‘Skipped Generation Family’ ปรากฏการณ์ใหม่ในอเมริกา เมื่อวัยรุ่นอเมริกันเลือกย้ายกลับมาอยู่บ้านกับปู่ย่าตายาย

เมื่อคนหนุ่มสาวอเมริกันเลือกที่จะย้ายกลับบ้านมาอยู่กับปู่ย่าตายายโดยไร้เงาคนรุ่นพ่อ-แม่ ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นหลานกับรุ่นปู่ยาตายายเป็นไปด้วยดีได้จริงหรือ? แล้วทำไมจึงเลือกย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันโดยข้ามรุ่นคนพ่อแม่ไป?

มนุษย์ต่างวัยขอพาสำรวจปรากฏการณ์ครัวเรือนข้ามรุ่น หรือ ‘Skipped Generation Family’ ปรากฏการณ์ใหม่ในอเมริกาที่สะท้อนภาพสังคมสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป

เกิดอะไรขึ้นในสังคมอเมริกากันแน่? หาคำตอบกันได้ในบทความนี้

ในบ้านเรา การเห็นลูกหลานอยู่อาศัยในบ้านหลังเดียวกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายอาจฟังดูไม่แปลกมากนัก ต่างจากสังคมในอเมริกาที่เมื่อลูกหลานเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะเริ่มย้ายออกจากบ้านไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง วิถีชีวิตแบบนี้ถูกยึดถือปฏิบัติกันมาเนิ่นนานเหมือนที่เราเห็นได้จากภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่วันนี้ เทรนด์การใช้ชีวิตของวัยรุ่นอเมริกันกลับเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนไป

‘skipped-generation’ คือ ปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นในอเมริกา คนหนุ่มสาวเลือกที่จะย้ายไปอยู่บ้านเดียวกับปู่ย่าตายายกลายเป็นครอบครัวที่เว้นสมาชิกรุ่นพ่อ-แม่ของตัวเองไป

ฟังดูคล้ายกับสังคมเอเชียบ้านเราอยู่ไม่น้อย ในอดีต เรามักได้เห็นคนรุ่นพ่อ-แม่เข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และให้ลูกหลานเรียนหนังสือและอยู่บ้านกับปู่ย่าตายายในบ้านเกิด

ในขณะที่ปัจจุบัน เราได้เห็นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเลือกบอกลาการทำงานในเมืองใหญ่แล้วกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสังคม เศรษฐกิจ หรือปัจจัยอื่น ๆ แต่ด้วยความที่สังคมไทยมีความเป็นครอบครัวสูง ปรากฏการณ์แบบนี้จึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก ซึ่งแตกต่างจากสังคมอเมริกา

จากผลสำรวจของ Credit Karma แพลทฟอร์มด้านเทคโนโลยีและการเงิน พบว่าปัจจุบัน 1 ใน 3 ของวัยรุ่นชาวอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปี เลือกที่จะยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือญาติมากกว่าจะแยกออกมาอยู่ด้วยตัวเองเหมือนในอดีต

ในปี 2017 งานวิจัยของ รศ. Natasha Pilkauskas ผู้เชี่ยวชารญด้านโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า 10% ของเด็กผิวสีจะอยู่อาศัยกับคนรุ่นปู่ย่าตายายหรือที่เรียกว่า skipped-generation households และในบางรายอยู่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปี แต่ยังมีจำนวนนอยกว่ากลุ่มลาตินอเมริกัน (Latino) เอเชีย หรือแม้กระทั่งคนผิวขาว

เลือกอยู่กับปู่ย่าตายายแทนพ่อแม่ – ความสัมพันธ์ที่ลงตัวของ 2 Gen

ตอนนี้เราได้เห็นวัยรุ่นชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มย้ายเข้ามาอยู่อาศัยกับคนรุ่นปู่ย่าตายายมากขึ้น ทั้งรูปแบบของการอยู่อาศัยในฐานะลูกหลานหรือแม้กระทั่งการแบ่งห้องเช่า

