เมื่อกลางเดือนก.ย. ปีที่แล้ว มนุษย์ต่างวัยได้รับข้อความจาก ‘เพื่อน’ ในเพจ อินบ็อกซ์เข้ามาบอกว่า มีโอกาสได้ดูคลิปมนุษย์ต่างวัย เรื่องราวของคุณโต-พิสิษฐ์ จินตวรรณ Sound Engineer ที่ตัดสินใจทิ้งงานที่ตนเองรักกลับไปดูแลพ่อผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์นานกว่า 10 ปี จากเรื่องราวของคุณโต ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนทั้งชีวิตและความคิดของเขาไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’ เพื่อกลับไปดูแลพ่อแม่
มนุษย์ต่างวัยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเพื่อนๆ ในเพจที่กำลังทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ และอาจจะกำลังเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ จึงอยากนำเรื่องราวนี้มาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน
“ต้องกลับไปอยู่บ้าน แบบไม่ทันตั้งตัว”
ผมไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองมาก่อนเลยว่า ต้องกลับบ้านตอนอายุเท่าไร จนวันที่พี่ชายโทรมาบอกว่า ปลุกแม่เท่าไรก็ไม่ยอมตื่น ถึงขั้นต้องหามตัวส่งโรงพยาบาล วันนั้นเป็นการกลับบ้านที่โกลาหลที่สุดในชีวิต และเป็นการกลับบ้านที่น่าจะเปลี่ยนชีวิตของผมตลอดไป
มนุษย์ต่างวัยพูดคุยกับ นัท-สราวุธ ตันติศิรินทร์ ลูกชาย Gen X ที่จำเป็นต้องลาออกจากงาน เพื่อกลับบ้านมาดูแลแม่ที่ป่วยเป็นสโตรก เขาเล่าว่า ภาระที่แบกไว้ เกือบจะทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยไปด้วยอีกคน แต่ในเมื่อชีวิตไม่มีใครเลือกได้ นัทพยายามทำความเข้าใจ ก่อนจะยอมรับว่า การกลับบ้านครั้งนี้ไม่เพียงสอนให้ใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้นแต่ยังสอนให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น
กลับบ้านไม่เหมือนเดิม
ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำงาน ก็ไม่เคยคิดถึงการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกเลย ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับครอบครัวนะครับ แต่เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพมาตลอดหลายปี สำหรับผมการกลับบ้านต่างจังหวัดเลยเหมือนกับการไปเที่ยว ไปเยี่ยมญาติแป๊บๆ พอหมดช่วงเทศกาลก็กลับมาใช้ชีวิตของตัวเองที่กรุงเทพ
ทุกปีผมจะกลับบ้าน 1-2 ครั้ง กลับไปเมื่อไรก็ยังเห็นว่าพ่อกับแม่ยังอยู่สุขสบายดี บางปีก็มีความรู้สึกว่า ไม่กลับก็คงไม่เป็นไร จนปลายปี 2560 พี่ชายโทรมาถามผมว่าจะกลับบ้านไหม เพราะมันใกล้ช่วงปีใหม่แล้ว ผมก็บอกว่ากลับ จองตั๋วไว้แล้ว หลังจากนั้น วันสิ้นปี พี่ชายก็โทรมาอีก ตอนที่รับสายผมคิดในใจว่าเขาคงจะโทรมาถามว่าเดินทางถึงไหนแล้ว แต่ไม่ใช่ เขาโทรมาบอกว่าแม่นอนหลับไม่ยอมตื่น ตอนนี้อยู่ที่โรงพยาบาล พอลงจากเครื่องผมก็ตรงไปที่โรงพยาบาลทันที ตอนนั้นยังไม่มีใครบอกได้ว่าแม่เป็นอะไร จนกระทั่งหมอส่งแม่ไปสแกนสมองเลยพบว่าเส้นเลือดในสมองตีบ ต้องทำการผ่าตัดด่วน พอส่งแม่เข้าห้องไอซียู ปรากฏว่าคืนนั้นแม่มีอาการหัวใจล้มเหลว พอพยาบาลทำการปั๊มหัวใจก็เกิดมีอาการหัวใจวาย จากคืนฉลองปีใหม่ ก็กลายเป็นคืนที่โกลาหลของทุกคน
