หากคุณคือคนหนึ่งที่มีความฝันว่าอยากจะดำน้ำไปสำรวจโลกใต้ทะเลสักครั้ง แต่ตอนวัยรุ่นหรือตอนทำงานไม่มีโอกาสได้ทำเพราะด้วยภาระต่าง ๆ ในวัย 40, 50 หรือ 60+ อาจเป็นช่วงที่ยังไม่สายเกินไปที่เริ่มต้นความฝันนั้นใหม่ก็ได้
หลายคนมักคิดว่า กีฬาดำน้ำ เหมาะกับคนหนุ่มสาวที่แข็งแรงดีเท่านั้น จากภาพจำที่พบได้ตามภาพยนตร์ โฆษณา หรือตามโบชัวร์ท่องเที่ยว ซึ่งอาจทำให้คนรุ่นเก๋าไม่กล้าเสี่ยงมาลอง เพราะกลัวเกิดอันตราย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการดำน้ำคือกิจกรรมที่เหมาะกับคนทุกวัย เพราะอายุไม่เคยเป็นอุปสรรคในการสำรวจโลกใต้ทะเลเลย
มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักกับ “Sea Mastermind” สถาบันสอนดำน้ำ ที่คุณครูผู้ฝึกสอน เชื่อว่าไม่ว่าจะวัยไหนก็สามารถดำน้ำได้ ขอแค่เพียงแค่มีใจรัก มีสุขภาพที่ดี มีความกล้าที่จะท้าทายตัวเอง และไม่ว่าวันนี้คุณจะอายุเท่าไรก็เดินมาสมัครเรียนดำน้ำได้เลย เพราะที่นี่ไม่เชื่อเรื่องข้อจำกัดของอายุ แต่เชื่อในพลังใจของนักเรียนทุกคนยิ่งกว่าสิ่งใด
เราชวนคุยกับ “ครูโป้ กุลเดช สินธวณรงค์” (อายุ 50 ปี) สถาปนิกที่ผันตัวมาเป็น ครูสอนดำน้ำ เพราะใจรัก และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “Sea Mastermind” สถาบันสอนดำน้ำที่ออกแคมเปญชวนคนที่มีความฝันอยากเรียนดำน้ำ แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนตอนอายุยังน้อย ให้กลับมาสานต่อความฝันนั้นอีกครั้ง ผ่านโครงการ “Yes You Can” ซึ่งรับสอนเฉพาะคนอายุ 45+ เท่านั้น
“ผมดำน้ำครั้งแรกตอนอายุ 20 กว่า แล้วก็หลงรักทันที แต่เพราะด้วยภาระหน้าที่ ทำให้การดำน้ำกลายเป็นแค่งานอดิเรกชั่วครั้งชั่วคราว แล้วชีวิตก็หมดไปกับการทำงานในวงการสถาปนิก ก่อนจะกลับมาสู่วงการดำน้ำจริงจังอีกครั้งตอนอายุ 40 ปี
“เมื่อคนเราอายุ 40-50 ปี สิ่งที่เหมือนกันคือทุกคนจะเริ่มกลับมาทบทวนชีวิตตัวเอง ว่ายังเหลืออะไรที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำอีกบ้าง หรืออะไรในชีวิตที่ยังขาดหายไปอยู่ ซึ่งสำหรับผมคือการดำน้ำที่ห่างหายไปนาน และสิ่งที่ผมอยากกลับมาทำมากที่สุด เลยรู้สึกว่าต้องมีคนวัยใกล้เคียงหรือคนอายุมากกว่าเราคิดเหมือนกันแน่ ๆ
