ใครบ้างที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน และอยากให้งานเขียนนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับชีวิตหลังเกษียณ
มนุษย์ต่างวัยชวน 2 นักเขียน คุณ “ชลธิดา ยาโนยะ” ผู้เขียนนิยายเรื่อง “มาตาลดา” และคุณ “สุคนธี วสุธน” ผู้เขียนนิยายเรื่อง “เกิดใหม่ทั้งทีขอร้ายสักครั้ง” พร้อมด้วยคุณ “กวิตา พุกสาย” COO จาก Storylog มาร่วมพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของนักเขียนรุ่นใหญ่ในโลกนิยายออนไลน์กับเวที “เขียนด้วยใจให้กลายเป็นเงิน Turn Passion into Profit” ในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 Out of the Box Aging เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นักเขียนรุ่นใหญ่จะสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้อย่างไร? หากเราอยากเริ่มเขียนนิยายต้องทำอย่างไรบ้าง? มาทำความรู้จักกับโลกของนิยายออนไลน์และเรียนเทคนิคมัดใจคนอ่านจากสปีคเกอร์ทั้งสามท่านได้เลย!
รู้จักกับ “นิยายออนไลน์”
ขณะที่ยุคสมัยนี้ถูกกล่าวว่าเป็นช่วง “ขาลง” ของวงการสิ่งพิมพ์ แต่แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์และอีบุ๊คกำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ว่าแต่ “นิยายออนไลน์” และ “อีบุ๊ค” ที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้ มีหน้าตาอย่างไร? มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่คนรุ่นใหญ่จะใช้เป็นช่องทางสำหรับเปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นเงิน? โดยคุณกวิตา ได้อธิบายไว้ว่า
นิยายออนไลน์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ “อีบุ๊ค” และ “รายตอน”
- “อีบุ๊ค”: คือหนังสือออนไลน์ ที่ผู้อ่านกดซื้อเพียงครั้งเดียวแล้วอ่านได้ทั้งเล่ม โดยจะมีทั้งในรูปแบบ PDF และ EPUB
- นิยาย “รายตอน”: เป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากแพลตฟอร์มนิยายของประเทศจีน โดยนักอ่านสามารถกดเลือกซื้อนิยายทีละตอน และนักเขียนสามารถตั้งได้ว่าจะเปิดตอนไหนให้อ่านฟรีเพื่อเป็นตัวอย่างและจะ “ติดเหรียญ” กี่ตอน ตั้งแต่ตอนไหนถึงตอนไหน เพื่อให้นักอ่านจ่ายเงินสำหรับซื้ออ่าน ซึ่งใน fictionlog แพลตฟอร์มสำหรับนิยายออนไลน์ในเครือเดียวกับ storylog มีนิยายที่เปิดให้อ่านฟรีถึง 100 ตอน จากนิยายตัวเต็มที่มีความยาวกว่า 1,000 ตอน!
นิยายออนไลน์มาแรงขนาดไหน? เขียนแล้วได้เงินจริงไหม?
คุณกวิตาได้ยกตัวอย่างของแพลตฟอร์ม “ธัญวลัย” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์รายใหญ่อีกรายหนึ่งในเครือเดียวกับ Storylog ว่าตอนนี้นิยายออนไลน์เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มาแรงจริง มีผู้ใช้จริง และสร้างรายได้ได้จริง
โดยแพลตฟอร์มธัญวลัยตอนนี้
- มีนักเขียนประมาณ 300,000 คน
- มีนิยายกว่า 500,000 เรื่อง
- ผู้ใช้งานต่อเดือน 900,000 คน และอาจสูงสุดถึง 1,000,000 คนต่อเดือน
- มีผู้อ่านเข้ามาอ่านนิยายคิดเป็นยอดวิวกว่า 296 ล้านวิวต่อเดือน
