SCGP ประกาศผลสุดยอดไอเดียออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ในโครงการ SCGP Packaging Speak Out 2023

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยงามสะดุดตาของแพคเกจจิ้งไม่เพียงมีผลต่อการสร้างภาพจำให้สินค้าและแบรนด์ หากยังมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าไม่มากก็น้อย แต่ปัจจุบันดีไซน์สวยอย่างเดียวคงไม่พอ บรรจุภัณฑ์ยังต้องรองรับการใช้งานและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่หลากหลาย ไม่สร้างภาระให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม

ด้วยความเชื่อที่ว่าการออกแบบแพคเกจจิ้งสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือทางสังคม บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จึงจัดโครงการ ประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระดับอุดมศึกษา “SCGP Packaging Speak Out 2023” ส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้ง เป็นปีที่ 8 ให้เหล่าวัยรุ่นไฟแรงได้ออกมาปล่อยของกันอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด Possibilities For The Betterment  มุ่งมั่นสร้างสรรค์ เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นกับโจทย์การออกแบบ ‘Packaging for Seniors แพคเกจจิ้งเพื่อผู้สูงวัย’

หัวใจสำคัญของการประกวดในครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องแสดงความสามารถในการออกแบบแพคเกจจิ้งให้ตอบโจทย์ตรงใจคนรุ่นใหญ่ได้มากที่สุด บรรจุภัณฑ์นั้นยังต้องยั่งยืนต่อโลกและใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาจะต้องสามารถนำมาผลิตเพื่อวางขายในตลาดได้จริง และมองเห็นตลาดที่จะมารองรับตัวสินค้าในอนาคต โดยมีเงินรางวัลรวม 200,000 บาท พร้อมสิทธิ์เข้าฝึกงานที่ SCGP สำหรับผู้ชนะการประกวด

โดยในปีนี้ คณะกรรมการที่ให้เกียรติเข้าร่วมในการตัดสินรางวัลรอบสุดท้าย ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้ง Prompt Design, ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด และประธานหลักสูตรปริญญาโท ด้านแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทย, คุณสุชัย กอประเสริฐศรี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกิจการบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ รวมไปถึงตัวแทนคนรุ่นใหญ่อย่าง ป้าพิม-เพลินพิศ เรียนเมฆ บาริสต้าวัยเกษียณ เจ้าของร้าน Mother Roaster ก็มาร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลในครั้งนี้ด้วย

ซึ่งในรอบ Final Round มีผลงานจากนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 10 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 288 ทีม และเมื่อวันที่  7  ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  ได้มีการประกาศผลผู้ชนะรางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รางวัลชนะเลิศ The Best Of Challenge

ผลงาน : ศีรษะ 

ออกแบบโดย ทีม  60’s kids :  นางสาวฎีการัช ธรรมรัตนกุล และนายกรณ์ชัช ติยวุฒิโรจนกุล

นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4

ศีรษะ เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผม เพื่อลูกค้า Silver Gen ภายใต้แนวคิด  Possibilities For The Betterment มีเป้าหมายเพื่อให้ใช้งานได้ง่าย ปลอดภัย เป็นมิตรกับลูกค้าผู้สูงวัยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สารสกัดของแชมพูผลิตจากสารสกัดธรรมชาติอย่าง เปลือกมะกรูด ขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการบำรุงหนังศีรษะเรื่องปัญหาผมบาง ผมร่วง อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้มากในผู้สูงวัย

ตัวบรรจุภัณฑ์ถูกออกแบบให้สามารถกดใช้ได้ด้วยมือข้างเดียว ไม่ต้องใช้แรงในการบีบเท่ากับบรรจุภัณฑ์แบบขวด และยังมีมือว่างในการช่วยยึดจับหรือพยุงตัว ลดโอกาสที่จะทำให้ผู้สูงวัยเสียหลักลื่นล้มได้ แถมยังเอื้อต่อการใช้ซ้ำ เพราะเป็นขวดที่ออกแบบมาสำหรับใช้กับถุงรีฟีล สามารถเปลี่ยนได้ง่ายกว่าการเทเติมในรูปแบบเดิม ๆ