“การกลับสู่วงการดำน้ำคราวนั้น ผมไม่อยากกลับมาดำน้ำเป็นงานอดิเรกเฉย ๆ แต่อยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ดำน้ำของตัวเองที่มีมาหลายปีให้คนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนมีอายุหรือ คนที่ไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไรหลังเกษียณ ให้หันมาสนใจกิจกรรมดำน้ำดูบ้าง เพราะผมอยากให้เขา เอาชนะความกลัว เพื่อที่จะได้เห็นโลกที่สวยงามอีกด้านหนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ใต้ทะเลสักครั้งก่อนจะสายเกินไป
“หลังจากเปิดสถาบันสอนว่ายน้ำของตัวเอง และสอนลูกศิษย์ที่อายุน้อย ๆ มาหลายรุ่น ผมก็อยากถ่ายทอดทักษะการดำน้ำให้คนรุ่นเดียวกับผม เลยเป็นที่มาของคลาสเรียนที่รับเฉพาะอายุเกิน 45 ปี เท่านั้น เพราะสมัยก่อนเขากำหนดว่าจะดำน้ำห้ามอายุเกิน 45 ปี ผมก็เลยรับสอนเพื่อทำลายความเชื่อนี้ซะเลย
“ผมคิดว่าจะจัดโครงการ แบบ ‘Yes You Can’ ต่อไป ปีละ 1-2 ครั้ง เพราะแต่ละครั้งต้องใช้เวลามากกว่าปกติ แต่ถ้ายังมีพี่ ๆ วัยเก๋ามาเรียน ผมก็จะพยายามจัดโครงการแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนภาพจำของสังคมให้หันมามองว่าคนกลุ่มนี้ถึงจะสูงวัย แต่ก็ยังมีไฟอยู่นะ”
“ส่วนใหญ่พี่ ๆ ที่มาเรียนมักจะมีคำถามคล้ายกันคือ อายุเท่านี้รับสอนไหม ว่ายน้ำไม่เป็นเรียนได้ไหม มีโรคประจำตัวแบบนี้ดำน้ำได้ไหม ซึ่งผมก็ให้ความมั่นใจพี่ ๆ เขาว่าการดำน้ำไม่ใช่กีฬาเอ็กซ์ตรีม ที่ต้องใช้ความแข็งแรงของร่างกายขนาดนั้น แต่คือกีฬาเพื่อความรื่นรมย์ ที่มีอุปกรณ์ช่วยแบบเพียบพร้อม จึงไม่ใช่กีฬาต้องห้ามของคนมีอายุแน่นอน
“หากจะเริ่มเรียนดำน้ำ แล้วยังกังวลอยู่ว่าตัวเองอายุมากไปหรือเปล่า ขอให้หยุดกังวลไปได้เลย ถ้าคุณดูแลตัวเองมาดีประมาณหนึ่ง คุณอาจทำได้ดีกว่าคนอายุ 20-30 ปี ที่ใช้ชีวิตแบบอดหลับอดนอนมาเรียนก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่ากลัวว่ามันจะสายเกินไป แต่ให้พกความกล้ากับหาสถาบันสอนดำน้ำที่มีมาตรฐาน คุณก็เดินเข้าไปสมัครเรียนได้เลย รุ่นเดียวกับผมหลายคนที่มาเรียน ผมก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนมากกว่าเป็นลูกศิษย์ บางคนอายุเลย 60 ปี ไปแล้วด้วยซ้ำก็ยังมาเรียน
“เวลาผมสอนนักดำน้ำมือใหม่ที่เป็นรุ่นใหญ่ ผมก็ไม่ได้สอนต่างจากคนทั่วไปเลย เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าเขากังวลอะไรเป็นพิเศษ เช่นความปลอดภัยต่าง ๆ ที่เขาจะให้ความสำคัญมาก ผมจะสอนทีละสเต็ป อย่างช้า ๆ ทั้งเริ่มจากให้เขาชินกับน้ำตื้น น้ำลึกในสระซ้อมก่อน จนไปดำของจริงในทะเล ซึ่งตั้งแต่สอนมาไม่มีใครเลยที่ทำไม่ได้เลย เพราะพวกพี่ ๆ เขาเอาชนะความกลัวมาได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
“ผมมีความสุขมากที่ช่วยให้พี่ ๆ หลายคนได้เห็นโลกใต้ทะเลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นี่คือแพสชันหลักที่ทำให้ผมหันมาเปิดโรงเรียนสอนดำน้ำ ผมว่าผมเป็นครูที่สอนแบบโบราณนะ คือสอนแบบไม่รีบ แต่ชัวร์ เนื่องจากผมไม่ได้มาทำตรงนี้เพื่อธุรกิจอย่างเดียว แต่อยากให้โรงเรียนนี้มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับคนที่มีความกล้าทุกคน และสำคัญที่สุดคือช่วยให้พี่ ๆ รุ่นเดียวกับผมได้มีไลฟ์สไตล์เท่ ๆ ที่ท้าทายตัวเองมากขึ้น”
ครูโป้ทิ้งท้ายว่า ถึงทุกวัยจะสามารถดำน้ำแบบสคูบาได้ แต่ก็มีโรคที่ต้องระวังอย่าง โรคอย่างความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคลมชักก็ควรตรวจสุขภาพ หรือขอใบรับรองจากแพทย์มาก่อนเพื่อความปลอดภัย เพราะผมอยากให้ทุกคนที่มาเรียนได้เพลิดเพลินกับกีฬาชนิดนี้ตามศักยภาพร่างกายของตัวเอง โดยไม่ฝืนร่างกายมากไปก็พอ
ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ คงไม่พาตัวเองมาเรียนตั้งแต่แรก แต่ที่พาตัวเองมาเรียนเพราะคิดว่าตัวเองทำได้ และคือการเอาชนะความกลัวของคุณเปิ้ล เพ็ญศิริ ดุษฎีเมธา
“เราเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่ชีวิตช่วง 30 กว่า ๆ มัวแต่ยุ่งกับงานและเลี้ยงลูก พอลูกโตขึ้น เราเลยมีเวลาว่างเหลือ เลยเริ่มไปเที่ยวทะเลบ่อยขึ้น แต่เรารู้สึกว่าทะเลหลายที่มันก็สวยเหมือน ๆ กันหมด แต่มุมที่เราคิดว่าน่าจะแตกต่าง คือมุมโลกใต้ผิวน้ำที่ต้องดำลงไปดู
“เวลาเล่นมือถือแล้วเห็นคนอื่น ดำน้ำลงไปถ่ายรูปกับปะการัง เลยทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าถ้าเป็นเราจะทำได้ไหม คิดว่าไม่น่ายาก เพราะตอนเด็ก ๆ เราก็เคยดำลงไปเก็บเหรียญที่ก้นสระน้ำได้สบาย ถ้าดำน้ำไปดูปะการังในทะเลก็คงน่าจะไม่ยากเหมือนกัน ช่วงใกล้เกษียณที่ภาระเริ่มลดลง เลยตัดสินใจมาเรียนดำน้ำเพื่อท้าทายตัวเองอีกสักครั้ง
“เราคิดว่าโอกาสที่เราจะเรียนดำน้ำจนผ่านแล้วไปดำที่ทะเลจริงมีต่ำมาก เพราะเรามีทั้งโรคความดันสูง โรคบ้านหมุน เป็นไซนัส น้ำหนักเยอะ และก็เป็นโรคปอดแหกด้วย แต่เราคิดว่าเป็นเรื่องสนุกที่ได้มาลอง ถึงท้ายที่สุดจะล้มเหลว แต่แค่กลับมาลงน้ำได้มาสวมอุปกรณ์เท่ ๆ แล้วถ่ายรูปไปอวดเพื่อน เราก็พอใจแล้ว
“โชคดีที่ครูที่นี่มีอายุประมาณหนึ่ง เลยเข้าใจคนมีอายุด้วยกัน เพราะเขาสอนแบบใจเย็น ไม่ข้ามขั้นตอน แม้แต่ตอนลงทะเลจริง เขาก็ว่ายไปข้าง ๆ แล้วสบตาเราตลอดว่าโอเคไหม ซึ่งเราก็ไม่เคยสบตาใครนานขนาดนี้ แต่มันก็ทำให้เรามั่นใจว่าตัวเองปลอดภัย เพราะมีครูที่เข้าใจเรา และรู้จุดอ่อนของร่างกายเราทุกอย่าง ซึ่งช่วยให้เรามั่นใจขึ้นเยอะ ตั้งแต่เรื่องน้ำหนัก เรื่องการกำหนดลมหายใจ ไปจนถึงฟินที่ใส่ว่าต้องยาวเท่าไร ถึงเหมาะกับขนาดตัวเรา ซึ่งเราคิดว่าเรื่องพวกนี้ถ้าไปเรียนที่อื่น คงไม่มีใครมาตอบเราได้แน่ชัดเจนแบบนี้แน่ ๆ
“จากที่คิดว่าชาตินี้จะไม่ได้เห็นโลกใต้น้ำ แต่เวลานี้เราดำลึกสุดได้ถึง 10 เมตรที่แค่นั้นก็เห็นปะการัง เห็นฝูงปลาสวยงามเยอะแล้ว และรู้สึกขอบคุณตัวเองที่กล้าทำสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้”
“เราอยากดำน้ำตั้งแต่เด็ก เพราะดูคนที่เขาดำลงไปสำรวจโลกใต้น้ำในทีวีแล้วชอบ อยากสวมอุปกรณ์เก๋ ๆ แบบนั้น แล้วดำลงไปด้วยตัวเองบ้าง
“เพิ่งมาเรียนดำน้ำตอนใกล้เกษียณ เราเริ่มจากศูนย์ทุกอย่าง เพราะก็ไม่ใช่คนที่ว่ายน้ำแข็งมาก ตอนนั้นใคร ๆ ก็บอกอายุ 50 กว่าแล้วจะเรียนทำไม เดี๋ยวก็เกิดอุบัติเหตุหรอก แต่เราก็มองว่าการดำน้ำสคูบามันไม่ใช่กีฬาที่เอ็กซ์ตรีมขนาดนั้นใคร ๆ ก็ลองเรียนลองทำได้ไม่เสียหาย
“ตอนเรียนเราก็กล้า ๆ กลัว ๆ ทุกขั้นตอน เพราะร่างกายเราไม่ได้แข็งแรง แถมเรายังเป็นโรคไขข้อกระดูก ทำให้ตีขาไปข้างหน้าได้ช้า เวลาซ้อมในสระ เราก็จินตนาการว่ามันเป็นทะเลเข้าไว้ เพื่อให้ตัวเองมีกำลังใจ ไม่ล้มเลิกกลางคัน
“สิ่งที่ยากที่สุดตอนซ้อมคือ การดำน้ำลอดห่วง ที่เราทำผิดอยู่หลายรอบ แต่ครูที่นี่เขาใจเย็น เข้าใจข้อจำกัดของเรา มีวิธีการสอนที่ยืดหยุ่น ทำให้การซ้อมดำน้ำของเราเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ท้าทาย จนไม่อยากหยุดเรียนเลย ซึ่งเหตุผลที่เรามีกำลังใจเรียนจนไปดำน้ำที่ทะเลจริงๆ ได้ก็เพราะมีครูที่เข้าใจคนวัยเราด้วย
“ตอนไปดำน้ำที่ทะเลครั้งแรก เราก็กลัวนะ เพราะต่างจากสระน้ำตรงที่มันไม่มีขอบสระ มีแต่สีน้ำเงินกว้างสุดลูกหูลูกตา แต่เราก็พยายามมีสติ นึกถึงสารคดีที่ดูตอนเด็ก ๆ ว่ามันมีอะไรรออยู่ข้างล่าง ทำให้เรากล้าค่อย ๆ ดำตามคนอื่นลงไป จนเจอแนวปะการังที่เราอยากเห็น หลังจากนั้นความกลัวมันก็หายไปเลย แต่มีความรื่นรมย์เข้ามาแทนที่แทน พอเราหายกลัวและโฟกัสกับความสวยงามตรงหน้าได้ คราวนี้เราไม่อยากขึ้นจากน้ำเลย
