เรโทร โอเค พื้นที่บนโลกออนไลน์ที่เป็นตัวช่วยให้ผู้สูงวัย ‘โอเค’ กับเรื่องเทคโนโลยี


“สวัสดีค่ะ ชื่อสนอง อายุ 69 ปีค่ะ”

“ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ เพื่อนๆ ช่วยแบ่งปันด้วยนะคะ”

ส่วนหนึ่งของข้อความแนะนำตัวเองที่สมาชิกในเฟซบุ๊กกรุ๊ป ‘ เรโทร โอเค ’ โพสต์แนะนำตัวเองในครั้งแรกที่เริ่มเข้ากรุ๊ปนี้ โดยเฟซบุ๊กที่มีคนวัยลูกหลานอยู่เบื้องหลังนี้ตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้พื้นที่นี้เป็นสเปซสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการอัปเดตความรู้ด้านดิจิทัลและการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเป็นงานส่วนหนึ่งของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ( DEPA ) ที่เน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีคนทุกวัย

“งานของเราเป็นงานใน ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ซึ่งความมั่นคงในที่นี้คือความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคงในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรชีวิตเราจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นมันจะเป็นเรื่องการพัฒนาทักษะของคนที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งคนกลุ่มเปราะบางในที่นี้หมายรวมถึงคนสูงอายุที่มีความต้องการพิเศษกว่าคนวัยอื่นด้วย” ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง เล่าถึงแนวคิดในการทำงานที่มานำสู่การสร้างพื้นที่ออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ

กว่าจะมาเป็น เรโทร โอเค ทีมงานช่วยกันตีโจทย์ว่าจุดประสงค์ที่พวกเขาต้องการให้ผู้สูงวัยได้จากการเข้าร่วมในกลุ่มนี้คืออะไรบ้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่การใช้งานเป็น ใช้ได้อย่างปลอดภัย ไปจนถึงการนำไปใช้ต่อได้อย่างสร้างสรรค์

“คำว่า สร้างสรรค์ ในที่นี้ อย่างแรกคือเราช่วยทำให้เขาเอาไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อชีวิต อำนวยความสะดวกในชีวิต อย่างเช่น แอปพลิเคชันต่างๆ ที่ทำให้เขาติดต่อสื่อสารกับเพื่อนหรือลูกหลานได้ หรือว่าแอปฯ ที่ใช้สั่งอาหารได้ หรืออาจจะทำให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างเพลิดเพลินขึ้น อย่างใช้ดูละคร ฟังเพลงเก่า หรืออย่างที่สอง เขาอาจจะสามารถเอาเครื่องมือดิจิทัลไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อย่างตัดต่อคลิป เขียนบล็อก หรือทำเพจ แล้วถ้าล้ำหน้าไปกว่านั้นก็คือเขาสามารถจะเอาไปใช้เป็นอุปกรณ์ในการสร้างอาชีพได้ อย่าง e – commerce หรือทำเป็นช่องยูทูบของเขาเอง” ดร.มาลียาขยายความเพิ่มเติม

นอกเหนือไปจากที่ว่ามานี้ ทีมงานเบื้องหลัง เรโทร โอเค ยังอยากให้เฟซบุ๊กกรุ๊ปนี้เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุรู้สึกปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดิจิทัล สามารถถามได้ทุกเรื่องที่สงสัย

เวลาจะโพสต์บน fb ไม่สามารถ check in ได้ เครื่องบอกว่ามีความขัดข้องทางเทคนิค แก้ไขอย่างไรได้บ้างคะ”

“อยากทราบว่า Facebook Editor คืออะไร”

“สนใจอยากเรียน Instagram for Business มีคอร์สแนะนำไหมคะ”

“สนใจเรียนทำเว็บไซต์อย่างง่ายด้วย WordPress แล้วผูก SEO ให้ลูกค้าหาเราเจอ ขอคำแนะนำคอร์สเรียนด้วยค่ะ”