- มีจำนวนนิยายอยู่ราว 3,000,000 ตอน
โดยตัวเลขในส่วนของรายได้นักเขียนนั้น พบว่า
- นักเขียนระดับท็อป 100 คน มีรายได้ตั้งแต่ประมาณ 50,000 – 1,000,0000 บาทต่อเดือน
- มีนักอ่านที่จ่ายเงินเพื่อซื้อนิยายในแพลตฟอร์มถึง 400,000 คน
- นักอ่านแต่ละคนใช้เงินซื้อนิยายราว 500-600 บาท
และเนื่องจากธัญวลัยเป็นแพลตฟอร์มที่มีนิยายรักเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มผู้อ่านในแพลตฟอร์มจึงเป็นกลุ่มผู้หญิง อายุ 18-24 ปี ขณะที่กลุ่มนักเขียนมีอายุตั้งแต่มัธยมต้นไปจจนถึงอายุ 50+
สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าจะลองก้าวเข้ามาในโลกใบนี้ดีหรือไม่ คุณกวิตาได้ให้กำลังใจกับพวกเราไว้ว่า “จริงๆ แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์เข้าถึงง่ายกว่าโซเชียลมีเดียเสียอีก เพราะทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความสนใจโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศหรือเรื่องอายุ เราไม่ต้องรู้จักกันในเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าเราชอบนิยายแบบนี้เหมือนกัน เขาก็จะมาคุยกับเรา”
การสนับสนุนจากแพลตฟอร์ม
บางคนอาจสงสัยว่าเมื่อเขียนนิยายลงในแพลตฟอร์มแล้ว จะมีคนเข้ามาอ่านนิยายของเราจริงๆ หรือเปล่า? คนจะรู้จักนิยายของเราได้อย่างไร? คุณกวิตาได้ยกตัวอย่างระบบช่วยเหลือของธัญวลัญ ว่าตัวแพลตฟอร์มจะมีการสนับสนุนนักเขียนในรูปแบบต่างๆ เช่น
- มีการโปรโมต และยิงโฆษณาให้ฟรี
- โมเดลการแบ่งรายได้โฆษณา ซึ่งมีเฉพาะของธัญวลัย ที่นักเขียนสามารถรับส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาได้ เมื่อแพลตฟอร์มนำโฆษณามาลง
- การทำงานในรูปแบบ Content Partnership ซึ่งทีมซัพพอร์ตจะช่วยดูแลนักเขียนโดยตรง ตั้งแต่การทำปกไปจนถึงการนำนิยายไปโปรโมตบนหน้าเว็บไซต์
- Exclusive Programme โปรแกรมสนับสนุนนักเขียนที่พร้อมจะทำงานร่วมกับธัญวลัยในระยะยาว โดยมีเงื่อนไขว่านักเขียนจะต้องลงนิยายกับธัญวลัยก่อนเป็นเวลาสามเดือน หลังจากนั้นจะมีการกำหนดจำนวนตอนที่นักเขียนต้องลงในแต่ละวัน รวมถึงระยะเวลาในการเขียนนิยายให้เสร็จสมบูรณ์ โดยผลงานของนักเขียน Exclusive จะได้รับการโปรโมตเป็นพิเศษ ตั้งแต่มีแบนเนอร์โปรโมตนิยายอยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์ มีงบพิเศษสำหรับยิงโฆษณา และมี incentive เพิ่มเติม เช่น มีการท็อปอัพยอดขายให้อีก 5-10%
- Writer Challenges สำหรับนักเขียนที่อาจจะไม่พร้อมกับการลงนิยายในระยะยาว หรือไม่อยากลงนิยายทุกวัน Writer Challenges จะเป็นภารกิจสั้นๆ ให้นักเขียนร่วมสนุก อย่างเช่น เผยแพร่นิยายให้ครบ 5 ตอน, ติดเหรียญให้ครบ 5 ตอน หรือการแชร์นิยายของตัวเองจากเว็บไซต์ นักเขียนที่ร่วมสนุกจะได้แต้มสำหรับช่วยเพิ่มการมองเห็นให้กับนิยายของตัวเอง
รีวิวจากรุ่นพี่ สองนักเขียนออนไลน์ตัวจริง ที่สามารถสร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม
- คุณกิ่ง- ชลธิดา ยาโนยะ เจ้าของนามปากกา “ณัฐณรา” ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “มาตาลดา” ที่ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครชื่อดัง ที่เพิ่งลาจอไปได้ไม่นาน คุณกิ่งเริ่มต้นเขียนนิยายในระหว่างลาคลอด เมื่อตอนอายุ 30 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากเว็บเด็กดี ชุมชนนักเขียนออนไลน์ยุคบุกเบิกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ผลงานของคุณกิ่งได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์ ผ่านไปราว 5-6 ปีสำนักพิมพ์ปิดตัวลง เธอจึงผันตัวมาเป็นนักเขียนอิสระและตีพิมพ์นิยายในรูปแบบ “อีบุ๊ค” ผ่านแพลตฟอร์ม Meb Corporation
- คุณเกี้ยง- สุคนธี วสุธน เจ้าของนามปากกา “kiang” นักเขียนนวนิยายออนไลน์วัย 60 ปี เจ้าของผลงานยอดฮิตในชื่อ “เกิดใหม่ทั้งทีขอร้ายสักครั้ง” และ “อี่ฝาน นางร้ายเปลี่ยนชะตา” คุณเกี้ยงเริ่มตีพิมพ์นิยายบนแพลตฟอร์มเด็กดี ก่อนจะเริ่ม “ติดเหรียญ” รายตอน และตีพิมพ์ในรูปแบบอีบุ๊คในเวลาต่อมา โดยคุณเกี้ยงสามารถสร้างรายได้จากนิยายออนไลน์ได้ถึงหกหลักต่อเดือน
เริ่ม “เขียน” เพราะอยาก “อ่าน”
หลายคนอาจสงสัย เราจะเขียนนิยายได้ยังไง? แต่สำหรับนักเขียนทั้งสองท่าน พวกเธอกลับมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือ “เริ่มเขียนเพราะอยากอ่าน”
“เราสมัครเข้าไปในเว็บเด็กดีในโซนนักเขียนแล้วเริ่มการหานิยายอ่าน แต่พอดีเราไม่เจอนิยายที่เราอยากอ่าน บางเรื่องอ่านแล้วมีคำถามตลอดเวลา ว่าในชีวิตจริงมันไม่ควรมีใครทำแบบนั้น เลยตัดสินใจว่าจะเขียนนิยายโดยอิงกับชีวิตจริงมากที่สุด ใช้บุคลิกของตัวละครกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง” – คุณกิ่ง
“เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก พอเราโตขึ้น เรามีลูกก็เข้าเว็บเด็กดี เพราะเราต้องรู้ว่าจะเอายังไงกับการศึกษาของลูก เว็บเด็กดีจะมีเรื่องการศึกษาเยอะและมีนิยายเยอะ พอเราเติมเงินเราก็อ่าน อ่าน อ่าน ทำไมนิยายเรื่องนี้มันเป็นแบบนี้ ทำไมผู้ชายมันงี่เงาจัง ทำไมนางเอกอ่อนไปหมด กลายเป็นว่าเราไม่อยากได้ตัวละครแบบนี้ เราอยากได้ตัวละครที่เก่ง ทันคน” – คุณเกี้ยง
พอเกษียณแล้วมัน “เหงา” นะ
สำหรับคุณเกี้ยงในวัย 60 อีกสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้เธอลองก้าวไปบนเส้นทางของการเป็นนักเขียนนิยายออนไลน์ คือความ “เหงา” อันเกิดจากเวลาว่างในชีวิตวัยเกษียณ ประจวบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ใครหลายคนต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้าน
“ตอนเราเกษียณเพื่อนๆ ก็ถามว่าจะทำอะไร คนเคยทำงานมาตลอดก็รู้สึกว่าเราไม่เป็นไร เราจะเที่ยว เราจะกิน เราจะใช้เงิน แต่พอเกษียณปุ๊บ มีแค่ครึ่งปีแรกเท่านั้นแหละที่แฮปปี้ หลังจากนั้นชีวิตเริ่มเหงา ยิ่งมาเจอโควิดอีก ลูกก็ทำงานอยู่ต่างจังหวัดไม่ได้กลับบ้าน ที่บ้านมีแต่สามีอยู่กันสองคน มองหน้ากันจนเหี่ยว เราเลยเริ่มแต่งนิยาย”
อยากเป็นนักเขียนแต่ไม่เคยเรียนมาก่อน เป็นไปได้ไหม?
