อดีตครูในป่าลึกวัย 53 ที่กลับบ้านเกิดมาเปิด ‘บ้านต้นไม้ร้อยหวัน’ โฮมสเตย์เคารพธรรมชาติที่อนุรักษ์วิถีชุมชน

ที่นี่คือ ‘บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ’ ที่พัก ณ ชุมชนต้นน้ำในเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง

บ้านพักที่นี่ไม่มีแอร์ ไม่มีคาราโอเกะ ไม่มีอาหารหรูหราราคาแพง และไม่ได้มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายมากมายอะไรนัก แต่สิ่งที่ผู้มาเยือนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกัน คือพวกเขาล้วนแล้วแต่มีความสุข ด้วยความเป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง และความจริงใจของชุมชนที่สร้างบรรยากาศแห่งความสุขแผ่กระจายอบอวลไปทั่ว

เบื้องหลังความสำเร็จของโฮมสเตย์เล็กๆ ที่มีคิวจองเข้าพักยาวเหยียด แม้ช่วงสถานกาณ์โควิด – 19 คือ ปรัชญาในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจของ สุรศักดิ์ เย็นทั่ว

และนี่คือเรื่องราวของอดีตครูในป่าลึกวัย 53 ปีที่กลับบ้านเกิด มาเปิดโฮมสเตย์ในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยเงินที่เหลือติดตัวเพียงไม่กี่บาท สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าทุนทรัพย์ คือความตั้งใจจริง เจตนาดีต่อธรรมชาติ ความปรารถนาที่จะเห็นชุมชนสร้างรายได้ยั่งยืน และเติบโตแข็งแรง

ครูในป่าลึก

ชีวิตวัยหนุ่มในรั้วมหาวิทยาลัย สุรศักดิ์สนใจและชื่นชอบการทำกิจกรรมค่ายอาสา มากกว่าการเรียนหนังสือ เมื่อทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำกิจกรรม ทำให้สุดท้ายชายหนุ่มเรียนไม่จบ แต่อย่างไรก็ตาม เขาไม่ยอมแพ้ หลังจากนั้นจึงมาเลือกสอบเป็นครูในโครงการหลวงตามพระราชดำริ เพื่อไปทำงานเป็นแม่พิมพ์ของชาติอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ในวัย 24 ปี สุรศักดิ์กระโจนสู่ดงดอย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบภาคเหนือในหลายพื้นที่ ตั้งแต่เชียงใหม่จนจรดเชียงรายอยู่นาน 14 ปี ลูกศิษย์ของเขาล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากหลายชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็น ปกาเกอะญอ ม้ง มูเซอ แม้ว และอาข่า

“เราสอนและออกแบบหลักสูตรให้กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตและบริบทที่นักเรียนเป็นอยู่ จำได้ว่าบ่อยครั้งที่นักเรียนบางคนในโรงเรียนลาครูบนหลังควาย เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวในฤดูทำนา เห็นแบบนั้น เราเลยพานักเรียนทั้งชั้นทั้งหมดไปเรียนรู้วิชาปลูกข้าวที่บ้านเพื่อน สำหรับเรา วิชาแบบนี้ถือเป็นวิชาชีวิต

“ห้องเรียนในเวลานั้นเป็นพื้นที่ๆ งดงาม เราต่างเป็นทั้งครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน จริงอยู่ที่เราสอนหนังสือ ปลูกฝังวิถียั่งยืนในการดำรงชีวิตให้พวกเขา เช่น สอนให้หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ สาลี่ แอปเปิล หรือกาแฟ ล้วนเก็บเกี่ยวผลได้ระยะยาว

“แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้จากพวกเขา อย่างเรื่องการหาอยู่หากินกับป่า อย่างตอนฤดูเห็ดป่าขึ้นเยอะๆ เขาจะบอกเราเลยว่าเห็ดชนิดไหนกินได้หรือกินไม่ได้ เหมือนเห็ดไข่ห่านที่เราเห็นว่าสีเหลืองสวย ถ้าไปเด็ดมากินมั่วๆ ถึงตายได้เลย มันเป็นวิถีที่ต่างฝ่ายต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และเรียนรู้ไปด้วยกัน”

หลังใช้ชีวิตบนดอยได้ 10 กว่าปี สุรศักดิ์ที่ถึงจุดอิ่มตัว ก็กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ด้วยการทำงานชุมชน หน้าที่คือทำให้ชาวบ้านรู้ถึงคุณค่า หน้าที่ และสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง

“ลงมาเริ่มต้นทำงานกับชุมชนได้สักพัก ชาวบ้านก็มอบหมายให้เป็นเลขาธิการ ‘ เทือกเขาบรรทัด ’ รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัด คือ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ครอบคลุมเก้าสิบกว่าหมู่บ้าน หน้าที่ของเราคือรับผิดชอบที่ดินป่าไม้ในพื้นที่ โดยช่วยเหลือชาวบ้านเรื่องสิทธิและกฎหมาย

“เพราะย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ชาวบ้านใช้ชีวิตและทำกินในพื้นที่ป่ามาก่อน แต่ต่อมาภาครัฐออกกฎหมายกำหนดขอบเขตของผืนป่า ที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของชุมชน ดังนั้นเราจึงต้องหาทางที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม และทำอย่างไรให้พวกชาวบ้านเรียนรู้ที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตเอาไว้”

สุรศักดิ์มองว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวบ้าน เขาจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนในป่าลึกขึ้นมาโดยตั้งชื่อว่า ‘โรงเรียนร้อยหวันพันป่า’

โรงเรียนร้อยหวันพันป่า

ร้อยหวันพันป่า เป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการรักษาผืนป่าให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ อย่างการสร้างฝายธรรมชาติและการบวชป่า

“คำว่า ‘หวัน’ เป็นภาษาใต้โบราณแปลว่าปัญญา มีความหมายในเชิงกระตุกเตือน กึ่งด่า กึ่งสอน อย่างถ้าผู้ใหญ่บอกว่าเด็กคนนี้ไม่รู้หวัน ก็หมายความว่า เด็กคนนั้นเป็นคนไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง การที่เราตั้งชื่อโรงเรียนว่า ‘ ร้อยหวัน ’ ก็เปรียบโรงเรียนเป็นพื้นที่ร้อยรัดร้อยเรียงปัญญามาแบ่งปันกันนั่นเอง”

โรงเรียนร้อยหวันพันป่า ตั้งอยู่ในป่าลึก ในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ในฤดูฝนอาจต้องเดินเท้าเข้าไปกว่า 20 กิโลเมตร สุรศักดิ์ใช้เงินส่วนตัวในการบริหารทั้งหมด โดยไม่ได้ของบประมาณจากใคร บางครั้งเขาเคยถึงขนาดต้องรับจ้างกรีดยางเพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นค่าอาหารของเด็กๆ

หลังเปิดโรงเรียนได้ราว 11 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ถึง 2560 สุรศักดิ์ก็ไม่มีเงินที่จะจับจ่ายใช้สอยและบริหารโรงเรียนได้อีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจนำโรงเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษาในพื้นที่ชนบท โดยปัจจุบันเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนร้อยหวันพันป่า เป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหลังอ้ายหมี หมู่ 5 ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ถามว่าเสียใจไหมที่ไม่ได้ทำโรงเรียนต่อ เราไม่เสียใจเลยนะ เพราะมันถึงจุดที่ชาวบ้านเขาเติบโตและอยู่กับป่าได้อย่างมีคุณภาพแล้ว” สุรศักดิ์กลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้ง พร้อมเงินติดตัวทั้งหมดเพียง 600 บาท ในวินาทีนั้นเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต

ท่ามกลางเส้นผมที่เริ่มแซมด้วยสีดอกเลาและหนวดเคราดกครึ้ม ชายวัยกลางคนค่อยๆ ปล่อยนาฬิกาชีวิตให้เดินไปช้าๆ ค่อยๆ นอนฟังสายน้ำและเสียงเรียกร้องจากหัวใจตัวเอง

ก่อนตอกตะปูตัวแรก

หลังหมักบ่มความคิดจนได้ที่ สุรศักดิ์ก็บอกตัวเองว่า เขาต้องการสร้างโฮมสเตย์สำหรับพักผ่อนในแบบฉบับของตัวเอง และต้องการให้ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมไปด้วยกัน

