“เราเกิดมาอยู่กับแม่ตาบอดจนเคยชิน แม่เลี้ยงเรามาคนเดียว เพราะพ่อตาบอดเสียไปตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ แม่ออกไปขายลอตเตอรี่ กลับมาบ้านก็ทำกับข้าวให้กิน ดูแลเหมือนแม่ทั่วไป เราเลยไม่เคยติดใจเรื่องแม่ตาบอด จนกระทั่งไปโรงเรียน เพื่อนเริ่มตั้งคำถามเรื่องนี้ เห็นแม่เป็นตัวประหลาด เริ่มล้อเลียน จนเราเกิดคำถามว่า ทำไมเราต้องมีแม่ตาบอดด้วย
“สังคมทำให้เรารู้สึกว่าเรามีปมด้อย”
‘เปิ้ล’ – กัญจิรา ศรีวิยศ ลูกสาววัย 43 ปี ของ สุพัตรา จิโน หญิงตาบอดวัย 71 ปี ย้อนอดีตวัยเยาว์ด้วยแววตาตั้งคำถาม
“เวลาถูกบุลลีเรื่องนี้ ตอนแรกเรานั่งร้องไห้ ต่อมาเริ่มเงียบ เราเลยไม่มีเพื่อนเล่นด้วยที่โรงเรียน ยิ่งเราร้องไห้ ไม่โต้ตอบ เพื่อนก็ยิ่งบุลลีหนักขึ้น กลายเป็นเรื่องสนุกของเขา เราไม่รู้จะทำให้เพื่อนหยุดได้อย่างไรเพราะเราเปลี่ยนแม่ไม่ได้ ร้องไห้ไปฟ้องครูก็ไม่มีประโยชน์ เพราะลับหลังครู เพื่อนก็ล้ออยู่ดี พอร้องไห้ไปบอกแม่ แม่ก็บอกว่า อย่าไปสนใจ แต่เราเป็นเด็ก เรายังทำไม่ได้
“ตอนนั้นเรามีทางเลือกแค่ 2 ทาง ระหว่างนั่งร้องไห้ไปเรื่อยๆ กับการปกป้องตัวเอง”
เมื่อถูกเพื่อนล้อเลียนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เด็กหญิงกัญจิราจึงตัดสินใจเลือกทางหลัง
นับจากวันที่ตัดสินใจเลือกเดินทางสายบู๊ แม่ตาบอดก็ถูกโรงเรียนเรียกพบจนนับไม่ครบว่ากี่ครั้ง กว่าจะเรียนถึง ปวส. เปิ้ลต้องย้ายโรงเรียนรวมแล้ว 9 แห่ง เพราะไม่ว่าจะย้ายไปโรงเรียนไหน เธอต้องเผชิญกับการบุลลีในรูปแบบที่แตกต่างกันไปอยู่ดี เพราะสังคมมองความพิการเป็นปมด้อย แม้ว่าแม่ของเธอจะขยันทำมาหากิน และไม่เคยแบมือขอเงินบริจาคจากใครแม้แต่บาทเดียวก็ตาม
สายบู๊สู้บุลลี
“แม่เธอตาบอดแล้วทำงานอะไรเหรอ”
คำถามที่เพื่อนใหม่ของเปิ้ลมักสงสัย
คนส่วนใหญ่มักจดจำภาพคนตาบอดเดินร้องเพลง ขายลอตเตอรี่ และนวดแผนโบราณจนชินตา
ใช่… แม่ของเปิ้ลก็ขายลอตเตอรี่และนวดแผนโบราณเหมือนคนตาบอดทั่วไป แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งและส่วนน้อยของสิ่งที่สุพัตราเคยทำมาทั้งหมด
“ตอนลูกเล็กๆ ลำบากมาก เราขายทุกอย่าง ตั้งแต่ลอตเตอรี่ พวงกุญแจ งานฝีมือ สุพรีเดอร์ม แอมเวย์ เดินผ่านร้านขายแหนมแล้วได้กลิ่นหอมน่ากินก็ซื้อมาขาย เวลาไปรับลอตเตอรี่ที่สมาคมคนตาบอดก็เอาอุปกรณ์คนตาบอดไปขาย ทั้งวิทยุ นาฬิกามีเสียง ไปซื้อตามคลองถมแล้วเอามาขายต่อ อักษรเบรลล์ก็เรียนจนอ่านเขียนได้คล่อง นวดแผนโบราณก็ทำได้
“เราแค่ตาบอด ไม่ได้เป็นง่อยนะ”