“จริง ๆ การดำน้ำง่ายกว่าการว่ายบนผิวน้ำอีกนะ เราไม่ต้องใช้แรงมาก เพราะมีอุปกรณ์ช่วยผ่อนแรงไปมากกว่าครึ่ง จะดำน้ำแค่มีความกล้า สุขภาพดีประมาณหนึ่ง กับรู้ว่าอุปกรณ์ใช้ยังไง แค่นั้นก็ดำน้ำสคูบาเบื้องต้นได้แล้ว”
“เราเป็นโรคแพนิก เห็นอะไรในที่ไม่คาดคิดแค่นิดเดียว อย่างคางคกกระโดดผ่านหน้า เห็นฟ้าผ่าตอนขับรถ เราก็ตกใจจนหัวใจเต้นแรงแล้ว หมอที่เราหาประจำก็ไม่แนะนำให้เราเล่นกีฬาผาดโผน แต่ให้เราฝึกนั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมง่าย ๆ เพื่อให้จิตใจสงบ แล้วอาการแพนิกจะได้ดีขึ้น
“แต่ไม่ว่าจะทำอะไร เราก็ยังแพนิกกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวอยู่ดี เราจึงคิดว่าอาจต้องเอาชนะความกลัวด้วยความกล้าแทน ช่วงที่อายุ 50 กว่า ๆ เพื่อนมาชวนไปเรียนดำน้ำพอดี เราที่ชอบเที่ยวทะเลอยู่แล้ว เลยคิดมองว่าการดำน้ำนี่แหละ คือกีฬาที่ท้าทายกำลังดีที่เราน่าจะไปกับมันรอด
“ตอนซ้อมในสระน้ำผ่านไปได้ไม่ยาก เพราะเราคุ้นเคยกับการว่ายน้ำในสระเป็นอย่างดี แต่พอไปสอบดำน้ำ 10 เมตรที่ทะเล อันนี้เราแพนิกมาก เพราะน้ำมันขุ่น มองแทบไม่เห็นก้นทะเล ตอนดำลงไปเราก็พยายามว่ายตามเชือกไปถึงจุดที่เขากำหนด แต่ขากลับเราว่ายขึ้นมาเร็วมาก เพราะตอนนั้นรู้สึกแพนิก กลัวจะกลับขึ้นไปไม่ได้ เลยกลายเป็นว่ากระแสน้ำพัดตัวเราไปอยู่ใต้ท้องเรือ ซึ่งโชคดีที่ครูเขาตามมาดึงเราตัวเราออกมาทัน หัวเราเลยไม่ไปกระแทกกับใต้ท้องเรือ ซึ่งเหตุการณ์นั้นน่าจะเกือบเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดที่หมอดูทำนายไว้ก็ได้ คิดว่าตัวเองฟาดเคราะห์ไปแล้ว
“พอเราสอบทุกอย่างผ่าน แล้วเขาปล่อยให้เราดำน้ำอย่างอิสระได้ เราก็มีความกล้ามากขึ้น เวลาตัวจมอยู่ใต้ทะเล เราจะแก้อาการแพนิกที่กว้าง ด้วยการมองหาสิ่งโฟกัสอย่าง ปะการังสักก้อน หรือโขดหินใต้น้ำ แล้วค่อย ๆ ว่ายไปหามัน ทำให้เราสบายใจขึ้นเยอะ เพราะที่กว้างมันแคบลง และเราก็โฟกัสอยู่กับแค่สิ่งที่อยากเห็นเท่านั้น
“หลังจากดำน้ำบ่อย ๆ จนคล่อง เราก็คิดว่ามันคือการทำสมาธิอย่างหนึ่งเหมือนกัน ทำให้อาการแพนิกเราบนบกหายดีขึ้นไปด้วย เลยรู้ตัวว่าเราเอาชนะความกลัวด้วยความกล้าได้”