‘การ์ดเพื่อนใจ’ สาระเท่าฝ่ามือที่สื่อสารไปถึงหัวใจ

“ไม่มีใครชอบการถูกตัดสิน เราต้องดีสิ ต้องไม่ทุกข์สิ ต้องไม่กลัวสิ จากข้อคิดต่าง ๆ มันเลยกลายเป็นบทสนทนากับตัวเองและผู้คนรอบตัวมากขึ้น คือ เอาเถิดจะทุกข์ก็ทุกข์ จะโกรธก็โกรธ จะเหงาก็เหงา ใช้เวลาอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ เท่าที่เราต้องการได้เลย แต่อย่าลืมนะว่าเราก็มีสิทธิ์ ที่จะสบายใจด้วยเช่นกัน”

ในช่วงเวลาที่ชีวิตรู้สึกกังวล สับสน เป็นทุกข์ ต้องตัดสินใจบางอย่าง หรือหาคำตอบให้กับบางเรื่อง แต่หาทางออกไม่ได้ การมี ‘เพื่อน’ หรือ ‘กัลยาณมิตร’ ที่คอยช่วยแนะนำ เตือนสติ ปลอบโยน หรือเพียงแค่อยู่ข้าง ๆ ในวันที่ใจเราเหนื่อยล้า อาจช่วยให้ความรู้สึกหนัก ๆ ที่อยู่ในใจของเราเบาบางลง พบหนทางบางอย่างที่ทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ หรือแม้กระทั่งได้เรียนรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะต้องหยุดพักบ้าง

ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีใครสามารถคอยอยู่ใกล้ ๆ หรือให้คำแนะนำกับเราได้ตลอดเวลา ดังนั้น การมีเครื่องมือหรือสิ่งของบางอย่างที่สามารถทำหน้าที่เป็นเพื่อนให้กับเราในวันที่เราต้องการเพื่อนให้กับชีวิตก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก

มนุษย์ต่างวัยพาทุกคนไปรู้จัก ‘การ์ดเพื่อนใจ’ ภาพลายเส้นการ์ตูนน่ารัก สีสันสดใส พร้อมข้อคิดหรือถ้อยคำเตือนใจง่าย ๆ ด้วยคอนเซปต์สาระเท่าฝ่ามือแต่สื่อสารไปถึงหัวใจ จากเพจวิชาใจ ของ พระจิตร์ จิตฺตสํวโร จากเวทีทอล์ก ‘ถอดบทเรียนวิชาใจ’ ในงาน Soul Connect Fest 2025: HUMANICE มหกรรมพบเพื่อนใจ ที่จัดขึ้น ณ สามย่าน มิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

จากการฟังใจสู่เพจวิชาใจ

“ตัวการ์ตูนพวกนี้อยู่กับหลวงพี่มาประมาณ 6 ปีแล้ว หลวงพี่วาดรูปไม่เป็นหรอก แต่สิ่งที่พอทำได้คือเราเข้าใจเรื่องจิตใจ และได้รับโอกาสนั่งฟังความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจของผู้คน พอฟังไปเรื่อย ๆ ก็คิดว่ามันมีจุดร่วมอยู่เยอะ เรื่องที่ฟังก็ซ้ำ ๆ กันอยู่ไม่กี่สิบเรื่อง ก็เลยเริ่มทำเพจวิชาใจเล่าเรื่องที่คิดว่าถ้าคนได้ฟังน่าจะมีประโยชน์ ช่วงแรกหลวงพี่ก็ใช้ภาพจากอินเทอร์เน็ตไปก่อน จนได้พบกับเพจความสุขประเทศไทย ธนาคารจิตอาสา และกัลยาณมิตร การเดินทางของการ์ดเพื่อนใจจึงเริ่มต้นขึ้น

“การ์ดเพื่อนใจเริ่มต้นจากวัตถุดิบ 2 ชิ้น คือ คนที่ได้ฟังเรื่องราวความทุกข์ของคนมามาก เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนก็เลยมีวัตถุดิบที่จะเขียนลงในเพจ อย่างที่สองคือการรับหน้าที่ดูแลลูกเณร เวลาสอนก็กลัวลูกเณรลืม หลวงพี่ก็เลยเขียนเป็นคำสั้น ๆ ใส่กระดาษแล้วแปะไว้ในห้องเรียน สอนวันละเรื่อง เช่น ความใส่ใจ ความอดทน เวลาสอนจะพูดยากไม่ได้ พูดเยอะไม่ได้ ต้องฝึกพูดให้ตรงประเด็น

