนโยคะที่มีประสบการณ์สอนมากกว่า 10 ปี และมีลูกศิษย์มากมายเดินทางมาเรียนโยคะด้วยอย่างไม่ขาดสาย
แต่กว่าจะถึงวันนี้ เส้นทางการเป็นครูโยคะของครูเจี๊ยบไม่ได้ราบรื่นแถมเต็มไปด้วยคราบน้ำตา เพราะครูเริ่มต้นจากศูนย์ในวันที่อายุย่างเข้า 58 ปีแล้ว แถมเป้าหมายของครูเจี๊ยบไม่ใช่แค่การฝึกโยคะธรรมดา แต่ครูตั้งใจที่จะยึดอาชีพนี้ เป็นอาชีพสุดท้ายของชีวิตที่สามารถเลี้ยงตนเองได้
และนี่คือเรื่องราวความรักและศรัทธาต่อการสอน เพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลอมรวมกับความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมของครูเจี๊ยบแห่งสูตดิโอ ‘ฅนรักโยคะ’
ถ้าเริ่มช้ากว่านี้… อาจจะสายไปแล้ว
ครูเจี๊ยบเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น “ ช่วงอายุห้าสิบแปดปี ตอนนั้นงานคือส่วนหนึ่งของชีวิต ครูเป็น ‘กราวด์โฮสเตส’ ของการบินไทยมานานกว่าสามสิบปี รับหน้าที่ดูแลผู้โดยสาร บริการลูกค้าทุกรูปแบบ ยืนอยู่บนรองเท้าส้นสูงสองสามนิ้ว ตั้งแต่บ่ายสามถึงตีสอง ถ้างานไม่เสร็จก็อยู่ถึงเช้า เรียกว่าเป็นงานที่ค่อนข้างทำลายสุขภาพเลย
“ช่วงนั้นร่างกายครูเริ่มส่งสัญญาณเตือนให้รู้ เริ่มมีอาการปวดหลัง อ่อนล้าไปทั้งตัวอยู่บ่อยๆ เวลาที่ก้มลงไปหยิบจับของ ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาแบบปกติ ต้องหาเกาะอะไรขึ้นมา ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในงานที่ต้องบริการคน”
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ครูเจี๊ยบเริ่มย้อนกลับมาส่องกระจกมองตัวเอง และตั้งคำถามกับชีวิตว่า ถ้าแก่ตัวลงจะยังไหวไหม เดินเหินไม่ได้จะทำอย่างไร ถึงวันนั้นใครจะดูแล เธอจึงเริ่มใช้เวลาช่วงวันหยุดไปกับการออกกำลังกาย และนั่นทำให้ครูเจี๊ยบพบรักกับการออกกำลังกายแบบโยคะ
“ช่วงนั้นการบินไทยมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด เพื่อนๆ ครูหลายคนวุ่นกับการตัดสินใจว่า จะออกดีไหม ออกไปแล้วจะทำอะไร ครูเองก็ไม่ต่างกัน คิดวนตลอดว่าตัวเองอายุเยอะแล้ว แถมทำงานสายการบินมานาน ทักษะรอบตัวต่างๆ ก็เริ่มลดลง แล้วเราจะไปทำอะไร
“ไปสะดุดกับโยคะที่ครูกำลังหลงใหลในช่วงนั้นพอดี จึงตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลย ฉันจะลาออกจากงานประจำที่ทำมาสามสิบปี”
ครูเจี๊ยบบอกเพื่อนวัยเดียวกันว่า ‘ฉันจะออกไปเป็นครูสอนโยคะ’
“ฟังไม่ผิดไม่ใช่แค่ฝึกโยคะ แต่จะไปเป็นครูโยคะ ฉันจะหาเลี้ยงตัวเองจากอาชีพนี้ และฉันจะไม่รออะไรแล้วเพราะถ้าเริ่มช้ากว่านี้ รอจนอายุหกสิบปี อาจจะสายไป ”
เรียนโยคะ ใช้แต่ใจจะพอไหม ?