แต่การมีรูมเมตต่างวัยเช่นนี้กลับไม่ทำให้เกิดช่องว่างหรือปัญหาระหว่างกันเลย ความสัมพันธ์กลับไปได้สวยเสียอีก ซึ่งแตกต่างจากการที่รุ่นลูกอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อแม่อย่างสิ้นเชิง

เพราะทั้งคนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นหลานสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ก้าวก่ายกัน ทำให้ทุกฝ่ายต่างมีชีวิตของตัวเองได้อย่างสบายใจ อาจเพราะสองฝ่ายต่างมีความคาดหวังต่อกันไม่มากนัก และเราจะไม่ค่อยได้เห็นคนวัยปู่ย่าใช้อำนาจหรือคอยอบรมสั่งสอนหลาน ๆ ไปเสียทุกเรื่องแบบที่คนเป็นพ่อแม่ทำกับลูก แต่กลับเป็นผู้รับฟังอย่างเข้าใจและปล่อยวางกับคนรุ่นหลานได้มากกว่าสมัยดูแลลูกตัวเองเสียอีก หรืออาจเป็นเพราะสำหรับคนเป็นพ่อแม่แล้ว ลูกคือตัวแทนของความสำเร็จ แต่สำหรับปู่ย่าตายายแล้ว เขาอาจไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความสำเร็จใด ๆ ในชีวิตผ่านคนรุ่นหลานแต่อย่างใด

รวมถึงประสบการณ์ เรื่องเล่า และภูมิปัญญาที่ปู่ย่าตายายมี กลายเป็นสิ่งอันล้ำค่าที่ทำให้คนรุ่นหลานอยากเรียนรู้ ไหนจะสูตรอาหารจานเด็ดฉบับโฮมเมดที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยสำหรับวัยรุ่นที่คุ้นเคยกับการกินอาหารสะดวกซื้อมากกว่า

หรือบางรายเล่าว่าคุณยายอาสารีดกางเกงให้ในวันที่ต้องไปทำงานวันแรก มันเรียบเสียจนเขาจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่ายายทำอย่างนั้นได้อย่างไร

ในขณะที่คนรุ่นหลานมีความสามารถทางเทคโนโลยี รู้จักการใช้สมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และการใช้จ่ายออนไลน์ รวมถึงการพาผู้สูงอายุออกไปมีกิจกรรมนอกบ้านที่ชุบชูจิตใจ เช่น ไปทำเล็บหรือร้านทำผมด้วยกันการช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นมากทีเดียว

ในบางครอบครัว การกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายอาจมีเหตุผลเชิงจิตใจ เช่น Meghan Shiffer นักศึกษาวัย 20 ปี เธอเล่าว่า ในวัยเด็ก เธออาศัยอยู่ในบ้านคุณยาย เมื่อโตขึ้นเธอก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นตามปกติ จนกระทั่งแม่ของเธอเสียชีวิตลง เธอจึงเลือกที่จะย้ายกลับมาอยู่กับยายอีกครั้งในบ้านหลังเดิมที่เธอเคยเติบโตมา

เหมือนกับ Ally Iseman วัย 25 ปี เล่าว่า เธอเลือกที่จะกลับมาอยู่อาศัยกับคุณยายโดยการแชร์บ้านเช่า ซึ่งเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยรูปถ่ายและเทปวิดีโอของตัวเธอในวัยเด็ก มันทำให้เธอรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้เห็นอ่างอาบน้ำที่ตัวเองเคยใช้ในวัยเด็ก สุดท้ายาเธอก็ตัดสินใจว่าจะอยู่ที่นี่ตลอดไปแม้ในวันที่ยายของเธอจะจากไปแล้วก็ตาม

จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยพบว่าการที่หลานย้ายกลับมาอยู่กับปู่ย่าตายายในวันที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ บางครอบครัวมีการทำแบบนี้ต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนกลายเป็นธรรมเนียมของบ้าน เช่น ห้องนอนของเราอาจเคยเป็นห้องนอนของอาคนก่อนที่ย้ายกลับเข้ามา หรืออาจเป็นห้องของลูกพี่ลูกน้องของเราสักคนที่เพิ่งย้ายออกไป

