‘ความสุขเลือกเอง’ ของนักเล่นตุ๊กตาวัย 69 ปี ที่มี ‘บาร์บี้’ เป็นลมหายใจ

ในสมัยที่ทองราคาบาทละ 400 บาท ขณะที่ตุ๊กตาบาร์บี้เองก็ราคา 400 บาทเหมือนกัน คุณคิดว่าพ่อแม่จะซื้อบาร์บี้ให้ลูกง่ายๆ ไหม

ความทรงจำของเด็กผู้หญิงจำนวนไม่น้อยกับบาร์บี้คืออาการใจเต้นแรงทุกทีที่ได้ยืนมอง ซึ่งสำหรับหลายคนการยืนมอง หรือได้จับกล่องบาร์บี้ที่วางขายถือเป็นประสบการณ์ใกล้ชิดที่สุดแล้ว เพราะบาร์บี้ในสมัยที่มีการนำเข้ามาแรกๆ นั้นเธอเป็นของเล่นที่สวยและแพงมาก แม้แต่นักสะสมบาร์บี้ที่มีตุ๊กตาในคลังมากกว่า 10,000 ตัว ก็ผ่านประสบการณ์ใกล้เคียงกันมาก่อนแล้วเช่นกัน

สุนันท์ วิเศษกิจ หรือ ครูตุ๊กตา เจ้าของโรงเรียนอนุบาลวัย 69 ปี คือนักสะสมที่ว่าและยังไม่มีทีท่าจะเลิกคลั่งไคล้ตุ๊กตาได้ง่ายๆ ด้วยเหตุผล 2 ข้อคือ หนึ่ง เธอชื่อตุ๊กตาจึงชอบตุ๊กตาเป็นพิเศษ สอง เธอมีฝันใหม่ที่ใหญ่กว่าเป็นการเปิดพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตา เพื่อให้เหล่าทูตตัวจิ๋วได้มอบความสุขให้กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังมีหัวใจเด็กคนอื่นๆ

43 ปีที่แล้ว ตอนครูตุ๊กตาและสามีไปฮันนีมูนกันที่ฮ่องกง ขณะเดินเล่นที่ ร้านขายของเล่น Toy ‘R’ Us เธอบังเอิญสบตาเข้ากับบาร์บี้ลิมิเต็ดเอดิชันที่ครูอธิบายว่า ‘สวยจนตัวสั่น’ จนกลายเป็นรักแรกพบ พอเอ่ยปากบอกว่าอยากได้ คุณสามีก็ไฟเขียวทันที จบทริปนั้น ครูตุ๊กตาเลยได้หอบหิ้วบาร์บี้ในฝัน 10 ตัวกลับบ้าน

ตอนนั้นใครจะคิดว่าจะมาไกลขนาดนี้” ครูเล่าปนขำ

ใช่สิ ครูเกิดมารวย … หากใครคิดแบบนี้คงต้องปรับทัศนคติใหม่ เพราะครูตุ๊กตาเกิดในเมืองก็จริง แต่เป็นครอบครัวเมืองที่ค่อนไปทางลำบาก เธอเป็นพี่สาวคนโตที่ต้องคอยกระเตงน้องทั้ง 3 คน ระหว่างรอแม่ที่มีอาชีพแม่บ้านออกไปทำงาน เด็กหญิงตุ๊กตาเรียนโรงเรียนวัดและ ต้อง กลับมาช่วยทำงานบ้านทุกวัน เธอเริ่มรับจ๊อบสอนภาษาไทยตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ม.2 โดยมีลูกศิษย์เป็นลูกหลานชาวจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองไทย พอเรียนจบก็ทำงานเป็นครู ก่อนจะเริ่มทำโรงเรียนอนุบาลของตัวเอง ตุ๊กตาเหล่านี้จึงมาจากน้ำพักน้ำแรงของครู ไม่ได้มาจากว่าเกิดมารวยอย่างที่บางคนเดาไปเอง