“เราอยากให้มีพื้นที่ในการถามคำถามได้ เพราะเราพบว่าปัญหาของผู้สูงอายุคือ เวลาอยู่บ้านแล้วถามลูกหลาน พอลูกหลานเริ่มแสดงอาการว่าเบื่อจะตอบ เขาก็จะเริ่มมีความเกรงใจ กลัวตัวเองจะเซ้าซี้เกินไป กลัวทำให้รำคาญ แล้วบางคนก็ไม่ได้อยู่กับลูกหลานตลอด เราเลยอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นฮอตไลน์สำหรับเขา เวลาเขาถามอะไรมา เราก็จะรอตอบอยู่ด้วยความดีใจมากๆ เราเลยพยายามสนับสนุนสมาชิกในกรุ๊ปว่าถ้ามีอะไรให้ถามมา เรายินดีที่จะตอบนะ ซึ่งเราก็พบว่ามีคนที่กล้าถามมากขึ้นเรื่อยๆ” ดร.มาลียา หรือ ‘พี่โน้ต’ ของน้องๆ ในทีมเรโทร โอเค เล่าเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่ทุกคนทำด้วยความตั้งใจ

หลายคำถามที่มีคนโพสต์ในกรุ๊ปต้องอาศัยการถาม – ตอบกลับไปมาหลายครั้ง เพื่อให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า เจ้าของคำถามต้องการอยากรู้เรื่องอะไร รวมถึงการตอบด้วยการแคปภาพมาอธิบายทีละขั้นตอนหรือหาวิดีโอมาประกอบเพื่อให้เห็นภาพ

นอกจากความใจเย็นและความพยายามในการหาคำตอบมาให้ แอดมินของเฟซบุ๊กกรุ๊ปนี้ยังมีวิธีการตอบที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง นั่นคือ โทนการตอบที่เหมือนลูกหลาน แต่เรียกทุกคนว่า ‘พี่’ ไม่ว่าจะคุยกับผู้สูงวัยอายุไหน

“เราเชื่อว่าแม้แต่กับคนที่บ้าน ทุกคนก็อยากสอน อยากตอบคำถามด้วยความใจเย็น แต่บางครั้งพอเป็นพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด เราจะเผลอตัดความเกรงใจออกไปโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นน้องๆ ในทีมของเราก็จะตอบทุกคำถามด้วยโทนลูกหลานที่ใจเย็น แต่จะใช้คำว่า พี่ เพราะเรารู้สึกว่าเขาคงไม่ได้อยากให้เรียกว่าป้าหรือว่ายาย”

บางครั้งคำถามของผู้สูงอายุที่โพสต์ในกลุ่มนี้ก็นำไปสู่การเปิดสอนคอร์สต่างๆ ที่ตรงกับความสนใจ เพราะคำถามช่วยทำให้รู้ว่าผู้สูงอายุสนใจเรื่องอะไร และบ่อยครั้งที่การได้ครูที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะมาสอนก็จะช่วยทำให้สมาชิกในกลุ่มได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

“สวัสดีพี่ๆ ทุกท่านค่ะ วันนี้แอดมินอยากมาสำรวจความสนใจพี่ๆ ทุกท่านในกลุ่มสักหน่อยว่า แต่ละท่านมีความสนใจเรียนคอร์สในหัวข้ออะไรกันบ้าง เพื่อเก็บข้อมูลและนำไปต่อยอดเปิดคอร์สของเราต่อๆ ไปให้ตรงกับความสนใจของพี่ๆ ในอนาคตค่ะ”

ผลจากโพลที่แอดมินเปิดโหวตเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 5 อันดับแรกของเรื่องที่ได้รับความสนใจก็คือ การใช้ Instagram การเขียนคอนเทนต์ให้น่าสนใจ เคล็ดลับการขายของในแต่ละช่องทาง การใช้ TikTok และการสอนถ่ายรูปสินค้าให้สวยๆ

