‘สุวรรณ’ ซาลาเปาซาเล้ง 100 คิว แห่งเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น


ร้านซาลาเปาซาเล้งที่มองภายนอกอาจดูแสนธรรมดา แต่ความธรรมดานั้นแฝงไว้ซึ่งความอร่อย จนมีลูกค้าต่อคิวยาวถึง 100 คิวทุกครั้งที่เปิดขาย เพื่อที่จะได้ลิ้มรสชาติ ความอร่อย ที่ครองใจชาวขอนแก่นยาวนานกว่า 40 ปี

มนุษย์ต่างวัยพาไปทำความรู้จัก ‘คุณลุงสุวรรณ ขาวผ่อง’ หรือ ‘ลุงวรรณ’ วัย 59 ปี เจ้าของ ‘ร้านสุวรรณ’ ซาลาเปาซาเล้ง ที่จอดขายประจำอยู่หน้าตลาดสดเทศบาลเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ด้วยรสชาติความอร่อยของไส้ ความนุ่มของเนื้อแป้งและราคาย่อมเยา ทำให้ชื่อเสียงซาลาเปาลุงสุวรรณโด่งดังข้ามอำเภอข้ามจังหวัดจนมีลูกค้าต่างถิ่นแวะเวียนมาอุดหนุนเป็นประจำ แต่กว่าจะมาเป็นสูตรซาลาเปาที่ถูกอกถูกใจใครหลายๆ คน ลุงวรรณสู้อดทน ทุ่มเทคิดค้นสูตร ลองผิดลองถูกอยู่เป็นปีจนกลายเป็นซาลาเปารสชาติกลมกล่อมที่ลูกค้ายอมที่จะต่อคิวรอซื้อ


 ก้าวแรกกับความฝันของเด็กชายคนหนึ่ง

“แต่ก่อนตอนนั้นอายุ 15 ปี ยังเป็นเด็กชายหัวเกรียน ที่ทุกวันต้องเข้าครัวไปช่วยแม่ทำกับข้าวไปขายในตลาดสด เพราะที่บ้านมีฐานะที่ยากจน ครอบครัวต้องหาเช้ากินค่ำถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีเงิน เวลาเข้าไปช่วยแม่ทำกับข้าว แม่จะคอยบอกคอยสอนว่าแต่ละเมนูต้องทำอย่างไรบ้าง ส่วนประกอบมีอะไร พอทำแบบนี้เป็นประจำทุกๆ วัน ลุงก็ได้ทักษะในการทำอาหารมาจากแม่ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทต้ม ผัด แกง ทอด รวมไปถึงของหวาน

“เมื่อมีทักษะในการทำอาหารและมั่นใจว่าตัวเองนั้นทำอร่อย ทำขายได้แน่นอน ลุงเลยเดินไปหาแม่แล้วพูดกับแม่ว่าอยากมีธุรกิจร้านซาลาเปาเป็นของตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ เคยมีโอกาสได้กินซาลาเปา ตอนนั้นจำได้ว่ากินเข้าไปมันอร่อยมาก ลุงจำความรู้สึกนั้นมาแล้วบอกกับตัวเองว่าสักวันจะมีร้านซาลาเปาเป็นของตัวเอง แม่ก็บอกว่าจะทำได้เหรอ ค้าขายมันไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นอาหารแล้วทำให้ถูกปากคนมันยาก ที่แม่พูดตอนนั้นเพราะลุงยังเด็ก อายุแค่ 15 ปี เขาเป็นห่วงว่าเราจะทำไหวเหรอ เพราะการทำธุรกิจมันต้องลงทุนมีเงินแต่มีเงินอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีความพยายาม อดทน ทำเล่นๆ ไม่ได้ พอทำไม่ไหวก็ทิ้ง แบบนั้นไม่ได้หรอก แม่เลยกลัวว่าลุงทำแล้วไปไม่รอด ตอนนั้นลุงมีความฝัน มีไฟในตัวเยอะมาก อยากทำอยากลอง ลุงก็คิดว่าตัวเองทำได้ ขายได้แน่ๆ เพราะเราก็มีทักษะในการทำอาหารอยู่แล้ว”

คุณลุงสุวรรณ ขาวผ่อง วัย 59 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้มนุษย์ต่างวัยฟังว่า ตอนอายุ 15 ปี ตนมีความฝันอยากมีธุรกิจร้านซาลาเปาเล็กๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งตอนเด็กมีโอกาสได้ช่วยแม่ทำกับข้าวไปขายที่ตลาดจึงได้ฝีไม้ลายมือในการทำอาหารมาจากแม่


