แรงปะทะต่างวัย สู่ขุมพลังความหนุ่มสาวของประเทศ


“เด็กสมัยนี้นี่มัน …”

“โอเค บูมเมอร์”

ในอดีต ภาษาอาจเป็นกำแพงใหญ่กั้นขวางการสื่อสาร แต่ในวันที่ความรู้และเทคโนโลยีทำให้พรมแดนการสื่อสารบางลงจนแทบล่องหน กลับกลายเป็นค่านิยมของ ‘รุ่นคน’ หรือเจเนอเรชัน (Generation) ที่ขึ้นมาเป็นทั้งกำแพงและสร้างแรงปะทะอยู่เนืองๆ

ไม่ว่าจะปะทะฝีปากหรือปะทะทางร่างกาย ท่ามกลางความขัดแย้งที่มากขึ้นเรื่อยๆ ล้วนทิ้งบาดแผลไว้กับทุกรุ่น จนคน ‘รุ่นใหม่’ ‘รุ่นเก่า’ เลือกกระแทกประตูใส่กันเรื่อยมา

ความที่คนไทยกำลังอายุยืนขึ้น – ยืนยาวยิ่งกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียและโลก กลายเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอย่างน้อย 6 รุ่นอยู่ร่วมกัน พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้เร็วเพียงกะพริบตา แถมพ่วงด้วย ผลประโยชน์ของคนรุ่นต่างๆ ไม่ตรงกัน เช่น คนอายุน้อยต้องการสวัสดิการ การศึกษาที่ดี ขณะที่วัยเกษียณอยากได้เงินบำนาญ บริการรักษาพยาบาลมากกว่าอื่นๆ คนหนุ่มสาวกังวลอัตราว่างงาน ผู้สูงอายุกังวลเรื่องเงินออมเงินเฟ้อ เป็นต้น

นอกจาก ผลประโยชน์ที่ไม่ไปทางเดียวกันในเชิงโครงสร้างแล้ว ค่านิยมที่ขัดแย้งกัน ก็ยิ่งผลักให้แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างวัยสูงขึ้น รุนแรงขึ้น ทั้งที่ ผลประโยชน์และค่านิยมที่ขัดแย้งของผู้คนเป็นเรื่องที่ควรจะบริหารจัดการได้

แต่จะทำอย่างไรล่ะ…

‘เจนฯ’ ยังจำเป็นอีกไหม

ไม่ว่าจะเป็นเบบี้บูมเมอร์ Gen X Gen Y Gen Z รวมถึงอัลฟ่า การติดป้ายว่าแต่ละคนอยู่ในเจนเหล่านี้ค่อยๆ สร้างตัวตนของแต่ละรุ่น และกลายเป็นการสร้างมุมมองด้านลบต่อรุ่นอื่นๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นอัลฟ่าถูกมองว่าฉลาดแต่ขาดความอดทน คน Gen Z มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แต่ไม่ชอบความลำบาก หรือคน Gen Y ไม่ขยันและมั่นใจในตัวเองมากเกินไป

แชนนอน อัง (Shannon Ang) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า “คงดีกว่ามากหากทำความเข้าใจภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงระหว่างรุ่นที่ถูกกำหนดโดยบริบททางประวัติศาสตร์ร่วมกัน โดยไม่ต้องพยายามติดป้ายหรือเหมารวมผ่านช่วงปีเกิดที่ถูกเลือกโดยพลการ”

ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างวัยที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งม็อบนักเรียนเลวกับการประท้วงกระทรวงศึกษา ตั้งแต่เรื่องเสื้อผ้า ทรงผม จนถึงคุณภาพระบบการศึกษา รวมถึงเพลง ‘ประเทศกูมี’ ของ Rap Against Dictatorship กลุ่มแร็ปเปอร์ชาวไทยที่บอกเล่าปัญหาต่างๆ ในไทยผ่านไรม์ (Rhyme) ดุเดือด รวมถึงอีกมากมายที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นที่คนรุ่นใหม่บอกลาไม่อยากอยู่ประเทศเดียวกับคนสูงอายุอีกต่อไป

โมงยามที่ผู้คนอายุยืนยาวและไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เส้นทางเดินของประเทศที่ต่างฝ่ายต่างกระแทกประตูใส่หน้ากันจึงเชื่องช้าและเสียดสีกันหนักขึ้นทุกที

ต่างรุ่น ต่างใจ – จริงหรือ

ในงาน TDRI Annual Public Conference 2022 ‘ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น ?’ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้พูดถึงการใช้ภาพจำของคนแต่ละรุ่นในการบริหารงานและการตลาดโดยขาดหลักฐานสนับสนุน ทำให้เกิดภาพจำที่ผิดและทำให้แต่ละรุ่นเสี่ยงต่อการขัดแย้งมากขึ้น

“ความแตกต่างของคนแต่ละรุ่นเกิดจากปัจจัยรุ่นคนเท่านั้น โดยละเลยต่อปัจจัยด้านวัฏจักรชีวิต เช่น ไม่ว่ารุ่นไหนก็สนใจเรื่องสุขภาพเมื่ออายุมากขึ้น หรือเหตุการณ์ใหญ่ที่เปลี่ยนค่านิยมของคน เช่น การก่อการร้ายหรือโรคอุบัติใหม่อย่าง COVID-19 รวมถึงปัจจัยของประเทศที่อยู่และเติบโตซึ่งจะกำหนดวัฒนธรรมประจำชาติ เช่น ทัศนคติเรื่องเพศ”