อีกหลายหัวข้อที่แม้จะไม่ได้ติดอันดับต้นๆ แต่ก็ทำให้รู้ว่าความสนใจของผู้สูงอายุไม่ได้ถูกจำกัดด้วยวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหากรีนสกรีน การลงทะเบียน Google Business ไปจนถึงการดาวน์โหลดเพลงไว้ฟังเมื่อต้องเข้าป่าหลายวันและไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้

ด้วยความสนใจที่หลากหลายและพื้นฐานการใช้งานเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน คอร์สเรียนของที่ เรโทร โอเค เป็นกำลังหลักในการเปิดสอนรวมถึงจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ จึงมีทั้งคอร์สที่สอนให้เข้าใจคอนเซปต์และคอร์สที่เน้นการลงมือปฏิบัติ

“เราจะมีทั้งคอร์สแบบที่เรียกว่าเป็นการสอนคอนเซ็ปต์ ซึ่งคอร์สแบบนี้จะเป็นการนั่งฟัง อย่างเช่นคอร์สที่สอนเกี่ยวกับการขายอาหารออนไลน์ เราก็จะเล่าให้เขาฟังว่า โลกของการสู่อาหารออนไลน์แบบที่เขาขายบนแอปฯ มันเป็นแบบไหน มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันมีกี่แอปฯ ในประเทศไทยตอนนี้ แต่ละแอปฯ มีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร ขั้นตอนการใช้มีอะไรบ้าง แล้วในฐานะของคนที่จะขายอาหารออนไลน์โดยที่ไม่เคยมีหน้าร้านมาก่อนจะต้องคิดถึงอะไรบ้าง มีปัญหายิบย่อยอะไรที่เขาอาจจะต้องเจอ ซึ่งเราจะให้ข้อมูลไปจนถึงเรื่องแพ็กเกจจิ้งเลย ถ้าเป็นคอร์สแบบนี้ เราสามารถรับจำนวนคนเรียนได้ต่อคอร์สค่อนข้างเยอะ

“แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เป็นเรื่องของการใช้แอปพลิเคชันไปด้วย เราจะทำต้องทำให้เขาเข้าใจก่อน แล้วก็ต้องให้เขาติดตั้งและสอนว่าต้องกดอะไรแบบไหน ซึ่งถ้าเป็นคอร์สแบบนี้เราจะรับได้น้อยหน่อยในแต่ละครั้ง เพราะเราจะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่หลังบ้านให้มากพอที่พร้อมจะซัพพอร์ต เพราะเวลาที่เริ่มเรียนไปได้สักพัก อาจจะมีคนที่ไปได้เร็วกว่าเพื่อน คนที่ช้ากว่าเพื่อน ถ้าคนที่ไปได้ช้ากว่าเริ่มประสบปัญหาว่ากดไปแล้วหน้าจอไม่เหมือนที่คุณครูสอนอยู่แล้วต้องทำอย่างไรต่อ เราก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือเป็นรายบุคคลเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนไปกับคลาสต่อได้ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่บางคลาสเรารับคนได้น้อยกว่า” ดร.มาลียาอธิบายถึงลักษณะการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน

เมื่อเป็นคลาสเรียนเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลและเทคโนโลยี สิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้เลยก็คือเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ ซึ่งทางเรโทร โอเค จะบอกไว้อย่างชัดเจนว่า แต่ละคอร์สต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางครั้งอุปกรณ์ของบางคนจะไม่พร้อม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความผู้สูงอายุกลุ่มนั้นจะไม่มีโอกาสเรียนรู้เหมือนคนอื่นๆ

“บางคลาสสามารถที่จะนั่งเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ได้เลย บางคลาสอาจจะต้องมีอุปกรณ์หนึ่งในการเรียนและอีกอุปกรณ์ในการทำตาม แต่สำหรับคนที่อยากเรียนแต่อุปกรณ์ไม่พร้อม เราก็จะแนะนำว่าถ้าอย่างนั้นมานั่งเรียนไปก่อน แล้วเรามีวิดีโอบันทึกไว้ หรือเขาอาจจะจดไปด้วย พอเรียนเสร็จแล้วเขาค่อยเปิดวิดีโอแล้วทำตามด้วยอุปกรณ์เดิมก็ได้

“ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเจอคนที่ไม่มีอุปกรณ์เลยแต่ว่าอยากมานั่งเรียนก็จริง แต่ถ้าในอนาคตจะมีคนที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่มีอุปกรณ์แต่อยากนั่งฟังเพื่อให้เข้าใจคอนเซ็ปต์ก่อน แล้วถ้าวันหนึ่งเขามีอุปกรณ์พร้อมแล้ว เขาก็จะเข้าใจว่าโลกไปถึงไหนแล้ว มีเทคโนโลยีที่ทำอะไรได้บ้าง เราก็มองว่าสิ่งนั้นก็จะเป็นประโยชน์กับเขาเหมือนกัน มันก็เหมือนกับเวลาเราดูรายการสารคดีที่แอนตาร์กติกา เราก็คงไม่ได้จะไปเดินเที่ยวที่นั่นหรอก แต่อย่างน้อยดูจบแล้วเราก็เข้าใจว่า มันมีพาร์ตนี้ของโลกอยู่ มันมีสิ่งนี้อยู่นะ”

เมื่อได้ทำงานกับผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ทีมงานจาก DEPA พบว่า มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่พร้อมนำความรู้ไปใช้ในการสร้างอาชีพต่อ เพราะหลายคนนั้นถึงแม้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีอาจจะเป็นศูนย์ แต่พวกเขามีความพร้อมในแง่ของการทำงานที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว การต่อยอดด้วยการหาความรู้อย่างเช่น เรื่อง e – commerce ถึงจะเป็นเรื่องที่ต้องสอนโดยละเอียด เล่าให้เข้าใจตั้งแต่ความเป็นมาเพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง และบ่อยครั้งที่ผู้สูงอายุบางคนอาจจะต้องลงเรียนซ้ำ รวมถึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่คอร์สต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเหมือนก้าวแรกที่ทำให้พวกเขาเริ่มต้นได้ในที่สุด

“จริงๆ แต่ละคอร์สมันก็เหมือนการเรียนทั่วไปที่จบคอร์สหนึ่งก็จะมีคนที่ทำได้ทันทีเลย และมีคนที่เข้าใจบางส่วน อย่างคลาสขายออาหารไลน์ เราเห็นตัวอย่างว่ามีคนที่เรียนจบ ขายได้ทันที เขาก็บอกเราว่า ออร์เดอร์แรกมาแล้วค่ะ ดีใจมากเลย นั่นคือตัวอย่างของการขายอาหารผ่านแอปฯ ซึ่งพอเขารู้ว่าเขาจะทำร้านของเขาขึ้นไปอยู่บนนั้นได้อย่างไร มันก็มีคนซื้อทันที

“หรือคลาสโปรแกรมมิงที่เราคิดไว้ก็จะมีคลาสสำหรับคนที่เคยเป็นวิศวกรเก่า เคยเขียนโค้ดได้ เพียงแต่โปรแกรมที่เขาใช้ในการเขียนโค้ดยุคนั้นมันต่างจากเดี๋ยวนี้ แต่สิ่งที่เขามีก็คือเขารู้ภาพใหญ่ รู้อัลกอริทึม รู้ในเชิงลึก ซึ่งช่วงให้เขาสามารถอัพเดตตัวเองได้ในแบบปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มนี้พอเรียนจบ เขาอาจจะกลับไปทำงานได้ทันที เพราะเขามีพื้นฐานตรงนี้อยู่ แต่ถ้าเป็นคลาสสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย เราก็ต้องสอนโดยวิธีที่ต่างออกมา ซึ่งคลาสพวกนี้ถ้าเริ่มแล้วเดี๋ยวเราต้องมาติดตามดูกันว่าจะเป็นอย่างไร”