“ตัดสินใจได้แล้ว ความท้าทายแรกก็เริ่มเลย ครูพูดว่าจะเป็นครูสอนโยคะ แต่ยังไม่ได้เริ่มต้นจริงจังกับมันเลย ความรู้ทักษะต่างๆ เรียกว่าเป็นศูนย์ เพราะช่วงที่ทำงานก็เล่นโยคะแบบงูๆ ปลาๆ อ่านเอาจากหนังสือ ไม่รู้เลยว่าจะทำเงินกับมันอย่างไร ไม่รู้ว่าใครที่ไหนจะมาเรียนกับเรา”
ครูเจี๊ยบเล่ากลั้วหัวเราะว่าตอนนั้นมีแต่ใจล้วนๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่พอ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเงินก่อนเกษียณต้องพร้อมด้วย
“ครูไม่รอช้า เงินทุนที่มีครูเอามาลงทุนกับตัวเอง ไปสมัครเรียนคอร์สครูสอนโยคะ ที่โรงเรียนบางกอกโยคะ บอกเขาว่าจะมาสมัครเป็นครูสอนโยคะ เขาถามครูกลับว่าครูอายุเท่าไร ครูตอบว่าห้าสิบแปดปี เขาเลยอธิบายว่า ครูจะเป็นนักเรียนที่อายุมากที่สุดในคอร์ส และคนที่มาเรียนทุกคนมีประสบการณ์อย่างน้อยสองปี เขามาเรียนเพื่อเอาใบประกอบ
“ทุกคนที่นี่มีทักษะซึ่งพร้อมจะไปสอนคนอื่นได้แล้ว ซึ่งครูจะไหวไหม แต่ครูก็แสดงเจตนาชัดเจนอย่างมั่นใจ ว่าครูจะเรียน และโชคดีที่เขารับเราเป็นนักเรียนคนสุดท้ายของรุ่นนั้น”
ที่โหล่ของชั้นเรียน สอบตกถึง 7 รุ่น
ครูเจี๊ยบอธิบายว่าวันแรกที่เข้าเรียน เธอเหมือนช็อกกลางอากาศไปเลย เพราะแค่มองด้วยตาเปล่าก็รู้ว่า ทุกคนในห้องแข็งแรงและแน่นไปด้วยวิชาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
“ในขณะที่เราหน่อมแน้มมาก นั่งเรียงกันสิบสองคน ครูคือคนเดียวที่ไม่มีความมั่นใจเลย เหมือนเอาเด็กอนุบาลไปเรียนกับพี่มหาลัยที่กำลังจบ บรรยากาศวันนั้นครูทำอะไรก็ไม่เป็นเลย แขนขายกไม่ถูก หายใจผิดๆ ถูกๆ มันเครียดสุดๆ โยคะที่เรารู้จักในหนังสือมันคนละเรื่องกับตอนมาเรียนจริงทุกอย่าง
“เรียนๆ ไปก็วิ่งไปแอบร้องไห้ นับครั้งไม่ถ้วน เพราะมันยากมาก เราไม่เห็นว่าเวลาแค่สองร้อยชั่วโมง เราเก่งขึ้นได้ยังไง เรียนสองอาทิตย์แรกทั้งป่วย ปวดหัว ตัวร้อน จนเรียนครบชั่วโมงที่กำหนด ทุกคนที่เรียนพร้อมกันผ่านหมด แต่เราสอบตก”
ครูเจี๊ยบจึงต้องกลับมาทบทวนเป้าหมายของตัวเองอีกครั้ง ว่าการตัดสินใจครั้งถูกต้องหรือเปล่า ในความสับสนครูเจี๊ยบยังใจสู้ เธอจึงลงเรียนอีกกับรุ่นใหม่ ปรากฏว่ารอบนี้ก็สอบตกอีกเป็น 400 ชั่วโมง หากเป็นคนอื่น น่าจะถอดใจไปแล้ว แต่ครูเจี๊ยบบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เธอลองอีกครั้งเป็น 600 ชั่วโมง จนแม้จะฝึกในคอร์สครูสอนโยคะถึง 800 ชั่วโมงแล้วก็ตาม เธอก็ยังไม่ผ่าน จนกลายเป็นนักเรียนโข่งสอบตกค้างชั้นนานที่สุดที่เคยมีมา
“ถึงจุดหนึ่ง ครูเริ่มถอดใจ แต่ครูที่สอนก็เดินมาบอกว่า ครูเจี๊ยบเริ่มดีขึ้นแล้วนะ แต่ร่างกายอาจยังไม่พร้อมที่จะสอบไฟนอล ไม่อยากให้ครูเจี๊ยบท้อ เรื่องพวกนี้มันฝึกฝนกันได้ ถ้าครูเจี๊ยบหยุดตอนนี้จะไม่เสียดายเหรอ ถ้าเป้าหมายที่ครูฝันไว้มันอาจจะมาถึงในไม่ช้านี้แล้วก็ได้ และใช่มาถึงขนาดนี้แล้วสำหรับครูทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดหรือดับ ตัวครูคือคนกำหนด ครูเลยเรียนต่อไปแบบไม่สนแล้วว่ากี่ร้อยชั่วโมง
