“ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ผมสามารถเตรียมเยาวชนให้พร้อมลุย แบ่งทีมออกไปช่วยล้างบ้านหลังน้ำท่วมใหญ่ที่เชียงรายที่ผ่านมา ได้ทันที เพราะนี่คือเมล็ดพันธุ์ที่ผมปลูกฝังลงในใจคนรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสา ซึ่งผมได้ปลูกฝังมามากกว่า 10 ปี”
มนุษย์ต่างวัยพาติดตามภารกิจล้างบ้านให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.เชียงราย ที่ยังไม่จบ แม้มวลน้ำจะผ่านไปแล้ว แต่ซากความเสียหายยังคงอยู่ โดยภารกิจนี้เป็นของอาจารย์ “แอร์” สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ผู้นำทีมเยาวชนคนรุ่นใหม่
จ.เชียงราย สู้วิกฤติน้ำท่วม อาสาลงพื้นที่ล้างบ้านให้กับพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้
อ. แอร์ ไม่ได้เป็นแกนนำในการพาอาสาสมัครรุ่นใหม่เพื่อรับมือภัยพิบัติครั้งนี้เท่านั้น แต่ที่ผ่านมา อาจารย์คือผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้างเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในจังหวัดเชียงราย ที่เริ่มต้นจากสมาชิกหลัก 10 คน สู่ 1,000 คน จนกลายเป็นเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในจังหวัดเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนของสิงห์อาสามานานกว่า 10 ปี
9 กันยายน 2567 น้ำท่วมเชียงรายหนักสุดในรอบ 40 ปี
“หลังจากประกาศเตือนว่าน้ำทะลักเข้าท่วมอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ของผมก็ดังไม่ขาดสาย เพราะชาวบ้านหลายคนรู้ว่าเราคือกลุ่มจิตอาสาที่ทำงานมานาน เมื่อพวกเขาเดือดร้อนและไม่รู้ว่าจะพึ่งพาใคร คนแรกที่พวกเขานึกถึงคือพวกเรา
“ภารกิจของผมและทีมเยาวชนจึงเริ่มต้นขึ้นทันที ซึ่งภารกิจแรกของเราคือการหนุนใจ อยู่เคียงข้างพี่น้องชาวเชียงราย เพราะการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่นการกู้ภัย ต้องใช้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการเพิ่มภาระให้ทีมกู้ภัย ผมเลยเลือกเปิดครัวระดมอาหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย รวมถึงสิงห์อาสา เพื่อจัดเตรียมถุงยังชีพ น้ำดื่ม และข้าวสารส่งมอบให้กับผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนตลอดช่วงที่น้ำยังไม่ลด”
น้ำลดลง โคลนเต็มบ้าน ยิ่งทุกข์หนัก
หลังน้ำลด สิ่งที่ตามมาคือบ้านหลายหลังพังถล่ม ถนนหนทางเสียหาย และปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญคือโคลน หลายบ้านต้องแบกรับความทุกข์หนัก เพราะไม่รู้จะจัดการกับโคลนที่ท่วมเข้ามาอย่างไร
ชาวบ้านหลายคนเล่าพร้อมน้ำตาว่าไม่รู้จะหาเงินจากไหนมาจ้างคนขนโคลนออก ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงถึงหลัก 10,000 – 20,000 บาท บางคนแทบไม่มีเสื้อผ้าหรือเครื่องครัวเหลืออยู่เลย ทรัพย์สินลอยหายไปกับน้ำ รายได้เป็นศูนย์ รายจ่ายเรียงรายต่อคิวเข้ามา การหาเงินหมื่นมาล้างบ้านจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
“ภารกิจที่ 2 จึงเริ่มต้นขึ้น ผมและทีมเยาวชนรวมตัวกันภายใน 2 ชั่วโมง เริ่มตระเวนล้างบ้านให้ผู้ประสบภัย เพราะถ้าโคลนแห้งเมื่อไร การจัดการจะยิ่งยากขึ้น การทำภารกิจครั้งนี้จึงต้องแข่งกับเวลา และสิ่งที่ทำให้เรารวมทีมได้เร็วคือเรามีเครือข่ายเด็กเยาวชนอาสาซึ่งเป็นลูกศิษย์ของผมที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดเชียงราย
ในขณะนั้น เรากระจายกำลังออกเป็นทีมละ 4 คน รวมทั้งหมด 4-5 กลุ่ม เพื่อล้างบ้านให้ได้วันละ 4-5 หลัง โดยเราได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำความสะอาดบ้านจากสิงห์อาสา ซึ่งสนับสนุนทั้งเครื่องปั๊มน้ำ อุปกรณ์ที่จำเป็น อาหารและน้ำดื่ม”
“บ้านหลาย ๆ หลังที่เราเข้าไปล้างทำความสะอาดถูกโคลนทำลายทุกอย่างจนหมดสิ้น ทั้งข้าวของเครื่องใช้ รถ อุปกรณ์ทำมาหากินจมไปกับโคลนทั้งหมด สิ่งเดียวที่พวกเราทำได้คือให้กำลังใจและเร่งมือช่วยกันขนของที่พอจะยังใช้การได้ เคลียร์ดินออกจากบ้าน ซึ่งวิธีการก็คือ บ้านไหนที่มีแหล่งน้ำหรือบ่อเกษตร ก็จะล้างดินลงบ่อด้วยน้ำสะอาด หากบ้านไหนไม่ใกล้แหล่งน้ำก็จะประสานรถตักดินมาช่วยอีกแรง
“เด็ก ๆ ที่มาทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บ้านของผมกับลูกชายก็น้ำท่วมเช่นกัน แต่ทันทีที่เราจัดการบ้านเราเสร็จ ทุกคนมาด้วยความเต็มใจ สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกดีใจมากที่สุดคือเราไม่ต้องบังคับใคร เราก็ช่วยกันเต็มที่เพื่อพี่น้องชาวเชียงราย”
“สำหรับผมผ่านมา 3 วัน กลุ่มคนตัวเล็ก ๆ อย่างเด็กและเยาวชนพวกเราล้างบ้าน
ไปมากกว่า 20 หลัง ถึงแม้จะไม่ได้เยอะมาก แต่การที่มีคนลุกขึ้นมาช่วยกันในยามวิกฤตย่อมดีกว่ากว่านิ่งเฉยและรอแต่ความช่วยเหลือ”
จากครูสู่การเดินในถนนสายจิตอาสามากกว่า 13 ปี
อาจารย์แอร์ย้อนกลับไปเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาทำจิตอาสาและกลายเป็นเบื้องหลังในการ
สร้างเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาของจังหวัดเชียงรายว่า สมัยก่อนเขาเป็นครูสอนหนังสือไม่ได้ทำงานอาสาและไม่เคยคิดว่าจิตอาสาคือหน้าที่ของคนเป็นครู จนกระทั่งปี พ.ศ. 2554 ที่เริ่มมีปัญหาหมอกควันไฟป่าส่งผลกระทบต่ออากาศและสิ่งแวดล้อม
“ตอนนั้นผมคิดตื้นมาก อยากทำทุกอย่างให้อากาศดี ๆ อยู่กับผมจนผมตาย”
เมื่อได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านจริง ๆ ทำให้พบปัญหามากมายที่ชาวบ้านเองก็ต่อสู้และพยายามเต็มที่ในการรักษาผืนป่า แต่ก็ไม่รู้จะประสานหน่วยงานไหนที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“เพราะพวกเขาสู้อย่างลำพังไม่ได้ เราเป็นครูเรามีเครือข่าย เรามีองค์ความรู้ที่จะติดต่อสื่อสาร ในเมื่อเดินทางมาเห็นปัญหาถึงที่ผมปล่อยไว้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ป่า อากาศ ทุกอย่างจะต้องจบลงแน่ ๆ”
สำคัญกว่าการทำงานอาสา คือสร้างเมล็ดพันธุ์คนอาสาให้เกิดขึ้นเสมอ
“ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะทำงานอาสา ผมรู้เลยว่าผมทำคนเดียวไม่ได้ และเยาวชนคือฟันเฟืองที่สำคัญ เพราะถ้าคนรุ่นใหม่มีใจอาสา เขาจะไม่เห็นแก่ตัว และเขาจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมไม่ใช่แค่ลุกขึ้นมาทำจิตอาสา แต่ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีใจอาสาขึ้นมาด้วย
สมัยแรก ๆ ผมเริ่มตั้งแต่พาลูกชายซึ่งตอนนั้นเขาน่าจะอายุประมาณ 10 ขวบ และเด็ก ๆ เยาวชนในวิทยาลัย ขับมอเตอร์ไซค์ขึ้นเขาไปทำฝาย ไปทำแนวกันไฟป่าช่วยชาวบ้าน เด็ก ๆ ได้เที่ยวและได้ทำจิตอาสาไปด้วยในตัว ผมไม่อยากบังคับว่าเขาต้องทำงานอาสา แต่สิ่งเหล่านี้เราค่อย ๆ ซึมซับผ่านการเล่นสนุกของเด็ก
“ปีแรก ๆ มีเด็กเข้าร่วมแค่หลัก 10 คนเท่านั้น สำหรับผมใช้ความต่อเนื่องเพื่อดึงให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ที่มีใจอาสา ให้เด็กเป็นกระบอกเสียงในการรวมกลุ่มกัน และทีมเราก็ขยายใหญ่ขึ้นทุกปี