สุพัตราไล่เรียงอาชีพที่เธอเคยทำให้ฟัง เห็นลิสต์อาชีพของแม่เลี้ยงเดี่ยวในโลกมืดคนนี้แล้ว คนตาดีหลายคนที่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ อาจมีสะดุ้ง ยิ่งเมื่อรู้รายได้บางเดือนของเธอเมื่อ 30 ปีก่อน อาจจะถึงกับสตันไปชั่วขณะ เพราะตัวเลขเทียบเท่าระดับผู้บริหารที่ทำงานในห้องแอร์เลยทีเดียว
“บางเดือนมีรายได้รวมกันมากกว่าห้าหมื่น แต่บางเดือนหาเงินไม่ทันใช้ก็มี เดือนที่หาไม่ทันเราก็ไปยืมเพื่อนที่เขาไม่คิดดอกเบี้ย”
เบื้องหลังความขยันสุดชีวิตและการทำงานหนักจนเหนื่อยสายตัวแทบขาด ไม่ใช่เพื่อความสุขสบายของตัวเธอเอง แต่เป็นเพราะต้องการ ‘ชดเชย’ ดวงตาที่หายไป
“เราไม่อยากให้ใครมาสงสารเพราะว่าตาบอด เราอยากส่งเสียลูกด้วยเงินตัวเอง เราไม่เคยให้ลูกรับเงินบริจาคหรือทุนอาหารกลางวันที่โรงเรียนเสนอความช่วยเหลือมาให้ เพราะเราแค่มองไม่เห็น แต่เรายังทำงานได้ ถ้าทำงานไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง เราส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชนดีๆ เพราะอยากให้เขาเรียนโรงเรียนดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
“เราสงสารลูกที่มีแม่ตาบอด เพราะฉะนั้นถ้าลูกอยากได้อะไรก็จะหาให้ ไม่อยากให้ลูกน้อยหน้าเพื่อน”
แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าแม่ตาบอดจะหาเงินเพื่อให้ลูกเท่าเทียมกับเพื่อนเพียงใด เด็กเกเรก็พร้อมจะหาทางโจมตีเด็กที่มีจุดอ่อนและตอกย้ำความไม่เท่าเทียมนั้นเสมอ
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สองแม่ลูกจะไปเดินขายลอตเตอรี่ตามตรอกซอกซอยต่างๆ มีอยู่วันหนึ่ง เปิ้ลบังเอิญเจอเพื่อนนักเรียนชายห้องเดียวกันกำลังเล่นแบดมินตันอยู่บนถนนในหมู่บ้านจัดสรรเข้าพอดี เมื่อไปถึงโรงเรียนในเช้าวันจันทร์ เพื่อนคนเดียวกันนั้นก็หยิบท่อนไม้ที่เตรียมไว้ออกมา แล้วทำท่าเลียนแบบแม่ของเปิ้ล พร้อมตะโกนว่า “ลอตเตอรี่… ลอตเตอรี่…”
“ตอนนั้นเราอยู่ ม.1 กำลังเข้าวัยรุ่น พอเห็นปุ๊บ นาทีนั้นคิดอะไรไม่ออกแล้ว วิ่งเข้าไปกระโดดถีบเพื่อนทันที แล้วก็เอาไม้ที่มันล้อเลียนเรานั่นแหละฟาดใส่ไม่ยั้ง”
เปิ้ลบรรยายฉากบู๊ที่ผ่านมานาน 30 ปี ได้อย่างเห็นภาพราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
“ก่อนหน้านั้นเวลาถูกเพื่อนล้อเลียน เราจะนั่งร้องไห้ แล้วก็จะโดนบุลลีหนักขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายทนไม่ไหว ตัดสินใจลุกขึ้นสู้ทั้งน้ำตา”
พอกลับถึงบ้านแล้วเล่าให้แม่ฟัง สิ่งที่แม่ช่วยได้คือการสอนคาถาที่ว่า “ช่างเขาเถอะ”
“เวลาเราร้องไห้กลับบ้าน แม่ก็จะบอกว่า ‘ช่างเขาเถอะ ความตาบอดมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครไม่เล่นด้วยก็ไม่ต้องไปเล่นกับมัน’ ตอนนั้นเรายังเด็ก เรายังปล่อยเรื่องนี้ไปไม่ได้ แล้วแม่เลี้ยงเรามาคนเดียว ไม่มีพ่อ ไม่มีญาติพี่น้องในกรุงเทพฯ พอฟังเรื่องเรา แม่ก็จะเครียด เราก็เลยไม่พูดและเลือกปกป้องตัวเองแทน จนทำให้เรากลายเป็นเด็กก้าวร้าวในสายตาครูและเพื่อน เพราะครูไม่ได้คิดว่าเราถูกบุลลี”
