ทางม้าลายก็ไม่ปลอดภัย สะพานลอยก็ขึ้นไม่ไหว เสียงจากคุณยายในวันที่ยังต้องเดินทาง

“ข้ามถนนมันอันตราย เขาเลยบอกให้ยายไปใช้สะพานลอย ยายขอถามหน่อยว่าสะพานลอยประเทศไทยเขาออกแบบมาให้คนแก่ใช้จริงๆ เหรอ”

มนุษย์ต่างวัยชวนฟังความรู้สึกของ คุณยายสอิ้ง บินสมาน อายุ 79 ปี ที่ยังต้องเดินทางออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และพบว่า สะพานลอยไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อการเดินทางของผู้สูงอายุ แทนที่สะพานลอยจะช่วยทำให้การข้ามถนนปลอดภัย แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคในการเดินทาง เสียงของคุณยายสอิ้งอาจจะชวนให้เราตั้งคำถามว่า เมืองเตรียมพร้อมมากแค่ไหนสำหรับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง

ยายเคยปลูกฝังลูกหลานทุกคนว่า “เป็นคนดีต้องขึ้นสะพานลอย”

“ยายเป็นแม่ค้าหาบเร่ขายขนมจีนซาวน้ำมาก่อน ก่อนที่จะหยุดอยู่บ้านและเกษียณตัวเอง สมัยก่อนยายแข็งแรงมาก สามารถหาบขนมจีนข้ามสะพานลอยได้เลยนะ ยายไม่เคยข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอย หรือทางม้าลายเลย แม้จะเหนื่อยที่ต้องแบกขึ้นบันได หรือต้องเดินไกลขึ้นกว่าเดิมก็ยอม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยายสอนลูกหลานมาตลอดว่า ‘ ถ้าอยากเป็นคนดีต้องข้ามสะพานลอย ’ เพราะเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำเพื่อเคารพกฎหมาย

“แต่พออายุมากขึ้น เข่า ขา ก็เริ่มไม่ดีไปตามวัย จนกระทั่งยายป่วยเป็นโรคหัวใจต้องผ่าตัดย้ายเส้นเลือดจากตรงขาหนีบมาไว้ตรงหัวใจ ทำให้ยายเหนื่อยง่าย หอบ บวกกับอายุที่มากขึ้นด้วย ทำให้การใช้สะพานลอยเหมือนเดิมไม่ใช่สิ่งที่ยายสามารถทำได้ง่ายอีกต่อไป

“ทุกครั้งที่ยายข้ามสะพานลอย ยายต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องเตรียมทั้งยาดม ยาอมใต้ลิ้นสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ ซึ่งสะพานลอยประเทศไทยก็ค่อนข้างชัน และพื้นที่ของบันไดก็ไม่กว้าง แต่ละครั้งที่ยายเดินจะต้องเอามือรั้งกับราวเพื่อค่อยๆ ไต่ขึ้น เดินได้ครึ่งทางก็ต้องมาหยุดพักดมยาดม มันเหนื่อยจนใจสั่น เข่าขาจะก้าวแต่ละก้าวก็ยาก

“ที่สำคัญคือตรงราวจับจะเต็มไปด้วยสายไฟ กลัวตกก็กลัว กลัวไฟดูดตายก็กลัว ยิ่งโควิดยิ่งไม่กล้าจับ แต่ก็ต้องจับเพราะกลัวหกล้ม เดินไปครึ่งทางจะหยุดพัก บางที่ก็ไม่มีหลังคา แดดร้อนแค่ไหนก็ต้องทนเอา ตอนเดินลงบันได ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่เพราะยายสามารถก้าวได้ทีละก้าว สมมุติก้าวขวาลงหนึ่งขั้น ก้าวซ้ายก็ต้องตามมาอยู่ขั้นเดียวกัน ไม่อย่างนั้นก็เสี่ยงล้ม บางทีคนตามข้างหลัง เขาก็รำคาญยาย เราก็เข้าใจเพราะเขาก็ต้องรีบไปทำงาน”

