หรือกินเจจะจบที่รุ่นเรา? คุยเรื่องการกินตลอดชีวิตที่สำคัญกว่ากับ ‘อาม่าซูเปอร์แอคทีฟ’

เมื่อก่อนใครผ่านไปแถวเยาวราชช่วง ‘เทศกาลถือศีลกินผัก’ รับรองว่าต้องผจญกับคลื่นฝูงชนมากมายที่หลั่งไหลกันมาร่วมเทศกาลอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นเหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่มาจับจ่ายวัตถุดิบ จนถึงผู้คนที่มาเสาะหาอาหารและขนมเจรสชาติอร่อยถูกปากแบบเช้าจรดค่ำ

จากเยาวราช เดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยจนถึงตลาดน้อยและศาลเจ้าโจวซือกง อีกหนึ่งพื้นที่แลนด์มาร์กที่สายกินเจจะต้องแวะมา เพราะเป็นชุมชนจีนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แถมยังมีร้านขนมตุ๊บตั๊บและหมี่หวานในตำนานที่เปิดให้บริการให้ได้ลิ้มลองกันแค่ปีละครั้งเท่านั้น

สุธารัตน์ กิจติเวชกุล เจ้าของฉายา ‘อาม่าซูเปอร์แอคทีฟ’ ที่มนุษย์ต่างวัยเคยตามติดชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยกิจกรรมและพลังบวกในวัย 73 ปี คือหนึ่งในคนเก่าแก่แห่งตลาดน้อยที่ร่วมเทศกาลกินเจอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่จำความได้

“เพราะบ้านอยู่ใกล้โรงเจ อาม่าเลยเห็นบรรยากาศคนมาไหว้เจ้าตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนต่างจังหวัดไม่มีโรงเจมากอย่างสมัยนี้ คนต่างจังหวัดเลยจะมาถือศีลกินเจที่นี่ นอนในเพิงที่โรงเจจัดเตรียมไว้ อยู่ง่ายๆ อย่างถือศีลจริงๆ แบบเวลาเราไปทอดผ้าป่าตามวัด

“ช่วงเทศกาลคนคึกคักมาก เป็นช่วงเวลาของปีที่คนในชุมชนเราจะรู้สึกมีชีวิตชีวา ของอร่อยๆ เจ้าเก่าแก่เยอะ ลูกค้าประจำก็จะมากันทุกปี อาม่าเข้าใจนะว่าสภาพสังคมมันเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ทำให้ทุกวันนี้เราไม่เคยเห็นบรรยากาศเก่าๆ แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว”

จริงอย่างที่อาม่าเล่า หลายปีที่ผ่านมา ย่านเยาวราช – ตลาดน้อยที่แสนจอแจและพลุกพล่าน ช่วงเทศกาลกินเจ กลับเงียบเหงาลงเรื่อยๆ และยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อโควิด -19 แพร่ระบาด เกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลอดเทศกาลกินเจปีนี้ ผู้คนที่แวะมาจับจ่ายบางตา

สังคมเปลี่ยนโฉมหน้า วิถีชีวิตผู้คนก็เปลี่ยนตาม ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่กินเจน้อยลง ชวนให้ตั้งคำถามว่า หรือการกินเจจะจบที่รุ่นเรา ?

เทศกาลเจในความทรงจำ

อาม่าเล่าย้อนให้ฟังสมัยยังเด็ก “เกิดที่นี่ ในตลาดน้อย ตั้งแต่จำความได้ก็มีบรรยากาศการกินเจที่วนเวียนซ้ำอยู่ทุกปีจนอาม่าไม่รู้ว่ามันมายังไงหรือไปยังไง ตั้งแต่จำความได้ก็กินตามบรรพบุรุษมา สมัยเด็กๆ ย่าของอาม่าเป็นคนที่เคร่งครัดเรื่องการกินเจมาก ทำให้ทุกคนในบ้านต้องกินเจไปด้วย เคร่งขนาดมีถ้วยชามชุดหนึ่งเอาออกมาใช้แค่ของช่วงกินเจเท่านั้น เราจะไม่เอามาปนเปื้อน หรืออาหารนอกบ้าน ถ้าจะซื้อมาก็ต้องเป็นแถวโรงเจเท่านั้น คุณย่าจึงจะไว้ใจว่าเป็นเจแท้ๆ”

แม้จะเคร่งครัดถึงขั้นสั่งห้ามไม่ให้เอาของกินที่ไม่เจเข้าบ้าน แต่ย่าก็เปิดกว้าง ลูกคนไหนอยากกินอาหารปกติช่วงเทศกาลถือศีลกินเจก็ทำได้ ขอแค่ต้องออกไปกินข้างนอก

