เวลาเข้าสตาร์บัคส์ที่เมืองไทย เราอาจจะคุ้นกับภาพบาริสตารุ่นใหม่ที่ทั้งรับออร์เดอร์ ชงกาแฟ และขานเรียกชื่อลูกค้าเวลาเครื่องดื่มแต่ละรายการเรียบร้อย
แต่ถ้าเป็นที่เม็กซิโก หากเดินเข้าไปในสตาร์บัคส์บางสาขา ลูกค้าจะได้เจอกับการบริการจากพนักงานวัยพ่อแม่ เพราะไม่มีใครในร้านอายุต่ำกว่า 50 ปี ทั้งแคชเชียร์ บาริสตา ไปจนถึงผู้จัดการร้าน
ร้านกาแฟสาขาพิเศษที่มีแต่พนักงานรุ่นเก๋านี้เป็นโปรเจกต์ที่สตาร์บัคส์จับมือกับ National Institute for Older Persons หน่วยงานของรัฐในประเทศเม็กซิโกที่เจาะจงการดูแลสวัสดิภาพผู้สูงวัย โดยทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันวางแผนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างอาชีพในผู้สูงอายุ เนื่องจากตัวเลขทางสถิติของเม็กซิโกบ่งชี้ว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด จะเพิ่มขึ้นเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 3 ทศวรรษข้างหน้า
สตาร์บัคส์ในเม็กซิโกที่เป็นเหมือนโครงการนำร่องในการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงวัยนี้เปิดแล้ว 2 สาขา โดยสาขาแรกเปิดเมื่อปี 2561 ก่อนจะตามมาด้วยสาขาที่ 2 ในปีถัดมา และยังมีวางเป้าหมายที่จะเปิดสาขาเอกซ์คลูซิฟแบบนี้เพิ่มอีกในอนาคต
ดุลเซ่ เซอร์ราโน (Dulce Serrano) หนึ่งในพนักงานของสตาร์บัคส์สาขารวมพลคนวัยเก๋าบอกว่า เธอเกษียณมาแล้ว 2 ปี ก่อนจะมาทำงานที่นี่ ซึ่งช่วงที่หยุดงานไปก็รู้ตัวว่าการทำงานทำให้ชีวิตมีความหมายและรู้ตัวว่ายังพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งยังเชื่ออีกว่าความกระตือรือร้นในการเรียนรู้โดยไม่ขึ้นอยู่กับวัยของตัวเองจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกสาวของเธอได้
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เฉพาะเซอร์ราโนหรือผู้สูงวัยในเม็กซิโกเท่านั้นที่คิดแบบนั้น เพราะปัจจุบันมีผู้สูงวัยทั่วโลกจำนวนไม่น้อยที่แม้จะเกษียณแล้วแต่ก็ยังร่อนใบสมัครงาน ส่วนอีกหลายคนที่ได้งานแล้วก็ยังทำงานด้วยความสุขและเห็นคุณค่าของตัวเอง
เวลาเปลี่ยน โลกเปลี่ยน วัย (ทำงาน) เปลี่ยน
การเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุในตลาดงานนั้นไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องของเทรนด์ที่เห็นชัดขึ้นในยุคนี้ เพราะจากการเก็บข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ที่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มแรงงานสูงวัย (50-64 ปี ) เทียบกับกลุ่มวัยทำงาน (25-50 ปี ) มาตั้งแต่ปี 2513 แล้วนำมาเทียบกับข้อมูลของปี 2551 พบว่า จากทั้งหมด 30 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่แรงงานสูงวัยที่ยังอยู่ในตลาดงานมีเปอร์เซ็นต์น้อยลง ในขณะที่ประเทศที่เหลือทั้งหมดมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอเมริกาและญี่ปุ่นที่มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในวัยนี้ยังทำงานอยู่
มาถึงยุคนี้ ถ้าวัดจากประเทศใหญ่อย่างอเมริกา แรงงานรุ่นใหญ่ไม่ใช่กลุ่มที่ถูกมองข้าม เพราะจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแรงงานที่นั่นเมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 5 ของคนอเมริกันที่ทำงานอยู่คือคนที่อายุมากกว่า 65 ปี และ 1 ใน 4 เป็นคนที่อายุมากกว่า 55 ปี ซึ่งส่งผลให้สถานที่ทำงานทั้งหลายที่มีแรงงานกลุ่มนี้อยู่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานตามไปด้วยโดยปริยาย
ฝั่งอังกฤษเองแนวโน้มก็ไม่ต่างกันเท่าใดนัก เพราะจากการสำรวจในไตรมาสแรกของปีเดียวกัน ตัวเลขที่ได้ชี้ว่า 1 ใน 3 ของแรงงานเป็นคนที่มีอายุ 50 ขึ้นไป และกลุ่มที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ก็เพิ่มจากประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในปี 2543 มาเป็นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563
