เมื่อรูปภาพ “สวัสดีตอนเช้า” จะไม่ได้เป็นข้อความที่ผู้สูงวัยใช้ส่งแทน แค่ “ความคิดถึง” แต่ “สวัสดีตอนเช้า” เวอร์ชันนี้ยังขอส่งต่อ “ความห่วงใย” ที่อยากให้ผู้สูงวัยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยด้วย
Safer Songkran, Safer with Google ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย รวมถึงเพจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและครอบครัว จัดทำรูปภาพ “สวัสดีตอนเช้า” คอลเลกชันพิเศษ เพื่อแชร์เคล็ดลับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยให้กับชาวเน็ตรุ่นใหญ่ โดยออกแบบให้มีดีไซน์โดนใจ เพื่อให้ Gen ไหน ๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมในการส่งต่อ “คอลเลกชันพิเศษแห่งความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต” นี้ให้กับผู้ใหญ่ทุกคน https://goo.gle/SaferSongkran
ใกล้จะสงกรานต์แล้ว อยากชวนทุกคนมาร่วมกันส่ง Tips ดี ๆ ไปพร้อม ๆ กับความคิดถึงกันในวันสงกรานต์ เทศกาลแห่งผู้สูงอายุและครอบครัวปีนี้ ให้เราได้ใกล้ชิดกันยิ่งกว่าเดิม และสนุกกับโลกออนไลน์ได้ปลอดภัยยิ่งกว่าเดิม
วันนี้อย่าลืมเซฟภาพและส่งไปให้คนในครอบครัว หรือแท็กคนที่เรารักใต้คอมเมนต์นะ
มาอย่างมิจ(ฉาชีพ) คิดให้ดีอย่ารีบโอน
เคยไหม ๆ อยู่ ๆ เพื่อนเก่าก็ทักมา ถ้าทักทายตามประสาคนคุ้นเคยกันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่เริ่มเอ่ยปากขอยืมเงิน หรือขอให้เราโอนเงิน อย่าเพิ่งรีบโอน เพราะที่ทักมา อาจจะไม่ใช่มิตร แต่เป็นมิจ(ฉาชีพ) ที่กำลังจะมาหลอกลวงเรา
กลวิธีที่เหล่ามิจ(ฉาชีพ) ทั้งหลายสรรหามาหลอกให้นักท่องอินเทอร์เน็ตรุ่นใหญ่หลงกลและโอนเงินให้มีตั้งแต่แฮ็กบัญชีเพื่อนของเรา และทักมาขอยืมเงิน ไปจนถึงแอบอ้างว่าโอนเงินผิด ขอให้โอนกลับมาคืน ยิ่งการโอนเงินผ่านหมายเลข prompt pay ปัจจุบันสะดวกสบาย โอนง่าย โอนคล่อง ทำให้ผู้สูงวัยอาจจะไม่ทันระมัดระวัง
เพราะฉะนั้นเมื่อเจอกรณีที่เกี่ยวข้องกับเงิน อย่าเพิ่งมือไวรีบโอน ตั้งสติ ให้ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่มิจฉาชีพมาหลอกเอาเงินจากเรา และให้จำขึ้นใจว่า ธนาคารหรือหน่วยงานต่าง ๆ จะไม่ใช้วิธีสอบถามข้อมูลส่วนตัว หรืออ้างสารพัดเหตุผลเพื่อมาขอข้อมูลผ่านโทรศัพท์กับเราอย่างเด็ดขาด!
ถ้าไม่ชัวร์ อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
ใครที่เคยคิดว่าพื้นที่ออนไลน์ของเราเป็นพื้นที่ส่วนตัว และเราสามารถแชร์อะไรก็ได้นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการที่ผู้สูงวัยแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์ก็เหมือนกับการยื่นกุญแจเปิดประตูให้ใครเข้าบ้านก็ได้ ข้อมูลส่วนตัวไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุลจริง ,วันเกิด ,ที่อยู่ ,เบอร์โทรศัพท์ ,ตั๋วเครื่องบิน หนังสือเดินทาง รวมถึงการ Check in สถานที่ ล้วนเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพสามารถตามรอยและเอาข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดได้ !
ตั้งรหัสผ่านให้จำง่าย แต่เดายาก
ไม่ใช่แค่ผู้สูงวัย แต่คน Gen ไหน ๆ ก็มีปัญหาน่าปวดหัวกับสารพัด “รหัสผ่าน” ที่จำกันไม่หวาดไม่ไหว ผู้สูงวัยหลายคนที่มักจะลืมรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานในโลกออนไลน์ จึงเลือกที่จะตั้งรหัสผ่านเป็น 11111111, 1212121212, 12345678 เพื่อให้สามารถจดจำได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นรหัส(ไม่ลับ) ที่เดาได้ง่ายมาก แถมบางคนยังใช้รหัสเดียวกันในทุกแอปฯที่มีอยู่ในมือถือ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแฮกข้อมูลจากเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์
เคล็ดลับในการตั้งรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัย จึงต้องเป็นรหัสที่เดายาก แต่จำง่าย ยิ่งยาว ยิ่งเดายาก
ยิ่งใช้รหัสหลากหลาย ยิ่งเดายาก ให้ใช้ตัวอักษรเล็กใหญ่ เครื่องหมายพิเศษ ตัวอักษร ผสมกัน และหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวมาตั้งเป็นรหัสผ่าน ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด เบอร์โทรศัพท์ ชื่อสัตว์เลี้ยง หรือชื่อตัวเอง แต่เมื่อตั้งรหัสเดายากแล้ว อย่าลืมหาเทคนิคที่จะช่วยให้ตัวเองจดจำได้ เป็นข้อมูลที่รู้เฉพาะตัว เช่น ดาราคนโปรด อาหารจานโปรด สถานที่ในความทรงจำ และเมื่อจดจำรหัสได้แล้วที่สำคัญคือ “อย่าบอกรหัสผ่าน” กับผู้อื่น และไม่บันทึกรหัสผ่านไว้ในอุปกรณ์