ในขณะที่โลกหมุนไป โอกาสใหม่ๆ ก็ยิ่งเปิดกว้าง ใครที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิต หรือมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่คิดว่ามันอาจจะยากเกินไปที่จะเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว การเหลียวมองดูคนต่างวัยรอบตัวอาจทำให้คุณค้นพบจิ๊กซอว์ที่จะช่วยทำให้ความฝันของคุณ ‘เป็นจริง’ ขึ้นมาได้
หากคุณเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีพลัง ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อว่าประสบการณ์ของผู้ใหญ่คือ ต้นทุนที่มีคุณค่า มนุษย์ต่างวัยชวนถอดวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ที่มี ‘ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางเทคโนโลยี ความเท่าทันในการตลาดยุคใหม่’ ผสานกับ ‘ความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์บางอย่างที่ต้องสั่งสมกันมานานนับสิบปี’ ของคนรุ่นพ่อแม่ จนเกิดเป็นพลังและนำไปสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครอบครัวตัวเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัวคนอื่นและชุมชนอีกด้วย
พบกับเรื่องราวของ เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ทายาทรุ่นที่สาม แห่งโรงงานรองเท้าหนัง ‘ บักเซ้ง ’ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีอายุกว่า 65 ปี โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ที่ตนเองมีอยู่มาชุบชีวิตโรงงานรองเท้าของที่บ้านให้กลับมามีชีวิตชีวา และทันยุคสมัย ภายใต้ชื่อแบรนด์ใหม่ว่า Youngfolks รองเท้าที่ตั้งใจทำให้ใส่ได้ทั้งครอบครัว
ตั้ม-นิพนธ์ พิลา ดีไซเนอร์หนุ่ม ผู้ใช้ฝีมือด้านการออกแบบมาต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรในชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าน่าซื้อ ยกระดับสินค้าบ้านๆ อย่างมะขามหวาน เขียงไม้มะขาม ข้าวอินทรีย์ จนทำให้สินค้าพื้นบ้านที่เคยขายไม่ได้ราคามีมูลค่าสูงขึ้น และยังสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ในชื่อแบรนด์ PILA Farm Studio
ป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ และ พิชัยรัฐ เรียนเมฆ แห่ง Mother Roaster ร้านกาแฟชื่อดังที่เริ่มต้นมาจากความหลงใหลในกาแฟที่มีร่วมกันของแม่และลูก ซึ่งผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองวัย ก็ทำให้ธุรกิจเติบโตจนกลายเป็นร้านกาแฟสุดชิคที่เป็นจุดเช็คอินของบรรดาวัยรุ่นและคนรักกาแฟย่านตลาดน้อย
เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คือหนึ่งในทายาทรุ่นที่สาม แห่งโรงงานรองเท้าหนัง ‘บักเซ้ง’ ธุรกิจครอบครัวที่มีอายุกว่า 65 ปี แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพ่อจะบอกลูกๆ เสมอว่า ไม่ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่ด้วยปัญหาสุขภาพของพ่อ ต่างก็ทำให้ลูกๆ ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับครอบครัวและเห็นความสำคัญของสิ่งที่พ่อรัก นั่นก็คือการทำรองเท้า
เมื่อมองเห็นว่าลูกๆ มีโอกาสที่จะรักษาธุรกิจที่พ่อสร้างขึ้นมาได้ เม้งและพี่น้องจึงนำเอาความถนัดของตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ การตลาด การสร้างสรรค์สื่อโฆษณา มาผสมผสานกับต้นทุนองค์ความรู้ด้านฝีมือการทำรองเท้าหนังชั้นดีของครอบครัว เพื่อสร้างรองเท้าที่เป็นแบรนด์ของครอบครัว ในชื่อ Youngfolks
แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ ก็ไม่่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องฝ่าด่านต่างๆ มากมาย ทั้งการพิสูจน์ตนเอง สร้างความเชื่อมั่น ให้กับพ่อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำรองเท้ามาเกือบทั้งชีวิต รวมถึงการทำงานกับช่างฝีมือเก่าแก่ที่ทำงานกับพ่อมาตลอดหลายสิบปี
“ช่วงแรกที่เราตัดสินใจเข้าไปทำ ความยากที่เจอคือ ‘พ่อไม่เชื่อ’ เขาไม่มั่นใจว่าการที่เราตัดสินใจมารับช่วงต่อ เรา ‘เอาจริง’ หรือเปล่า ด่านแรกที่ต้องฝ่าฟันกันไปเลยเป็นเรื่องของความเชื่อใจ เพราะพ่อไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรกว่าเราต้องกลับมาสานต่อธุรกิจของเขา เขาบอกว่าเราไปทำอย่างอื่นเผลอๆ ได้เงินเยอะกว่าด้วยซ้ำ และทุกวันนี้ทั้งช่างทั้งพ่อทั้งโรงงานต่างก็โรยรากันไปตามอายุ แต่เราบอกว่าเราเอาจริง แล้วก็ทำจนกว่าพ่อจะยอมรับและเห็นว่าเราเอาจริง
“น้องสาวเป็นคนดูแลเรื่องงานออกแบบ ตอนนั้นทำออกมา 30-40 คู่ แต่พ่อก็ไม่ให้ผ่าน บอกว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องพยายามแล้วพยายามอีก จนกระทั่งเกือบถอดใจ แต่สุดท้ายพ่อก็ยอมรับ ยิ่งตอนที่เราเอางานผลิตกระเป๋ามาทำ ตอนนั้นต้องพยายามสื่อสารกับช่างมาก เพราะช่างส่วนใหญ่เป็นช่างรองเท้า ไม่เคยทำกระเป๋ามาก่อน ด้วยกัน จุดเปลี่ยนคือการที่เราลงมือทำไปด้วยกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน เอาเทคนิคการทำรองเท้ามาทำเป็นกระเป๋า หลังจากนั้นเขาก็เหมือนได้ปลดล็อกทักษะของตัวเอง พอเขาทำได้ปุ๊บ จากยากก็กลายเป็นง่ายและสนุกที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำในส่วนที่ตัวเองถนัด
“จากจุดนั้นมันเลยทำให้ทั้งเขาและเราเริ่มมีความมั่นใจ เหมือนเราผ่านจุดที่ลำบากไปด้วยกันแล้วได้เติมเต็มกัน ซึ่งหัวใจในการทำงานร่วมกันคือ ความตั้งใจ อดทน เชื่อมั่นในกันและกัน และที่สำคัญคือเราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในการเข้าไปคุย เพราะคนแต่ละรุ่นมีดีของตัวเอง แต่จะต่อกันอย่างไรให้ติด ให้เขายอมรับฟังเรา ไม่ใช่ไปสั่งเขา แต่เป็นการคุยกันด้วยความเคารพ อย่างเราเรียกเขาว่าอาจารย์ ไม่ใช่เพราะเราเรียกมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะเราเชื่อว่าเขาเป็นครูอาจารย์ในด้านนั้นจริงๆ แม้ว่าภายนอกเขาอาจไม่มีความรู้ทันสมัยเท่าคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่เขามีมากกว่าเรา คือฝีมือและประสบการณ์ที่เราตามเขาไม่ทัน
สำหรับเรา คนทำงานช่างฝีมือที่ยังเหลืออยู่พวกเขามีคุณค่า เพราะเมื่อโลกก้าวไปข้างหน้า แล้วพวกเขาล้มหายตายจากกันไปหมด ก็จะไม่มีการสืบทอดวิชา ดังนั้นเราจึงอยากที่จะรักษาและทำให้เขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะถ้าเราบอกว่าเลิกทำ ช่างเก่าแก่ที่อยู่กับพ่อมานาน เขากลับบ้านไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานช่างเลยนะ แล้ว know-how ก็หายไปด้วย ชีวิตเขาก็หายไป เพราะฉะนั้นการกลับมาสานต่อธุรกิจของพ่อ มันเหมือนเราได้ช่วยทั้งความรู้สึก และชีวิตคน
“อย่างการที่เราทำแบรนด์รองเท้า Youngfolks เพราะเรารักพ่อ อยากทำให้พ่อมีความสุข และก็อยากต่อลมหายใจให้คนทำงานช่างให้เขายังมีคุณค่า ดังนั้นเราต้องหาจุดร่วมที่ทำให้เราเดินไปด้วยกันได้อย่างเข้าอกเข้าใจ เพื่อทำให้มันเป็นแบรนด์รองเท้าที่มีคำว่า ‘ครอบครัว’ และการกลับมาทำรองเท้าด้วยกันอยู่ในนั้น”