ส่วนในเอเชีย การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นทั้งเทรนด์และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ช่วยเอื้อให้กับคนทำงานสูงวัยมาก อย่างในญี่ปุ่นที่มีการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานสูงอายุซึ่งเพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยขยับวัยเกษียณขึ้นไปให้อยู่ที่ 65 ปีแทน และในกฎหมายที่ปรับใหม่นี้ยังเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถขยายอายุเกษียณของพนักงานไปได้จนถึง 70 ปีด้วยในกรณีที่ต้องการ
โดยก่อนที่จะมีการแก้กฎหมายใหม่นี้ คณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้ออกแบบสำรวจความคิดเห็นของคนที่อายุ 60 ขึ้นไปเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่ของประชากรกลุ่มที่ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขาอยากทำงานต่อแม้จะอายุ 65 ปีไปแล้วก็ตาม
และในแบบสอบถามเดียวกันนี้ เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าตั้งใจจะทำไปจนถึงอายุเท่าไหร่ ยังมีคนที่ตอบว่า “ ตลอดไป ” รวมอยู่ด้วย
ไม่ใช่แค่ความจำเป็น แต่เป็นความสมัคร ‘ใจ’
เมื่อพูดถึงการทำงานในวัยเกษียณ สิ่งหนึ่งที่เป็นความรู้สึกร่วมที่ผู้สูงวัยในหลายประเทศคิดตรงกันก็คือ การทำงานช่วยมอบคุณค่าและความหมายในการมีชีวิตอยู่ให้กับพวกเขา
แม้ว่าเรื่องของรายได้จะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้สูงวัยหลายคนยังต้องทำงานอยู่ การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศก็เป็นอีกเหตุผลเช่นกัน แต่ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยเลือกทำเพราะยังสนุกกับการทำงาน และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่ตามหาความหมายในงานของตัวเอง
ลอร่า เอล (Laura Ehle) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนที่วัย 64 ปี ซึ่งมีงานประจำอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ในอเมริกา บริษัทของเธอรับทำแผนที่ให้กับหน่วยงานของรัฐเป็นส่วนใหญ่ งานถนัดของเธอคือการทำแผนที่การบิน การเดินเรือ และทางด่วนต่างๆ
เอลให้สัมภาษณ์กับคลื่นวิทยุ WAMU 88.5 ว่า เหตุผลหลักที่เธอยังต้องทำงานเป็นเรื่องของการเงิน เธอยังไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต แต่สิ่งที่ดีที่สุดในการทำงานก็คือ ถึงจะเป็นการทำงานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักถือเป็นความโชคดีของเธอและเป็นสิ่งที่ทำให้เธอยังนึกไม่ออกว่าวันที่เธออยากจะหยุดทำงานจะเดินทางมาถึงตอนไหน
“เราคงจะทำงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ถ้าถึงวันหนึ่งแล้วมีเรื่องอื่น งานอื่นที่เราสนใจ เราอาจจะลองทำดูก็ได้นะ” นักทำแผนที่วัย 64 กล่าว
หรืออย่าง วาซาโกะ วากามิยะ (Wasako Wakamiya) คุณยายชาวญี่ปุ่นวัย 84 ปี อดีตพนักงานธนาคารที่เพิ่งเคยใช้คอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกตอนก่อนเกษียณได้ไม่นาน เมื่อไม่กี่ปีก่อนตอนที่อายุได้ 81 ปี คุณยายวากามิยะขึ้นแท่นเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่อายุมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง
คุณยายเดบิวต์ด้วยการเปิดตัวเกมชื่อ Hinadan เกมที่ได้แรงบันดาลใจจากเทศกาลตุ๊กตาญี่ปุ่น (Hinamatsuri) ผู้เล่นเกมนี้จะต้องจัดเรียงตุ๊กตาบนชั้นให้ถูกต้อง Hinadan กลายเป็นเกมที่ถูกใจผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เป็นผู้หญิงซึ่งคุ้นเคยและผูกพันกับเทศกาลนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก
คุณยายใช้เวลาเรียนเขียนโค้ด 5 เดือน โดยเริ่มจากศึกษาเองก่อนแล้วค่อยจ้างครูมาสอน ความตั้งใจนี้มาจากการที่เธอเคยออกปากกับหลายๆ คนว่าให้ช่วยทำเกมสำหรับผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จึงตัดสินใจลองทำด้วยตัวเอง เพราะอยากได้แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยสนใจการใช้สมาร์ตโฟนมากขึ้น
ถึงจะปล่อยแอปพลิเคชันออกมาแล้ว แต่งานของคุณยายก็ยังไม่จบ เพราะยังต้องต่อยอดพัฒนาเกมให้รองรับภาษาต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียว
สำหรับคุณยายวากามิยะ การเป็นนักพัฒนาแอปฯ ไม่ใช่แค่เรื่องของรายได้เท่านั้น แต่เป็นเหมือนสนามปล่อยของ ปล่อยพลังทางความคิด เพราะคุณยายให้สัมภาษณ์กับ CNN ไว้ว่า ยังมีไอเดียอีกมากมายและอยากจะทำแอปพลิเคชันใหม่ๆ อีก แต่ขอเวลาพัฒนาทักษะด้านโปรแกรมมิงของตัวเองให้เก่งกว่านี้ก่อน
ถ้าวัดจากคำพูดที่มุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองของคุณยายแล้ว Hinadan จึงไม่น่าจะเป็นแอปพลิเคชันเดียวที่เราจะได้เห็นจากแอปเดเวลลอปเปอร์รุ่นใหญ่รายนี้
แรงดึงดูดระหว่างรุ่น
หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Intern คงจำได้ถึงเรื่องราวของมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างเด็กฝึกงานวัย 70 ปี และซีอีโอที่อายุน้อยกว่าหลายรอบ
ในโลกความเป็นจริงเอง การเรียนรู้ระหว่างรุ่นก็เกิดขึ้นในที่ทำงานที่มีคนต่างเจเนอเรชันกัน ในเว็บไซต์ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ระบุถึง 10 ข้อดีของการทำงานกับพนักงานสูงวัยไว้ และหนึ่งในนั้นก็คือการสร้างทีมที่มีคนหลายรุ่นรวมอยู่ด้วยกันจะทำให้เกิดทีมที่ดีที่สุด โดยยกตัวอย่างบริษัทบางแห่งในรัฐนิวยอร์ก อย่างเช่น B & D Heating ที่เจ้าของบอกว่า พนักงานคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเขามีอายุ 79 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรงและทำงานได้ดี และสามารถจับคู่ทำงานกับคนรุ่นลูกได้อย่างลงตัว
หรือบริษัทอย่าง Renewal Care Partners ที่ให้บริการด้านสุขภาพผู้สูงวัย พนักงานที่ทำงานคู่กันจะเป็นพนักงานรุ่นใหญ่กับพนักงานรุ่นใหม่ เพราะทางบริษัทตั้งใจให้พนักงานต่างเจเนอเรชันได้เรียนรู้ข้อแตกต่างระหว่างกัน และการเรียนรู้นั้นจะช่วยเสริมให้ผลงานออกมาดีขึ้นได้ในที่สุด
นอกจากนี้พนักงานรุ่นใหญ่ยังเป็นกำลังสำคัญในการสอนงาน เพราะแม้จะเป็นงานง่ายๆ แต่ประสบการณ์ก็ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้งานโดยรวมเป็นไปอย่างราบรื่นได้ ด้วยเหตุนี้ Havana Central ร้านอาหารคิวบาย่านไทม์สแควร์จึงมีพนักงานคนสำคัญเป็นพนักงานล้างจานวัย 59 ปี พนักงานคนนี้ได้เงินไม่น้อยกว่าตำแหน่งอื่นๆ ในร้านเพราะเป็นคนช่วยวางมาตรฐานการทำงานในครัวและสอนงานพนักงานล้างจานใหม่ๆ ที่เข้ามา ความคาดหวังที่เจ้าของร้านมีต่อพนักงานรุ่นเด็กก็คือ ทุกคนควรทำงานให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับพนักงานที่แก่ที่สุดในครัวคนนี้ให้ได้
ประเทศไทยเองที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 12 ล้านคน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัวในไม่ช้า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับแรงงานสูงวัยที่กำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้น โดยเฉพาะการออกนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุของบริษัทบางแห่ง และการจัดคอร์สฝึกอบรมเพื่อให้ผู้สูงวัยได้พัฒนาทักษะทั้งแบบอัปสกิลและรีสกิล โดยเฉพาะจากหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของไทยในปี 2562 พบว่า เหตุผลที่ 1 ใน 3 ของผู้สูงวัยยังทำงานอยู่เป็นเพราะเห็นว่าสุขภาพของตัวเองยังแข็งแรง ยังมีเรี่ยวแรงในการทำงาน โดยคนที่ทำงานด้วยเหตุผลนี้คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าผู้สูงวัยที่ให้เหตุผลว่ายังทำงานเพราะต้องหาเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัว ซึ่งมีทั้งหมด 43 เปอร์เซ็นต์
นั่นหมายความว่าผู้สูงอายุที่เลือกทำงานด้วยใจเพราะยังมองเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นไม่ได้น้อยกว่าการทำด้วยความจำเป็นในชีวิต และในส่วนที่ทำเพราะความจำเป็นในชีวิตนั้น เราก็เชื่อว่าแม้จะมีเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่หลายคนก็มีการทำด้วยใจแฝงไว้ในนั้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง
www.ageing-better.org.uk
arc.aarpinternational.org
www.bot.or.th
www.cdc.gov
www.digitalhrtech.com
www.dop.go.th
money.cnn.com
www.oecd-ilibrary.org
www.publichealth.columbia.edu
raisingsmartgirls.com
www.simplemost.com
stories.starbucks.com
www.straitstimes.com
wamu.org
www.washingtonpost.com