ความฝันที่เริ่มต้นจากตุ๊กตาตัวละ 2 บาท

บาร์บี้เดบิวต์สู่สายตาชาวโลกครั้งแรกในนิวยอร์กเมื่อปี พ.ศ. 2502 และกลายเป็นความฝันของหญิงน้อยหญิงใหญ่ในทันที แม้บาร์บี้ยุคแรกๆ หน้าตาอาจไม่ได้สวยเป๊ะเท่าทุกวันนี้ แต่ผู้ผลิตอย่างบริษัทแมทเทล ( Mattel ) ก็ขยันพัฒนาและปล่อยคอลเล็กชันใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบาร์บี้ผิวสี ผิวขาว ผิวโทนเอเชีย รวมถึงคอลเล็กชันที่ไปคอลแลบกับ Louis Vuitton, Christian Dior, Bob Mackie และแบรนด์ดังอีกหลายแบรนด์ ทั้งยังมีคอลเล็กชันคาแรกเตอร์บาร์บี้จากการ์ตูนและหนังฟอร์มยักษ์ ยังไม่นับคุณเคน เพื่อนชายมาดสมาร์ตของบาร์บี้ บ้าน รถ และแอ็กเซสเซอรีเพิ่มเติมอีกเพียบ

ครูตุ๊กตาเล่าว่า สมัยก่อนบ้านไหนเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ถือว่าไฮโซ เพราะต้องนำเข้ามาจากอเมริกา “ส่วนเราเวลาพ่อแม่พาไปเดินงานวัด แค่เห็นตุ๊กตาเลียนแบบบาร์บี้ทำจากพลาสติกกลวงๆ เบาๆ กระโปรงเป็นกระดาษย่นโรยกากเพชรวิววับก็ดีใจแล้ว ตัวหนึ่งราคา 2 – 3 บาท พอแม่ซื้อให้ก็ทยอยเก็บทุกสีเลย คิดว่าถ้าวันหนึ่งมีเงินต้องซื้อแบบสวยๆ มาเก็บให้ได้”

แล้วทำไมถึงต้องเป็นบาร์บี้

“อันดับแรกคือเรื่องเสื้อผ้า งานเนี้ยบมาก เขาตัดเสื้อผ้าเหมือนให้คนใส่จริงๆ ถ้าเป็นตุ๊กตาอื่นๆ อาจใช้วิธีด้นถอยหลังธรรมดา แต่บาร์บี้เขาต้องเป๊ะ เย็บเข้าเกล็ด มีชั้นใน ด้วยความที่เป็นคนชอบออกแบบเสื้อผ้า ชอบตัดเย็บอยู่แล้ว เราก็ซื้อตำราตัดชุดบาร์บี้มาศึกษา ดูจากหนังสือบ้าง ดีไซน์ตามจินตนาการบ้าง ถึงขั้นเคยคิดอยากทำเสื้อผ้าบาร์บี้ขาย ติดที่ว่าไม่ถนัดทำออนไลน์

“แล้วบริษัทที่ผลิตเขาก็ไม่เคยตัน สร้างคอลเล็กชันใหม่มาเรื่อยๆ แต่ละคอลเล็กชันก็มีเรื่องราวชวนติดตาม อย่างเราชอบดูหนังเรื่อง พ่อมดมหัศจรรย์แห่งเมืองออซ (The Wizard of Oz) เขาจะผลิตโดโรธี สิงโต นางฟ้า พอเป็นเรื่อง แมรี ป๊อปปินส์ (Mary Poppins) จะมีตัวนางเอก พระเอก ม้า อย่างเรื่อง ทรามวัยกับไอ้ด่าง หรือ ขบวนการหมาจุด (101 Dalmatians ) ก็สวย สวยทั้งนั้น ยิ่งออกมาเราก็ยิ่งอยากได้ เหมือนถูกหลอกขาย แต่ก็ยอม เพราะสะสมแล้วมันสนุก”

แต่ใช่ว่าเมื่อก่อนจะกดสั่งซื้อคอลเล็กชันต่างๆ จาก eBay ได้ง่ายเหมือนตอนนี้ เพราะหลังหิ้วตุ๊กตากลับมาจากฮ่องกง เซ็นทรัลก็เริ่มเอาบาร์บี้สวยๆ มาขาย แต่เท่านั้นยังไม่พอสำหรับความหลงใหลที่ครูตุ๊กตามีให้กับบาร์บี้