การปกป้องตัวเองของเปิ้ลในสายตาครูคือการที่เธอทำร้ายร่างกายเพื่อน ตั้งแต่ชกต่อย ตบตี ไปจนถึงเอาฟุตเหล็กเจาะหัวเพื่อน กัญจิรากลายเป็นชื่อของเด็กก้าวร้าวที่ครูต้องเชิญแม่มาโรงเรียนทุกครั้งที่เกิดเรื่อง ทั้งที่สาเหตุเริ่มมาจากอีกฝ่ายที่มองการล้อเลียนเรื่องแม่ตาบอดของเพื่อนเป็นเรื่องสนุก
“แม่บอกว่า อย่าไปทำเขา เราก็บอกว่า ถ้าเขาไม่มาล้อ เราก็ไม่ทำ ตอน ป.1 ถึง ป.3 เราอยู่โรงเรียนในค่ายทหาร โดนเด็กผู้ชายแกล้งหนักมาก พอขึ้น ป.4 แม่เลยย้ายเราไปอยู่โรงเรียนเอกชนหญิงล้วน เพราะคิดว่าสังคมน่าจะดีกว่า”
ในมุมมองของแม่ย่อมอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนดีที่สุดเท่าที่จะส่งเสียได้ และเชื่อว่าโรงเรียนแห่งใหม่จะช่วยให้ลูกเจอปัญหาเดิมน้อยลง
ว่ากันตามจริง สิ่งที่แม่คิดก็ไม่ผิดนัก แต่ยังมีสิ่งที่แม่คิดไม่ถึงเช่นกัน
“ครอบครัวเพื่อนมีสตางค์ มีพ่อแม่ที่ไม่พิการ ครอบครัวสมบูรณ์พร้อม แต่เรามีแม่ตาบอด เลี้ยงเราคนเดียวด้วยอาชีพเดินขายลอตเตอรี่ ความแตกต่างทางสังคมยิ่งทำให้เรารู้สึกถึงปมด้อยมากขึ้นไปอีก จำได้เลยว่าวันที่แม่มาประชุมผู้ปกครอง พอแม่เดินเข้ามาในโรงเรียน เด็กทั้งโรงเรียนออกมายืนดูกันเต็มระเบียงตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นบน เหมือนดูดารา แล้วก็พูดว่า ‘เธอ… ดูสิ คนนั้นมีแม่ตาบอด’
“จากที่เพื่อนรู้กันแค่ในห้องเรียน วันนั้นรู้กันทั้งโรงเรียนเลย”
ความอายในหัวใจของเด็กยากนักที่ใครจะเข้าใจ หากไม่เคยผ่านวัยเยาว์ที่เคยมีบาดแผลมาก่อน
ด้วยใจที่อยากให้เพื่อนยอมรับ เปิ้ลเลยใช้วิธีซื้อใจที่แลกมาด้วยการขโมยเงินแม่ไปเลี้ยงเพื่อน เพราะความคิดแบบเด็กๆ ที่ว่า
“อยากให้เพื่อนรู้ว่า ถึงเราจะมีแม่ตาบอด แต่เราก็เลี้ยงเธอได้เหมือนกัน”
ฝั่งแม่เองก็พยายามเติมเต็มให้ลูกด้วยการให้ทุกอย่างเท่าที่คนเป็นแม่จะให้ได้ แม้บางครั้งจะหมายถึงการทำงานหนักขึ้นก็ตาม
“เวลาเราบอกแม่ว่าเพื่อนมีของอะไรบ้าง แม่ก็จะหามาให้เลย สมัยนั้นเด็ก ป.4 ใช้ปากกาลูกลื่นแท่งละร้อย พอเพื่อนเอามาอวดเรา แล้วเราบอกแม่ปุ๊บ วันรุ่งขึ้นแม่ก็หาเงินมาซื้อให้ทันที ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเขาเหนื่อยมากแค่ไหนที่ต้องไปหาเงินมาเพื่อให้เราไม่น้อยหน้าเพื่อน”
