The Old Man and the Lam การเดินทางของชายวัย 76 กับสกูตเตอร์สูงวัย

รถสกูตเตอร์คันนี้มีอายุ 58 ปี

ถ้าเป็นคน – เจ้าแลมเบรตตารูปลักษณ์วินเทจคันนี้น่าจะอยู่ในระยะสุดท้ายของวัยกลางคน ผู้กำลังนับหนึ่งกับวัยชรา แต่สภาพของรถและสมรรถนะเครื่องยนต์ยังคงดีเยี่ยมราวกับว่าเพิ่งออกมาจากโรงงานเมื่อวาน

ชายคนนี้อายุ 76 ปี

เขาบำรุงรักษารถคันนี้อย่างสม่ำเสมอ เดินทางร่วมกับเจ้าแลมฯ เพื่อนยากมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ชีวิตในทศวรรษที่ 7 เขาดูอ่อนกว่าวัย ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพดีชนิดที่คนหนุ่มสาวอย่าริอ่านท้าวิ่งแข่ง

‘เฮียเจียว’ – กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข  วิ่งเป็นประจำ ลงงานวิ่งครบทุกระยะ ทั้งมินิมาราธอน (10.5 กิโลเมตร) ฮาล์ฟมาราธอน (21 กิโลเมตร) และฟูลมาราธอน (42.195 กิโลเมตร)

เมื่อหัวใจเคยชินกับจังหวะแอโรบิก ร่างกายจึงมีความอึดและทนทานในการเดินทางไกล

รถเก่ากับชายสูงวัยยังคงเดินทางบนถนนทุกประเภท เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความทรงจำ มิตรภาพ และความหมายที่ซุกซ่อนระหว่างหลักกิโลเมตรบนเส้นทางที่่ผ่านมา

รถคันแรกและคันสุดท้าย

รถสกูตเตอร์แลมเบรตตา (Lambretta) ผลิตขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2504 โดยบริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ แอนด์โก ตอนนั้นอาเจียวมีอายุ 16 ปี ที่บ้านเปิดร้านซ่อมรถสกูตเตอร์ 2 แบรนด์จากอิตาลี นั่นคือเวสป้าและเเลมเบรตตา

สองปีต่อมา เมื่ออายุครบ 18 ปี พ่อมอบรถสกูตเตอร์แลมเบรตตาเป็นของขวัญชิ้นพิเศษให้ลูกชาย ซึ่งในอีก 58 ปีต่อมา เขายังคงใช้งานรถคันนี้ ดูแลรักษาของขวัญที่พ่อมอบให้เป็นอย่างดี

“มันเป็นรถสกูตเตอร์ที่หายากในบ้านเรา สายพันธุ์ยุโรป สัญชาติอิตาลี เป็นรถคันแรกของผมที่ได้มาเมื่อปี   2507 ถึงวันนี้มันอยู่กับผมมากว่า 60 ปี ไปไหนไปด้วยกันตลอด เป็นรถคันแรกและคันเดียวที่ยังใช้อยู่” เฮียเจียว บอก

รถเก่ากับการซ่อมบำรุงเป็นของคู่กัน เฮียเจียวมีทักษะเชิงช่างจากการเกิดในครอบครัวที่ทำธุรกิจซ่อมรถสกูตเตอร์ และตอนอายุ 15 พ่อส่งไปฝึกงานที่บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ แอนด์โก ตัวแทนจำหน่ายรถแลมเบรตตาในยุคนั้น

“รถมันเก่าไปตามเวลา แต่เรามีทักษะช่าง สามารถซ่อมบำรุง ตกแต่งให้ยังคงใช้งานได้ เรารักมัน เพราะเป็นของชิ้นแรกที่ได้มา เราไม่อยากจากมันไป เหมือนคนโตมาด้วยกัน” เฮียเจียวกล่าวถึงรถคันแรกราวกับเอ่ยถึงความหลังที่มีต่อเพื่อนรักคนหนึ่ง

รถสกูตเตอร์สีส้มสดใสคันนี้เป็นยานพาหนะคู่ใจที่เฮียเจียวใช้ ขี่รถท่องเที่ยวทั้งระยะใกล้และระยะไกล แม้แต่การรับส่งลูกทั้ง 4 คน เรียนหนังสือจนจบ – ก็คันนี้

“เจ้านี่เป็นลูกคนโตของผมครับ เพราะเขาอายุมากกว่าลูกของผมทุกคน” เฮียเจียวกล่าวถึงเฮียแลมฯ ของลูกๆ

ช่วงหนึ่งราคารถคลาสสิกถีบตัวขึ้นสูง เพราะกระแสนิยมในหมู่คนเล่นรถเก่า เวลาที่เฮียเจียวขี่รถไปติดไฟแดง มักจะมีคนหนุ่มขี่รถมาจอดเทียบและเจรจาขอซื้อต่อ

“ลุง รถคันนี้ขายไหม” คนหนุ่มถาม

“ถามทำไม” ชายชราถามกลับ

“รถเก่าแบบนี้ เวลาเสีย ลุงซ่อมไหวเหรอ”

“ซ่อมได้ ซ่อมเอง”

“ลุงซ่อมเป็นเหรอ”

พอมาถึงประโยคนี้ เฮียเจียวบอกว่า “แหม คำถามนี้มันแทงใจดำผม เขาไม่รู้เหรอว่าผมเป็นช่างอยู่ที่ เบอร์ลี่ยุคเกอร์ฯ มาก่อน ผมจะโดนปาดหน้ามาถามซื้อรถประจำเลย”

แต่เขาไม่ขายเพื่อนกิน

“ของทุกอย่างมีเรื่องราวครับ เราดูแลมาอย่างดี เราจะไม่ขายคันนี้ ช่วงที่รถญี่ปุ่นตีตลาดบ้านเรา ทำให้ธุรกิจรถสกูตเตอร์อิตาลีลดน้อยลง อีกอย่างเพราะมันซ่อมยาก ซ่อมไม่จบ คนเลยใช้มันน้อยลง เขาก็เปลี่ยนไปใช้รถญี่ปุ่น ซ่อมง่าย อะไหล่ถูก แต่ผมก็ยังทำอยู่ ก็มีลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ที่ยังใช้อยู่ รถคันนี้เป็นเหมือนเพื่อนของผม รวมถึงกลุ่มคนที่ใช้รถสกูตเตอร์คลาสสิกด้วย”

เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพื่อเดินทางไกล

จากวัยหนุ่มเข้าสู่วัยชรา จากรถใหม่ก็เก่าตามกาลเวลา

วันหนึ่งมีคนรุ่นลูกมาชวนเฮียเจียวเข้าแก๊งแลมเบรตตา

“ผมมาเจอน้องๆ ที่เล่นรถ เขาชวนให้ผมเข้ากลุ่ม เพราะพวกเขารู้ว่าผมเป็นช่าง ตอนนั้นผมรู้สึกเขินๆ ที่คนรุ่นลูกชวนเข้ากลุ่ม แต่ตอนนั้นไฟของผมกำลังมอด เพราะผมไม่มีอะไรแล้ว แค่ขี่รถไปวันๆ ให้มันเสื่อมไปตามสภาพ พอได้พลังจากน้องๆ ก็ทำให้ผมเป็นเหมือนรถเก่าที่ได้รับเชื้อเพลิงใหม่ๆ ปลุกกระแสให้ผมตื่นขึ้นมา ก็ผมเล่นรถมาก่อนพวกเขานี่ แค่รถของผมก็อายุมากกว่าพวกเขาแล้ว ผมก็เข้ากลุ่มน้องๆ”

การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แตกต่างเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้กับชีวิต คนต่างวัยแต่สนใจในเรื่องเดียวกัน พวกเขาย่อมถ่ายโอนความรู้และประสบการณ์แก่กัน บางครั้งคนสูงวัยกว่าก็เป็นฝ่ายให้ แต่หลายครั้งก็เป็นผู้รับ

“พอได้รับคำเชิญจากน้องๆ ก็เหมือนปลุกกระแสข้างในของผมขึ้นมา พวกเขาชวนผมออกทริปไปเที่ยวเขาใหญ่ ซึ่งสมัยที่ผมออกทริปไปเขาใหญ่เมื่อปี 2505 ตอนนั้นผมยังไม่มีรถนะ ติดสอยห้อยตามรุ่นพี่ไป ทางบนเขาใหญ่ยังเป็นลูกรังอยู่เลย”

อดีตได้มาบรรจบกับปัจจุบัน ก่อนที่มันจะกรุยทางไปยังอนาคต จากเขาใหญ่ การเดินทางขยับไกลออกไป เฮียเจียวและคณะแลมเบรตตาใช้สองล้อของรถโบราณเดินทางไปภาคเหนือและภาคอีสาน

“พวกน้องๆ ในกลุ่มมั่นใจว่าผมดูแลรถให้คณะได้ เขาพึ่งพาประสบการณ์ของผม แต่เขาเป็นคนปลุกไฟในตัวผมที่มอดไปแล้ว เขาปลุกให้คนฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เราก็เลยไปด้วยกัน” เฮียเจียวบอกว่า คนก็เหมือนรถตรงที่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและซ่อมบำรุงอยู่เสมอ

“มันจะมีคำพูดที่พูดต่อกันมาว่า ‘ถ้าขี่รถแลมฯ แล้วมือไม่ดำ ไม่ใช่รถแลมฯ’  มือดำหมายความว่าต้องมีอะไรให้เราได้ซ่อมสักอย่างระหว่างการเดินทาง” เฮียเจียวพูดถึงรถ แต่ใครได้ฟังก็อาจคิดเชื่อมโยงกับชีวิตที่ต้องมีเลอะเทอะเปรอะเปื้อน จะมีใครบ้างที่ใช้ชีวิตแล้วเนื้อตัวไม่เปื้อนอะไรเลย

แลมเบรตตาสูงวัยคันนี้ยังคงออกทริปอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งเส้นทางในประเทศดูจะสั้นเกินไป เฮียเจียวกับเฮียแลมฯ สีส้มคันนี้จึงข้ามพรมแดนประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์

“เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราเห็นรุ่นพี่ไปสิงคโปร์ ตอนนั้นคิดว่าเราคงไปไม่ได้ แต่ผมอยากสานฝัน ก่อนที่เราจะเกษียณรถคันนี้ อยากไปสิงคโปร์สักครั้ง เพื่อนก็จะไปเป็นเพื่อน แต่มันเป็นทริปที่ต้องใช้เวลานาน เราใช้เวลา 10 วัน จำนวนรถที่ไปด้วยกันจึงมีแค่ 5 คัน เวสป้า 2 คัน แลมเบรตตา 2 คัน ฮอนด้า มังกี้ 1 คัน สานฝันให้ผมได้ไปสิงคโปร์”

ระยะทางที่ยาวไกลย่อมบั่นทอนจำนวนเพื่อนร่วมทาง เพราะเพื่อนร่วมทางเป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางไกล ในคณะสานฝันเฮียเจียวทริปนั้นจึงมีรถเพียง 5 คัน ซึ่งแตกต่างทั้งรูปลักษณ์ โลโก้ และจำนวนซีซี แต่พวกเขามีจุดหมายเดียวกัน

สตาร์ตอีกสักครั้งสิ

“ผมรักมัน เพราะมันอยู่กับเราตลอด เปรียบเสมือนเพื่อน แต่เราต้องดูแลให้ดี เขาถึงจะพาเราไปเที่ยวไหนต่อไหนได้ ขอให้มีเส้นทาง ไปได้หมด ร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพ ชีวิตก็ไปต่อไม่ได้ ผมก็เลยต้องหันมาออกกำลังกายจริงจังตั้งแต่ปี 2530 ผมวิ่งมาตลอด”

เฮียเจียวออกกำลังกายด้วยการวิ่งสม่ำเสมอ ผิวพรรณของเขาเป็นหลักฐาน ไม่ต้องไปถามหาแอปพลิเคชันจับระยะทางวิ่ง ให้ดูที่ผิวหน้าเฮียเจียวก็พอ

“วิ่งครบทุกระยะครับ มาราธอน 9 ครั้ง ครั้งล่าสุดก็สิงคโปร์มาราธอน แต่ถ้าระยะฮาล์ฟมาราธอนก็เกือบร้อยครั้งนะ ถ้ามินิมาราธอนน่าจะเกินร้อย คุยเล่นๆ นะ ถ้าผมใส่เสื้อวิ่งเช้าเย็นทุกวัน ใน 1 เดือน ผมสามารถใส่เสื้อไม่ซ้ำกันได้เลย เพราะลงแข่งมาเยอะ วิ่งที่ไหนก็เก็บเสื้อไว้เป็นอนุสรณ์ เสื้อวิ่งตัวแรกที่ได้มายังเก็บไว้อยู่เลย ตอนนั้นคือปี 2530 รายการวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ ตอนนี้ก็วิ่งเพื่อสุขภาพแล้ว ด้วยวัยของเราเราวิ่งตามน้องๆ ไม่ได้แล้ว แต่เราก็ดูแลร่างกายเพื่อจะได้ขี่รถเที่ยว ถ้าเราไม่วอร์มร่างกาย ไม่ได้เลยนะ

“ทุกวันนี้เวลาขี่รถออกทริป ไปเจอคนที่อื่นเขาก็คิดว่ารุ่นเดียวกัน แต่พอถอดหมวกถอดเเว่น เขางง ถามผมว่าอายุเท่าไร ผมบอกว่า 70+ เขาก็ตกใจทุกคน” เฮียเจียวหัวเราะ

เฮียเจียวเป็นนกตื่นเช้าที่สุดในทริปด้วยเหตุผลว่า “ผมต้องวอร์มรถและวอร์มร่างกาย เราเดินทางไกลหลายร้อยกิโล บางครั้งเคยขี่รถจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ 12 ชั่วโมง พักแค่เติมน้ำมัน เราจึงต้องดูแลทั้งร่างกายและรถให้ดี เพราะรถคือเครื่องยนต์ที่จะพาเราไป ส่วนตัวเราคือคนควบคุมรถ ก็ต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ”

สีหน้า แววตา และน้ำเสียงของเฮียเจียวเวลาพูดถึงการออกทริป ทำให้เรารู้สึกว่า เวลาขี่รถอยู่บนถนน เฮียเจียวยังคงเป็นคนหนุ่มอายุ 18 คนนั้นที่ได้รับของขวัญชิ้นแรกในชีวิต

“ทุกวันนี้ ถ้าใครชวนไปออกทริป จะรู้สึกเหมือนนักมวยเวลาได้ยินเสียงปี่กลอง มือไม้จะร่ายรำไปตามเสียงปี่เสียงกลอง ส่วนเราได้ยินเสียงเครื่องยนต์ ใจมันก็ออกเดินทางแล้ว”

นี่คือเรื่องราวการเดินทางของชายวัย 76 กับรถอายุ 58 ที่เราหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้สูงวัยอีกหลายคนและรถคลาสสิกอีกหลายคัน ได้ถูกสตาร์ตขึ้นใหม่และกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