“เราไม่อยากให้ผลตอบแทนตกอยู่ที่เราคนเดียว แต่อยากให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการทำมันขึ้นมาด้วย จึงรวบรวมคนที่น่าจะมีแนวคิดเดียวกันจากสามหมู่บ้าน มาประชุมร่วมกันแล้ว เพื่อหาหนทางในการสร้างการท่องเที่ยวแบบเราเอง ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง และที่สำคัญไม่ไปรบกวนธรรมชาติ วิถีท่องเที่ยวแบบนี้ จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของแขกที่มาเข้าพักด้วยตัวมันเอง”

สุรศักดิ์และชาวบ้านประชุมหารือกันอยู่เป็นปี เพื่อกำหนดแนวทางการท่องเที่ยวที่พวกเขาจะร่วมกันทำให้ชัดเจน ออกมาเป็นธรรมนูญของหมู่บ้าน 6 ข้อ คือ ที่พักจะไม่มีการติดแอร์ ไม่มีคาราโอเกะ อาหารสำหรับผู้มาพักผ่อนทั้งหมดจะต้องเป็นอาหารพื้นบ้าน หรือเป็นอาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในหมู่บ้านเท่านั้น ห้ามมีการตัดต้นไม้หรือทำลายธรรมชาติ ห้ามขายที่ดินให้คนนอกชุมชน และสุดท้ายคือรับเฉพาะแขกที่จองไว้เท่านั้น

“เราทำข้อตกลงและกำหนดแนวทางร่วมกันจนแน่ใจ ถึงค่อยเริ่มสร้างที่พัก นี่คือสิ่งที่เราทำก่อนที่จะเริ่มตอกตะปูตัวแรก พูดได้เลยว่าเราไม่ได้ง้อใคร ถ้าคุณทำตามข้อกำหนดของเราไม่ได้ ขอแนะนำให้คุณไปพักที่อื่น

“ที่นี่ไม่มีแอร์ เพราะอากาศของเราอยู่ที่ไม่เกินยี่สิบห้าองศาตลอดทั้งปี ในเมื่อมันเย็นสบายขนาดนี้จะไปเอาอากาศปลอมเข้ามาทำไม ที่นี่จะไม่มีคาราโอเกะเพราะวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่กันแบบเงียบสงบ เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ ตีหนึ่ง ตีสอง ก็ตื่นมากรีดยางกันแล้ว ถ้าคุณยังมาแหกปากร้องเพลง ทำอะไรเสียงดัง ความสนุกของคุณจะไปทำให้พวกเขาเดือดร้อน

“หรือเรื่องอาหารการกิน เราไม่มีอาหารหรูหราราคาแพง แต่เน้นวัตถุดิบ ผัก ผลไม้ที่หาได้ในท้องถิ่น นอกจากนั้นผู้ที่มาพักต้องไม่ทำลายธรรมชาติที่มีอยู่ คุณต้องไม่นำขยะเข้ามา ขณะเดียวกันคุณต้องเก็บขยะของคุณออกไปให้เรียบร้อย และเรารับเฉพาะแขกที่จองไว้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเดินเข้ามาก็ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าชาวบ้านจะสามารถดูแลคุณให้เต็มที่

“ส่วนข้อที่ว่า ห้ามขายที่ดินให้คนนอกนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างพวกเรากันเองในหมู่บ้าน เพื่อปกป้องชุมชน หรือเหตุการณ์ที่ใครจากไหนไม่รู้จะเข้ามากอบโกยและตักตวงเอาแต่ผลประโยชน์จากชุมชนของเราออกไป โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น”

สุรศักดิ์เสริมต่อว่าแขกที่มาเข้าพักทุกคนต้องล้างจานเองทุกครั้ง และเมื่อมาถึงที่พัก ต้องล้อมวงฟังปฐมนิเทศจากเขาก่อนเป็นเวลา 30 นาที เพื่อเข้าใจข้อปฏิบัติทั้งหมดในการพักผ่อนอย่างรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่นี่