“วันแรกที่เริ่มขายจำได้ว่าขับรถซาเล้งไปขายหลายที่ ขายไม่หมดเพราะร้านเรายังเป็นร้านใหม่ไม่มีคนรู้จัก วันต่อมามีลูกค้ามาบอกว่าซาลาเปาเนื้อแป้งมันแข็งไปนะ ไส้เค็มก็เค็มเหมือนชื่อ (หัวเราะ) ลุงเคยทำให้คนกินฟรีเขายังไม่กินเลย เขาบอกว่าทำขายแบบนี้จะไปขายให้ใคร บางคนก็หัวเราะเยาะเรา ลุงก็ไม่โกรธเพราะเขาพูดความจริง หลังจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ ลองหาสูตรหลายๆ สูตรมาทำ ซื้อหนังสือทำขนมมาทำตามเขาก็แล้ว ไปดูร้านที่เขาทำซาลาเปาขายก็แล้ว แต่ผลออกมาก็ยังเหมือนเดิม และช่วงนั้นใจมันก็เริ่มท้อ เราเหนื่อยกับสิ่งที่ทำ แต่ลุงจะเป็นคนที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ จึงทำให้ลุงกลับมาคิดทบทวนตัวเองได้เร็ว กลับมาตั้งสติให้ตัวเองหยุดนิ่ง แล้วกลับไปถามตัวเองว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ สาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ขึ้นมันมาคืออะไร

“พอทำแบบนี้ลุงได้คุยกับตัวเองและได้คำตอบจากเสียงหัวใจของตัวเอง ว่าหัวใจหลักในการทำซาลาเปาของเราคืออะไร มันก็คือความรัก ความใส่ใจในการทำ เราทำอาหารเป็นอย่างเดียวไม่พอหรอก เราต้องรักที่จะทำมันด้วย ลุงไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรงก็ไม่ได้ถามความต้องการของลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร เช่น เนื้อแป้งต้องนุ่มมากน้อยขนาดไหน ไส้ซาลาเปามันต้องรสชาติเป็นยังไง และที่สำคัญคือเราต้องซื่อสัตย์กับลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับรสชาติ

“ความผิดพลาดที่เจอ ลุงมองว่ามันคือเชื้อเพลิงที่มาช่วยจุดไฟในตัวของลุงให้มันสว่างขึ้นอีกครั้ง ลุงได้ฟังเสียงจากลูกค้า เสียงหัวใจตัวเอง แล้วนำมาปรับใช้ในการทำซาลาเปา ลุงมองว่ามันทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจนมันกลายมาเป็นสูตรซาลาเปาที่ลุงทำขายมาถึงจนทุกวันนี้”


แม้จะมีก้าวแรกแห่งความสำเร็จ แต่ลุงสุวรรณไม่เคยที่จะหยุดพัฒนา ลุงยังคงพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบและใส่ใจในทุกขั้นตอนการทำซาลาเปา เพราะความสุขของการเป็นพ่อค้าคือลูกค้าได้กินของอร่อยและหวนกลับมากินอีกครั้ง

“ลุงทำเองคนเดียวทุกขั้นตอน เริ่มจากไปเลือกวัตถุดิบอย่างร้านลุงจะมีไส้เค็มที่ทำจากเนื้อหมู จะเลือกหมูที่ไม่สีแดงสด เนื้อหมูต้องมีความยืดหยุ่นเวลาเราใช้นิ้วกดลงไปหมูควรเด้งไม่ยุบ เนื้อหมูก่อนจะมาทำไส้ต้องเอาไปหมักให้เย็นก่อนถึงนำมาบด เพราะจะทำให้เนื้อหมูมีความเหนียวเวลากินไส้มันจะเด้งและนุ่ม ส่วนแป้งจะใช้แป้งตราโบว์แดงและแป้งตราดอกไม้แดงเพื่อความนุ่มฟู ส่วนขั้นตอนการนวดแป้งต้องพิถีพิถันอย่าใจร้อน และที่สำคัญต้องสะอาด และไม่ใส่สารกันบูด

“ตอนที่รู้ว่าตัวเองมาถูกทางแล้วคือมีลูกค้ามาชมว่า ไม่เคยกินซาลาเปาที่ไหนอร่อยเท่าที่นี่และราคาถูกขนาดนี้ พอเราได้ยินก็รู้สึกดีใจ และมีกำลังใจอยากจะตื่นขึ้นมาทำซาลาเปาอร่อยๆ ให้ลูกค้าได้กิน เรามีอาชีพพ่อค้าพอได้รับคำชมจากลูกค้าถือว่าเป็นกำลังใจที่ดี แต่เราจะไม่หลงระเริงอยู่กับคำชมให้นาน เพราะเราเพิ่งประสบความสำเร็จเพียงแค่ก้าวแรก

“แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้คือไม่หยุดที่จะพัฒนาฝีมือ ถึงแม้เราจะมีทักษะในการทำอาหารก็ตาม และเราต้องทำให้ลูกค้ากลับมากินซาลาเปาของเราอีกครั้ง ทำให้คนที่เคยมากินต้องคิดถึงรสชาติซาลาเปาของเรา ถึงแม้เขาจะไปกินซาลาเปาที่อื่น นั่นคือสิ่งที่เราในฐานะพ่อค้าคิดว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว”

ถึงแม้วันนี้ซาลาเปาลุงวรรณจะเปิดขายมานานกว่า 40 ปี จนเป็นที่รู้จักของคนย่านเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ลุงวรรณก็ยังมีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำ ถึงแม้อายุจะเข้าใกล้วัยเกษียณแล้วแต่ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดพัก และจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เพราะอยากให้คนได้กินของอร่อย

“อาชีพเราเป็นพ่อค้า การใส่ใจ และซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ลุงจะถามลูกค้าเสมอว่ารสชาติเป็นยังไงบ้าง วันนี้ไม่มีไส้นี้มาขายนะเดี๋ยวพรุ่งนี้ทำมาให้กิน ลุงจะพูดคุยกับลูกค้าเสมอ

“ลูกค้าบางคนกินมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กใส่ชุดนักเรียนนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์มากับแม่ เพื่อที่จะมากินซาลาเปาของลุงจนตอนนี้เขาเรียนจบมีงานทำ ก็ยังกินอยู่ บางคนแต่งงานมีลูกแล้วก็พาลูกมากิน นอกจากนี้ยังมีลูกค้าอำเภอใกล้เคียง ลูกค้าต่างจังหวัดที่นั่งรถมาแต่ไกลเพื่อที่จะมากินซาลาเปาก็มี”

“ซึ่งอาชีพหลักและอาชีพเดียวของลุงคือการเป็นพ่อค้า เราเห็น เราก็ดีใจ มีกำลังใจว่าสิ่งที่เราพยายามทำมามันได้เสียงตอบรับจากลูกค้าไปในทิศทางที่ดีและดีมากๆ ด้วย”

“ช่วง พ.ศ.2531 ลุงเคยเลิกขายซาลาเปาเพราะอยากลองไปใช้ชีวิตวัยรุ่นในอีกมุมดู ตอนที่ตัดสินใจก็รู้สึกใจหวิวๆ และเสียดายนะ ตอนนั้นสูตรมันลงตัวทุกอย่าง ได้เสียงตอบรับจากลูกค้าที่ดี แต่อีกใจก็อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ดู เลยตัดสินใจเลิกขายแล้วไปทำอย่างอื่น แต่พอทำไปได้ไม่นานชีวิตมันเริ่มน่าเบื่อ ไม่มีความสุข ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เหมือนตอนที่ยังขายซาลาเปา ทุกวันในหัวมีแต่เรื่องอยากกลับบ้านไปทำซาลาเปาขายเหมือนเดิม”

“พอได้กลับมาทำอีกครั้ง ทำให้ลุงรักอาชีพนี้มากขึ้น รักที่จะเป็นพ่อค้าตื่นขึ้นมาทำซาลาเปาอร่อยๆ ให้คนได้กิน ถึงแม้ร้านของลุงจะเป็นร้านเล็กๆ ก็ตามแต่รับรองความอร่อยนั้นไม่เล็กแน่นอน ใครมากินจะต้องไม่ผิดหวัง เพราะเราใส่ใจในทุกขั้นตอนของการทำ สด สะอาด ปลอดภัย และต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า แล้วสิ่งที่เราจะได้รับกลับมาคือลูกค้ากลับมากินอีกครั้ง

“ลุงขายซาลาเปามา 40 กว่าปีแล้ว ทุกๆ วันที่ตื่นมาแล้วได้เข้าครัวทำซาลาเปา ลุงไม่เคยมีความรู้สึกเบื่อเลยสักวัน มันกลับมีความสุขทำให้คนอายุ 59 ปี ยังมีอะไรทำ และยังมาเติมเต็มชีวิตลุงไม่ให้น่าเบื่อ เพราะทุกๆ วันยังมีคนรอกินซาลาเปาของลุง และลุงก็จะทำให้ลูกค้ากินไปจนกว่าแรงมือ แรงขา และร่างกายของลุงจะไม่ไหว”

Credits

Authors

  • อุษณีย์ ชิณกะธรรม

    Author & Photographerนิสิตฝึกงานจากมอน้ำชี หลงใหลในธรรมชาติและเสียงดนตรี ใช้เวลาว่างไปกับการดูคลิปทำอาหาร คติประจำใจทำเมื่อวานให้ดีกว่าวันนี้

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