“บางครั้งสายรายงานมาว่ามีของใหม่ลงที่สิงคโปร์ เราก็ต้องบินไปซื้อ หรืออย่างห้างทาคาชิมายะก็มีตัวลิมิเต็ดสวยๆ เยอะ ตอนหลังต้องนั่งหาในอินเทอร์เน็ต บางรุ่นออกมาไม่กี่ตัว เราต้องนับถอยหลังว่าเปิดขายเมื่อไหร่จะได้รีบกดสั่งให้ทัน อดหลับอดนอนเพื่อคอยซื้อนี่ไม่ว่ากัน

“ตัวที่หายากสุดของเราตอนนี้คือตัวที่ออกแบบโดยวาเลนติโน ( Valentino Clemente Ludovico Garavani ) ราคาพุ่งขึ้นเป็นแสนแล้ว เพราะมีแค่ 300 ตัว ช่วงนั้นเป็นโปรเจกต์ที่เขาทำออกมาเพื่อหาเงินช่วยเหลือเด็กยากจนทั่วโลก”

ตุ๊กตาป้า ใครอย่าแตะ!

“ห้ามแตะก่อนได้รับอนุญาต!” เป็นคำเตือนที่คนทั้งบ้านต่างรับรู้ในความหวงและห่วงตุ๊กตาไม่ต่างจากลูกในไส้

“เราเก็บสะสมก็คือเก็บจริงๆ เวลาทำความสะอาดต้องล้างมือหรือใส่ถุงมือ เพราะเหงื่อทำให้เสื้อผ้าหรือผิวของตุ๊กตาเปลี่ยนสีได้ อากาศบ้านเรามันร้อนด้วย ตัวไหนแกะออกจากกล่องแล้วก็ต้องอยู่ในตู้ ปิดผ้าม่านกันแสง เพราะเสื้อผ้าบางตัวโดนแสงแล้วสีจะเปลี่ยน เราต้องเปิดแอร์ไว้ด้วยเพราะขนตาจะเยิ้มโดนความร้อน ในตู้ก็ต้องใส่การบูรอย่างดี จะใส่ลูกเหม็นไม่ได้ เดี๋ยวกลิ่นติดเสื้อผ้าตุ๊กตากันพอดี เวลาเอาไปโชว์เราต้องจับเองทุกตัว ห้ามคนอื่นจับเด็ดขาด ลูกสาวจะรู้ดีเรื่องนี้”

หลังจากสาธยายรายละเอียดละเอียดยิบ เมื่อถูกถามว่ารักใครมากกว่ากันระหว่างตุ๊กตากับลูกๆ ครูขำแล้วหยุดคิดก่อนจะตอบว่า “ใกล้เคียงกันนะ แต่รักลูกมากกว่า”

ความรักของครูไม่ได้สงวนไว้ให้เฉพาะตุ๊กตาใหม่แกะกล่อง แต่ยังรวมไปถึงตุ๊กตามือสองที่ถูกทิ้งขว้างอีกด้วย หลายคนหอบตุ๊กตา (ที่ว่ากันว่า) อาถรรพ์มาให้ ครูเองก็เต็มใจรับไว้

“เราบอกเขาก่อนว่ามาอยู่ด้วยกันแล้วก็อยู่กันดีๆ นะ เสร็จแล้วก็ทำความสะอาดเก็บเข้าตู้ บางวันนั่งมองแล้วบอกว่าขอให้แม่ถูกหวย ให้รวยๆ จะได้ทำที่อยู่ให้ใหม่ แต่ก็ไม่เคยถูกสักที แล้วก็ไม่เคยเจออะไรด้วย สงสัยจิตแข็ง ตุ๊กตาตัวไหนที่คนอื่นบอกเอาไว้ที่บ้านไม่ได้ส่วนใหญ่มาอยู่นี่ไม่เคยมีปัญหาเลย”

ตลาดนัดจตุจักรคือพิกัดที่ครูตุ๊กตามักไปเดินเล่นและซื้อตุ๊กตาเก่ากลับบ้าน ไม่ว่าจะมอมแมม ผมเผ้ากระเซิงขนาดไหน ขอแค่ถูกชะตาเป็นพอ ครูต๊กตาก็พร้อมจะพากลับบ้าน บางตัวขาหลุดก็ขอซื้อกลับมาในราคาหลักร้อยแล้วเอากลับมาแปลงโฉมให้เอง ครูมีความสุขทุกครั้งที่ได้ซ่อมแซม เย็บเสื้อผ้า อาบน้ำแต่งตัวให้น้องๆ กลับมาสวยเหมือนใหม่