การกำหนดแนวทางขึ้นมาก่อนที่จะลงมือสร้างที่พักของสุรศักดิ์ จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการสร้างบ้านโดยให้ความสำคัญกับการเริ่มต้นลงเสาเข็มเพื่อให้ตัวบ้านแข็งแรงปลอดภัย มากกว่าที่จะสนใจเรื่องการตกแต่งทาสีเพื่อความสวยงาม หลังจากใช้เวลากำหนดแนวทางและวางรากฐานอยู่เป็นปี ในที่สุดก็ถึงเวลาที่สุรศักดิ์จะเริ่มตอกตะปูตัวแรกเพื่อสร้างความฝัน ความต้องการของตัวเองให้เป็นความจริง

ชายวัย 53 ตั้งชื่อบ้านพักของเขาเหมือนกับชื่อของโรงเรียนและลูกชาย เพียงแต่เพิ่มเติมบางประโยคเพิ่มเข้าไป

โฮมสเตย์ของเขามีชื่อว่า ‘บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ’

ดูแลแขกเหมือนญาติพี่น้อง

บ้านต้นไม้ร้อยหวัน ตั้งอยู่ ณ ชุมชนต้นน้ำในเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง

หากเข้าพักที่นี่ แน่นอนว่าเสียงหนึ่งที่จะได้ยินอยู่ตลอด คือเสียงสายน้ำไหลไปตามลำธาร ซึ่งแน่นอนว่ามันน่าจะไพเราะกว่าเสียงท่อไอเสียรถยนต์ในท้องถนนเมืองกรุงเป็นไหนๆ สุรศักดิ์บอกว่าหากเปรียบบ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำเป็นคนสักคนหนึ่ง ก็คงเป็นคนเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามกระแส และมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างชัดเจน

“สโลแกนของที่นี่คือสงบเงียบ เรียบง่าย ดิบๆ แล้วก็ไม่วิ่งตามใคร แน่นอนว่าด้วยสิ่งที่เราเป็นอาจจะไม่ได้ถูกใจคนหรือลูกค้าบางประเภท เพราะเราเองก็คัดเลือกคนที่จะเข้าพักด้วยเช่นกัน ลูกค้าที่ตัดสินใจจองที่พักกับเรา เราจะบอกเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าเลยว่าที่นี่เป็นแบบไหน อะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ ที่ทำแบบนี้เพราะเราอยากได้คนที่ตั้งใจมาพักผ่อนกับเราจริงๆ แล้วเราก็จะได้ดูแลเขาได้เต็มที่”

บ้านต้นไม้ร้อยหวันไม่เคยมีช่วงโลว์หรือไฮซีซั่น ใครจะเข้าพักที่นี่ไม่ว่าจะวันไหนเดือนไหน จ่ายเงินแค่ราคาเดียวคือคนละ 750 บาทต่อวัน พร้อมอาหารท้องถิ่นครบมื้อ และการดูแลแขกที่เหมือนกับดูแลญาติ

“ด้วยกระบวนการที่เราสร้างขึ้น มันเป็นการคัดเลือกแขกมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว แขกที่มาพักกับเราตลอดเวลาที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่น่ารัก เข้าอกเข้าใจ เราไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นลูกค้า แต่เรารู้สึกกับทุกคนเหมือนญาติพี่น้อง

“อย่างแรกเลยคือคุณมาบ้านเรา คุณต้องอิ่ม อาหารแต่ละมื้อเราจัดให้เต็มที่ ภรรยาเราจะเป็นคนทำอาหารไว้ให้ หรือถ้าอยากทำเองก็ไม่มีปัญหา เราเตรียมอุปกรณ์เตรียมวัตถุดิบพร้อม ถ้ายังไม่อิ่มอยากกินอยากเติมข้าวเพิ่ม เดินไปตักเอาได้ตลอด หรือถ้าคุณอยากกินอะไรที่มีอยู่ในที่พักของเรา คุณสามารถกินได้เลย จะเป็นผัก ผลไม้อะไร ไม่มีหวง

“อย่างที่สอง นอกจากอิ่มแล้วก็คือฟรี ยกเว้นแต่ว่าคุณอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน หรือทำกิจกรรมอะไรอย่างอื่นนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แขกบางคนมาอยู่กับเราหลายวัน ขากลับเราทำข้าวห่อใบตอง เตรียมน้ำเตรียมท่าเสร็จสรรพให้เขาไปกินระหว่างทางจะได้ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อ เราไม่เคยมานั่งคิดเงินหรือต้องการอะไรตอบแทน แต่คิดว่าเป็นการส่งน้องกลับบ้าน เรามีความสุขที่ได้ดูแลเขา เขาก็มีความสุขที่มาพักกับเรา”