1 ปีผ่านไปในรั้วโรงเรียนเอกชนหญิงล้วนค่าเทอมหลักหมื่น ไม่มีบาดแผลทางกายให้เจ็บช้ำ แต่รอยฟกช้ำทางใจกลับเรื้อรังอยู่ภายใน เด็กหญิงวัยประถมเริ่มอ่อนล้ากับการวิ่งไล่ตามเพื่อนที่มีความแตกต่างกันในทุกด้าน แม่ของเธอจึงต้องยอมตัดใจและพาลูกกลับไปฝากน้องสาวให้ดูแลแทนที่หมู่บ้านในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ที่นั่น เปิ้ลเข้าเรียนในโรงเรียนวัดใกล้บ้าน โดยแม่ทำงานหาเงินส่งไปให้ และเดินทางไปเยี่ยมลูกทุกๆ 2 สัปดาห์หลังจากวันหวยออก พร้อมของฝากล้นมือแทนความคิดถึง
“เราเข้าใจนะว่าพ่อแม่ตาบอดหลายคนอยากพิสูจน์ว่าตัวเองส่งเสียลูกให้เรียนโรงเรียนเอกชนได้ แต่ลูกจะเหนื่อยมากในการปรับตัวเข้ากับเพื่อน เพราะสภาพครอบครัวและฐานะที่แตกต่างกัน ตอนกลับไปอยู่บ้านน้า เด็กที่โรงเรียนกับเด็กในหมู่บ้านไม่กล้าบุลลีเรา เพราะฐานะบ้านเราดีกว่าเด็กอีกหลายคน แล้วเรามีญาติพี่น้องเยอะ คอยช่วยปกป้องเราได้ ช่วงนั้นก็เลยไม่ได้ก้าวร้าวกับใครอีก”
หลังจบ ป.6 เปิ้ลหวนคืนสู่อ้อมอกแม่อีกครั้งด้วยหัวใจที่แข็งแรงยิ่งขึ้น
“แม่รักเรามาก อยากให้เรามาอยู่ด้วย ตอนนั้นเราเองก็เริ่มโตขึ้นด้วย เริ่มรับรู้ได้ว่าอะไรที่แม่ทดแทนได้แทนดวงตา แม่จะหามาให้เราทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้ลูกอับอาย
“จนบางทีเรามีมากกว่าเพื่อนด้วยซ้ำไป”
ศักดิ์ศรีที่ไร้ความพิการ
ชีวิตมัธยมต้นของเปิ้ลเริ่มต้นใหม่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งกว่าเก่า แม้ว่าช่วงปีแรกเธอจะยังคงถูกเพื่อนนักเรียนชายบุลลีเหมือนเดิม แต่เธอเริ่มใช้คาถาที่แม่สอนให้ท่องมาแต่เด็กเป็นเกราะคุ้มภัยแทน คาถาสั้นๆ ที่บอกว่า
“ช่างเขาเถอะ เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้”
วันหนึ่งเพื่อนนักเรียนหญิงที่นั่งเรียนข้างกันถามว่า “แม่เธอตาบอดเหรอ”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เปิ้ลต้องเจอกับคำถามนี้ แต่ครั้งนี้เธอหันไปตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น พร้อมพูดความจริงในใจออกไปโดยไร้น้ำตาว่า “ใช่ ถ้าเธอคิดว่าแม่เราตาบอด ครอบครัวเรายากจน เธอไม่อยากคบเรา เราก็ไม่ว่า แต่ถ้าถามว่าเราเสียใจไหม เราก็เสียใจนะ ถ้าเธอจะเลิกคบเรา”
พูดแล้วก็เหมือนยกภูเขาลูกใหญ่ที่ทับถมหัวใจจนเป็นแผลกดทับมานานออกไป นาทีนั้น เธอรู้สึกโปร่งเบา ไม่มีความอายซ่อนอยู่ มีเพียงพื้นที่ว่างเพื่อเปิดรับมิตรภาพจากเพื่อนที่พร้อมจะก้าวเข้ามาอย่างเต็มใจ
“พอเราพูดออกไปตรงๆ เพื่อนก็ไม่ได้เลิกคบเรา หลังจากนั้นเราพาเพื่อนมาที่บ้าน แม่กำลังนั่งกินข้าวอยู่พอดี เพื่อนยืนจ้องแม่เหมือนไม่เคยเห็นคนตาบอดกินข้าวเอง เราเลยถามไปตรงๆ ว่า ‘เธอแปลกใจอะไร เวลากินข้าว เธอส่องกระจกหรือไง’ พอได้ยินอย่างนั้น เพื่อนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าคนตาบอดก็เหมือนคนปกติ แม่เราก็เหมือนแม่ปกติ ทำกับข้าว กวาดบ้าน ทำงานได้ทุกอย่างโดยไม่ได้ใช้ตามองเท่านั้นเอง”
