“บ้านหนองไม้เฝ้าเป็นบ้านเกิดของผม ตั้งแต่เล็กผมเห็นภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านมันเลวร้ายมาตลอด การเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการทำไร่ไถนา เศษผักผลไม้จากพ่อค้าแม่ค้าในตลาด รวมถึงขยะที่มาจากชาวบ้านที่ถูกถือออกมาทิ้งข้างทางเพื่อให้พ้นบ้านตัวเองแล้วก็จุดไฟเผา ภาพที่เห็นมันน่าขนลุกมีแต่ความสกปรกและเศษซากเน่าเสีย ใครขับรถผ่านไปมาก็ได้แต่หันหน้าหนี
“ผมเป็นผู้นำชุมชนที่นี่ แล้วก็เกิดที่นี่ ผมจึงตัดสินใจว่า จะต้องเอาจริงเอาจังกับขยะพวกนี้ ผมอยากให้ความสกปรกหมดไปจากชุมชนเรา แม้มันจะเป็นปัญหาที่สะสมมายาวนานฝังรากลึก แต่ผมจะพยายามทำอย่างเต็มที่ สิ่งไหนที่เราทำมันอย่างมุ่งมั่น อดทน และไม่ย่อท้อ มันต้องสำเร็จจนได้”
“ผมอยู่ที่นี่มา 71 ปี แปลงผักส่วนกลางที่ตอนนี้เราเห็นว่าสวยงาม เดิมทีเป็นหลุมสำหรับเอาขยะมาทิ้ง พอรวมเข้าเยอะๆ ก็จุดไฟเผา แถวๆ กองขยะก็จะมีซากสัตว์เน่าเหม็นมีแมลงวันบินมาตอม คนผ่านมาเห็นอาจจะมองว่ามันเป็นภาพที่ไม่น่ามองแต่คนที่นี่อยู่กับมันทุกวัน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความสกปรกนี้เป็นสิบๆ ปี ไม่มีชาวบ้านคนไหนบ่นหรือบอกว่ามันสกปรก กลายเป็นว่าภาพขยะเหล่านี้ถูกมองเป็นเรื่องปกติชินตา ไม่ได้รู้สึกแย่”
ขยะคือต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศและเชื้อโรค
ขยะถูกมองเป็นภาพชินตา
“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐเริ่มมีการรณรงค์ชุมชนสะอาด ผมจึงชวนชาวบ้านออกมาเก็บขยะในวันสำคัญต่างๆ ตัดกิ่งไม้ กวาดใบไม้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วขยะเหล่านั้นก็ถูกนำไปเผา ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่กำจัดขยะด้วยการเผาเหมือนคนอื่นๆ เพราะชุมชนเราไม่มีรถขยะเข้ามาเก็บตั้งแต่แรก ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการที่ถูกต้อง จุดนั้นแหละเริ่มทำให้ผมฉุกคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงชุมชนเพราะควันที่เกิดจากการเผาขยะ เชื้อโรคและแมลงที่กำลังตอมขยะเปียก มันคือต้นเหตุที่ทำให้ลูกหลาน รวมไปถึงผู้เฒ่าในชุมชนเริ่มมีอาการไอ และเจ็บป่วย”
เราทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ
“ผมเลยเริ่มต้นจากตัวเอง ผมพยายามชวนชาวบ้านเรื่อยๆ ไม่เคยหยุดในขณะที่คนทำเริ่มเหลือน้อยลงแต่ผมก็ยังพยายามพูดเสียงตามสายชวนชาวบ้านเก็บขยะทุกวัน ให้เค้าเห็นว่าเราทำจริงจัง ทำจนกว่าเขาจะชิน และออกมาช่วยกัน
“ผมเริ่มเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน พยายามให้ชาวบ้านพูดว่าตอนนี้ปัญหาขยะมันกระทบกับชุมชนเราอย่างไรบ้าง พยายามรับฟังทุกคน ไม่ใช่ไปชี้นิ้วสั่งให้พวกเขาทำตามสิ่งที่ผมคิด ถ้าทำแบบนั้นทุกคนจะไม่ได้มีส่วนร่วมและในท้ายที่สุดเขาจะไม่รู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมมือกัน พอถามว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างในการจัดการกับปัญหาขยะ เขาก็เริ่มมีการออกความคิดเห็นว่าควรแยกขยะไหม ควรทำปุ๋ยหมักไหม หรือควรติดต่อรถเก็บขยะ ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านมีความรู้อยู่บ้างเพียงแต่เราไม่เคยลงมือทำกันอย่างจริงจัง”