“สงสารเขา เห็นแล้วมันอดไม่ได้ เราแต่งตัวให้ใหม่สวยชนิดที่ว่าคนขายยังแอบเสียดายที่ขายให้ เพราะจริงๆ ราคามันสูงกว่านั้นมาก”

ความสุขเล่นได้ วัยไหนก็ไม่เกี่ยง

“อายุขนาดนี้ ทำไมยังเล่นตุ๊กตา”

บางคนถามเพราะสงสัย ในขณะที่บางคนถามด้วยน้ำเสียงเจือการตำหนิ ซึ่งสำหรับครูตุ๊กตาเมื่อเจอคำถามนี้ ในฐานะแม่และครูอนุบาล ครูบอกว่าตุ๊กตาเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างวัย ทำหน้าที่สื่อสารและสร้างสัมพันธ์กับเด็กได้ อีกอย่างหนึ่งบาร์บี้เองก็เป็นทั้งแรงบันดาลใจและเหมือนของเล่นอื่นๆ ที่ช่วยสร้างทักษะ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ช่วยสานต่อจินตนาการและความฝันให้กับคนทุกวัย

หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมครูใช้เงินมากมายไปกับการซื้อตุ๊กตา ทำไมไม่เก็บไว้ให้ลูก ครูอธิบายเรื่องนี้ว่า “สมัยนี้ไม่มีแล้วเก็บเงินไว้ให้ลูก เราต้องให้ลูกหาเอง เขาจะได้รู้คุณค่าของเงินที่หามา ตัวเราเองก็ต้องจัดการเงินให้เป็น แบ่งส่วนหนึ่งไว้ซื้อตุ๊กตา แบ่งส่วนหนึ่งเอาไว้เก็บ

“สมัยก่อนกว่าจะได้ของเล่นแต่ละชิ้นนี่ยืนจ้องจนตาละห้อย ต้องเก็บเงินซื้อเอง ทะนุถนอมมาก เพราะได้มายาก ตุ๊กตามันถึงมีคุณค่ากับเรา เพราะตอนเด็กๆ เราถูกพ่อแม่สอนมาแบบนี้ เราเองก็สอนลูกๆ และนักเรียนแบบนี้ โชคดีที่เราทำโรงเรียนเลยได้ใกล้ชิดกับลูก ได้คอยสังเกตพัฒนาการและความคิดของเขาอยู่เสมอ เลยรู้ว่าลูกควรได้อะไรในเวลาไหน ตอนไหนยังไม่พร้อมก็คือไม่ หลายครอบครัวลืมเรื่องพวกนี้ ลูกอยากได้ของเล่นอะไรให้หมด อยากดูไอแพ็ด อยากทำอะไรทำ มันทำให้เด็กเขาไม่เห็นคุณค่า ไม่มีความรักความผูกพัน

“ตอนนี้ลูกสาวคนเล็กก็เอาเป็นแบบอย่างในการสอนลูก ลูกอยากได้อะไรต้องทำงาน ทุกวันนี้หลานต้องช่วยแม่ทำงาน พอได้เงินมาก็เอาหยอดกระปุกจนครบแล้วไปซื้อของที่ตัวเองอยากได้”

ไม่ใช่แค่บาร์บี้เท่านั้น ครูยังสะสมตุ๊กตาพูลลิป (Pullip) ตุ๊กตาแอนิเมเตอร์ (Disney Animators’ Collection Dolls) ตุ๊กตาหมีสตาร์บัคส์ ตุ๊กตาลิงมอนชิชิ (Monchhichi) ตุ๊กตาบีเจดี (BJD) ตุ๊กตาบลายธ์ (Blythe) ที่มีคนเอามาขายต่อ แต่ที่เน้นๆ ก็คือ บาร์บี้ที่มีเกิน 5,000 ตัว