หากทุกโรงเรียนมีเด็กขี้อิจฉา ชอบแกล้งเพื่อน ทุกโรงเรียนย่อมมีเด็กหัวใจงดงามด้วยเช่นกัน
“เมื่อก่อนเคยโมโหว่า ทำไมเราต้องเกิดมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ด้วย แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เพื่อนพูดว่า ‘ขนาดแม่มึงตาบอดนะ ยังซื้อของแพงขนาดนี้ให้มึงเลย แม่กูตาดียังไม่ซื้อให้เลย’ ประโยคนั้นเหมือนทำให้เราตาสว่าง เริ่มคิดว่า เออเนอะ… ขนาดแม่เราตาบอด เราอยากได้อะไรเราก็ได้ เรามีทุกอย่างเหนือกว่าเพื่อนด้วยซ้ำ
“เราเริ่มภูมิใจที่เป็นลูกแม่ เพราะแม่ทำอะไรได้ทุกอย่าง รู้สึกว่าแม่เราเจ๋ง และยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราห้ามอ่อนแอ ต้องเข้มแข็งเหมือนแม่ให้ได้”
หลังจากมองเห็นความรักของแม่ในโลกมืดชัดเจนขึ้น ‘ปมด้อย’ เรื่องแม่ตาบอดก็กลายเป็น ‘ปมเด่น’ ในสายตาลูก เพราะไม่ว่าจะมองมุมไหนก็เห็นแม่ทำได้ทุกอย่าง แม่ตาบอดของเธอหาเงินเก่งกว่าแม่ตาดีอีกหลายคน แถมยังเข้าใจวัยรุ่นถึงขนาดมีโบนัสให้เธอไปซื้อเสื้อผ้าอีกเดือนละ 1,000 บาท ไม่รวมกับค่าขนมรายเดือนที่แม่ให้ไปโรงเรียนแบบกินตามใจปากได้โดยไม่ต้องง้อใคร
ชีวิตของเธอสุขสบายจนถึงขั้นเจอเพื่อนบ้านสบประมาทให้เจ็บใจ จนตัดสินใจออกจากบ้านไปนานหลายปี
“แม่เลี้ยงเราดีเกินไป ให้เราทุกอย่าง จนคนพูดว่า ถ้าไม่มีแม่ เราอยู่ไม่ได้หรอก เราไม่ได้หนีแม่ไปเพราะแม่มองไม่เห็น แต่เราอยากพิสูจน์ตัวเองให้แม่เห็นว่า เราดูแลตัวเองได้”
เปิ้ลแยกไปอยู่เองที่เชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเรียน ปวช. หลังจากนั้นเมื่อเธอเริ่มสร้างครอบครัวของตัวเอง เตรียมพร้อมจะเป็นแม่คน เธอกับแม่ก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งในเชียงใหม่ แม่เริ่มหันมาประกอบอาชีพนวดแผนโบราณอย่างจริงจัง จนสามารถเก็บเงินผ่อนตึกแถว 3 ชั้นในเขตคูเมืองชั้นใน บนถนนศรีภูมิ ซอย 1 เปิดเป็นร้าน ‘สุพัตรานวดแผนโบราณ โดยคนตาบอด’ มีหมอนวดตาบอดในความดูแลร่วม 10 คน
ร้านนวดแห่งนี้สั่งสมชื่อเสียงมายาวนานกว่า 20 ปี จนเป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการหมอนวดตาบอดที่เชียงใหม่ เพราะที่นี่ไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่ยังเป็นบ้านหลังที่ 2 ของหมอนวดตาบอดอีกหลายคนด้วยเช่นกัน
สุพัตรากลายเป็น ‘แม่ครู’ ของหลายชีวิตที่ทำงานในร้านของเธอ ไม่ได้เป็นแม่ของลูกสาวชื่อเปิ้ลเพียงคนเดียวอีกต่อไป
ด่านชีวิตที่ไม่มีอะไรง่าย
ปัจจุบัน ความรักของแม่ตาบอดขยายไปถึงความรักที่มีให้ ‘ป้าย’ – จิรกานต์ ศรีวิยศ หลานสาว จนหมดหัวใจ เพราะหลานคนนี้ทั้งรักและเรียนรู้ในการดูแลยายผ่านบทเรียนเล่มโตเขียนจากใจผู้เป็นแม่