ด้วยธรรมชาติแบบแท้ๆ และการต้อนรับที่อบอุ่นเป็นกันเอง รวมทั้งความเงียบสงบไม่วุ่นวาย ทำให้บ้านต้นไม้ร้อยหวันนอนฟังสายน้ำมียอดจองเข้าพักเต็มยาวเกือบตลอดทั้งปี แม้แต่ในช่วงโควิด – 19 จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ลดลงจากเดิมนัก

ในช่วงเวลาดังกล่าวธุรกิจท่องเที่ยวของคนแทบทั้งประเทศอาจหยุดชะงัก ทว่าสำหรับโฮมสเตย์เล็กๆ เรียบง่ายแห่งเทือกเขาบรรทัดกลับอยู่ได้แบบสบายโดยไม่เดือดร้อน ไม่ได้อยู่ได้แค่เพียงคนเดียว แต่ยังหมายรวมถึงคนอื่นๆ ในชุมชนอย่างที่สุรศักดิ์ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นด้วย

รับผิดชอบต่อส่วนรวม

“ในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยว เจ้าของที่พักที่อื่นเขาเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ที่นี่ เราอยู่ได้ไม่เดือดร้อน อาจจะมีผลกระทบบ้าง เนื่องจากแขกต่างชาติน้อยลง แต่ก็เพียงแค่ครึ่งเดียว ยังมีแขกคนไทยเดินทางมาพักอยู่ไม่ขาด การที่ยังมีแขกมา นั่นทำให้ชุมชนมีรายได้เรื่อยๆ”

แขกของบ้านต้นไม้ร้อยหวันมีมาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ญี่ปุ่น แถมยังมีหลากหลายอาชีพทั้งทนายความ ผู้พิพากษา นักการเมือง นักเขียน ไปจนถึงนักร้อง นักแต่งเพลง บางคนไม่ได้อยู่แค่วันสองวัน แต่พักยาวทีเดียวร่วมครึ่งปี

นอกจากเป็นสถานที่พักผ่อนที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความเป็นธรรมชาติ ไม่ประดิษฐ์ ไม่ปรุงแต่ง และมีน้ำใจของผู้เป็นเจ้าของแล้ว ที่นี่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะสังคมบ้านเกิด อย่างเต็มเปี่ยม

“อย่างที่บอกไป เราชวนชาวบ้านในชุมชนมามีส่วนร่วมด้วยกัน นั่นก็เพราะเราอยากที่ให้ชุมชนเติบโตไปด้วยกัน ให้สิ่งที่เขาทำได้มีโอกาสที่จะเป็นที่รู้จัก มีช่องทางสร้างรายได้ เรามียายๆ ป้าๆ ที่เขาทำงานจักสานมานานแล้วแต่ไม่มีใครรู้ พอมีแขกมาเขาเห็นเราใช้ เราก็แนะนำเขาให้ไปซื้อกับป้า หรือถ้าเขาอยากกินผลไม้บุฟเฟต์แบบไม่อั้น เราก็จะบอกให้ไปที่สวนของชาวบ้านในชุมชน ให้เขาตกลงซื้อขายกันโดยตรงเลย”

ทุกวันนี้บ้านไม้ร้อยหวันนอนฟังสายน้ำ เปิดมาได้ร่วม 3 ปีแล้ว สุรศักดิ์ยืนยันว่า เขามีความสุขมากกับชีวิตที่สงบเงียบเรียบนิ่ง และไม่วิ่งตามใครในปัจจุบัน

“ความสุขของเรา คือสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำ ได้เห็นชาวบ้านเติบโตไปด้วยกันในแนวทางที่ร่วมมือกันกำหนดมันขึ้นมา จากความดิบเชยกลายเป็นความน่าสนใจ กลายเป็นความเท่ ที่ทุกคนในชุมชนเท่แบบเป็นตัวเองไปด้วยกัน”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