หลงลืมแค่ไหนถึงเข้าข่ายป่วยเป็นอัลไซเมอร์?

ใครเคยมีอาการแบบนี้บ้าง ชอบลืมกุญแจบ้าน กุญแจรถ ลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมกินยา จำชื่อคนไม่ได้ หรือไม่ก็ลืมวันสำคัญของคนสำคัญในครอบครัว

ถ้าอยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ก่อนเกษียณก็อาจคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะคงจะเป็นภาวะหลงลืมธรรมดา แต่ถ้ามีอาการหลงลืมแบบนี้บ่อยครั้ง ยิ่งเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงอายุด้วยแล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ หรือผู้สูงวัยเองอาจจะเริ่มกังวลใจว่ากำลังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์หรือเปล่า หรือสมองของเรากำลังถดถอยลงตามวัย แล้วเราจะแยกแยะระหว่างอาการหลงลืมธรรมดา หรือว่ากำลังป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์อย่างไร

ชวนคุยกับ ศ. นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงสัญญาณเตือนเบื้องต้นของภาวะสมองเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์ และการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างถูกวิธี เพื่อให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้มีโอกาสนำไปสังเกตอาการผู้สูงอายุในบ้านเพื่อหาแนวทางการดูแลในอนาคต

“การเกิดโรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ เรายังรู้จักและมีความตระหนักเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น มีการไปตรวจเช็กที่โรงพยาบาล ทำให้สามารถค้นหาและวินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น จึงทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้สูงอายุ

“อาการหลงลืมมักจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ช่วงอายุ  60 ปี พบประมาณ 1% แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อายุ 65 พบ 2% อายุ 70 พบ 4% อายุ 75 พบ 8% อายุ 80 พบ 16% และอายุ 85 พบ 30 กว่า%  หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วง 60 ปีจะเริ่มป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ประมาณไม่เกิน 1-2 % แต่ผู้สูงอายุบางคนก็อาจเป็น โรคสมองเสื่อมระยะก่อนเสื่อม หรือระยะเริ่มถดถอย หรือที่เรียกกันว่า MCI (Mild Cognitive Impairment) คือ เริ่มมีอาการหลงลืมมากขึ้น แต่ยังสามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น ขับรถได้ ทำกับข้าวได้ ซื้อของได้ แต่มีอาการลืมมากขึ้น การตัดสินใจต่าง ๆ ลดลงบ้าง แต่ยังไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวัน

“จุดสังเกตว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มว่าจะป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ สังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงหรือถดถอยไปจากเดิม 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านแรก คือ ความคิด การตัดสินใจ ความจำ ทิศทาง และการใช้ภาษา ด้านต่อมา คือ พฤติกรรม อาจมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หวาดระแวง เเละด้านสุดท้าย คือ ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จากเดิมเคยขับรถได้ อาจเริ่มขับไม่ค่อยถูก เคยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็เริ่มใช้ไม่ค่อยถูก หรือเริ่มเลือกเสื้อผ้าซ้ำ ใส่ชุดเดิมซ้ำ ๆ

“วิธีแยกอาการหลงลืมตามวัยกับอาการหลงลืมที่เป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์นั้น มีจุดแตกต่าง คือ การหลงลืมแบบอัลไซเมอร์ คือ ‘การลืมพ้น’ คือ ลืมไปเลยว่าเคยมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าลืมไปสักพักหนึ่ง ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง แล้วกลับมานึกได้ อาจเป็นการหลงลืมปกติทั่วไป ถ้าเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะดีกว่า เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

“ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจมีนิสัยเปลี่ยน เช่น จากคนที่เจ้าระเบียบ หงุดหงิดง่าย อาจกลายเป็นคนเฉยเมย ไม่ค่อยสนใจอะไร หรือจากคนที่เคยใจดี ก็อาจกลายเป็นคนขี้หงุดหงิด หวาดระแวง ก้าวร้าว นอนไม่หลับได้ ซึ่งคนในครอบครัว หรือผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาการของโรค ผู้ป่วยไม่ได้แกล้ง และไม่ได้เป็นนิสัยส่วนตัว รวมทั้งเรื่องของความสามารถในการทำกิจกรรม หรือเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน บางเรื่องผู้ป่วยอาจทำได้ แต่บางเรื่องก็ทำไม่ได้

“หากพบว่าผู้สูงอายุป่วยเป็นอัลไซเมอร์ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ญาติหรือผู้ดูแลต้องหาข้อมูล ทางโรงพยาบาลเองก็ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้มีหลายโรงพยาบาลที่จัดอบรมเกี่ยวกับผู้ดูแลมือใหม่ เพื่อให้ผู้ดูแลมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค รู้วิธีการสื่อสาร การพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย รวมทั้งการรับมือกับอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น การพลัดหลง หายสาบสูญ หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การหกล้ม การระมัดระวังเรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือน้ำยาและสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน เพราะยาที่ใช้ในการรักษาเรื่องความจำหรือพฤติกรรม อารมณ์สำหรับผูป่วยนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนสำคัญจริง ๆ คือ ผู้ดูแล เพราะในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมนั้น ผู้ดูแลเป็นเหมือนพระเอก นางเอกเลยก็ว่าได้

“ผู้ดูแลต้องอยู่ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยตลอดเวลา ดังนั้น จะต้องจัดสรรช่วงเวลาในการพักและกลับมาดูแลตัวเองบ้างอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ถ้ามีพี่น้องหลายคน อาจจะผลัดเปลี่ยนกันดูแล ให้ผู้ดูแลประจำได้พักบ้าง หรือถ้าหากมีความพร้อม สามารถหาคนมาช่วยดูแลได้ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากนี้ ผู้ดูแลจะต้องมีความยืดหยุ่น ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เคร่งเครียดเรื่องวิธีการดูแลจนเกินไปนัก เพื่อให้ทั้งตัวเองและผู้ป่วยอยู่ร่วมกันได้

“สำหรับการป้องกันโรคอัลไซเมอร์นั้นจะต้องทำตลอดชีวิต ทำทุกช่วงวัย ไม่จำเป็นต้องรอให้เข้าวัยสูงอายุแล้วค่อยทำ โดยอาจจะหมั่นศึกษาหาความรู้ ฝึกใช้สมอง ทำให้สมองมีศักยภาพสูง เวลาสมองเริ่มถดถอย ก็จะใช้เวลานานขึ้น แม้กระทั่งอยู่ในวัยเด็กก็ตาม โดยเฉพาะการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เซลล์สมองเชื่อมกันได้ดี เพราะวัยเด็กเป็นช่วงที่สมองพัฒนาสูงสุด

“พอเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ก็อาจจะดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของไลฟ์สไตล์และหลอดเลือด อย่างเช่น การงดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกาย โดยเฉพาะประเภทแอโรบิก ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ดี นอกจากนี้ ควรระมัดระวังในเรื่องของการได้ยิน และการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่จะทำให้สมองถูกกระทบกระเทือนได้

“ส่วนเรื่องของไลฟ์สไตล์นั้น ก็พยายามเข้าสังคม ไม่ปลีกตัว หากมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็จะต้องไปตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ามีสุขภาพแข็งแรงดี ก็ควรไปตรวจสุขภาพ เช็กร่างกายเป็นประจำทุกปี ที่ต้องดูแลเรื่องของหลอดเลือดเป็นพิเศษด้วยนั้น เพราะโรคสมองเสื่อมนอกจากจะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทแล้ว ก็มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของหลอดเลือดด้วย”

จุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ คือ การดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ควรยึด หลัก 3 อ. คือ อาหารดี อารมณ์ดี และออกกำลังกายดี หมั่นสังเกตความสมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใดก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