คุยกับ “หนุ่ย” ธีรวัฒน์ เถลิงสกุล อายุ 43 ปี แซนด์วิชเจนเนอเรชั่น ในวันที่ลูกก็ต้องเลี้ยง พ่อแม่ก็ต้องดูแล
ในวันที่เริ่มรู้สึกว่าพ่อแม่แก่ตัวลง
หนุ่ย : ผมชื่อหนุ่ย-ธีรวัฒน์ เถลิงสกุล อายุ 43 ปี เป็นอีเวนท์ ออร์แกไนเซอร์ ตอนนี้มีลูกชาย 1 คน อายุ 8 ขวบ ผมเป็นลูกคนรอง บ้านเราเป็นครอบครัวคนจีนแต่ไม่เข้มงวดมาก ครอบครัวเราจะสนิทกันมาก คุยเล่นแซวกันได้ทุกเรื่อง เมื่อก่อนแม่เป็นเจ้าของร้านเสริมสวย เตี่ยเป็นพนักงานธนาคารและเป็นตัวแทนขายประกัน เราจะเห็นภาพเตี่ยกับแม่เป็นคนทำงานเยอะ กระฉับกระเฉง ออกไปพบลูกค้าตลอด
จนเมื่อ 2-3 ปีมานี้ ครั้งแรกเลยที่เริ่มรู้สึกว่าเตี่ยกับแม่เราแก่ คือตอนไปเดินห้างด้วยกัน เราก็เดินของเราตามปกติ แต่หันไปอีกทีไม่เจอเตี่ยกับแม่แล้ว เห็นแกเดินตามมาช้าๆ ทำให้เราเริ่มมานึกว่า เฮ้ย…นี่เขาเดินช้าขนาดนี้เลยเหรอ? ตอนนั้นแกอายุจะเข้า 80 แล้ว เราก็ไม่เคยสังเกตเลยว่าพ่อแม่เราอ่อนแอลงมาก ไม่ใช่แค่เดินช้า ร่างกายยังเคลื่อนไหวไม่คล่อง ต่างไปจากภาพจำสมัยก่อนที่แกยังทำนั่นทำนี่ได้
ก็คงเหมือนกับคนสูงวัยหลายๆ บ้านแหละ ที่พออายุมากจะมีอาการไม่อยากอาหารด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งเราสังเกตว่าเตี่ยผอมลง ปรากฏว่าน้ำหนักลงไป 6 กิโลฯ ไม่ยอมกินอะไรเลย เพราะไปฟังคนเขาพูดมาว่า กินแล้วจะป่วย กินแบบนี้แล้วจะเป็นโรคนั้น โรคนี้ ห้ามกินนั่นกินนี่ เตี่ยเลยวิตกกังวลซะจนไม่เป็นอันกินอะไรเลย เราเห็นแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าเขาจะป่วยเพราะขาดสารอาหาร
เปลี่ยนบทบาท จากคนกินมาเป็นคนทำ “พ่อครัวประจำบ้าน”
หนุ่ย : ผมทำอาหารมาตั้งแต่ 8 ขวบ เด็กๆ จะชอบดูแม่ทำกับข้าว ระหว่างที่รอกินข้าวก็เข้าไปอยู่ข้างๆ แม่ มันเลยได้วิธีทำอาหารมาแบบไม่รู้ตัว พอแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น อาจจะเหนื่อยถ้าต้องทำอาหารทุกวัน ตอนนี้ไม่ค่อยได้ทำกับข้าวแล้ว ตอนนี้ผมเลยสลับหน้าที่มาเป็นคนทำกับข้าวเอง
เราจะรู้ว่าใครชอบกินอะไร เราก็พยายามหาสิ่งที่พ่อกับแม่ชอบมาเสิร์ฟ และที่สำคัญคือต้องเหมาะกับคนวัยเขาด้วย ยิ่งเป็นสิ่งที่ลูกเลือกให้ น่าจะลดความกังวลของเตี่ยไปได้เพราะอย่างไงเตี่ยมั่นใจได้อยู่แล้วว่าลูกต้องอยากให้เตี่ยได้กินของดีแน่นอน
กินน้อยลง แต่ละมื้อจึงสำคัญ
หนุ่ย : ก่อนหน้านี้ผมได้เข้าร่วมโครงการวิ่งสู่ชีวิตใหม่ของ สสส. ผมเป็นคนที่น้ำหนักเยอะมากคือร้อยกว่าโลฯ ที่เราไปวิ่งเพราะเริ่มรู้สึกว่าอยากจะแข็งแรง เพื่อจะได้อยู่ดูแลคนที่เรารักได้เต็มที่ คือถ้าเราไม่เริ่มดูแลตัวเองตอนนี้ พ่อแม่อาจจะต้องมาดูแลเราแทน ในขณะที่ท่านก็แก่ขนาดนี้คงแย่มากๆ ช่วงที่เข้าร่วมโครงการ ก็ได้รับคำแนะนำเรื่องอาหารจากนักโภชนาการในโครงการ เลยได้เอามาปรับใช้กับทุกคนในบ้าน
อย่างเวลาทำเมนูของเตี่ยที่ตอนนี้อายุ 82 กับแม่อายุ 80 ผมจะเน้นเมนูเป็นผัก ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ก็จะเลือกเป็นปลา รสชาติไม่จัดมาก หาอาหารที่เคี้ยวง่ายๆ ย่อยง่ายๆ จะได้ไม่เสียดท้อง เพราะคนแก่เวลานอนมักจะมีอาการอาหารไม่ย่อย
ที่สำคัญคือพยายามให้แต่ละมื้อได้สารอาหารครบถ้วน ในเมื่อกินได้น้อยลงก็ต้องเตรียมอาหารที่มีประโยชน์เข้าไปทดแทนในส่วนที่ไม่ได้กิน พอเราเป็นคนจัดดูแลอาหารการกินเอง เตี่ยก็จะกินได้เยอะขึ้น แล้วก็ดูมีความสุขกับการกินมากขึ้น
การได้อยู่กับคนที่เรารักไปนาน ๆ เป็นของขวัญที่วิเศษที่สุด
หนุ่ย : ทุกวันนี้กลับมาดูแลผู้ใหญ่ในบ้าน ได้เตรียมอาหารดีๆ ให้ ได้ใช้เวลากินข้าวด้วยกัน นี่แหละคือช่วงเวลาที่มีคุณภาพมาก อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้ถามว่า วันนี้เตี่ยกับแม่กินข้าวหรือยัง ประโยคบ้านๆ ที่ไม่ได้สวยหรูอะไรเลย แต่ตอนนี้มันเป็นประโยคสำคัญที่เราอยากจะพูดกับพ่อแม่ ทุกวัน คำพูดง่ายๆ ที่ออกมาจากใจเพื่อแสดงออกให้รู้ว่าเรายังเป็นห่วงเขาเสมอ