“ย่าให้เหตุผลว่า บ้านเราอยู่ใกล้โรงเจจึงต้องเคร่งครัดและปฏิบัติตามกันมาอย่างนี้ อาม่าเลยซึมซับการกินเจเข้าไปในสายเลือด สมัยก่อนช่วงเทศกาลกินเจ ถ้าพรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่ ไม่ต้องนอนเลย คนจะทยอยมาไหว้เจ้ากันตั้งแต่ตีหนึ่ง อาม่าช่วยแม่ขายของตั้งแต่เด็ก จนโตมาก็มาขายต่อ อาม่าเคยขายก๋วยเตี๋ยวหลอด โอ้โฮ ขายดิบขายดี ญาติๆ ห้าหกครอบครัวต้องมาช่วยกันทั้งตระกูล คนได้หน้าที่ต้มเส้นก็ต้มไป คนหน้าร้านก็ตักไป คนล้างจานก็ล้างไปทั้งวัน ล้างจนโมโห คิดดูสิ ขายดีขนาดที่ปีต่อมาต้องเลิกขายกันเลย เพราะเหนื่อยมาก” อาม่าเล่ากลั้วหัวเราะเมื่อนึกถึงความหลัง

“เมื่อก่อนคนที่มาไหว้เจ้า เขาจะซื้อของแถวโรงเจกลับไป เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ตอนนี้ที่ไหนๆ ก็มีขาย หรืออย่างอาม่าขายอาหารเจ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ส่ง Grab มารับ เป็นไปตามยุคสมัย เราขายนิดๆ หน่อยๆ เพื่อว่าจะได้ทักทายคนรู้จัก รายงานตัวว่าฉันยังอยู่ ยังไม่ตาย ปีหน้าเจอกันใหม่นะ ถือเป็นความสุขของคนรุ่นอาม่า”

ความเคร่งครัดที่ไม่เท่ากัน

อาม่าร่วมเทศกาลกินเจมาทั้งชีวิต เป็นเวลากว่า 70 ปี ไม่เคยมีปีไหนที่เว้นจากการถือศีลกินผักช่วงเดือน 9 เลย

“กินเจด้วยเรื่องเผ่าพันธุ์ประเพณีเป็นหลัก เคยมีบางปีไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศช่วงกินเจ แต่อาม่าก็ยังปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยู่ดีๆ จะไม่กินไม่ได้เด็ดขาด เรารู้สึกผิด เราฝืนไม่ได้ มันเข้าไปในสายเลือดแล้วตั้งแต่บรรพบุรุษ”

อาม่าอธิบายให้ฟังว่า การกินเจมีหลายรูปแบบ บางคนที่เคร่งครัดมากๆ ก็จะกินทั้งปี บางคนก็อาจจะกินแค่วันพระจีน เดือนละ 2 ครั้ง และก็มีบางคนที่เลือกกินเจเฉพาะมื้อเช้า ยาวนานไปตลอดชีวิต อาม่าจึงมองว่าจริงๆ แล้วมันคือตามสะดวกของแต่ละบุคคลมากกว่า กินตามกำลังทรัพย์และเวลาที่จะหาซื้อ หาทำได้โดยไม่เดือดร้อน

“ความเคร่งครัดอย่างสมัยอาม่าเด็กๆ ไม่มีแล้ว คนรุ่น เก่า สูญหายไป คนรุ่นใหม่ก็มาแทน สังคมเปลี่ยน วิถีชีวิตคนก็เปลี่ยน คนรุ่นใหม่เน้นความสะดวก เรียบง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก อย่างอาม่ามีลูกสามคน รุ่นลูกอาม่ายังกินเจอยู่นะ แต่รุ่นหลานเนี่ยเขาก็ไม่กินกันแล้ว

“ซึ่งอาม่าก็เข้าใจ สบายๆ ไม่บังคับ เหมือนที่ย่าของอาม่าก็ไม่บังคับ เราอยู่ตรงนี้ เรายังกินเจช่วงเทศกาลอย่างเคร่งครัด แต่ลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ข้างนอก ด้วยการทำงานและชีวิตประจำวันที่ยุ่ง ก็ต้องเอาตามที่เขาสะดวก เพราะสิ่งที่อาม่าให้ความสำคัญที่สุดไม่ใช่เทศกาลเจ แต่เป็นวิถีการกินตลอดทั้งชีวิตมากกว่า ไม่ต้องเคร่งครัดกับการกินเจหรอก ขอแค่เราเน้นสุขภาพทุกวัน เพื่อผลดีต่อชีวิตระยะยาวของเราเอง”

มากกว่าเทศกาล คือมื้ออาหารทั้งชีวิต

“อาหารเจ ไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพเสมอไป” อาม่าเล่าพร้อมตักข้าวอบแปะก๊วยหอมฉุยให้ชิม