ดร.สมเกียรติ ยังเล่าถึงการสำรวจค่านิยมระดับโลก ( World Value Survey) ซึ่งได้ทำการสำรวจในไทยไปแล้ว 3 รอบโดยสถาบันพระปกเกล้าเพื่อทำความเข้าใจค่านิยมด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเชื่อมั่นต่อสถาบันต่างๆ ของคนไทย 5 รุ่น คือ รุ่นก่อนสงคราม รุ่นเบบี้บูม Gen X Gen Y และ Gen Z โดยตัดรุ่นอัลฟ่าออก เพราะยังมีอายุน้อยมาก ผลที่ได้น่าสนใจตรงที่ในค่านิยมด้านต่างๆ มีทั้งเหมือนกันและต่างกัน โดยในส่วนที่เหมือนกันคือ ทุกรุ่นต่างมองว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี อยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตในระดับสูง เชื่อว่าประเทศไทยมีการทุจริตค่อนข้างมาก และเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการมากกว่าสถาบันอื่น

สำหรับส่วนที่ต่างกันหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาคือ ทัศนคติการเลี้ยงลูกที่เริ่มเปลี่ยนไปมองว่าควรให้เด็กเป็นตัวของตัวเองมากกว่าอยู่ในโอวาท ด้านสิ่งแวดล้อมที่คนเจน Z และรุ่นก่อนสงครามจะเห็นความสำคัญมากกว่ารุ่นอื่น ด้านการทำงานที่คนเจน Y และ Z ถวายตัวให้การทำงานโดยไม่ใส่ใจมากหากรบกวนเวลาพักผ่อน เช่นเดียวกับด้านศาสนาที่คนเจน Y และ Z คิดว่าสำคัญแต่น้อยกว่ารุ่นอื่น อีกทั้งคนเจน Z ยังเชื่อในการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติมากกว่าปฏิรูป ส่วนหนึ่งเพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่เคยเห็นความสำเร็จจากการปฏิรูปเลยตั้งแต่เกิดมา

เปลี่ยนแรงปะทะเป็นกำลัง

จากการสำรวจค่านิยมที่ยกมา หากจะยังยึดตามรุ่นก็ใช่ว่าจะแตกต่างในความคิด อาจยึดมั่นมากกว่าหรือน้อยลงบ้าง แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะสูงวัยหรือหนุ่มสาว ต่างก็ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่ดีกันทั้งนั้น

ในหัวข้อ ‘จัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย’ ดร.สมเกียรติ ได้มีเสนอแนวทางจัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัยถึงทั้งคนรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ไว้ โดยเริ่มจากคนรุ่นก่อนหรือผู้สูงวัยในการสร้างระบบสวัสดิการ ระบบการศึกษาที่ดี เปิดใจกว้าง ยอมรับความหลากหลายโดยมองคนรุ่นใหม่เป็นพลเมืองเหมือนกัน

“ผู้ใหญ่มักมองว่า คนรุ่นใหม่ไปทำลายจารีตและธรรมเนียมที่ตนยึดถือ แต่ในประวัติศาสตร์นั้น คนรุ่นใหม่คือผู้สร้างความเปลี่ยนเสมอ” ดร.สมเกียรติ กล่าว “การให้ที่ทางกับคนรุ่นใหม่ ไม่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ในมือคนรุ่นเก่า จะช่วยให้ประเทศไทยมีหนุ่มสาวมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ที่ ดร.สมเกียรติ ฝากให้คิดว่าคนเพียงรุ่นเดียวอาจไม่มีพละกำลังพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ น้อยที่สุด สัดส่วนประชากรก็ห่างกันพอสมควรแล้ว

“ในสังคมผู้สูงอายุที่คนรุ่นก่อนมีจำนวนและทรัพยากรมากกว่าในการขับเคลื่อน คนรุ่นใหม่จึงควรสร้างพันธมิตรกับคนรุ่นก่อน แสวงหาจุดร่วม ระมัดระวังจุดต่าง สร้างพันธมิตรและคำนึงถึงความรู้สึกและตัวตนของคนรุ่นก่อนด้วย”

“เพราะการบริหารความขัดแย้งไม่ใช่หน้าที่ของรุ่นใดรุ่นหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องจับมือทำด้วยกัน”

แน่นอนว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่โจทย์ในตอนนี้ของประเทศไทยคือจะบริหารแรงปะทะเหล่านั้นยังไงให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในการพาประเทศไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับทุกคนได้ ก็คงต้องเก็บมายาคติเดิมเข้ากรุ แล้วเปิดประตู คุย และฟังกันให้มากขึ้นเสียที

แหล่งที่มาข้อมูล

  • การจัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย (https://bit.ly/3YL1gcT)
  • ทีดีอาร์ไอ เปิดประเด็น “ จัดการความขัดแย้งแห่งช่วงวัย ” แก้โจทย์ให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น (https://bit.ly/3VphRA6)
  • The Big Read: Generational gap — a bridge too far or are we making too much of it? (https://bit.ly/3HZG3pI)
  • The Psychology Behind Generational Conflict (https://bit.ly/3FOiGN1)
  • It’s Time to Stop Talking About “Generations” (https://bit.ly/3HXMWI5)
  • อย่าให้ ‘เจนฯ’ เป็นเส้นคั่นระหว่างเรา : จุดอ่อนของการมองโลกแบบเจเนอเรชัน (https://bit.ly/3hGsL6Y)

ขอบคุณภาพจาก : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