“วันที่เริ่มทำเพจวิชาใจยังไม่มีทักษะการเขียนเลย ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าคนจะอ่านรู้เรื่องไหม ก็ต้องมีกัลยาณมิตรคอยแนะนำ จากนั้นก็ค่อย ๆ เหลามาเรื่อย ๆ จนจับประเด็นได้ดีขึ้น สื่อสารเฉพาะเรื่องที่สำคัญโดยมีเงื่อนไขว่ามีสาระไม่เกินฝ่ามือ ก็เลยได้เป็นถ้อยคำและประโยคต่าง ๆ บนการ์ดเพื่อนใจ”

จากภาษาพระสู่ภาษาเพื่อน

“เวลาเลือกคำมาเขียนบนการ์ด หลวงพี่จะเลือกคำที่รู้สึกว่ามีความหมายกับการปฏิบัติ เช่น หายใจกันเถิด พาใจกลับบ้าน ก้าวต่อไป หรือเห็นใจตัวเองบ้างไหม หลวงพี่ไม่ได้คิดถึงยอดจำหน่ายมากกว่าสารหรือถ้อยคำที่เราสื่อออกไป ส่วนรูปแบบนั้นจะพิมพ์ขนาดไหน อย่างไรก็ได้ หลัก ๆ จะโฟกัสอยู่กับสาระที่เรารู้สึกว่าถ้าสื่อสารออกไปแล้วมันคงจะดี หน้าที่หลักของตัวเองมีแค่เป็นคนเลือกสาระที่ต้องการจะส่งไปให้ถึง ส่วนเรื่องอื่น ๆ คนอื่นจะเป็นคนจัดการทั้งหมด

“การ์ดเพื่อนใจอยู่มา 6 ปี ถ้อยคำต่าง ๆ บนการ์ดเพื่อนใจก็เติบโตขึ้นไปตามผู้เขียน เราคิดว่าบทสนทนาระหว่างเรากับตัวเองและบทสนาระหว่างเรากับผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนไป ด้วยความที่เราทำงานเป็นจิตอาสาข้างเตียง หลวงพี่ก็สังเกตว่าเวลาคนเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะไปบอกให้เขาไม่เสียใจ ไม่ร้องไห้ มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นประโยคที่นำมาเขียนมันก็เป็นบทสนทนาที่เกิดจากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราเจอมา

“มันก็เลยกลายเป็นจะโกรธก็โกรธ จะเศร้าก็เศร้า ใช้เวลาอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ เท่าที่เราต้องการได้เลย แต่อย่าลืมนะว่าเราก็มีสิทธิ์ที่จะสบายใจด้วยเช่นกัน เลยเขียนออกมาเป็นคำว่า ‘เรามีสิทธิ์ที่จะสบายใจ’ เพราะฉะนั้นนาทีนี้บทสนามันก็มีเสรีภาพ สันติภาพมากขึ้น แล้วมันเหมาะกับการปฏิบัติ เพราะจริง ๆ แล้วคนเรามักโกรธตัวเองที่ดีได้ไม่เท่ากับที่ตัวเองคิด”

เพื่อนใจในโรงพยาบาล

“การ์ดเพื่อนใจชุดแรกที่พิมพ์ขึ้นนั้นได้รับการสนับสนุนจากธนาคารจิตอาสา โครงการความสุขประเทศไทย พอมันเสร็จ เราก็มีการประกาศออกไปว่า ใครที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เป็นครู นักบวช หรือผู้ดูแลสามารถมาขอรับการ์ดเพื่อนใจได้ โดยมีผู้ใจบุญสนับสนุนค่าจัดส่งให้ พอส่งการ์ดเพื่อนใจออกไปแล้ว ก็มีคนส่งภาพกลับมาทางเพจวิชาใจเพื่อให้เราดูว่าการ์ดเพื่อนใจถูกนำไปใช้ที่ไหน อย่างไรบ้าง

“หลวงพี่ไม่เคยคิดว่าคำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำออกมานั้นจะได้เข้าไปอยู่ในห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล มันเกินกว่าที่คิดไปมาก การ์ดเพื่อนใจก็เหมือนกับไข่ที่เราได้มาฟรี แล้วเราก็บอกต่อว่าถ้าใครต้องการไข่ให้บอกเรา เดี๋ยวเราจะส่งไปให้ จากนั้นมันก็ถูกเอาไปปรุงต่อด้วยวิธีต่าง ๆ กลายเป็นไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย เต็มไปหมด”

‘คุณจิ๋ม’ หนึ่งในจิตอาสาที่มีโอกาสได้รับการ์ดเพื่อนใจรุ่นแรกที่ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในช่วงโควิดเพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ทำงานจิตอาสาได้เล่าถึงการเดินทางของการ์ดใบเล็ก ๆ ที่เข้าไปเป็นเพื่อนใจให้กับหลาย ๆ ชีวิตว่า

“ในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังอยู่กับความกลัว มันเหมือนกับว่าถ้อยคำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นได้กลายเป็นคาถาช่วยชีวิตของใครหลายคนได้ มันถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ โดยคนที่ทำงานในโรงพยาบาล แล้วก็คิดกันว่าควรจะนำไปขยายเป็นภาพใหญ่ติดไว้ตามจุดต่าง ๆ ที่สำคัญในโรงพยาบาล เช่น การติดคำว่า ‘วาจาสะท้อนใจ’ ไว้ตรงจุดประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนสติให้คนทำงานได้กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น

“นอกจากนี้ก็มีการสุ่มหยิบการ์ดเพื่อเป็นโจทย์ในการทำงานวันนั้นให้กับตัวเอง ใครหยิบได้ใบไหนก็ทำตามโจทย์นั้น มีการนำการ์ดเพื่อนใจไปมอบให้ผู้ป่วยแบบประคับประคอง และนำไปแขวนตกแต่งเป็นต้นสอยดาวภายในโรงพยาบาลด้วย

“อีกจุดหนึ่งที่มีการนำภาพจากการ์ดเพื่อนใจไปใช้ คือ โรงพยาบาลในเรือนจำ เราทำเป็นตัวการ์ตูนติดอยู่บนผนัง เพราะอยากให้เขาใช้บรรยากาศช่วงสุดท้ายแบบเป็นมิตรและไม่เครียด มีเคสหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการห้องนี้เป็นผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่เขากลับตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย พอเขามองออกไปนอกลูกกรงที่กั้นอยู่ แล้วเห็นคำว่า ‘อิสระที่แท้’ เขาก็บอกว่ามันทำงานกับตัวเขา ต่อมาคือคำว่า ‘มีสติเป็นเพื่อนใจ’ และ ‘พาใจกลับบ้าน’ เขาบอกว่ามันทำให้เขารู้สึกว่าแม้เขาจะไม่สามารถกลับบ้านได้ แต่สุดท้ายบ้านที่แท้จริงก็คือการกลับมาอยู่กับลมหายใจของตัวเองโดยมีสติเป็นเพื่อน”

การเดินทางของการ์ดเพื่อนใจ

หลวงพี่เล่าถึงการ์ดเพื่อนใจต่อว่า “พอมีโควิดเข้ามาก็มีกัลยาณมิตรแจ้งเข้ามาว่าต้องการระดมทุนให้กับมูลนิธิยุวพัฒน์ เพื่อสร้างห้องความดันลบให้กับโรงพยาบาล ตอนนั้นก็เลยลองเอาตัวการ์ตูนจากการ์ดเพื่อนใจไปพิมพ์ใส่กรอบ มีผู้ใจดีช่วยพิมพ์ภาพให้ ออกค่าขนส่งให้ สุดท้ายก็ได้ห้องความดันลบมาทั้งหมด 12 ห้อง

“จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากแค่นึกดี ๆ ว่าภาพและคำไหนที่น่าจะมีความหมายเมื่อมันไปถึง หรือน่าจะทำงานกับคนที่อยู่ในนั้น อย่างในห้องผ่าตัดเล็กที่ไม่มีการวางยาสลบ เวลาคนที่เขากำลังวิตกกังวลมองไปแล้วเห็นคำว่า ‘บุญรักษา’ อยู่ตรงนั้นมันน่าจะดี ดังนั้น หน้าที่ของตัวเองคือให้คำและภาพที่เหมาะกับสถานการณ์ได้ไปอยู่ตรงนั้นในเวลาที่คนต้องการ

“ด้วยความที่การ์ดเพื่อนใจเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่ค่อนข้างดี ไม่ได้มีน้ำเสียงอบรมสั่งสอน จึงถูกนำไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เช่น เป็นลวดลายบนบานประตู หน้าต่างโรงพยาบาล เป็นแป้นหมุนเสี่ยงทาย นำไปพิมพ์เป็นภาษาอาข่า ถึงแม้ว่าจะไม่มีตัวอักษรบนแป้นคีย์บอร์ด แต่ทุกคนก็ช่วยกันสุดตัวจนทำได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีการนำภาพจากการ์ดเพื่อนใจไปพิมพ์เป็นปฏิทินจัดจำหน่ายให้กับคนที่สนใจ เพื่อนำรายได้ไปมอบให้กับโรงพยาบาลเด็ก และบ้านพักคนชราทั่วประเทศ”