“ครูท้าทายตัวเองเพิ่มด้วยการแบ่งพื้นที่ว่างของบ้านมาสร้างเป็นสตูดิโอสอนโยคะ ใช้ชื่อว่า ‘ฅนรักโยคะ’ เพราะเชื่อว่าตัวเองจะทำสำเร็จ แล้วความพยายามก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ผ่านไปปีกว่า ในที่สุดหลังจากสิบสี่เดือนแห่งการฝึกอย่างหนัก ครูก็สอบผ่านการเป็นครูสอนโยคะ และได้ใบรับรองมายืนยันว่าครูทำสำเร็จ สามารถเปิดสอนโยคะได้ตามที่ฝัน”
บ่อเกิดของมิตรภาพ ‘ฅนรักโยคะ’
“ตนรักโยคะ คือสตูดิโอเล็กๆ ริมทะเลสาบในบริเวณบ้านครูที่รองรับผู้เรียนได้แปดคน ที่นี่คือที่ทำงานใหม่ที่ครูภูมิใจที่สุด วันที่ครูติดป้ายไวนิลประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้เรียนในหมู่บ้านเป็นวันที่ตื่นเต้นมาก แม้จะยังไม่มีใครมาเรียนแต่มันคือก้าวแรกที่ครูชนะตัวเองได้ บทเรียนที่ผ่านมาทำให้ครูรู้แล้วว่า ต่อไปไม่ว่าบททดสอบจะยากแค่ไหน มีหรือครูจะผ่านมันไปไม่ได้”
จากวันนั้น ผ่านมา 10 ปี สตูดิโอแห่งนี้เต็มไปด้วยเพื่อนบ้าน เพื่อนจากแดนไกล ญาติของเพื่อน ลูกหลานของคนที่มาเรียน ลูกศิษย์คนใหม่ๆ แวะเวียนผลัดเปลี่ยนเข้ามาไม่ขาดสาย นี่คือฝันที่เป็นจริงที่ครูเจี๊ยบวาดไว้ ว่าจะเป็นอาชีพหลังเกษียณ เป็นรายได้หลักที่จะมาเลี้ยงชีวิตครูได้
“สิบปีที่ผ่านมา โยคะเป็นมากกว่าที่ครูคาดหวัง เพราะที่ตรงนี้เป็นบ่อเกิดของมิตรภาพ จากเพื่อนบ้านกลายเป็นเพื่อนสนิท จากนักเรียนกลายเป็นครอบครัว เราได้แลกเปลี่ยนช่วงเวลาที่ทั้งดีและทุกข์ไปด้วยกัน บางคนมาพร้อมกับโรคซึมเศร้า สุขภาพรุมเร้าไปด้วยโรคภัย แต่การสอนโยคะของเรา เปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์ให้ดีขึ้นได้อย่างที่ครูเองก็ไม่อยากจะเชื่อ แต่มันเกิดขึ้นจริงที่ฅนรักโยคะ”
ความพยายามที่มีคุณค่า
“ตอนนี้ครูอายุเจ็ดสิบปีแล้ว โยคะหล่อหลอมให้ครูกลายเป็นคนใหม่ ไม่มีโรค ไม่ต้องไปหาหมอ งานที่ครูทำตรงนี้มันส่งผลดีกับครูทุกมิติของชีวิตไม่ว่าจะมองจากทางไหน ใครๆ ก็บอกว่าครูผิวพรรณดี หน้าตาอ่อนกว่าวัย (กระซิบว่าไม่ได้ชมตัวเองนะ) รายได้ที่เข้ามานอกจากเติมเต็มชีวิตครูแล้ว มันยังเป็นรายได้ที่ภาคภูมิใจ ว่าความพยายามที่ครูทุ่มเทลงไป มันตอบแทนในแบบที่มันควรจะเป็นจริงๆ”
ครูเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้ายว่า ชีวิตในวัย 70 ปี จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ตื่นมาเตรียมตัวสอน การได้รอเวลาที่จะมีลูกศิษย์เปิดประตูบ้านเข้ามาเรียน ที่ครูแอบดูด้วยความรู้สึกที่ตื่นเต้นทุกครั้ง
“เพราะเมื่อไรที่พวกเขาเข้ามาไม่ใช่แค่เราที่จะมอบวิชาให้กับเขา แต่เขาจะนำพลังงานที่ดีมาให้ครูด้วย ครูเห็นทั้งคนที่เก่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นคนที่พยายามมากๆ แต่ก็ยังต้องฝึกอีกเยอะเหมือนครูเมื่อสิบปีก่อน ครูได้แลกเปลี่ยนกับลูกศิษย์ที่เป็นเด็กรุ่นใหม่หลายคน ที่สตูดิโอนี้เรามีความสุขร่วมกัน ใจและกายเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน เป็นชีวิตที่ครูยังอิจฉาตัวเองเลย”