จากสุสานเก่าสู่ ‘สวนสุขภาพแต้จิ๋ว’ พื้นที่สีเขียวย่านสาทรที่ดีต่อใจคนในชุมชน

จากสุสานเก่าสู่ ‘สวนสุขภาพ’

กรุงเทพฯ ตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตร.ม./คน ตามเป้าหมายโครงการ Green Bangkok 2030  ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) 

เราเลยจะเห็นการปรับโฉมและบูรณะพื้นที่รกร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างต่อเนื่องในตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา  เขตสาทรย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ย่านใจกลางเมืองที่มีพื้นที่ค่อนข้างแออัด เต็มไปด้วยตึกสูง พื้นที่สีเขียวน้อย กรุงเทพฯ และภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ป่าช้าวัดดอน ให้เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานต่อสาธารณะมากขึ้นประกอบกับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของนโยบายภาครัฐ ที่อยากให้เขตชุมชนเมือง เกิดชมรมผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่าง ๆ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าช้าให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างสวนสุขภาพเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์จึงตอบโจทย์การแก้ปัญหาเมืองและคุณภาพชีวิตได้อย่างดี 

‘สวนสุขภาพแต้จิ๋ว’ เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองย่านสาทรที่ถูกล้อมรอบด้วยตึกสูง เดิมจะรู้จักกันในชื่อ ‘ป่าช้าวัดดอน’ ซึ่งเป็นสุสานของชาวจีน แต่บรรยากาศของสวน ณ ปัจจุบันไม่ได้วังเวงอย่างที่คิด เพราะมีการปรับภูมิทัศน์แต่ละโซนให้ดูสะอาดตา และเป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น ดูจะคึกคักไม่แพ้สวนสาธารณะใหญ่ ๆ หลายแห่งเลยด้วยซ้ำ 

พื้นที่สำหรับผู้สูงวัย ย่านสาทร 

ทุกเช้า เมื่อประตูสวนสาธารณะเปิดออก เหล่าผู้สูงอายุจำนวนมากจะมารวมตัวกันเพื่อใช้เวลาพักผ่อนในแบบของตัวเอง รับลมเย็น ๆ แดดอ่อน ๆ ยามเช้า ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว เพราะการได้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่กลางแจ้ง ทำให้พวกเขาไม่ต้องอุดอู้อยู่ในพื้นที่คับแคบ ทั้งยังได้เจอเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ นับเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ของวันที่สามารถเติมเต็มความสุขให้พวกเขาได้อย่างดี

นั่นคงตอบได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า ทำไมเมืองจึงควรมีสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น

เดินเข้าไปด้านในจะเห็นลู่วิ่งระยะสั้น ฟิตเนส ลานกีฬา ลานออกกำลังกาย และมีโซนที่เป็นพื้นที่สงบ  ไว้สำหรับคนมานั่งอ่านหนังสือ หรือมานั่งทำสมาธิตอนเช้า สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ที่นี่มีกิจกรรมจากชมรมต่าง ๆ ให้เลือกทำมากกว่า 30 ชมรมด้วยกัน ตั้งแต่ชมรมหลักอย่างสมาคมนักวิ่งแต้จิ๋ว, ชมรมเพาะกาย, ชมรมแบดมินตัน, ชมรมหมากรุก, ชมรมเทควันโด, ชมรมแอโรบิก, ชมรมร้องเพลง และอื่นๆ อีกมากมาย จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งออกกำลังกายชื่อดังในย่านสาทร ที่มีผู้เข้าใช้วันละประมาณ 1,000 คน เลยทีเดียวมีตั้งแต่เด็กเล็กจนไปถึงผู้สูงวัยอายุกว่า 80 ปี  

ชัยรัตน์ สีหรัชมงคล อายุ 72 ปี

“ผมเกษียณมาสิบกว่าปีแล้ว แวะมาที่นี่แทบทุกวันเพราะใกล้บ้าน บรรยากาศรอบ ๆ ก็ดี ต้นไม้เยอะ ช่วยเติมออกซิเจนได้ดีมาก ผมจะมาวิ่ง มาเดิน แล้วก็มาตีแบดมินตัน พออายุมากขึ้นเรายิ่งต้องหมั่นออกกำลังกาย ตรวจเช็กสุขภาพร่างกายเราอยู่บ่อย ๆ นั่นแหละ แต่ผมว่าที่สำคัญกว่าร่างกายคือจิตใจ เราต้องทำจิตใจให้ร่าเริง ต้องไม่ลืมออกไปหาทำอย่างอื่นที่มันเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต

“อย่างที่นี่จะมีชมรมให้เลือกเยอะมาก ๆ บางคนชอบร้องเพลงก็มาร้อง มาสังสรรค์เฮฮาให้ชีวิตมีความสุขในแต่ละวัน พอมีพื้นที่ตรงนี้ก็เหมือนช่วยให้วัยอย่างเรา ๆ ไม่ห่อเหี่ยว เพราะถ้าให้อยู่แต่บ้านก็เหงา แต่อย่างน้อยมาที่นี่ชีวิตก็ยังมีสีสัน”

สุวรรณณี ตั้งทองปั้น อายุ 66 ปี หนึ่งในผู้ใช้บริการสวนเล่าว่า 

“พี่มาบ่อยเพราะใกล้บ้าน ที่นี่บรรยากาศดีร่มรื่นต้นไม้เยอะ ปกติจะมาเต้นแอโรบิก วิ่ง เข้าฟิตเนส แต่ช่วงนี้เน้นมาเดินอย่างเดียว ส่วนใหญ่ก็จะมาตอนเช้าเป็นประจำ 5 วันต่อสัปดาห์ แรก ๆ พี่วิ่งได้วันละรอบ วันละกิโลครึ่ง ตอนนี้พี่ออกกำลังกายวันละ 2 ชั่วโมง  อีกอย่างพอมาตรงนี้พี่ได้มีเพื่อน มีสังคม มันช่วยเรื่องซึมเศร้าด้วยนะ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะอยู่แต่บ้านเฉย ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ ไม่รู้จะทำอะไร”

จันทิพย์ มิคาระเศรษฐ์ อายุ 65 ปี  ครูสอนรำมวย

“การมีพื้นที่แบบนี้เราว่ามันดีมากเลยนะ ผู้สูงอายหลายคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราเขาอยู่บ้านเฉย ๆ พอได้มาที่นี่เขาก็ชอบที่ได้มีเพื่อนมีสังคม รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น เราออกกำลังกายมา 9 ปี เริ่มรำมวยมา 4  ปี เราชอบเรื่องการออกกำลังกายเพราะตอนที่เรายังไม่เกษียณมีความเครียดความกังวลจากงานเยอะ แต่พอมาออกกำลังกายก็เหมือนการคลายเครียดอย่างหนึ่ง หลัง ๆ พอเริ่มทำมาเรื่อย ๆ ตัวเราพัฒนาขึ้นแบบเห็นได้ชัด โรคภัยไข้เจ็บสุขภาพจิตเราก็ดีขึ้น เราเลยเริ่มสนใจแล้วก็จริงจังมากขึ้น”

ไสว ศรีสุริฉัน อายุ 80 ปี 

“พอพื้นที่ตรงนี้มีความสะดวกสบายมากขึ้น คนก็เริ่มเข้ามาใช้กันเยอะขึ้น เริ่มคึกคัก มีชีวิตชีวากว่าแต่ก่อน ผมมาที่นี่เป็นประจำแทบทุกวัน เพราะรู้สึกว่าพอได้ยืดเส้นยืดสายแล้วกระชับกระเฉงขึ้น ไม่เอื่อยเฉื่อย พอได้มาเดินสวนแล้วมันสดชื่น บรรยากาศรอบ ๆ ก็ร่มรื่น แล้วยังได้ออกกำลังกายได้สุขภาพดี ๆ กลับไป อย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร” 

เสียงจากผู้มาใช้บริการเป็นส่วนหนึ่งช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่า ‘การออกแบบเมืองที่ดี สร้างสูงวัยที่มีคุณภาพได้’  ยิ่งจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เมืองยิ่งควรมีพื้นที่กลางสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะสวนสาธารณะเป็นพื้นที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงวัยได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน ได้เติมเต็มความสุขจากกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไม่เหงาหงอย ทั้งยังได้กลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองและใส่ใจสุขภาพตัวเองอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนให้เกิดพื้นที่เช่นนี้มาก ๆ ย่อมคุ้มค่ากว่าการใช้เงินงบประมาณไปกับค่ารักษาพยาบาล

แม้ว่าปัจจุบันแม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นว่าพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นเป็น 7.58 ตร.ม./คน  แต่ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกวางไว้ว่า คนหนึ่งคนควรมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 10 ตรม. นี่จึงเป็นการบ้านสำคัญที่ผู้บริหารระดับนโยบายจะต้องเร่งหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะประชากรสูงวัยที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้มีพื้นที่สำหรับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของพวกเขา  

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