สิ่งที่หลายคนกังวลที่สุดเมื่อคิดจะเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง อาจเป็นเรื่องที่ว่า “เราไม่ได้เรียนสายอักษร ไม่ได้เรียนสายภาษามาก่อน จะเป็นนักเขียนได้ไหม?” สำหรับเรื่องนี้ คุณเกี้ยงได้แบ่งปันประสบการณ์ของเธอ ที่เริ่มจากเขียนคำว่า “เดี๋ยว” ว่า “เด๋ว” มาสู่การเป็นนักเขียนรายได้หกหลักในวันนี้
“ตอนแรกก็ยึกยักเพราะเราเป็นคนไม่เก่งภาษาไทยเลย เราเป็นคนใต้ เราไม่รู้หลักการใช้ภาษา บางทีก็ติดสำนวนใต้ บางทีเสียงภาษาใต้จะเป็นเสียงเดียวกันหมด เลยแยกวรรณยุกต์ไม่ออก แยกคะ-ค่ะไม่ออก เขียนเดี๋ยวเป็นเด๋ว”
“พอเราเขียนปุ๊บ โอ้โห คอมเมนต์มาเลย คุณใช้ไม่ถูกตามหลักภาษานะ เราก็ต้องแก้ คราวนี้จะแก้ยังไง เราก็ค้นกูเกิล ก็จะมีบอกว่าภาษาเขียนต้องเขียนยังไง แต่เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี เราเลยคิดกับตัวเองว่า เราไม่เก่งเรื่องวรรณศิลป์ เราไม่ได้เรียนมาด้านนี้ เอาเป็นฉันเขียนแค่พอให้คุณเข้าใจ แล้วพอมีคนมาบอกว่าคำนี้ต้องใช้แบบนี้ มันก็เป็นประสบการณ์ของเรา ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะผิดหรือถูก เพราะคอมเมนต์จะเป็นตัวสอนเราเอง”
แชร์เทคนิคมัดใจคนอ่านจาก 2 นักเขียนรุ่นพี่
คำแนะนำจากคุณกิ่ง
- ตัวละครต้องมีเสน่ห์ ตัวละครจะมีเสน่ห์เมื่อมี “รากชีวิต” มีมิติว่าเขาเป็นคนยังไงมาจากไหน โดยนักเขียนสามารถถ่ายทอดบุคลิกของตัวละครผ่านตัวละครแวดล้อมที่จะบอกว่าคนคนนี้เป็นอย่างไร เป็นคนดีหรือไม่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคที่เรียกว่า “Show don’t tell” คือการใช้สถานการณ์หรือตัวประกอบแวดล้อมในการแสดงให้เห็นถึงมิติของตัวละคร ไม่ใช่เพียงการบรรยายว่า “เขาเป็นคนดีนะ”
- ข้อมูลต้องไม่หลุด: เรื่องนี้หากเป็นนิยายรักอาจยังไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ แต่หากคุณเขียนนิยายสืบสวนแล้วคุณ “โป๊ะ” ว่าทริคแบบนี้มันทำจริงไม่ได้นะ หรือนักอ่านอ่านแล้ว “เอ๊ะ” ว่าข้อมูลตรงนี้ผิดนะคะ ข้อมูลตรงนี้ไม่จริงนะคะ ก็อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนิยายที่เราเขียนได้
- เนื้อเรื่องน่าสนใจ มัดใจคนอ่านได้จนจบเล่ม: เรื่องนี้อาจเรียกได้ว่าสำคัญที่สุด เพราะสำหรับนิยาย “อีบุ๊ค” นักอ่านสามารถโหลดตัวอย่างมาอ่านได้ก่อนตัดสินใจซื้อ หากนักอ่านอ่านตัวอย่างจบแล้วไม่อยากอ่านต่อ หรืออ่านตัวอย่างก็เดาเนื้อเรื่องได้จนจบก็คงไม่ดีกับยอดขายของเรา ฉะนั้นเราต้องมีสถานการณ์ที่จะทำให้คนอ่านลุ้น อยากอ่านต่อ ก่อนตัดฉับให้ทุกคนได้ไปลุ้นกันในเล่ม หรืออีกเทคนิคหนึ่งของคุณกิ่ง คือการ “ทิ้ง” ตัวละครที่น่าสนใจสักตัวไว้ในเรื่อง ให้คนอ่านจบแล้วรู้สึกว่าอยากอ่านต่อ อยากรู้จักตัวละครตัวนี้มากกว่านี้อีก ซึ่งอาจเป็นการเชื่อมไปสู่นวนิยายเรื่องถัดไปของเธอ
คำแนะนำจากคุณเกี้ยง
- ก่อนเขียนต้อง “อ่าน”: อ่านให้ “เยอะ” คือคำแนะนำข้อหนึ่งจากคุณเกี้ยง อ่านให้เยอะจนเราเห็นภาพว่าเราอยากได้นิยายแบบนี้ ตัวละครแบบนี้ นางเอกแบบนี้ พระเอกแบบนี้ หรือนางร้ายแบบนี้