1 ปี พลิกวิกฤตขยะล้นชุมชน สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
“ผมเริ่มติดต่อไปศึกษาดูงานที่บ้านโป่งโมเดลโดยมีทาง SCG มาช่วยอบรมวิธีการจัดการขยะอย่างถูกต้องและยั่งยืน เราเริ่มลงมือทำ ลองทำตามนโยบายที่เราวางแผนร่วมกันไว้ เรามีขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิล มีขยะเปียกจากเศษอาหาร มีขยะจากการทำการเกษตร มีขยะอันตรายจากพวกอุปกรณ์ใส่ยาฆ่าแมลง นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกเศษผ้าที่เหลือทิ้ง เราจึงวางหน้าที่ออกเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อคัดแยกขยะออกมา และจัดการอย่างเหมาะสม ผลสำเร็จก็คือเราได้ทั้งขยะที่ไปรีไซเคิลใหม่แล้วก็ขยะที่เรานำไปขาย เงินที่ได้ก็มาทำประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุ เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เราทำต่อเนื่องและจริงจังเป็นเวลา 1 ปี ทำให้เรามีเงินฝากจากการขายขยะเป็นกองทุนของหมู่บ้านอยู่ 6 หมื่นกว่าบาท ชาวบ้านก็มีปุ๋ยและน้ำหมักสำหรับไล่แมลงใช้ ไม่ต้องไปซื้อ ของที่รีไซเคิลได้ก็เอาไปทำผลิตภัณฑ์ชุมชน พวกเศษผ้าก็เอาไปทำเป็นแพมเพิสสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นหลุมขยะก็เริ่มพลิกฟื้นให้เป็นพื้นที่ปลูกผักสวนครัวกินได้ ทุกคนในชุมชนก็มาช่วยปรับพื้นที่ และดูแลร่วมกัน จากขยะที่เป็นของไร้ค่า พอเราสร้างมูลค่าให้ก็เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมา พอมีค่าชาวบ้านก็รู้จักแยก เพื่อเอาไปแลกของได้ คนก็ทิ้งขยะน้อยลง
“สัญลักษณ์ที่มีทุกบ้านคือธงสีชมพู บ้านไหนที่เข้าร่วมโครงการจัดการขยะ จะมีธงสีชมพูไปปักไว้หน้าบ้านคนนั้น ตอนเริ่มหมู่บ้านเรามี 121 ครัวเรือน ก็เข้าร่วมไม่ครบทุกบ้านหรอก ประมาณ 100 กว่าครัวเรือน แต่เราก็พยายามจะดึงคนพวกนั้นเข้ามาร่วมมือกับเรา พอเราทำอย่างจริงจัง คนเขาเห็น เขาก็เกิดความละอายแก่ใจตัวเอง เพราะสิ่งที่เราทำ เราทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง จนมาถึงวันนี้ วันที่ทุกบ้านมีธงสีชมพูปักทุกหลัง ชุมชนเรากลายเป็นชุมชนปลอดขยะ 100% อย่างภาคภูมิใจ และทั้งหมดไม่ได้เกิดจากผม มันเกิดจากทุกคนที่ร่วมมือกัน”
ภาคภูมิใจที่บ้านของเราเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้
“เวลาแค่ 1 ปี ชุมชนของเราได้รับรางวัลชมเชยชุมชนปลอดขยะระดับประเทศ มันคือรางวัลที่มาจากความตั้งใจจริงๆ แล้วมันเห็นผล คนอื่นก็เห็น เขาถึงมอบรางวัลนี้ให้กับเรา วันที่ได้รางวัลมาผมก็ประกาศเสียงตามสายบอกชาวบ้านว่าชุมชนเราได้รางวัลระดับประเทศแล้วนะ สิ่งที่เราลงมือทำกันมันไม่เสียเปล่า คนที่ผ่านเข้ามาหรือมาเที่ยวในพื้นที่ของเรา เขาก็ชื่นชมว่าชุมชนเราสะอาดน่ามาอยู่ เหนือกว่าสิ่งใดคือพวกเราที่อาศัยอยู่ในชุมชนเรามีรอยยิ้ม มีความสุขมากขึ้นทุกคน”
สมบัติ เทพรส นายก อบต. ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อายุ 71 ปี