ในแง่มุมทางเศรษฐกิจพบว่า การที่คนรุ่นหลานย้ายมาอยู่กับปู่ย่าตายายส่งผลดีต่อสังคมเป็นอย่างมาก เพราะสำหรับลูกหลานที่ยังอยู่ในวัยเรียนหรือเริ่มทำงานย่อมมีรายได้น้อย พวกเขาต้องการที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และเจ้าของบ้านที่ใจกว้างพอที่จะเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น

การกลับมาอยู่อาศัยกับผู้สูงอายุในครอบครัวเช่นนี้จึงตอบโจทย์มาก หลานได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนปู่ย่าตายายก็ไม่รู้สึกเดียวดาย และหากล้มป่วยยังมีคนช่วยประคับประคองได้ทันท่วงทีอีกด้วย

ความเหงาจะทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป

จาก งานวิจัยพบว่า ‘skipped-generation’ เป็นแนวคิดที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมในอเมริกาได้เป็นอย่างดี รศ. Rachel Margolis จากคณะสังคมวิทยา แห่ง University of Western Ontario แคนนาดา ได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มประชากรสูงวัย พบว่า ไม่มีใครต้องการใช้ชีวิตวัยชราในสถานดูแลหรือบ้านพักคนชรา แต่ล้วนอยากแก่และตายในบ้านของตัวเองมากกว่า แต่ปัญหาคือการมีร่างกายถอดถอยทำให้การอยู่เพียงลำพังในบ้านเป็นเรื่องยากลำบากอยู่ไม่น้อย

เพราะความเหงาฆ่าคนได้ การย้ายมาอยู่ของรุ่นหลานจึงช่วยแก้ปัญหานี้ แม้ทั้ง 2 ฝ่าย จะไม่ได้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นนักจนบางครั้งเหมือนต่างคนต่างอยู่ด้วยซ้ำ ปู่ย่าตายายคือคนที่มักตื่นตอนแต่เช้า ทำกิจกรรมในเวลากลางวันและเข้านอนตอนหัวค่ำ ในขณะที่วัยรุ่นมักตื่นนอนตอน 11 โมงเช้า ออกไปทำงานตอนเที่ยงวัน และกลับเข้าบ้านตอนดึกดื่น

แม้ต่างคนจะต่างใช้ชีวิตของตัวเองจนแทบไม่เจอหน้ากัน แต่การรับรู้ว่ายังมีกันและกันอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็สร้างความอุ่นใจให้กับทั้งสองฝ่าย และทีมวิจัยพบว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างคน 2 รุ่น เช่นนี้ พบครอบครัวที่เกิดปัญหาน้อยมากจนแทบไม่มีเลย เรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก

สังคมความเป็นอยู่ในอเมริกาคือสังคมที่ผลักดันให้ชีวิตของทุกคนก้าวไปข้างหน้า ทุกคนต่างต้องดิ้นรน แสวงหาบางสิ่งราวกับเป็นสูตรสำเร็จแบบอเมริกันดรีม เมื่อคนและเมืองพัฒนาไปถึงขีดสุด ค่านิยมหลายอย่างในสังคมกลับกำลังวนลูปกลับมาที่จุดเริ่มต้น ‘skipped generation’ จึงกลายเป็นปรากฏการณ์บางอย่างที่อยู่นอกเหนือตำรา แต่กลับสร้างความสบายใจให้กับผู้คนในสังคมได้อย่างลงตัว

เมื่อหันมามองที่สังคมเอเชียบ้านเรา ปรากฏการณ์นี้กลับคล้ายคลึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของเรากันอย่างไม่น่าเชื่อ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เราควรย้อนกลับมาตั้งคำถามว่า การรักษาสถาบันครอบครัวที่มีคนหลาย generation ในแบบฉบับของเรา ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันหรือไม่?

อ่านเรื่องราวของ ‘skipped generation’ หรือปรากฏการณ์ที่หนุ่มสาวอเมริกันเลือกย้ายกลับมาอยู่กับปู่ย่าตายายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/ 2022/09/30/ realestate/grandparents-grandchildren-living-together.html

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก The New York Times

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