“เราบอกเขาตั้งแต่เล็กๆ ว่า ยายตาบอด ต้องดูแลยาย พอเขาเริ่มเดินได้ เราก็ให้เขาวิ่งเอาของไปให้ยาย เตรียมรองเท้าให้ยายใส่ การดูแลยายทำให้เขาเป็นเด็กอ่อนโยน ไม่ว่าจะไปไหนเขาจะหันไปดูยายเสมอ หลานไม่เคยอายที่มียายตาบอด เพราะเราสอนมาตั้งแต่เล็ก
“ถ้าเราไม่เคยแสดงออกว่าอาย ลูกเราก็จะไม่อาย พอเขาเริ่มโต อยากจะชวนเพื่อนมาบ้าน เราก็ถามว่า บอกเพื่อนหรือยังว่ายายตาบอด เขาก็บอกเพื่อนโดยไม่ได้อายอะไร แล้วเขาก็ภูมิใจว่ายายเก่งกว่ายายเพื่อนอีก แถมยายยังทำกับข้าวเก่งกว่าแม่อีก (หัวเราะ)
”ตอนลูกเป็นวัยรุ่น เริ่มเกเรบ้าง เพราะเขาได้ยินว่าเราก็เคยเกเรช่วงนั้น เราเลยบอกลูกว่า แม่เคยทำอย่างนี้มา ยายเสียใจมาก ยายร้องไห้ ถ้าหนูทำไม่ดี คนที่จะเสียใจคือทั้งแม่และยาย แม่เสียใจคนเดียวไม่เป็นไร แต่ทำไมยายต้องเสียใจ 2 ครั้ง ไม่ยุติธรรมกับยายเลย พอพูดแบบนี้เขาก็คิดได้ บอกว่าหนูจะไม่ทำให้ยายเสียใจ เพราะเขารู้ว่ายายรักเขาที่สุด”
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่กว่าคนตาบอดสักคนจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้รอโชคช่วยหรือแบมือขอเงินใคร หัวใจของพวกเขาต้องแข็งแกร่งมากกว่าคนที่ไม่พิการหลายเท่า ชีวิตในวัยเยาว์และการเลี้ยงดูจากครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญ แม่ครูของหมอนวดตาบอดเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของตัวเองให้ฟังว่า
“พ่อแม่เป็นชาวบ้านธรรมดานี่ละ แต่เลี้ยงเรามาดีมาก ไม่เคยทำให้น้อยอกน้อยใจ สอนเราให้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยไม่ห้ามว่าไอ้นั่นทำไม่ได้ ไอ้นี่ทำไม่ได้ พอเราทำอะไรได้ พ่อก็ชอบอวดเรากับคนอื่นที่มาบ้านว่าเราเก่งนะ ขนาดมองไม่เห็นยังทำนั่นทำนี่ได้
“แม่ก็เหมือนกัน สอนเราทุกอย่าง พอแม่นั่งซักผ้า แปรงผ้า เราได้ยินเสียงแซ่กๆ ก็ถามว่า แม่ทำอะไร พอแม่บอกว่าซักผ้า เราเลยถามต่อว่า แล้วแม่ทำยังไงให้ได้เสียงอย่างนี้ แม่ก็เอามือเรามาจับแล้วทำให้เกิดเสียง เราก็เลยเข้าใจวิธีทำ หรืออย่างเวลาแม่จะทำกับข้าว เราก็จะบอกว่า หนูทำด้วย หลังจากนั้นก็ทำทุกอย่างได้เอง เพราะแม่จับมือสอนหมด
“เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าเราตาดีนะ เราคงจะฉลาดกว่านี้ ทำอะไรได้มากกว่านี้ พอเป็นแบบนี้ก็เลยคิดว่า เราต้องทำให้ได้เหมือนคนตาดี”
แต่ความจริงที่สุพัตราต้องยอมรับคือ มีบางอย่างที่คนตาบอดไม่มีวันทำได้เช่นกัน
“ตอนลูกกำลังพูดได้ ถามว่าอันนั้นอันนี้คืออะไร เราก็น้อยใจนะที่มองไม่เห็นเพราะเราสอนลูกเองไม่ได้ ช่วงนั้นเลยตัดสินใจพาลูกไปฝากไว้กับน้องสาวที่เชียงใหม่ แล้วก็ไปหาลูกหลังวันหวยออก พอลูกเริ่มรู้เรื่องถึงได้พามาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ
“เวลาลูกถูกล้อเพราะมีแม่ตาบอดเราก็สงสาร บางทีอยากจะตบหน้าคนพวกนั้นแทนลูก ตอนลูกถูกทำร้ายร่างกายก็โมโหมาก นั่งมอเตอร์ไซค์ไปแจ้งตำรวจเองเลย พอได้เงินค่าปรับมาก็บริจาคให้โรงเรียนเพราะเราไม่ได้อยากได้เงิน แต่อยากลงโทษคนที่ทำร้ายลูกเรา”
หากชีวิตของลูกคนตาบอดเปรียบเหมือนเกมที่มีหลายด่าน และแต่ละด่านมีทางเลือกพร้อมปลายทางที่แตกต่างกันรออยู่ ด่านยากที่สุดคือด่านที่ต้องผ่านการถูกบุลลีช่วงวัยเยาว์ เพราะมีทางเลือกไม่มากนัก หากเลือกสายดราม่า ปลายทางก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าจนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หากเลือกสายบู๊ บาดแผลบนร่างกายก็คงเหวอะหวะไปทั่วตัว ส่วนบาดแผลทางใจ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยความรักอย่างถูกทาง ก็อาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ทำให้ลูกวิ่งหนีห่างจากอกพ่อแม่พิการจนเข้าสู่เส้นทางที่ผิดได้
เปิ้ลเองผ่านด่านต่างๆ เหล่านั้นมาได้ในที่สุด และคงไม่ผิดหากจะบอกว่า แม้แต่ละด่านจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เธอก็ผ่านทุกด่านมาได้ด้วยความรักของแม่
“ตอนเด็กๆ เราไม่รู้ว่าเขารักเรา รู้แต่ว่าเราอยากได้อะไร เขาก็หามาให้ สมัยเด็กเราสองคนไม่เคยกอดกันเลย เพราะแม่ไปเดินขายลอตเตอรี่มา ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อนจนเหงื่อเต็มตัว เขาก็ไม่อยากให้เรากอด
“แต่เหตุการณ์หนึ่งที่เขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาโคตรรักเราเลย คือวันที่เราถูกเด็กแถวบ้านทำร้ายจนหน้ายับ แม่กระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปแจ้งความคนเดียว เรารู้สึกเลยว่าแม่รักเรามาก แม่ไม่ค่อยพูด แต่จะบอกรักเราผ่านการกระทำ
“ตอนที่เรายังผ่านเรื่องที่แม่ตาบอดไปไม่ได้ เราก็หนักมากเหมือนกัน แต่พอถึงวันนี้แล้วมองย้อนกลับไป เรารู้สึกว่าเราโคตรโชคดีเลยที่เป็นลูกของแม่ตาบอดคนนี้ เคยมีคนบอกว่า เราเหมือนน้าสาว แล้วแซวว่าสลับแม่ผิดคนหรือเปล่า เราบอกว่า ไม่เอานะ เราอยากเป็นลูกแม่คนนี้ เพราะเขาให้เราได้ทุกอย่าง ไม่เคยทำให้ด้อยกว่าคนอื่นเลย
“เราภูมิใจในตัวแม่ตาบอดคนนี้”
อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว คุณอาจจะกำลังเซฟเรื่องราวนี้ลงในเมมโมรีของหัวใจ แล้วรีสตาร์ตความรู้สึกที่มีต่อคนตาบอดใหม่
ครั้งต่อไปเมื่อคุณเดินสวนกับพวกเขา สายตาของคุณจะมองข้ามความพิการ เพราะพวกเขาเพียงมองไม่เห็นโลกด้วย ‘ตา’ แต่ยังมองเห็นโลกด้วย ‘ใจ’ และต้องการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับเราทุกคน