ThaiHealth Watch The Series 2024 ตอน เล่นเรื่องรุ่น : ความวุ่นของโลกหลายใบ บนโจทย์ของคนต่างรุ่น

เมื่อปัญหาที่เกิดจากความต่างระหว่างวัยไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เราจึงจำเป็นต้องหยิบยกประเด็นขึ้นมา “เน้นให้เป็นเรื่อง”

ไปกับงาน ‘ThaiHealth Watch The Series 2024 ครั้งที่ 1 ที่หยิบยกหัวข้อ “เล่นเรื่องรุ่น : ความวุ่นของโลกหลายใบ บนโจทย์ของคนต่างรุ่น” มาจัดเป็นงานเสวนาสนุก ๆ ที่ชวนคนทุกวัยมาร่วมคิดและหาคำตอบไปด้วยกัน

โดยในงานเสวนาครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจที่จะทำให้เราเข้าใจ ว่าอะไรทำให้คนต่างวัยคิดต่างกัน นำไปสู่วิธีคิดเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย โดยวิทยากร – คุณฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Pub Policy และศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

พร้อมวงเสวนาที่ชวนตัวแทนจาก 4 เจเนอเรชัน ที่หลายคนอาจจะรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ‘น้องต้นหลิว เรไร สุวีรานนท์’ จากเพจเรไรรายวัน, ‘เก้า วรเกียรติ นิ่มมาก’ จากเพจตายายสอนหลาน ,‘หมอโอ๋ ผศ.พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร’ จากเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และ ‘ป้าพิม เพลินพิศ เรียนเมฆ’ เจ้าของร้านกาแฟสุดฮิป Mother Roaster

มาร่วมสะท้อนมุมมอง และแลกเปลี่ยนวิธีคิด รวมถึงวิธีแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างวัยด้วยการสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมดี ๆ อีกมากมายที่เพจศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.)

หรือช่องทางเว็บไซต์ : https://resourcecenter.thaihealth.or.th

เปิดเวทีเสวนาด้วยข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ นักนวัตกรรมด้านข้อมูลและสื่อสารความรู้ Data Hatch ที่จะมาฉายภาพให้พวกเราเห็นว่าในแต่ละเจเนอเรชันมีวิธีคิดและพฤติกรรมในการรับข้อมูลอย่างไร

“คนวัย 60 ปี ในทุกวันนี้ต่างกันมากกับคนวัย 60 ปี เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผู้สูงอายุสมัยก่อนส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่าผู้สูงอายุทุกวันนี้ที่ยังคงแข็งแรงและมีสิทธิ์มีเสียงที่อยากจะแสดงออก

“ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นมากที่สุด คือความขัดแย้งกับคนในครอบครัว ในเรื่องของการศึกษา และการทำงานในชีวิตประจำวัน ยิ่งเด็กโตมากก็ยิ่งถกเถียงกับคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น นอกจากปัญหาเรื่องส่วนตัวแล้ว ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและศาสนาอีกด้วยด้วย

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่านิยมเรื่องเพศที่ไม่ใช่ทุกรุ่นที่จะเข้าใจได้ ถ้าไปถามคนรุ่นเจเนอเรชัน X เจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน Z เกือบทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับคนอื่น แต่ถ้าไปถามคนที่อายุมากกว่านั้น มีเพียงครึ่งเดียวที่เห็นด้วยกับข้อความนี้ นี่คือโลกทัศน์อีกแบบหนึ่งที่คนสูงอายุอาจจะเข้าใจเรื่องเพศได้ยากกว่ารุ่นอื่น ๆ

“จริง ๆ แล้วเราต่างก็มีโลกหลายใบ โลกใบแรกที่อยากจะชวนดู คือโลกแห่งช่วงวัย เพราะตอนนี้สังคมไทยมีคนถึง 7 รุ่นอยู่ร่วมกัน โลกใบที่ 2 คือโลกทัศน์ ทัศนคติหรือมุมมองที่ต่างกัน และโลกใบที่ 3 คือโลกดิจิทัล หรือโซเชียลมีเดียที่คนแต่ละวัย มีการรับข้อมูลจากช่องทางที่แตกต่างกัน

“โจทย์สำคัญคือเราจะทำอย่างไรถึงจะประสานโลกหลายใบให้ไปด้วยกันได้ ทำอย่างไรให้มีการเปิดพื้นที่ ยอมรับความต่าง และยอมรับในคุณค่าของกันและกัน ที่สำคัญคือยกระดับบทสนทนาให้เป็นมิตรกับผู้คนทั้งในโลกแห่งความจริง และบนโลกโลกโซเชียลมีเดีย”