ข้ามสะพานลอยไม่ไหว ต้องลงมาเสี่ยงข้ามถนน

“ในเมื่อข้ามสะพานลอยไม่ไหว ยายก็เปลี่ยนมาข้ามถนนใกล้ๆ สะพานลอย ซึ่งแถวนั้นไม่มีทางม้าลายจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือกว่ารถจะหยุดให้ยายข้าม ก็ต้องยืนรอนานมาก บางคันยิ่งเห็นเราจะข้ามถนนใต้สะพานลอย หรือใกล้ๆ สะพานลอย ยิ่งขับเร็วขึ้น คงคิดว่า มีสะพานลอยทำไมยายไม่ยอมขึ้น คนขับรถเขาไม่อยากจะจอดให้เราข้ามหรอกเพราะเราก้าวช้า แหม ถ้าเดินเร็วได้ดั่งใจยายก็เดินไปแล้ว แต่บางทีใจเราไปถึงตรงโน้นแล้วแต่ขามันไม่ไปน่ะ

“ถ้ายังขึ้นสะพานไหวยายคงทำ แต่เพราะมันไม่ไหวไง ยายก็รู้ว่าอันตรายเพราะญาติยายบางคน ตายเพราะข้ามถนนก็มี ในข่าวก็มีให้เห็นเยอะแยะ ยิ่งคนแก่อย่างเราก็ยิ่งเสี่ยงไปใหญ่

“ทุกวันนี้ยายเลยใช้วิธีการว่า ถ้าต้องข้ามถนนแล้วเสี่ยง ยายก็เลยนั่งรถเมล์อ้อมเอา เสียเวลาแต่อย่างน้อยก็ปลอดภัยกว่า อย่างปกติต้องออกจากบ้าน 6 โมงเช้า ก็เปลี่ยนมาออก ตี 5 เผื่อเวลาให้รถเมล์อ้อมไปอีกฝั่ง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเสี่ยงข้ามถนนหรือสะพานลอย”

แก่แล้วทำไมไม่อยู่บ้าน

“บางคนก็บอกว่า แก่แล้วจะออกไปไหนบ่อยๆ ทำไมไม่อยู่บ้าน ต้องบอกก่อนว่ายายยังแข็งแรงนะ ยังเดินทางราบได้ปกติ แต่การเดินขึ้นที่สูงและชันจะเริ่มยาก ที่ยายยังต้องออกจากบ้านเพราะยายต้องไปหาหมอทุกเดือน บางเดือน 2 – 3 รอบ จะให้ขึ้นแท็กซี่จากบ้านไปโรงพยาบาลก็หลายบาท ลูกหลานเขาก็ไม่อยากให้เราเสี่ยงหรอก แต่เราก็เกรงใจเขา เรามันคนไม่มีรายได้เพราะแก่แล้ว จะใช้เงินลูกหลานทีละเยอะๆ ก็เกรงใจ

“บางคนก็ถามว่าหลานไปไหน ทำไมปล่อยให้ยายออกมาคนเดียว ในโลกความเป็นจริงลูกหลานเขาต้องทำงาน จะให้เขาลางานพาเราไปหาหมอบ่อยๆ เจ้านายที่ไหนจะเข้าใจ จ้างคนดูแลสมัยนี้ก็แพง ไม่ใช่ลูกหลานไม่ดูแลนะ เขายังดูแลยายดีเสมอมา แต่บางครั้งอะไรที่เราดูแลตัวเองได้เราก็ต้องช่วยแบ่งเบาเขา”

ทำไมสะพานลอยไม่ออกแบบมาเพื่อคนทุกกลุ่ม เราจะได้ไม่มีข้อจำกัด

“ลองมองกลับกัน ถ้าเป็นคุณ แก่แล้วต้องอยู่แต่บ้านรอความตาย ทำอะไรไม่ได้รอแต่ให้ลูกหลานดูแล คุณจะมีความสุขจริงๆ เหรอ ยายเองก็เป็นคนที่ยังอยากดูแลตัวเอง อยากเดินทาง ไปเดินตลาดบ้าง ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของคนแก่แบบยายออกแบบมาให้เหมาะสม การเดินทางมันก็จะไม่มีข้อจำกัด ยายก็สามารถออกมาใช้ชีวิตเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน ทุกวันนี้แค่ออกไปหาหมอเดือนละไม่กี่ครั้งยังยากเลยลูก

“ยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนต่อให้เขาไม่ป่วย แต่ร่างกายเขาไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ทำให้เขาใช้สะพานลอยไม่ได้ คำถามก็คือ สะพานลอยถูกออกมาเพื่อคนทุกกลุ่มจริงหรือ ยายอยากส่งเสียงบอกว่า ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ใช้ถนน ใช้สะพานลอยเท่าเทียมกัน แล้วทำไมคนแก่แบบยายถึงต้องนั่งรถอ้อมเพื่อไม่ให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย ถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราต้องมาทบทวนและมองให้เห็นคนทุกกลุ่มในสังคม”

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