ทางทีม 60’s kids ให้สัมภาษณ์ว่า “งานเสวนา Packaging for Seniors เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้แรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่าง จนเราพัฒนาแพคเกจจิ้งกันออกมาได้ ขอบคุณทาง SCGP และผู้มีส่วนร่วมในโครงการที่ช่วยเปิดประสบการณ์ให้เราได้รับทั้งคำแนะนำและความรู้ดี ๆ กลับมาเยอะมาก ๆ

“ จุดเด่นของแบรนด์เราคือ ขวดแชมพูสามารถกดได้ด้วยมือเดียว ทำให้อีกมือหนึ่งสามารถพยุงตัวหรือทรงตัวได้ สองคือเรื่องการรีฟิล เราเปลี่ยนจากการเทลงขวดแบบเดิม มาเป็นการเปลี่ยนซองได้เลย พอใช้แชมพูหมดแล้วสามารถนำไปล้างใช้ใส่อย่างอื่นก็ได้ หรือจะนำไปรีฟิลแชมพูเพื่อนำกลับมาใช้ต่ออีกก็ได้เหมือนกัน เพราะซองนี้สามารถใช้ต่อกับขวดได้เรื่อย ๆ ตรงนี้ก็จะช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่งด้วย”

รางวัล Runner-Up

ผลงาน : ชุดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ทำความสะอาดตาสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าต้อกระจก

ออกแบบโดย ทีม Dec Product : นางสาวอัญชิสา อมรธนภัทร และนางสาวพรรษชล ไตรวิทยากร นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชั้นปีที่ 4 

‘NETR เนตรา’ เป็นชุดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ทำความสะอาดตาสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าต้อกระจก โดยทางทีมเห็นว่าโรคต้อกระจกเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ ซึ่งการหยอดตาเป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาที่มีความจำเป็น แต่มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ลืมหยอดตา เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง บางคนต้องรอลูกหลานกลับมาหยอดตาให้ หรือบางครั้งกว่าจะหยอดเสร็จก็เสียน้ำยาไปหลายหยด

เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้ ‘เนตรา’ จึงถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถหยอดตาได้ด้วยตัวเอง โดยตัวขวดจะมีก้านสำหรับช่วยเปิดเปลือกตาล่างให้อยู่ในองศาที่เหมาะสม ทำให้หยอดตาได้ง่ายขึ้น ซึ่งตัววัสดุที่นำมาทำบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด

ทางทีม Dec Product พูดถึงเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบว่า “โครงการนี้ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ทำให้เราได้รู้ว่าการเป็นผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย งานเสวนา Packaging for Seniors ยังช่วยให้เราได้เข้าใจมุมของรุ่นใหญ่มากขึ้น เลยคิดว่าการจะทำอะไรสักอย่างขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุ

สามารถพึ่งพาตัวเองได้เขาน่าจะมีความภูมิใจและมีความสุข เลยเลือกทำแพคเกจจิ้งยาหยอดตาออกมาให้เอื้อต่อการใช้งานได้ด้วยตัวเอง”

นอกจากนี้ยังมีรางวัล Honorable Mentions อีก 4 รางวัล ได้แก่

  • ผลงาน ‘ยาดมสมุนไพร’ ออกแบบโดย ทีม ppm นางสาวปาริตา ยิ่งยงอุดมผล, นางสาวพรสินี น้อยประชา และนางสาวอนันตชา จั่นอยู่ นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ยาดมสมุนไพร ‘วิงวิง’ แก้วิงเวียน ตัวบรรจุภัณฑ์ออกแบบมาให้มีความโค้งเว้า และเพิ่มฟังก์ชันปุ่มมือไว้บริเวณข้างขวด เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถบีบนวดมือได้ขณะจับ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเหน็บชาที่พบมากในผู้สูงวัย และยังใช้วัสดุได้อย่างคุ้มค่า เพราะเมื่อใช้ยาดมสมุนไพรหมดแล้วยังสามารถเก็บขวดไว้นวดต่อได้อีกด้วย
  • ผลงาน ‘เฟลอร์’ ออกแบบโดย ทีม woof woof นางสาวลภัสรดา สฤษฎ์ผล และนางสาวสุนทรีลักษณ์ เอี๋ยตระกูล นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่ 2 เฟลอร์ คือบรรจุภัณฑ์ขวดใส่ปุ๋ยเร่งดอกสูตรน้ำ แบบผสมสำเร็จ ที่ได้ไอเดียมาจากงานอดิเรกของผู้สูงวัยอย่างการปลูกต้นไม้ดอกไม้ในช่วงที่มีเวลาว่าง และปัญหาที่พบมากคือความหนักและความยากในการเปิดบรรจุภัณฑ์ เฟลอร์ จึงถูกออกแบบมา ให้สามารถเปิดได้สะดวกขึ้น สามารถยกจับขวดเทได้อย่างสะดวกถนัดมือ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย

  • ผลงาน  ‘แพคเกจจิ้งผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตรา Comfee’ ออกแบบโดย ทีม 123 หน่อ  นางสาวธัญณิชา วันทยะกุล นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชั้นปีที่ 2 นายวิริทธิ์พล จันทรศิริจัน และนายยุวรัตน์ บุญมาศ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชั้นปีที่ 2 ตัวบรรจุภัณฑ์ของ Comfee ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายขณะใช้งาน ด้วยวิธีเปิดกล่องที่หลากหลาย ง่ายต่อการจัดเก็บและหยิบใช้ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะกล่องกระดาษลูกฟูกผลิตจากกระดาษที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด
  • ผลงาน ‘ฟิตฟุต’ ออกแบบโดย ทีม Pin นางสาวชัญญารัสมิ์ ปิ่นแก้ว นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ฟุตฟิต คือกล่องรองเท้าที่มีอุปกรณ์บริหารฝ่าเท้าด้านใน เนื่องจากผู้ออกแบบต้องการช่วยลดอาการชาตามฝ่าเท้าที่พบมากในผู้สูงอายุ  และเพื่อลดการก่อขยะจากบรรจุภัณฑ์ จึงเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเข้าไป เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถใช้งานบรรจุภัณฑ์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

วิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวทิ้งท้ายถึงน้อง ๆ ที่เข้าร่วมประกวดทุกคนว่า “ทั้ง 10 ผลงาน ทุกผลงานมีประโยชน์และมีคุณค่ามากจริง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกทีมทำได้ดีคือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ เวลาเราจะสร้างอะไรขึ้นมาสิ่งสำคัญคือความเอื้ออาทร เพราะเราเองจะกลับมาภูมิใจกับตัวเองว่า เราไม่ได้ดีไซน์แค่แพคเกจจิ้ง แต่เรายังทำเรื่องของไลฟ์ดีไซน์ที่สามารถทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้

นอกจากน้อง ๆ  Gen Z จะมีความสามารถและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ขึ้น แนวคิดของผลงานแต่ละทีมยังสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีความใส่ใจและเข้าอกเข้าใจปัญหาของผู้สูงวัยในเรื่องเล็ก ๆ  น้อย ๆ ได้ดี เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถใช้งานได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เรื่องนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ของผู้สูงอายุในทุกวันได้ เพราะเมื่อเขารู้สึกว่าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางเรื่องโดยที่ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน เท่านี้ก็ทำให้ผู้สูงวัยกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองได้อีกครั้ง เป็นรอยยิ้มและความสุขที่เกิดได้ง่ายขึ้นในชีวิตประจำวัน

และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นคนเจเนอเรชันใหม่ตัดสินใจที่จะส่งเสียง และมุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมปัจจุบันและอนาคตให้น่าอยู่กว่าที่เคย

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