ตั้ม-นิพนธ์ พิลา คือดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้า ที่มาพลิกโฉมสินค้าเกษตรบ้านๆ ไม่มีราคาให้กลายสินค้า ดูดี มีสไตล์ ขายได้ราคา ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘เกษตรสนุกได้ไม่ต้องขายดราม่า’ โดยมีเกษตรกรสูงวัยเป็นนักผลิต และคนรุ่นใหม่เป็นนักการตลาด เพื่อยกระดับสินค้าบ้านๆ อย่างมะขามหวาน เขียงไม้มะขาม ข้าวอินทรีย์ จากที่ขายไมได้ราคาให้มีมูลค่าสูงขึ้น และยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายใต้ชื่อแบรนด์ PILA Farm Studio
จุดเริ่มต้นการ ‘กลับบ้าน’ ของตั้มมาจากปัญหาสุขภาพของพ่อ ทำให้ตั้มที่เดินตามความฝันของตนเองมาตลอด 20 ปี ตัดสินใจกลับบ้าน และได้พบว่าปัญหาสินค้าทางการเกษตรในชุมชนบ้านเกิดของเขา เคยมีราคาต่ำตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็กอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีราคาต่ำเช่นเดิม เขาจึงตัดสินใจว่าการกลับบ้านครั้งนี้จะเป็นการกลับมาอยู่บ้านจริงๆ แบบที่เอาแรงกายและแรงใจกลับมาด้วย โดยมีเป้าหมายคือ การเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น
“เราเป็นลูกหลานเกษตรกรตั้งแต่เกิด แต่ที่ผ่านมาเราไปเรียนและทำงานในเมืองหลวง กว่า 20 ปีที่ไม่ได้กลับบ้าน เมื่อเราตัดสินใจกลับบ้านและคิดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดเราให้ดีขึ้น โดยใช้ความถนัดของเรา เช่นเรื่องการตลาด การออกแบบ แต่เราค้นพบว่า เราเปลี่ยนไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะในชุมชนมีทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ คนสูงวัย แม้ว่าช่วงแรกจะพยายามทำตัวกลมกลืน ทำให้เขาเอ็นดูเห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน แต่กว่าจะทำให้เขาเชื่อใจไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ไปบอกให้เขาเลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตร เขาก็ถามเรากลับว่าแล้วจะให้ไปใช้อะไร แล้วมันดีกว่าอย่างไร เราก็ตอบเขาได้ไม่ชัดเจน มันเลยทำให้เราเรียนรู้ว่าถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน และพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราคิด เราทำมันมีโอกาสรออยู่
“เรามองว่าพลังของคนรุ่นใหม่ ทำให้บางสิ่งบางอย่างมีคุณค่าขึ้นมาได้ อย่างเราค้นพบว่าเพชรบูรณ์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่เอื้อต่อการเติบโตของพืชผลการเกษตรมากๆ เพราะดินดี อากาศดี เราจึงอยากหยิบมาทำให้โดดเด่นและอยากให้สิ่งที่บ้านเรามีมันไปได้ไกลกว่านี้ ดังนั้นระหว่างเรากับเกษตรกรคือการมาเจอกันคนละครึ่งทาง และเชื่อมั่นในกันและกันว่ามันเป็นไปได้ แต่การจะเข้าไปบอกให้เขาเปลี่ยน หัวใจสำคัญคือการที่เราต้องเคารพสิ่งที่ผู้ใหญ่ หรือคนที่เขามีประสบการณ์มากกว่าทำมาก่อน เพราะประสบการณ์ของเขาคือตำราชั้นดี เพราะผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว เราต้องให้เกียรติเขา เพราะเราเข้าไปทำในฐานะคนที่ต่อยอด เหมือนเอาอาชีพเขามาทำ ไม่ใช่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่เราเอาความถนัดของเราเข้าไปจับกับความถนัดของเขา เพื่อให้เขาขายสิ่งที่เขาทำอยู่ได้ดีขึ้น และมีความหลงใหลในการทำงานที่ไม่ได้ทำไปวันๆ แต่ทำด้วยความสุขและสนุก
“สุดท้ายพอมันลงตัว ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าการมาเจอกันของคนหลากหลายช่วงวัย หลากหลายประสบการณ์ก็สามารถสร้างความอิ่มเอมให้บ้านเกิดโดยที่ไม่ต้องไปกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองก็ได้ เรามีความสุขในพื้นที่ของเราได้เหมือนกัน และในอนาคตเราก็สามารถไปถึงเป้าหมายของเราได้ไม่ยาก นั่นคือการทำให้เมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองแห่งเกษตรสร้างสรรค์และเมืองแห่งการท่องเที่ยววิถีชุมชน”