- จะเขียนต้องวาง “พล็อต”: ก่อนเริ่มเขียน คุณเกี้ยงจะร่างพล็อตไว้ก่อน ว่าตัวละครจะต้องเป็นแบบนี้ แล้วตอนจบของเรื่องจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะไปถึงตอนจบของเรื่องได้อย่างไร จากนั้นค่อยๆ เสริมตัวละครของเราเข้าไปในเหตุการณ์ต่างๆ โดยระหว่างที่เราพิมพ์ เราอาจสอดแทรกรายละเอียดต่างๆ เข้าไปได้อีกเยอะ
ส่งท้ายสำหรับเพื่อนพ้องนักเขียนรุ่นใหญ่ว่า
โลกออนไลน์ดูเผินๆ อาจเหมือนโลกของคนรุ่นใหม่ แต่ speaker ทั้ง 3 ท่านล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อย่ากลัว”
“การจะเป็นนักเขียนไม่ได้จำกัดที่อายุ เรามีตัวอย่างแล้วว่าประสบการณ์ทุกอย่าง ผู้ที่มีอายุเยอะได้เปรียบที่สุด ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ผู้คนที่เคยพบเจอ เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น เรานำมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารได้ดีที่สุด คนจะเป็นนักเขียน หนึ่งต้องเป็นนักอ่านมาก่อน คนที่เป็นนักอ่านอ่านเยอะ ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะ สิ่งเหล่านั้นจะมาเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารและขายออกไป เป็นอาหารที่หลากรสชาติ เพราะว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ความสุขอย่างเดียว บางทีเราเจอเรื่องร้ายๆ มา เรื่องไม่ดีมา เรานำมันมาใส่ในงานเขียนของเราได้ เราก็จะได้รสชาติที่กลมกล่อม ไม่หวานแหลม ไม่ขมปี๋ ไม่เผ็ดจนเกินไป” – คุณกิ่ง ชลธิดา ยาโนยะ
“ทุกคนเป็นนักเขียนนิยายออนไลน์ได้หมดเลย เพราะเราอายุ 60 กว่า เราจะมีเรื่องราวในชีวิตของเรา ส่วนมากเกี้ยงจะเอาชีวิตตัวเองเข้าไปในนิยาย เพราะเรื่องที่เราลำบากมาสมัยก่อน พอมองกลับไปตอนเราอายุมาก มันจะตลก อย่างความคิดพ่อแม่เราสมัยก่อน ความคิดเรา ความคิดของลูกเรา สามยุคนี้ไม่เหมือนกันนะ เราสามารถเข้าไปในนิยายของเราและสอดแทรกว่าเรามีความคิดแบบนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือเทคโนโลยีไม่ได้ยากเลยสำหรับเรา แค่ขอให้ศึกษา อย่างตอนนี้ที่สารพัดช่างสุราษฎร์ ก็เปิดคอร์สสอนให้เป็น youtuber สอนตั้งแต่เริ่ม ฉะนั้นเมื่อเราแก่ เราก็ยังสามารถตามทันเด็กรุ่นใหม่ได้ เราอาจจะไม่เก่งเท่าเด็กรุ่นใหม่ เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาชอบเล่นโซเชียลอยู่แล้ว แต่เราอย่าปล่อยให้เราแก่ไปตามวัย เพราะไม่ได้เลี้ยงลูก ไม่มีหลานให้เลี้ยง ชีวิตเราเหงานะถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง” – คุณเกี้ยง สุคนธี วสุธน
“เราไม่อยากให้นักเขียนรู้สึกเครียดในการเริ่ม อยากให้เริ่มไปเลย แล้วติดตรงไหน ทั้งคอมมูนิตี้ นักอ่าน นักเขียนจะช่วยกันเอง อย่างในเฟสบุ๊กในเว็บบอร์ดจะมีกลุ่มพูดคุยกันเรื่อยๆ ฉะนั้นขอให้เข้าไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะเจอทางเอง และทุกอย่างแก้ไขได้ตลอด ตรงนี้ไม่ชอบ ตรงนี้เขียนไปแล้วมันแปลกๆ มีคำผิดตรงนี้ เราแก้ได้ตลอด เริ่มใหม่ได้ทุกวัน เรื่องนี้เขียนแล้วรู้สึกไม่โอเค เริ่มเรื่องใหม่เลยก็ได้ เขียนไปสักพักค่อยกลับมาเรื่องเก่าก็ได้ ถ้าทำอะไรไม่ได้ ทักแอดมินได้เลย เราช่วยคุณแน่นอน แค่เตรียมใจ เวลา และมือถือก็พอแล้ว อื่นๆ มันค่อยๆ ตามมาก็ได้” – คุณกวิตา พุกสาย