“ เรารู้ว่าอะไรคือความสุขของเรา เวลาไปเที่ยวต่างประเทศคนอื่นอาจซื้อเสื้อผ้าหรือกระเป๋าแบรนด์เนม แต่เราดิ่งไปชั้นของเล่น เพราะห้างในเมืองนอกมักจะมีบาร์บี้หายากให้เลือกเยอะ เราจะตื่นเต้นถ้าได้เจอบาร์บี้เนื้อหิน (silkstone) เนื้อพอร์ซเลน (porcelain) ซึ่งตอนนี้ราคาแพงกว่าตอนที่เราซื้อมาก

“การสะสมมันคือความรัก บางคนชอบแบรนด์เนม บางคนชอบต้นไม้ เราไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าใครถูก ใครผิด ตราบใดที่เขาหาเงินมาซื้อเอง โชคดีที่ที่บ้านเข้าใจเราหมด โดยเฉพาะสามีนี่ยิ่งกว่าเข้าใจเพราะเขาชอบซื้อบาร์บี้สวยๆ มาฝากเวลาไปดูงานต่างประเทศ ส่วนลูก 2 คนก็คอยอัพเดตตัวใหม่ๆ ให้เราฟัง คอยช่วยแม่ดูแลตุ๊กตา เรื่องตุ๊กตาเลยเป็นเรื่องพูดคุยที่สร้างความสุขง่ายๆ ในครอบครัว”

แค่เชื่อมด้วย ‘ใจ’ จะวัยไหนก็เชื่อมกันติด

ด้วยอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับรุ่นลูกรุ่นหลานมาตลอดชีวิต จึงเป็นเรื่องง่ายที่ครูตุ๊กตาจะสนิทสนมกับคนต่างวัย และความต่างนี่เองที่เติมเต็มชีวิตชีวาให้กันและกัน

“อยู่กับคนที่วัยต่างกันเราต้องฟังว่าเขาสนใจหรือต้องการอะไร เราเป็นผู้ใหญ่ต้องอดทน เพราะเด็กๆ เวลาเขาสงสัยอะไร เขาจะถามนู่นนี่ คำถามไม่เคยหมด อย่าเพิ่งรำคาญต้องใจเย็นๆ

“อย่างที่บ้านเองตอนแรกหลานไม่อยากเล่นกับคุณตา เพราะคุณตาต้องทำงานเลยไม่ค่อยมีเวลาให้ ถามอะไรไปก็ไม่ฟังหรือไม่ก็ตอบไม่ได้ แต่พอคุณตาเกษียณแล้วมีเวลาเยอะขึ้นก็เริ่มสนใจหลาน คอยดูว่าเขาชอบอะไรแล้วค่อยๆ แทรกตัวเข้าไป ตอนหลังพอหลานถามเกี่ยวกับไดโนเสาร์หรือวิทยาศาสตร์ คุณตาตอบได้หมด คราวนี้ตาก็กลายเป็นที่พึ่งของเขา พอมีคนถามเกี่ยวกับพวกนี้เขาจะเอาสิ่งที่คุณตาสอนไปตอบด้วยความภูมิใจ

“ส่วนกับเราที่เป็นยายก็สนิทกันมาก เขาชอบชวนเพื่อนมาเล่นกับน้องของยาย เขาเรียกตุ๊กตาของเราว่าอย่างนั้น ในห้องจะมีชุดบาร์บี้ที่เด็กมาเล่นได้ พอเล่นด้วยกันไปสักพักเขาจะเอาก๊อตซิลล่ามาไล่กัดบาร์บี้สนุกสนาน เราเห็นก็แฮปปี้ เขาเองก็มีความสุข”

ไม่เฉพาะแค่ลูกหลานเท่านั้น ครูตุ๊กตายังมีก๊วนบาร์บี้คอลเล็กเตอร์ที่อายุเฉลี่ย 40+ ถือเป็นคอลเล็กเตอร์รุ่นน้องเพราะในวัยใกล้เคียงกันกับครูหาคนคอเดียวกันแทบไม่มี กลุ่มนี้เอาไว้เมาท์เรื่องบาร์บี้ที่เพิ่งออกใหม่ ดีเทลทรงผม แชร์แบบเสื้อผ้า ราคาปัจจุบัน เวลาไปเที่ยวคนอื่นอาจส่งรูปธรรมชาติสวยๆ มาอวดกัน แต่กลุ่มนี้จะส่งรูปบาร์บี้แรร์ไอเท็มที่ไปเจอมาอวดแทน

