“น้อยใจ อาการที่ใครๆ ก็เคยเป็น
อารมณ์รู้สึกน้อยใจมักจะเกิดขึ้นบ่อยกับทุกๆ คน เราอาจจะได้ยินกันมาว่าเหล่าวัยรุ่นหนุ่มสาวมักจะเคยเป็นกันบ่อย และใช้เครื่องมือนี้ในการเรียกร้องความสนใจจากคู่รักเพื่อเพิ่มความน่ารัก เติมน้ำตาลให้ความหวานกับคู่ของตนอยู่เสมอ แต่ถ้าหากมีมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์สั่นคลอน จนอาจถึงจุดจบได้อย่างรวดเร็ว
อันตรายของความขี้น้อยใจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวเท่านั้น ปัญหาน้อยใจกันเองภายในครอบครัวก็เกิดขึ้นได้มากไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ของเรานี่เอง ที่เรียกได้ว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งขี้น้อยใจหนักมาก!
ขุดต้นตอความขี้น้อยใจ
เลือกที่จะคุยเรื่องส่วนตัวกับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่
วันหยุดสุดสัปดาห์กลับบ้านมือเปล่า ไม่ได้ซื้อของฝากให้พ่อแม่
พ่อแม่ชวนไปเดินซื้อของที่ตลาด ลูกอยากนอนจมเตียงเลือกซื้อออนไลน์ดีกว่า
บอกปัดเมนูโปรดที่พ่อกับแม่ทำให้กินเป็นประจำ
นี่คือตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเป็นชนวนเล็กๆ ให้พ่อแม่เราเกิดอาการน้อยใจหนักมาก
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ยังต้องการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่น และมีความรู้สึกอยากเป็นจุดสนใจในสังคม รวมถึงการต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น มวลความรู้สึกเหล่านี้มาพร้อมกับความคาดหวังว่าคนรอบข้างจะต้องเป็นไปในแบบที่เราคาดหวังไว้ เมื่อไม่เป็นไปตามคาด มนุษย์ก็จะแสดงความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ หรือน้อยใจออกมา
“คิดไปเอง มันเป็นความรู้สึกที่เราคิดไปเองว่าคนอื่นไม่เห็นคุณค่า พ่อคงอยากได้แบบนี้ แม่คงอยากได้แบบนี้ ลูกอยากได้แบบนี้ คิดเอง เออเอง พอมันไม่เป็นอย่างคาดก็เลยเกิดอาการน้อยใจกัน”
ดร . เนตรปรียา ชุมไชโย หรือครูเคท จิตวิทยาคำปรึกษา ศูนย์ให้คำปรึกษา KruKate Counseling Center เล่าถึงจุดเกิดเหตุแห่งความขี้น้อยใจ โดยเฉพาะปัญหาน้อยใจกันเองภายในครอบครัวที่ทุกคนต่างต้องเคยเผชิญ ครูเคทได้ยกตัวอย่างในสถานการณ์ที่คุณแม่นั่งรอลูกกลับบ้าน ก็เกิดความคิดที่ว่าลูกกลับมาต้องหิวข้าวมากๆ แน่เลย ต้องกลับมาอยากกินข้าวฝีมือตนเอง ก็ลงครัวสวมบทบาทเป็นมาสเตอร์เชฟทำอาหารจานโปรดเตรียมไว้ให้ลูก และเห็นภาพลูกกลับมานั่งกินข้าวฝีมือตนเองอย่างเอร็ดอร่อย แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง ก็เกิดคำถามมากมายว่าทำไมไม่กิน ไม่ชอบอาหารฝีมือแม่แล้วเหรอ ก็จะเกิดการคิดไปเองต่างๆ นานา ทำให้เกิดอาการขี้น้อยใจได้ ทั้งๆ ที่เหตุผลของลูกอาจจะแค่ กินข้าวมาจากข้างนอกบ้านแล้ว อิ่มท้องจนไม่สามารถกินต่อได้ แต่ความชอบเมนูโปรดที่แม่ทำให้ก็ยังคงเป็นเมนูนั้นเมนูเดิม
เพราะครอบครัวคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด
ครูเคทเล่าว่า อาการขี้น้อยใจ สังเกตได้ว่าจะเกิดกับบุคคลใกล้ตัว หรือบุคคลที่เราควรจะให้ความสำคัญด้านความรู้สึกอย่างมาก ก็คือครอบครัว เพราะทุกคนจะคิดว่าครอบครัวคือที่ที่ปลอดภัย และเต็มไปด้วยความคาดหวัง สามารถแสดงอารมณ์โกรธ เกลียด โมโห รวมถึงขี้น้อยใจ ออกมาอาการไหนอย่างไรก็ยังคงรักกัน เลยทำให้ทุกอารมณ์มาแสดงกับคนที่บ้านได้อย่างง่ายดาย จนมองข้ามความรู้สึกกันไป