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและทุกคนจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน แต่การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกันมันไม่ได้ง่ายขนาดแค่คุยกันแล้วจะจบ แต่ยังมีอีกเรื่องอีกหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลัง ที่เราจะต้องแก้ไขกันในภาพใหญ่ด้วย

“จริง ๆ แล้วเรื่องของอายุ หรือเรื่องของรุ่นมันมีอะไรมากกว่านั้น มันมีเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับอายุ เพราะบางครั้งคนในรุ่นเดียวกันก็มีความเห็นต่างกันได้ การที่เราแปะป้ายด้วยการใช้คำว่า ‘รุ่น’ เช่น บางคนอาจจะมองว่าคนแก่ก้าวตามโลกไม่ทัน เวลาที่เกิดการปะทะกันบนโลกโซเชียล บางคนก็บอกว่าเด็กโดนหลอกง่ายไม่รู้ภาษา

“การที่เราเลือกจะตีตราแบบนี้เป็นการเร้าอารมณ์ และปลุกระดมพวกเดียวกันขึ้นมา เพื่อไปสู้กับกลุ่มคนอีกรุ่นหนึ่ง นำไปสู่การลดทอนคุณค่า และทำให้เรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่เกินเยียวยาโดยไร้เหตุผล

“ปัจจัยที่ทำให้เรามีแนวคิดและทัศนคติที่ทำให้เราคิดเห็นต่างกัน อย่างแรก คือเรื่อง ‘ช่วงชีวิต หรือ Life cycle’ คนที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยหนึ่งก็อาจจะมีความคิดแบบหนึ่ง เช่น ตอนที่เราเป็นเด็ก เราอาจจะกล้าเสี่ยง กล้าลุย กล้าตั้งคำถาม แต่เมื่อเราโตขึ้นอาจจะกล้าเสี่ยงน้อยลง

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘ช่วงเวลา’ เมื่อโลกเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่กระทบกับชีวิตคนโดยรวม คนในสังคมก็จะปรับเปลี่ยนมุมมองไปพร้อมกัน เช่น เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ สังคมไทยจากเดิมที่เคยปิดเรื่องของเชื้อชาติ ก็จะค่อย ๆ เริ่มปล่อย แม้ว่าแต่ละกลุ่มอาจจะมองไม่เท่ากันแต่สังคมก็เริ่มเปิดกว้างมาก และไปในทิศทางเดียวกันยิ่งขึ้น

“สุดท้ายคือเรื่องของ ‘ผลจากรุ่น’ การที่คนเกิดมาในช่วงเวลาเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน เห็นข่าวแบบเดียวกัน ทำให้เกิดการสร้างตัวตน และหล่อหลอมคนในแต่ละรุ่นขึ้นมา

“สิ่งที่เราต้องทำ คือเปลี่ยนวิธีคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกคนในสังคมรู้สึกว่ามันไปด้วยกันได้ นั่นคือการให้ทุกคนมีพื้นที่แสดงออกได้อย่างเท่าเทียม สังคมที่มีการกำกับดูแล หรือบริหารด้วยความยุติธรรม ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ และการปะทะกันระหว่างรุ่นจะหายไป ถ้าเราพูดคุยกันแล้วรู้สึกว่าที่เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรมเพื่อส่วนรวมกันจริง ๆ”

“คุณตาคุณยายที่บ้านชอบแซวด้วยความเอ็นดู แต่บางทีเราก็เก็บไปคิดน้อยใจ แล้วพอคุณตาคุณยายรู้ว่าเราจริงจัง เขาก็จะเสียใจไปด้วยสุดท้ายพอได้พูดคุยกัน เราก็เข้าใจว่าเขาไม่ได้มีเจตนาจะว่า เขาแค่หยอกเล่น ๆ

“ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้คนต่างวัยเกิดการพูดคุยและเข้าใจกันมากขึ้น สำหรับหนูจะพูดตรง ๆ ไปเลยว่าแบบนี้มันไม่ใช่นะ ไม่เก็บเอาไว้ หรือเดินเงียบ เดินหนี ลองเปิดใจ อย่าเพิ่งไปแบ่งว่าเป็นคุณตาคุณยายจะไม่เข้าใจ หรือเราต้องรับฟังและตามเขาทุกอย่าง อยากให้ลองพูดคุย แบ่งปันความคิดของเราให้เขาฟังบ้าง พาเขาไปทำกิจกรรม หรือไปเที่ยวที่วัยรุ่นเที่ยวกัน หรือชวนทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อทำให้เขารู้ว่าเดี๋ยวนี้เด็ก ๆ คิดอย่างไร เด็ก ๆ ชอบทำอะไร ตัวเด็กเองก็จะได้รู้ด้วย ผู้ใหญ่ก็เปิดใจให้เราได้เหมือนกัน”