“ขอบคุณที่ทำให้ได้รับโอกาสดีๆ ค่ะ”

“การได้ทำงานกับผู้สูงวัยเรียกได้ว่าเป็นงานที่มีความสุขที่สุดเลยตั้งแต่เคยทำงานมาเลย” ดร.มาลียาเล่าถึงความรู้สึกส่วนตัวที่มาจากการทำงาน

“เดิมทีเราเป็นนักวิจัย อยู่ในห้องวิจัยเป็นหลัก อาจจะมีการออกไปเก็บข้อมูลบ้าง แต่ก็ไม่ใช่งานแบบนี้ หรือการมาทำงานที่กระทรวงนี้ช่วงแรกก็เป็นงานเชิงนโยบาย แต่พอได้มาทำงานขับเคลื่อนทักษะทางด้านดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุมันเป็นงานที่แฮปปี้ เพราะว่าในการทำงานแต่ละครั้ง เราเห็นพลังที่ส่งมาจากผู้สูงอายุ แล้วก็ได้เห็นว่าการที่เขาเรียนรู้เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้แปลว่าเขาต้องเข้าใจทั้งหมด

“เวลาเราสอนไปร้อยอย่าง เขาอาจจะรับได้แค่ครึ่งเดียว หรือเขาอาจจะเรียนรู้แค่อย่างเดียวก็ได้ แต่มันเป็นอย่างเดียวที่ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้น อย่างเช่นแค่เขารู้ว่าจะทำยังไงให้ตัวอักษรในไลน์มีขนาดใหญ่ขึ้น ต่อไปเขาก็อ่านไลน์ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ชีวิตเขาก็ดีขึ้นแล้วหนึ่งอย่าง เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นงานที่เห็นผลทันตาว่า สิ่งที่เราคิด คอร์สที่เราจัดขึ้นมา มันมีผลอย่างไรต่อชีวิต แล้วส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะน่ารักมาก ฟีดแบ็กกลับมาให้เราเห็นทันที”

นอกจากการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนวัยพ่อแม่อย่างชัดเจนแล้ว ความตื่นเต้นของนักเรียนแต่ละคนยังเป็นอีกสิ่งที่เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับทีมงาน

“แต่ละคอร์สเป็นคอร์สที่ทำให้คนสอนชื่นใจมากเลย เพราะการสอนผู้สูงอายุนี่คือเขาอยู่ในวัยที่การเรียนของเขาคือการตั้งใจเรียนมากๆ โฟกัสกับคุณครูมาก ตั้งใจจด ตั้งใจถามคำถาม คือเป็นนักเรียนที่ดีมากๆ อีกอย่างคือเขาอยู่ในวัยที่เขาเลือกมาเรียนเอง ไม่เหมือนเด็กๆ ที่ไปโรงเรียนเพราะต้องไป เราเลยรู้สึกว่าเขามีความดีใจที่ได้มาเจอเพื่อนๆ ได้มาเจอคุณครู เพราะถ้าเป็นแต่ก่อนการไปโรงเรียนคือกิจกรรมบังคับที่ต้องไป การไปทำงานคือกิจบังคับที่ต้องทำ แต่ ณ วันนี้ที่กิจกรรมประจำวันก็คือการอยู่บ้าน ดูทีวี หรือว่าทำอาหาร การกลับมาเรียนเลยกลายเป็นกิจกรรมพิเศษที่ทำให้เขาตื่นเต้น เขาทำให้เรารู้สึกได้ถึงความกระตือรือร้นนั้น ความกระชุ่มกระชวยของเขาแผ่มาถึงคุณครูและสตาฟด้วย

“การที่เขาดีใจที่ได้กลับมาเรียน ได้เจอครู ได้เจอเพื่อนๆ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ภาพที่เราได้เห็นจากตรงนั้นก็คือเขาได้กลับไปสู่ความเป็นวัยเยาว์อีกครั้ง”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