ถ้อยคำเล็ก ๆ และตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ เหล่านี้ได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ มากมายเพื่อเป็นเพื่อนใจในวันยาก ๆ ให้ผู้คนอีกหลายร้อย หลายพันคน หรืออาจจะมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการนำการ์ดเพื่อนใจไปทำเป็นรูปแบบออนไลน์ ปรับให้เหมาะกับการใช้งานของผู้พิการทางสายตา ทำเป็นภาพหน้าจอมือถือ นำไปพิมพ์เป็นลายเสื้อ ทำสติ๊กเกอร์ไลน์ ทำเข็มกลัดเพื่อช่วยเหลือหมาแมวที่บาดเจ็บ นำไปจัดเวิร์กช็อป ใส่การ์ดในถุงยาเพื่อแนบเป็นกำลังใจเล็ก ๆ ส่งไปตามบ้านในช่วงโควิดที่ต้องคนต้องกักตัวกันหลาย ๆ วัน นำไปใช้ที่โรงเรียน หรือแม้กระทั่งในที่ที่ไม่น่าจะไปอยู่ได้อย่างบนโต๊ะอาหารในร้านลูกชิ้นปลาก็ยังมีการ์ดเพื่อนใจไปอยู่ด้วย

โชคดีที่มีกัน

“หลวงพี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่โชคดีมากที่ได้อยู่ในวงจรการเกื้อกูลขนาดใหญ่ เห็นความเสียสละ เห็นว่ามีคนที่มีศักยภาพมากขนาดนี้ เห็นว่าหลายคนชื่นใจแค่ไหนที่เขาได้เจียดเวลา เจียดทักษะมาทำสิ่งนี้ รู้สึกโชคดีมากที่ได้เห็นความงดงามในผู้คน

“ต้องขอบคุณครูบาอาจารย์ที่สอนให้เรารู้จักวิชาใจ สอนให้เรารู้จักใจตัวเอง รู้จักสิ่งที่ทำให้ใจเราเป็นทุกข์ ขอบคุณครูที่สอนภาษา จริง ๆ แล้วหลวงพี่ก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น กว่าจะเขียนได้ก็ต้องมีพี่เลี้ยง แต่ก็ต้องขอบคุณความไม่เก่งกับความพยายามเปิดใจเรียนรู้ เพราะพื้นฐานภาษาไทยของหลวงพี่มาจากโรงเรียนจีน หลวงพี่คิดว่าตัวเองเคารพโอกาส พยายามทำทุกโอกาสอย่างดีที่สุด เคารพความทุกข์ มีน้ำใจเพียงพอที่จะแก้ไขความทุกข์ที่เราได้ยิน ด้วยธรรมะอะไรสักอย่าง

“หลายครั้งที่ข้อความในการ์ดเพื่อนใจ หรือเพจวิชาใจไปโดนใจใครหลายคน เพราะว่าหลวงพี่เป็นมนุษย์ เราสื่อสารกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ก็มีทุกข์ไม่ต่างกัน เราเชื่อมโยงกันด้วยความเป็นมนุษย์ หลวงพี่เองก็บวชมาได้แค่ 12 พรรษา ไม่ได้เป็นปราชญ์อะไร แค่เรารู้จักความทุกข์และดูแลทุกข์ของตัวเองเป็น ถ้าข้อความเล็ก ๆ อาจจะพอทำงานกับใครได้ก็รู้สึกอนุโมทนากับตัวเอง อนุโมทนากับโอกาสนี้

“ขอบคุณการ์ดเพื่อนใจและเพจวิชาใจที่ทำให้เราได้พบคนดี ๆ มีจิตอาสา มีบริษัทใจดี หลวงพี่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากมาย แต่ก็ต้องขอบคุณความไม่มี ที่ทำให้เราพบกัลยาณมิตรและคนใจดีตลอดทาง สิ่งที่ได้มามันมากกว่าเรื่องมูลค่ามาก เราเชื่อว่าคนใจดีมีจริง คนน่ารักมีจริง และการได้อยู่กับคนเหล่านี้เป็นของขวัญที่ใหญ่มาก มันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่คนเอามุมดี ๆ มาพบกัน”

รับฟังทอล์กฉบับเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/15SephBXoH/

ขอบคุณภาพจาก Soul Connect Fest

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