“อยู่กับคนต่างวัยสนุกมากนะ เขารู้เยอะ ยิ่งคอเดียวกัน ยิ่งเข้าใจกัน อย่างตอนครบรอบ 60 ปีบาร์บี้ เราเอาตุ๊กตาไปโชว์ที่ห้างเอ็มโพเรียม ปรากฏว่ามีน้องๆ เด็กรุ่นใหม่มายืนดูตาวาวเพราะอยากได้ เขาบอกอยากสะสมบ้างแต่ตอนนี้ราคามันสูงมาก บางคนขอบคุณเราที่เอามาแบ่งปันให้ได้เห็น มันจุดประกายเราว่าอยากให้ตุ๊กตาสร้างความสุขให้คนอื่นเหมือนกับที่เราได้รับ เลยมีไอเดียเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เด็กๆ หรือใครก็ตามที่สนใจเข้ามาชม เพราะเรายังมีหนังสือเกี่ยวกับตุ๊กตา ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ บ้านตุ๊กตา รถตุ๊กตา แพทเทิร์นตัดเสื้อผ้า และมีเรื่องราวสารพัดที่เล่าอย่างไรก็ไม่จบ”

ครูตุ๊กตาอัพเดตว่าตอนนี้ออกแบบและวางแผนโปรเจกต์เสร็จแล้ว ถ้าสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ดีขึ้นเมื่อไหร่จะเดินหน้าสร้างเต็มที่ โดยจะเปิดให้ชมตามปกติในวันธรรมดา ส่วนในวันเสาร์ – อาทิตย์จะเพิ่มคลาสพิเศษ ชวนผู้เข้าชมทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างเช่น สอนตัดเสื้อผ้าบาร์บี้ วาดรูประบายสี มีมุมตุ๊กตาให้เล่นได้ โดยครูจะคอยเล่าที่มาที่ไปและความรู้เกี่ยวกับตุ๊กตา เป็นโปรเจกต์ที่นำความถนัดและความฝันของครูมารวมกัน

เมื่อพูดถึงเรื่องการสะสม หลายคนสะสมพราะความอยากในช่วงเวลาสั้นๆ หลายคนซื้อเพราะถูกบิวท์จากกระแส แต่เมื่อความอยากจางหายสุดท้ายของรักจึงไม่ต่างจากขยะ เหมือนกับตุ๊กตาหลายตัวที่ถูกเอามาขายให้ครูเพียงเพราะ ‘เลิกฮิต’ แต่สำหรับครูตุ๊กตาการสะสมเป็นเรื่องของความฝันและความรัก ครูพูดถึงเรื่องนี้ว่า

“เวลาจะซื้อหรือสะสมอะไรต้องถามตัวเองก่อนว่าชอบจริงไหม ไม่ใช่อยากได้ตามกระแส พอเลิกฮิตแล้วก็ทิ้งเขา นอกจากตุ๊กตาจะน่าสงสารแล้ว ยังเสียดายเวลาและเงินที่อุตส่าห์หามาด้วย

“แต่ถ้าคำตอบคือชอบ คือรัก เราต้องศึกษาหาข้อมูลให้เยอะ ไม่อย่างนั้นอาจถูกหลอกได้ ถ้าเรารู้จริงเราจะไม่คล้อยตามคำพูดของคนอื่น เราจะตั้งใจหาอย่างมีสติ จะดูแลทะนุถนอมเขาอย่างดี แล้วสิ่งที่เราสะสมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นความสุข เป็นความผูกพัน เป็นกำลังใจ และเป็นความภูมิใจในตัวเองที่สามารถทำตามสิ่งที่เราฝันไว้ได้สำเร็จ”

ความสุขของคนเราล้วนแตกต่างกัน การไม่ด่วนตัดสินคนอื่นคือสิ่งที่ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น เช่นเดียวกับครูตุ๊กตาที่ย้ำอยู่เสมอว่า

“การเก็บสะสมมันคือความสุขทางใจ ใครจะมองไร้สาระก็ไม่เป็นไร เพราะความสุขของเรา เราต้องเลือกเอง”

Credits

Authors

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