“การเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ในวัย 70 คือการได้มีอีกคนเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนในยามแก่เฒ่าดูแลกันและกันจนกว่าคนหนึ่งจะตายจากไปและยิ่งมีลูกหลานรายล้อมเข้ามาแสดงความยินดี คือที่สุดแห่งความปลื้มใจของปีนี้”
มนุษย์ต่างวัย พาไปดื่มด่ำเรื่องราวความรักที่หลายคนคาดไม่ถึงของคุณลุงประดิษฐ์ ยอยไธทรง อายุ 70 ปี และคุณป้าฉวีวรรณ สดชื่น อายุ 68 ปี บ่าวสาวป้ายแดงที่จูงมือกันเข้าพิธีวิวาห์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาในวัยใกล้ 70
มนุษย์ต่างวัย : ใครเป็นฝ่ายจีบใครก่อนคะ ระหว่างคุณลุงกับคุณป้า ?
คุณป้า : สวยขนาดนี้ก็ต้องลุงจีบสิ ตามจีบอยู่ 2 ปี แต่ป้าไม่สนใจ เพิ่งจะมาใจอ่อนตอนปีที่ 3
ป้าฉวีวรรณ เริ่มต้นเล่าการเดินทางของความรักครั้งนี้ให้ทีมงานฟัง
“ลุงเป็นช่างรับเหมาก่อสร้าง บังเอิญมารับงานอยู่ไม่ใกล้ ๆ บ้านของป้า ก็เป็นจังหวะที่ทำให้ได้เจอกัน ซึ่งตอนนั้นลุงก็เป็นโสดเพราะภรรยาเสียชีวิตมาหลายปี ส่วนป้าเองก็เป็นสาวโสดไม่มีใคร ไม่เคยผ่านการแต่งงาน พอลุงรู้ว่าป้าเองก็โสดก็ทำทีมาเริ่มมาคุยด้วยบ่อยขึ้น
“ตอนนั้นก็ไม่ใจอ่อนเลยนะ ป้าคิดว่าอายุขนาดนี้แล้วจะมาจีบกันมันไม่น่าจะใช่ ลูกหลานจะมองยังไง มันไม่ใช่วัยที่เราจะรักใครหรือมีแฟนฉันชู้สาว และอีกอย่างป้าก็มีอาชีพเป็นพนักงานของเทศบาล มีงานการทำ เลี้ยงดูตัวเองได้ตอนนั้น เพราะฉะนั้นป้าไม่เลยไม่มีความคิดที่อยากจะพึ่งพาใคร ”
ตามจีบมา 2 ปีถึงใจอ่อนยอมเป็นแฟน
“2 ปีเลยลูกที่ลุงเขาตามจีบป้า คอยมานั่งคุย มาเที่ยวหา เราคนสมัยก่อนจะแชตจะไลน์ก็ไม่ค่อยจะเป็น ส่วนมากก็จะโทรมามากกว่า บางวันไม่เจอก็โทรมา คอยแวะเวียนเข้ามาถามไถ่ กินข้าวหรือยัง เป็นอย่างไรบ้าง เสมอต้นเสมอปลายกับป้าตลอด ดูแลเอาใจใส่ แรก ๆ เราก็ใจแข็งนะ หลัง ๆ ก็มีหวั่นไหวบ้าง (หัวเราะ)”
มนุษย์ต่างวัย : แล้วทำไมคุณลุงถึงตามจีบได้นานถึง 2 ปี ?