เราต้องทำเรื่องย้ายแม่ไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งเพราะโรงพยาบาลเดิมเอาไม่อยู่ พอได้ย้ายโรงพยาบาล คุณหมอก็พาเข้าห้องผ่าตัด เราคิดว่าแม่รอดแล้ว แต่หลังจากผ่าตัดเสร็จแม่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นขึ้นมาเลย หมอบอกว่าถ้าแม่ไม่ฟื้นก็มีโอกาสที่แม่จะกลายเป็นผัก คือมีสภาพเป็นเจ้าหญิงนิทรา รักษาได้แต่จะไม่ตอบสนอง . ตอนนั้นทุกคนต่างต้องทำใจ เพราะชีพจรของแม่เหมือนจะหยุดเต้นได้ทุกนาที เราเลยคุยกันในครอบครัวว่าจะเซ็นยินยอมให้โรงพยาบาลยุติการรักษา ถ้าภายใน 48 ชั่วโมง แม่ไม่ยังไม่ฟื้น แล้วผมกับพ่อก็พากันไปจองโลงศพไว้ แล้วก็ไปคุยกับวัดเพื่อจองศาลา แต่ในระหว่างที่คุยกับเจ้าอาวาส พี่ก็โทรมาบอกว่าแม่ลืมตาแล้ว ให้รีบกลับไปดูแม่ ตอนนั้นผมยังเข้าใจว่าคงเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของแม่ เลยบอกเจ้าอาวาสว่าเดี๋ยวกลับมาคุยใหม่ แต่พอไปถึงก็พบว่าแม่ฟื้นขึ้นมาจากอาการโคม่า ทุกคนงงว่าเป็นไปได้ยังไง แล้วหมอก็เดินมาบอกว่าถ้าดูแลแม่ดีๆ 3-4 เดือน แม่ก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
ตอนที่ได้ฟังในหัวของผมคิดแต่ว่า โอกาสที่ได้มาครั้งนี้ผมจะรักษามันไว้ให้ดีที่สุด จะไม่ยอมปล่อยแม่ไปง่ายๆ อีก เพราะไม่อยากจะเสียใจทีหลัง หลังจากวันนั้นผมก็ตัดสินใจทำงานที่กรุงเทพต่ออีกแค่ 4 เดือนแล้วกลับมาอยู่ดูแลแม่ที่บ้านเกิดจังหวัดอุบลฯ
ชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องง่าย
ก่อนหน้าที่จะลาออกจากงานมาดูแลแม่ ชีวิตที่กรุงเทพของผมต้องคอยถีบตัวเองอยู่ตลอดเวลา เคยชินกับการแข่งขัน อดทนกับสภาพที่กดดัน ความเครียดสะสม เพื่อที่จะได้มีชีวิตที่ดี . ผมทำงานที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เป็นนักกลยุทธ์การตลาด หน้าที่การงานค่อนข้างมั่นคง มีเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง สามารถที่จะปรนเปรอความสุขให้ตัวเองได้โดยไม่ต้องกังวลอะไร ณ ตอนนั้นถ้าเปิดเฟซบุ๊กผมดูจะเห็นเลยว่า หน้าไทม์ไลน์เต็มไปด้วยไลฟ์สไตล์ ไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารแพงๆ ซื้อของขวัญให้ตัวเอง ใช้ชีวิตสนุกมาก จนหลงคิดไปว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น . พอต้องมาดูแลแม่ในหัวก็คิดแต่เรื่องแม่ เรื่องเงิน เรื่องหน้าที่การงานค่อยว่ากัน เพราะคิดว่ายังไงก็พอมีเงินที่จะสามารถเปิดกิจการเล็กๆ คือเปิดสตูดิโอสอนโยคะไปพร้อมๆ กับดูแลแม่ได้ไม่เดือดร้อน
แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่ง่ายเลยครับ การดูแลผู้ป่วยมันมีรายละเอียดกว่านั้นเยอะ ไม่ใช่มีเงินแล้วจะจ้างใครมาช่วยดูแลก็ได้ ทุกวันผมต้องทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ ความรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับโรคของแม่ ต้องดิ้นรนศึกษาเอาเอง เรื่องเงินก็สำคัญ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยค่อนข้างสูง แต่ผมก็กัดฟันสู้ดูแลแม่อยู่เกือบปี จนแม่ไม่ติดเตียง แม้จะยังไม่กลับมาใช้ชีวิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ตอนนั้นก็คิดว่าน่าจะสบายแล้ว แต่ปี 2562 จู่ๆ โควิด 19 ก็เข้ามาเล่นงาน สตูดิโอสอนโยคะของผมที่พอมีรายได้อยู่รอดเป็นเดือนๆ พอเจอโควิดหลายระลอกก็ได้รับผลกระทบจนคิดอยากจะเลิกทำ พอเราเริ่มมีรายได้ไม่เพียงพอ ความเครียดก็เพิ่มขึ้น แฟนที่เคยคบตั้งแต่อยู่กรุงเทพก็ประคับประคองต่อไปไม่ไหว ต้องเลิกราในที่สุด การดูแลแม่ก็เริ่มกระท่อนกระแท่น ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แล้วแต่ช่วงสภาวะอารมณ์ บางครั้งก็เผลอใช้คำพูดไม่น่ารัก ชักสีหน้าออกมา รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เพราะมันเครียดมาก