“ต้องเลือกนะ ไม่ใช่ว่ากินเจมีแต่แป้ง มีแต่ของทอดทุกวัน แบบนี้ไม่เรียกดีต่อสุขภาพนะ อาม่าเลยไม่ได้มองว่าต้องกินเจถึงจะสุขภาพดี แต่มองว่ามื้ออาหารในทุกวันต้องดี เราไม่จำเป็นต้องกินเจหรือไม่กินเจ กินให้มันพอดีกับชีวิตตัวเอง อาหารการกิน ไม่มีใครมาใส่ปากเราได้นะ เราเต็มใจหยิบมากินเองทั้งนั้น สุขภาพขึ้นอยู่กับอาหารเหล่านี้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ช่วงกินเจ”

อาม่าชี้ให้ดูอาหารเจหลากเมนูที่ทำขาย “อาหารที่ขาย อาม่าก็ตักมากินเอง เก็บไว้ให้ครอบครัว คนที่สั่งก็คนรู้จักทั้งนั้น ใช้ของมีคุณภาพ เน้นสุขภาพ คนถามตลอดว่าทำไมอาหารของอาม่าต้มแล้วไม่มีน้ำมันเยิ้มออกมาแบบเจ้าอื่น ก็เพราะอาม่าทำแบบที่กินในบ้าน ด้วยจุดตั้งต้นเรื่องการกินเพื่อสุขภาพและคุณภาพ

“อาหารเพื่อสุขภาพทำให้อร่อยได้ แถมอร่อยมากด้วย ต้องใส่ใจกับทุกขั้นตอนตั้งแต่เลือกวัตถุดิบมีคุณภาพหลากหลาย ให้ได้สารอาหารครบถ้วน ของดีไม่จำเป็นต้องแพง อาม่าพยายามซื้อทุกอย่างแบบปลอดสารพิษ โชคดีที่ตอนนี้มีแหล่งหาซื้อของปลอดภัยง่ายขึ้น บางทีก็ไปช็อปปิงตามแหล่งปลูกผักในเมือง หรือตลาดเกษตรกร เพราะผักผลไม้ที่หาซื้อได้ทั่วไปทุกวันนี้ ทิ้งไว้อาทิตย์หนึ่งยังไม่เน่าเลย ไม่รู้ว่าเขาฉีดสารเคมีอะไรเข้าไปบ้าง

“แล้วอีกอย่างก็มีพวกวัตถุดิบ GMO พืชปรับแต่งพันธุกรรม ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเผ่าพันธุ์ของพืชพวกนี้มาจากไหน อาม่ากินแล้วรู้สึกเลยว่านี่มันไม่ใช่รสชาติของธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว สงสัยเราหัวโบราณเรื่องอาหารการกิน”

หยิบอะไรใส่ปาก ได้สุขภาพแบบนั้น

“สมัยนี้ความสะดวกสบายมันเยอะ เข้าไปในห้างสรรพสินค้า ในซูเปอร์มาร์เกต ซื้ออาหารเจกล่องหนึ่งก็ถือว่ากินเจแล้ว รูปแบบต่างๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่ได้เคร่งครัดกันแบบตอนอาม่าเด็กๆ ก็ถือว่าสะดวกกันรุ่นละแบบ

“คนรุ่นใหม่กินเจน้อยลง อาม่าไม่ซีเรียสจุดนี้ สิ่งที่เป็นห่วงคนรุ่นใหม่จริงๆ คือเรื่องอาหารการกินโดยรวมมากกว่า อาหารสำเร็จรูปที่วัยรุ่นติดใจรสชาติกัน เท่าที่อาม่ารู้ มันมีสารปรุงแต่ง ผงปรุงรสแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ปากเขาบอกรักสุขภาพ แต่ยังกินอาหารพวกนี้อยู่ อาม่าก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

“ลองปรับมากินวัตถุดิบจากธรรมชาติจริงๆ กินบ่อยๆ เข้า ลิ้นของเรา ร่างกายของเราจะเรียนรู้เอง อาม่าเชื่อว่าถ้าคนที่ใส่ใจการกิน กินแล้วจะรู้ทันที อันนี้กะทิสด อันนี้น้ำตาลธรรมชาติ ไม่ใช่น้ำตาลสังเคราะห์ ถ้าไปกินร้านไหนที่ผงชูรสเยอะ ก็จะลิ้นชา มือชา อาการเหล่านี้คือสิ่งที่บอกให้รู้ว่า อย่าเสี่ยงเอาอะไรที่ไม่ดีเข้ามาในร่างกาย”

“ลองพิจารณาดู กินอะไรก็ตามควรเน้นสุขภาพมากกว่าที่จะมาคิดว่าเรากินแค่ช่วงเทศกาลสิบวันนี้ เพราะชีวิตคนเรามันยาวนาน ต้องเน้นสุขภาพทุกวัน แต่ถ้าจะปล่อยผี กินตามใจปากอาทิตย์ละวันให้ชีวิตกระชุ่มกระชวยบ้าง ก็ไม่เป็นไร” อาม่ากล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มกว้าง

Credits

Authors

  • มิ่งขวัญ รัตนคช

    Author & Photographerนักเขียนและนักสื่อสาร รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจเรื่อง เมืองในมิติมนุษย์และความยั่งยืน เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