“Take CARE Giver ดูแลหัวใจของผู้ดูแล” วงเล่าเรื่องของผู้ดูแลที่อยากให้ทุกคนกลับมาดูแลหัวใจตัวเอง

‘ผู้ดูแล’ คือคนที่ต้องใช้พลังงานทางร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ต้องทำหน้าที่ดูแลคนอื่นตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน จนทำให้หลายคนไม่มีเวลาได้พัก หลงลืมให้ความสำคัญและใส่ใจตัวเองไป บางครั้งแม้เหนื่อยล้าจนแทบจะไม่ไหว แต่ก็ยังคงฝืนทำหน้าดูแลคนอื่นต่อไป จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาทั้งสุขภาพที่ทรุดลง ความเครียดสะสม หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ดูแลและผู้ที่ได้รับการดูแล

หากไม่อนุญาตให้ร่างกายหรือจิตใจได้พักบ้าง จากที่เคยทำหน้าที่ดูแลคนอื่น วันหนึ่งผู้ดูแลก็จะต้องเจ็บป่วยและกลายเป็นคนที่จะต้องถูกดูแลไปเสียเอง เพราะในวันที่ผู้ดูแลไม่ไหว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำหน้าที่ประคับประคองและดูแลคนอื่นต่อไปได้เช่นกัน

มุมมองส่วนหนึ่งจากวงเสวนาอ่างปลา “Take CARE Giver ดูแลหัวใจของผู้ดูแล” โดย สถาบันวิจัยสังคมและสุขภาพ มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในงาน Soul Connect Fest 2025: HUMANICE มหกรรมพบเพื่อนใจ ที่จัดขึ้น ณ สามย่าน มิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ดูแลอย่างมีความสุข

ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดเชียงใหม่ คุณแม่ผู้มีประสบการณ์การเป็นผู้ดูแลลูกสาวที่เป็นออทิสติกมายาวนานกว่า 30 ปี บอกว่าตลอดเวลาการผู้ดูแลของเธอนั้น เธอไม่เคยร้องไห้เลย เธอเพียงแค่รู้หน้าที่ของตัวเองและทำหน้าที่อย่างมีความสุข เธอเป็นแม่และอยากเห็นลูกใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขแม้ในวันที่พ่อแม่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพบกับปัญหา หรือความลำบากในบางครั้ง แต่ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของลูก ความเข้าใจจากสามี ก็ทำให้ทุก ๆ วันในการดูแลของเธอเต็มไปด้วยความสุข และเธอก็สามารถมองเห็นความสุขได้เสมอแม้กระทั่งกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต อย่างการได้ดูนก หรือเห็นต้นไม้ออกดอก

หมั่นเติม ‘อาหารใจ’ ให้ตัวเองเสมอ

นพ.วิชยุตม์ เพศยนาวิน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์ประสบการณ์ในการทำงานในฐานะผู้ดูแลว่า เมื่อรู้สึกเครียดหรือท้อให้กลับมาทบทวนตัวเองก่อนเสมอ เพราะนั่นจะทำให้เราเข้าใจความหมายหรือคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ และการที่จะเป็นผู้ดูแลได้ดีนั้นจะต้องมี ‘อาหารใจ’ ไว้คอยหล่อเลี้ยงด้วย​ ซึ่งสามารถเป็นอะไรก็ได้ อย่างในมุมของคุณหมอ ช่วงแรกอาหารใจอาจจะเป็นความกลัว ความโกรธ คือ กลัวว่าจะต้องรู้สึกแย่​แบบที่เคยรู้สึก เลยต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้เจอความรู้สึกแบบนั้น หรือโกรธที่สถานการณ์หรือบริบทไม่เอื้อ​ แต่อยากจะช่วยคนตรงหน้าให้ได้ แต่พอทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ​ กลับทำให้คุณหมอเหนื่อยมากขึ้น แต่พอลองปรับอาหารใจให้เป็น​ความหวัง คือ หวังว่าจะช่วยเขาได้ หวังว่าเขาจะดีขึ้นได้ ก็ทำให้คุณหมอสบายใจขึ้น

ทุกวันนี้อาหารใจของคุณหมอคือความเชื่อ​ คือ​เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ มีของ​ ที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นได้​ เชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น และเชื่อว่ามีคนที่เชื่อแบบนี้เหมือนกันด้วย ซึ่งการที่คุณหมอเชื่อแบบนั้นมันทำให้เขารู้สึกเหมือนตัวเองมีเพื่อนที่ก็รู้สึกแย่​ รู้สึกทุกข์อยู่ไม่ต่างกัน และเขาก็ไม่ได้เผชิญกับความรู้สึกนี้เพียงลำพัง

เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

ทางด้านของ​คุณพินาภรณ์ สังกลมเกลี้ยง พยาบาลประจำหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตโรคหัวใจ งานการพยาบาลอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช​ ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานเป็นผู้ดูแล​ว่า​ เธอรู้สึกว่าตัวเองโชคดีและได้รับสิทธิพิเศษที่ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากคนไข้ ซึ่งพอมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวของคนไข้บ่อย ๆ เห็นว่าคนไข้มีความทุกข์​และปัญหามากมาย​ ก็ทำให้เธอรู้สึกว่าปัญหาหรือเรื่องราวของตัวเอง​นั้นดูเล็ก​ลง​ เบาลง​ ประกอบกับมุมมองทางวิชาชีพที่สอนให้มองเรื่องต่าง ๆ ตามเหตุและผล ทำให้เธอทำทุกอย่างเต็มที่ เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ไม่จมอยู่กับความผิดหวัง​หรือความเสียใจนาน เพราะเข้าใจดีว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมชาติที่ใคร ๆ ก็พบเจอได้ นอกจากนี้เธอยังมองว่าการได้ใช้ความรู้ ความสามารถในการดูแลคนอื่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเธอก็ได้นำองค์​ความ​รู้ที่เธอใช้ในการดูแลคนไข้ไปใช้ดูแลคนในครอบครัวด้วย

เรื่องประสบการณ์หรือความทุกข์จากการเป็นผู้ดูแลมีความหลากหลายมาก และแต่ละคนก็มีต้นทุนที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นคำตอบในการสร้างระบบการดูแลเพื่อให้ผู้ดูแลได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมนั้นคงไม่ได้มีคำตอบเพียงแบบเดียว และนั่นอาจต้องเริ่มจากตัวเราเองและคนที่อยู่รอบข้างก่อนว่า เราอยากให้โลกแห่งการดูแลกันนั้นเป็นแบบไหน เพราะจริง ๆ แล้วบทบาทในการเป็นผู้ดูแลนั้นถือเป็นหน้าที่พื้นฐานที่เราทุกคนต่างมีต่อตัวเองและใครบางคนเสมอ เป็นสิ่งที่กลมกลืนอยู่กับการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน

สิ่งสำคัญคือคนเรามีชีวิตในหลายบทบาท เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่กับการทำอะไรบางอย่างเป็นเวลานานแล้ว อย่าลืมย้อนกลับมามองชีวิตในมุมอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะการกลับมาดูแลใครคนหนึ่งที่อยู่กับเรามาเสมอ นั่นก็คือ ‘ตัวเอง’ เพื่อให้เราแข็งแรงมากพอที่จะส่งต่อพลังกาย พลังใจให้คนอื่นต่อไปได้ มีความสุขกับการใช้ชีวิตในแบบที่ได้ดูแลตัวเองและคนอื่นไปพร้อมกัน

ขอบคุณภาพจาก Soul Connect Fest

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