ป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ วัย 70 ปี เจ้าของร้าน Mother Roaster ที่เริ่มต้นจากความหลงรักการกินกาแฟ สู่การตัดสินใจเปิดร้านกาแฟในช่วงบั้นปลายชีวิตจนมีลูกค้ามากมายติดใจในรสชาติ และพิสูจน์ตัวเองได้ว่า ‘ไม่มีใครแก่เกินที่จะทำความฝันให้เป็นจริง’
จุดเเริ่มต้นร้านกาแฟของป้าพิม เริ่มจากการไปช่วยลูกเปิดบูธขายกาแฟอยู่บ่อยครั้งจนตัดสินบอกกับลูกว่าอยากเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เป็นของตนเอง ซึ่งลูกชายก็ไม่ได้ปฏิเสธความฝันของแม่ และใช้โอกาสนี้ในการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่คิดสูตรเอง ลองผิดลองถูกด้วยกัน จากร้านกาแฟสโลว์บาร์เล็กค่อยๆ เติบโตจนกลายเป็นร้าน Mother Roaster ย่านตลาดน้อยที่นับเป็นจุดเช็คอินของคนรักกาแฟ
เจ้าของร้านกาแฟ วัย 70 ปียืนยันว่าเธอเดินมาไม่ผิดทางโดยมีลูกชายเดินร่วมทางมาด้วย ซึ่งป้าพิมไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของร้านแต่ยังทำหน้าที่เป็นบาริสต้าสุดเท่ ที่ทั้งคั่ว บด และชงกาแฟให้ลูกค้าด้วยตัวเอง
“เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเลือก เราคิดถูกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของยอดขาย ธุรกิจ หรือผลตอบแทน เพราะร้านกาแฟของเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องนั้น แต่เป็นมันคือการที่เราได้ออกจากบ้านมาเจอผู้คน มาแลกเปลี่ยนทรรศนะกับคนรุ่นใหม่ เพราะกาแฟทุกวันนี้มันไม่เหมือนสมัยก่อน มันเป็นกาแฟของคนรุ่นใหม่ มันมีกระบวนการ มีความซับซ้อน มีรายละเอียดมากกว่าเดิมมาก ซึ่งเราเองก็ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ”
หัวใจสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างคนสองวัย โดยเฉพาะแม่กับลูกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ป้าพิมบอกว่า คือเรื่องของการยอมรับซึ่งกันและกัน เมื่อรับฟังกันแล้วจึงนำความคิดเห็นมาแชร์กัน
“การทำงานร่วมกันแล้วเอาความคิดเรื่องการเป็นพ่อแม่ หรือคำพูดที่บอกว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อนในสมัยนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันควรเป็นเรื่องที่ เขาคิดอย่างไร เราคิดอย่างไร แล้วเอามาปรับจูนกันมากกว่า และเมื่อมาเจอกันตรงกลางก็จะทำให้เราทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
“ที่สำคัญประสบการณ์ในการทำธุรกิจของเราก็จะมีมุมมองที่กว้างขึ้น เพราะเรามองได้ตั้งแต่มุมของเด็ก และมุมมองของผู้ใหญ่ อย่างธุรกิจที่เราทำ เราจะเจอตั้งแต่เด็กวัยรุ่นไปจนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ เมื่อเราเข้าใจเขา ทุกสิ่งอย่างจะถูกจูนเข้าหากันอย่างกลมกล่อมและพอดี ทำให้ธุรกิจของเราราบรื่น”
ปัจจุบันนอกจากทำงานร่วมกับคนรุ่นลูกแล้ว ป้าพิมยังบอกอีกว่า Mother Roaster ได้เปิดโอกาสให้คนวัยเกษียณได้เข้ามาเรียนรู้และฝึกทักษะการเป็นบาริสต้าอีกด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนได้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่รักแม้จะอายุมากแล้ว ยังทำให้ผู้สูงวัยหลายคนเปลี่ยนความคิดในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนวัยอื่นๆ ในสังคมได้อย่างเข้าใจและมีความสุขอีกด้วย