ปัญหาการงาน การเงิน ความรัก ครอบครัว มันคือวิกฤตชีวิตที่ถาโถมเข้ามาให้จัดการพร้อมๆ กัน จนเครียดสะสม รู้ตัวอีกทีผมก็ไม่อยากตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตแล้ว รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไร้คุณค่า ความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเหลือศูนย์ วันๆ เอาแต่คิดวนเวียนอยากจะจบชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา พอเรามีความเศร้าจากข้างใน มันก็เริ่มฟุ้งซ่าน จนผมเริ่มรู้สึกเสียใจ เสียใจที่คิดว่าการตัดสินใจกลับบ้านมาแบกรับภาระของครอบครัวจะไม่ทำให้เราเสียใจภายหลัง แต่มันกลับมีจุดหนึ่งที่แว๊บขึ้นมาให้รู้สึกว่าเราเสียใจ แล้วมันก็เริ่มเกิดคำถามขึ้นตามมาว่า เรามาทำอะไรตรงนี้ พอนึกย้อนไปถึงชีวิตก่อนหน้านี้ เรารักชีวิตของตัวเองที่กรุงเทพมากเลย ชีวิตมันโคตรจะอิสระ มีทั้งงาน มีทั้งเงิน แต่พอมาตอนนี้มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผมรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว รู้สึกเหมือนตัวเองติดคุก ไม่อยากสู้หน้าใคร เพราะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตไม่ได้
ถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อเมตตาตัวเอง
ประมาณ 2 ปี ผมพยายามปรับสภาพตัวเองด้วยการไปปรึกษาจิตแพทย์ แล้วก็รู้สึกว่า เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว เพราะผมไม่ได้ดูแลแม่แค่คนเดียว แต่ยังมีพ่อที่อายุ 80 กว่า ที่มีโรคประจำตัวเยอะเหมือนกัน ต้องดูแลเหมือนกัน ถ้าผมไม่ยอมปล่อยวาง ไม่ยอมใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริง พ่อกับแม่ก็จะทุกข์ไปด้วย แล้วผมจะรับได้ไหมถ้าต้องเสียเขาไป ในวันที่เรายังไม่พร้อม
หลังจากวันนั้นผมก็พยายามมองหาทางออกให้กับตัวเองและครอบครัว จนกระทั่งได้มาเจอกับเพจมนุษย์ต่างวัย เจอคลิปของคุณโต ที่มาแชร์ประสบการณ์ว่า เขาตัดสินใจกลับบ้านมาดูแลพ่อป่วยอัลไซเมอร์เป็น 10 ปี ตอนที่ได้ฟังมันเป็นความรู้สึกว่า เออ..มันเหมือนกับชีวิตของเราเลยเนอะ แต่แตกต่างตรงที่เขาทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับบ้านมารักษาพ่อ ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่เป็นสิบๆ ปี มันน่าทึ่งตรงที่เขาทำได้ยังไง แล้วโตก็พูดมาคำหนึ่งว่า ‘เขาไม่เคยคิดว่าต้องเสียสละเวลาชีวิตให้กับการดูแลพ่อเลย กลับรู้สึกว่าพ่อทำให้เราโตและเป็นคนที่ดีขึ้นมาก’ เท่านั้นแหละครับ ผมหันกลับมาถามตัวเองเลยว่า ตอนนี้เราคิดกับสิ่งที่เจอแบบนั้นหรือเปล่า ที่ผ่านมาเราคิดแต่ว่ามันทุกข์ แต่เราไม่เคยสร้างพลังบวกขึ้นมาเลย นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ชีวิตมันถูกบั่นทอน
ผมเลยลองเปิดใจคุยกับพ่อแม่และพี่ชายอีก 2 คน สิ่งที่ได้มาคือกำลังใจ และพลังบวกที่เราสร้างให้กัน ยอมรับเลยว่า มันทำให้ผมมีสติตั้งหลักชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง ผมยอมรับความจริงได้มากขึ้น และเริ่มกลับไปหางานทำ ถึงแม้ว่าการหางานในช่วงโควิด และในวัยสี่สิบกว่านี้ ยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต่ผมก็พยายามติดต่อเพื่อนที่อยู่กรุงเทพไป มีหลายๆ ที่ให้โอกาสเรียกไปสัมภาษณ์เหมือนจะได้แต่ก็ไม่ได้ แต่ผมก็ไม่เคยคิดท้อจนถึงทุกวันนี้
และอย่างน้อยทุกวันนี้ผมเล่นเฟซบุ๊ก หรือไอจี ก็ไม่ต้องมานั่งคิดมากแล้วว่าชีวิตเรามันไม่เหมือนเดิม ทุกวันนี้แค่ลงรูปวันนี้วันแม่นะ วันนี้วันพ่อนะ แค่นี้ผมก็พอใจและมีความสุขแล้ว
สุดท้ายนี้ผมอยากบอกว่า ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรแต่ชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป
ผมขอบคุณเพจมนุษย์ต่างวัยที่ให้ผมได้แบ่งปันเรื่องราว
เรื่องเศร้าแค่ได้เล่าให้ใครสักคนฟังก็เบาลงแล้วครับ