“สิ่งสำคัญคือเมื่อเรามีพลังของคนที่พร้อมจะทำอาสายามเกิดวิกฤต ทุกคนพร้อมจะลุกขึ้นสู้ไปด้วยกัน อย่างเช่น เมื่อปี 2557 ที่อำเภอแม่ลาว จ.เชียงราย เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ บ้านเรือนถนนหนทางได้รับความเสียหายอย่างหนัก หลังจากทำงานช่วยเหลือสังคมมาตลอดทำให้เรามีเครือข่ายเยาวชนที่พร้อมจะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการช่วยเหลือชาวบ้านในวิกฤตนี้
“ตอนนั้นเองเป็นปีที่ทำให้เราได้รู้จักโครงการของสิงห์อาสา ว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยพี่น้องทั่วประเทศยามเกิดวิกฤต ทำให้เรานำกลุ่มเยาวชนขอความช่วยเหลือจากสิงห์อาสา ซึ่งทางสิงห์อาสาก็มอบทั้งอุปกรณ์
อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงลงแรงร่วมกับเราในการช่วยเหลือชาวบ้าน ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้น
ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวิกฤตน้ำท่วมปี 2567 ตลอด 10 ปี ที่เยาวชนเชียงรายออกช่วยเหลือชาวบ้านก็จะมีสิงห์อาสาอยู่เคียงข้างเสมอ ซึ่งสิงห์อาสามีแนวคิดเดียวกันกับเราคือการส่งต่อเมล็ดพันธุ์อาสาให้มีเพิ่มขึ้นในประเทศ เพราะตราบใดที่ประเทศไม่ขาดคนดีและมีจิตอาสา ยามวิกฤตเราก็จะรอดไปด้วยกัน
ปลูกเมล็ดพันธ์จิตอาสาในใจของลูกชาย
“มิวสิค” กรวิชญ์ ปุสุรินทร์คำ อายุ 22 ปี ลูกชายของอาจารย์เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อนผมไม่เคยต้องมาเป็นผู้ให้ เราเป็นผู้รับอย่างเดียว อยากได้อะไรที่บ้านก็จัดหาให้ ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมพ่อต้องเอาเงินของครอบครัวมาช่วยเหลือคนอื่น ทั้งเหนื่อย ทั้งไม่ได้รายได้ ไม่เห็นจะมีประโยชน์ แต่พอตามพ่อไปที่ต่าง ๆ ช่วงแรกเราก็สนุกไปตามประสาเด็ก พอได้ลงพื้นที่ไปช่วยเหลือคนจริง ๆ โดยเฉพาะผู้ประสบภัย ทำให้ผมรู้สึกว่า พลังของการให้มันสำคัญ เมื่อยามเกิดวิกฤตคนต้องการคนที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้”
“ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ผมก็ยังคงออกตามพ่อไปทำงานอาสาอยู่เสมอ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากพ่อคือ พวกเราคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องทำจิตอาสา เราต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้ และช่วยเหลือกัน พอผมเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพ ผมก็จัดตั้งทีมจิตอาสาในมหาวิทยาลัย แรก ๆ แม้จะเหนื่อยเพราะเด็กรุ่นผมไม่รู้สึกว่าจิตอาสาคือสิ่งสำคัญ งานต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการ ผมก็สู้ต่อเพราะรู้สึกว่าถ้าเพื่อน ๆ พี่น้อง รู้จักความเสียสละ รู้จักการเป็นผู้ให้ สังคมจะดีขึ้นคนเห็นแก่ตัวจะน้อยลง
จากวันนั้นจนวันนี้ ผมก็สร้างกลุ่มนักศึกษาออกค่ายอาสามาตลอด 4 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย”
“ในยามวิกฤตเราจะเห็นได้ว่าความช่วยเหลือนั้นสำคัญ น้ำใจของจิตอาสาและคนไทยหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่ว่าจะกี่วิกฤตเราก็ผ่านไปได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เติบโตงอกงามมาเป็นคนที่มีใจอาสาจึงสำคัญ เพราะเมื่อคนรุ่นเราหมดไป เขาก็จะลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคม
ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะดีได้ถ้าเราช่วยเหลือกัน” อาจารย์แอร์ กล่าวทิ้งท้าย