“ถ้าเรามองผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล แล้วอยู่บนหิ้งตลอดเวลา ไม่สามารถจะแตะต้องอะไร สุดท้ายความสัมพันธ์ของเราจะห่างขึ้นเรื่อย ๆ

“สำหรับผมคุณตาคุณยายเหมือนเป็นพี่รหัส คือจะเคารพมากกว่าเพื่อนปกติ แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นเพื่อนที่ห่วงใยกัน มีความสุขด้วยกัน
บอกเล่าเรื่องราวให้กันและกันฟังได้

“ผมโชคดีที่คุณตาคุณยายเปิดรับทั้งคู่ แต่ถ้าบ้านไหนเจอว่าพูดอะไรไปก็ไม่ถูกคอไปเสียหมด หรือมีอารมณ์ที่ฉุนเฉียว ไม่รับฟัง เราก็อาจจะต้องปล่อยเขาไปก่อน ให้เขาได้จัดการกับอารมณ์ และความรู้สึกตรงนั้นก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน หาวิธีปรับจูนเข้าหากัน อาจเริ่มจากสังเกตในสิ่งที่เขาชอบเพื่อให้เขาค่อย ๆ เปิดใจให้กับเรา”

“หลัก ๆ เลยคือช่วงมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ควรคุยกัน เวลาที่เราใช้อารมณ์คุยกัน มันจะไม่ได้ใช้ตรรกะและเหตุผล สมองส่วนความคิดต่าง ๆ จะปิดทำการ แล้วจะเปิดใช้แต่โหมดปกป้องตัวเอง และพยายามทำให้อีกฝั่งหนึ่งพ่ายแพ้ ซึ่งอันนี้อาจจะนำมาซึ่งความร้าวฉานได้ในที่สุด

“แต่ก็อย่าเพิ่งไปคิดว่า ‘ช่างมันเถอะ’ ‘ไม่ต้องไปคุยหรอก จะได้ไม่มีเรื่อง’ ความคิดแบบนี้จะทำให้เกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายความสัมพันธ์ การที่เราไม่ได้พูดออกไปว่ากำลังรู้สึกอะไร มันจะไปเดือดพล่านอยู่ข้างใน ทุกความสัมพันธ์ควรมีพื้นที่ที่สามารถคุยกันได้ว่ามีอะไรที่โอเค หรือไม่โอเค

“และอีกอย่างที่สำคัญมากคือ อย่าถอดใจที่จะคุยกัน เพราะเมื่อไหร่ที่เราถอดใจในการคุยกัน แปลว่าเรายอมที่จะให้คน ๆ นั้นไม่มีความสำคัญ และสุดท้ายจะกลายเป็นอคติ ซึ่งจะยิ่งทำให้คุยกันยากยิ่งขึ้น

“เพราะฉะนั้นการที่เราได้ยินการถกเถียง ไม่เห็นด้วย หรือการพูดย้อน ที่อาจจะทำให้เราขุ่นเคืองอยู่บ้าง แต่ถ้าเรามองดี ๆ มันคือการบอกว่าเรายังสำคัญพอ ที่จะอยากปรับความเข้าใจ อยากให้เปิดพื้นที่ถกเถียง อย่าเอาเรื่องความเป็นวัย หรือการมีอำนาจเหนือกว่ามาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่เข้าใจกัน”

“ในฐานะผู้สูงวัยอยากให้วัยรุ่น หรือคนที่อายุน้อยกว่า สื่อสารกับเราด้วยการพูดตรง ๆ ดีที่สุด เพราะยิ่งอ้อมค้อม ยิ่งไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งปิดกั้นว่า ‘ผู้สูงอายุแก่แล้ว คุยไม่รู้เรื่องหรอก’ คำนี้ฟังแล้วปวดใจ อยากให้ลองเปิดใจให้กันทั้งสองฝ่ายก่อน

“แล้วคำที่ไม่ควรใช้กับลูกหลานเลยคือ ‘ฉันรู้ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน’ น้ำร้อนที่เราอาบอาจจะมีอุณหภูมิไม่เท่ากันก็ได้ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเขาไม่รู้อะไรเลยหรือ ในขณะที่คนสูงวัยรู้มากเกินไปไหม แล้วเราจะจูนกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคนสูงวัยต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เราได้รู้ในสิ่งที่ลูกหลานคิด หลานพูดอะไรมาก็ต้องฟังก่อน การเรียนรู้ซึ่งกันและกันไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน ก็ล้วนต้องเปิดใจและรับฟังกัน ความสัมพันธ์ของเราถึงจะไปต่อได้”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