คุณป้า : ลุงบอกว่าก็คนมันรักมันชอบไปแล้ว (หัวเราะ) เขาบอกว่า ป้าน่ารัก คุยกันถูกคอ พอคุยทุกวันก็เริ่มผูกพัน เป็นห่วงเป็นใย เข้าใจกันและกัน เพราะต่างคนก็ต่างไม่มีใคร ถึงคุณลุงมีลูกแต่ลูกก็อยู่คนละบ้าน ไม่ใช่ว่าลูกไม่ดูแลนะ ลูกเขาก็ดูแลอย่างดี แต่ความรักของลูกหลานมันไม่เหมือนกันกับคู่ชีวิต ถึงป้าจะมีหลานแต่หลานเขาก็มีครอบครัวของเขา ดังนั้นมันเหมือนเราเข้าใจในความเหงาของกันและกัน
การเจ็บป่วย คือจุดที่ทำให้เปิดใจกับความรักครั้งใหม่
“คนเรานะลูก พออายุมากขึ้น เราหนีไม่พ้นเรื่องการเจ็บป่วย ระยะหลัง ๆ ป้าก็เริ่มไม่แข็งแรง ต้องไปหาหมอบ่อย ๆ แรก ๆ เราก็ไม่คิดอะไร เพราะคิดว่าเรามีหลานให้หลานพาไปได้ แต่พอมีวันหนึ่งที่หลานเขาก็ต้องดูแลลูกเขา ตอนนั้นป้าเกรงใจหลานขึ้นมาเลยนะ แล้วก็คิดแวบขึ้นมาในหัวเลยว่า จริง ๆ การมีใครสักคนในบั้นปลายชีวิตก็เหมือนมีเพื่อนคู่คิดอยู่ดูแลกันยามป่วยไข้นี่แหละ เพราะลูกหลานเขาต้องมีชีวิตของเขา มีครอบครัวที่เขาต้องรับผิดชอบ ถ้าเราดูแลตัวเองมีคู่ชีวิตคอยไปไหนไปด้วยกัน ก็ทำให้ลูกหลานเบาใจ และเราก็อุ่นใจด้วย”
“ตอนที่ป้าป่วย ขนาดตอนนั้นยังไม่ได้คบหาดูใจกัน คุณลุงเขาก็เป็นห่วงเป็นใยเรา คุณลุงมองว่าป้าคือคนในครอบครัว เห็นป้าป่วยก็คอยมาเฝ้าข้างเตียง อยู่ดูแล ซื้อยา ซื้อข้าวมาให้ ตอนนั้นก็ทำให้ป้าเริ่มเปิดใจ ป้าคิดว่า แค่ไปไหนไปด้วยกัน ดูแลกันยามแก่เฒ่าไม่เป็นภาระลูกหลาน แค่นี้ก็ดีที่สุดสำหรับความรักในวัยนี้”
ก่อนจะแต่งงานสิ่งที่กลัวที่สุดคือกลัวลูกหลานรับไม่ได้
“ตอนระหว่างคบหาดูใจกัน สิ่งที่กลัวมาที่สุดคืออะไรรู้ไหมลูก ป้ากลัวหลานรับไม่ได้ ป้ากลัวลูกลุงจะรังเกียจ เรากลัวว่าเด็ก ๆ จะคิดว่าแก่ป่านนี้จะมีแฟน จะแต่งงาน ทำไมไม่ปลงชีวิต อายุก็ไม่ใช่น้อย ๆ ตอนนั้นป้ากลัวมาก กลัวคนในบ้านรับไม่ได้มากกว่าที่ชาวบ้านจะติฉินนินทา”
“แต่คุณลุงเขาพร้อมพิสูจน์กับลูกเขาและหลานป้าว่า ความรักของเราคือความบริสุทธิ์ใจต่อกันที่อยากจะมีใครสักคนจับมือกันไปยามแก่เฒ่า คุณลุงพาลูกมาหาป้า ลูกเขาก็ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าพ่อยอมเลิกเหล้าก็จะยอมรับป้า ซึ่งตั้งแต่วันนั้นคุณลุงก็ไม่กินเหล้าอีกเลย และยังพิสูจน์ด้วยความสม่ำเสมอ คอยมาดูแล แสดงความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือให้หลาน ๆ ของป้ามั่นใจได้ว่าผู้ชายคนนี้พร้อมที่จะเข้ามาดูแลป้าจริง ๆ”
ความสุขที่สุดในปี 2023 คือการได้แต่งงานท่ามกลางความยินดีของลูกหลาน
“ตอนแรกก็ไม่ได้จะแต่งงานจัดงานอะไรนะลูก แต่เพราะคุณลุงอยากให้เกียรติป้า เราก็เลยจัดงานเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยลูก ๆ หลาน ๆ รายล้อมกันมาแสดงความยินดี”
“สำหรับป้า คำที่เขาบอกว่าผู้หญิงจะอิ่มใจที่สุดในวันแต่งงาน ป้าก็เพิ่งรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะการแต่งงานในวัยนี้ วัยที่มีแต่คนตั้งคำถามว่าทำไมต้องแต่ง วัยที่เขาบอกให้เราปลง ๆ ไปซะ แต่ลูกหลานเรากลับยินดีด้วยใจ ทั้งแววตาของทุกคนที่มาแสดงความยินดี ยิ่งทำให้ในใจป้ามันยิ่งกว่าตื่นตัน ที่การตัดสินใจครั้งนี้ของเราไม่ได้เป็นแค่ความสุขของเรา แต่เป็นการยอมรับของลูกหลานด้วย
“ความรักแบบเพื่อนไม่เหมือนกับแฟน ความรักแบบแฟนก็ไม่เหมือนกับลูก ซึ่งมันต่างกัน การที่คนในวัยแบบป้ากับลุงมาเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ มันไม่ใช่เรื่องของเซ็กซ์ เรื่องเพศหรืออะไรเหมือนกับวัยหนุ่มสาวแล้ว แต่มันคือการจับมือกันเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นเพื่อนกันตามแก่เฒ่า จับมือก้าวผ่านความโดดเดี่ยว ไม่ให้ลูกหลานต้องเป็นห่วง และอยู่ดูแลกันจนกว่าใครคนหนึ่งจะหมดลมหายใจ นี่แหละความรักของคนวัย 70”