“ปัจจุบันนี้ เราว่าปัญหาความรู้สึกคนในบ้านเกิดขึ้นมากขึ้น เพราะไม่มีเรื่องจะสนทนากัน แต่นอกบ้านนี่ไปคุยกับเพื่อนได้เป็นวรรคเป็นเวร ลูกก็ไปพูดคุยกับเพื่อนลูก พ่อแม่ก็ไปพูดคุยกับเพื่อนตนเองได้อย่างสนุกสนาน ไม่มีการคิดมาก หรือคาดหวังคำตอบใดๆ เพราะรู้ว่าไปแสดงอาการน้อยใจกับเพื่อนก็กลัวจะเสียมิตรภาพไป แต่กับคนในครอบครัวน้อยใจขนาดไหนอย่างไรก็ยังคงรักกันดี”
การแสดงออก
“อาการขี้น้อยใจแต่ละคนแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบในแต่ละบุคคล แต่ละสถานการณ์ อย่างพ่อแม่ใครที่เป็นคนแข็งๆ ก็จะแสดงออกในรูปแบบการดุ ตะคอก ต่อว่าลูกตัวเอง ทำไมทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่สำหรับพ่อแม่สายอ่อนไหว ก็จะมีอาการน้ำหูน้ำตาไหลออกมา”
การแสดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ข้างในล้วนแล้วแต่ตกเป็นเหยื่อของการขี้น้อยใจด้วยกันทั้งสิ้น
ครูเคทให้ข้อมูลว่าเรื่องของฮอร์โมนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เกิดอาการขี้น้อยใจได้ เพราะเมื่อฮอร์โมนเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่ค่อยสมดุล เข้าสู่วัยทองก็จะเกิดอาการน้อยอกน้อยใจมาก แล้วก็มาคิดเล็กคิดน้อยกับบุคคลในครอบครัว ซึ่งตรงนี้บุคคลในครอบครัวก็ควรทำความเข้าใจ
ข้อดีของการขี้น้อยใจคือมันก่อเหตุการณ์ให้อีกฝ่ายฉุกคิดค่ะ
บางครั้งที่ลูกอาจไม่ได้ตั้งใจเผลอลืมเรื่องความรู้สึกของพ่อแม่ไป การที่พ่อแม่แสดงออกมาให้รู้ผ่านรูปแบบสีหน้าต่างๆ นั้น อาจทำให้ลูกๆ หวนกลับมาคิดได้ว่าสิ่งที่เราได้ทำ หรือไม่ได้ทำอยู่ เราตกหล่นทางความรู้สึกของพ่อแม่ไปมากน้อยแค่ไหน และทางออกใดที่จะสามารถเพิ่มเติมความรู้สึกของพ่อแม่ได้
เปิดใจ พูดคุย รับฟัง=หาทางออก
“ลูกต้องพูดคุยมากขึ้น พ่อแม่ต้องฟังมากขึ้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ไม่มีใครมาฟันธงว่าคุณผิดคุณถูก
“ในกรณีพ่อแม่ ยามหน้าสิ่วหน้าขวานเราต้องทำหน้าที่เป็นพ่อแม่คือการช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันในยามปกติก็ต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดี คอยรับฟังและสามารถแหย่ แซวได้เพื่อลดช่องว่าง เพิ่มความเข้าใจให้กันและกัน”
เริ่มจากบทบาทของพ่อแม่ ที่ไม่ได้มีเพียงแค่บทบาทพ่อแม่เพียงอย่างเดียว หากใส่บทบาทความเป็นเพื่อนลงไปรับฟังกันมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เมื่อลูกมาเล่าประสบการณ์ ปัญหาต่างๆ พ่อแม่ก็มักจะสั่งและสอน ตัดสินไปแล้วว่าถูกหรือผิด จึงทำให้ลูกหลานไม่อยากจะเริ่มพูดคุยต่อ ทำให้เกิดช่องว่าง และความสัมพันธ์ที่ถดถอยลง บางบทสนทนาการสั่งสอนก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ลูกหลานในครอบครัว เพียงแต่ต้องการรับฟังและเข้าใจในความรู้สึกของเขาเท่านั้นเอง
“ในส่วนของลูกก็ควรสนทนากับพ่อแม่ แลกเปลี่ยนเรื่องราว ปัญหา ความรู้สึกกัน ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง”
สิ่งที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด ก็คือ ลดความคาดหวังของกัน การพูดคุยกันและรับฟังให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากการสื่อสารในครอบครัว
เพราะอย่างไรครอบครัวก็ยังคงเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุดเสมอ