สำหรับลูกหลานชาวจีน ‘เทศกาลเช็งเม้ง’ ถือเป็นวันสำคัญประจำปีวันหนึ่งนับตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวจีนเชื่อว่า นี่เป็นช่วงเวลาของการอุทิศบุญกุศล และแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ อากง อาม่า พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ อาหารที่ดีที่สุด การทำความสะอาดฮวงซุ้ย การเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อให้บรรพบุรุษได้ใช้จ่ายในโลกหลังความตาย สิ่งเหล่านี้คือเครื่องหมายแสดงถึงความกตัญญูที่บรรดาลูกๆ หลานๆ มอบให้แด่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในขณะเดียวกัน วันนี้ก็คือวันรวมญาติที่ลูกๆ หลานๆ จะมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้า ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้ง
บางคนจึงบอกว่า วันเช็งเม้งนั้นแฝงไว้ด้วยกุศโลบายที่ดีงาม ลึกซึ้ง ของการรักษาคุณธรรม ความกตัญญู และช่วยทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่ง รักษาระบบเครือญาติไว้ให้เหนียวแน่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในสายตาของคนรุ่นใหม่ เช็งเม้งก็แลกมาด้วย ‘ต้นทุน’ ทั้งตัวเงิน เวลา โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง จนนำมาสู่การตั้งคำถามบนเว็บไซต์กระทู้แสดงความคิดเห็นต่างๆ บนโลกออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า หรือ การไป ‘เช็งเม้ง’ ที่สุสานจะจบที่รุ่นเรา?
มนุษย์ต่างวัยชวนคุยถึงปรากฏการณ์ ‘เช็งเม้ง’ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปกับอาจารย์ปอ-ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ เพจที่เล่าเรื่องจีนเพื่ออยากให้คนไทยและคนจีนเข้าใจกัน และเป็นหนึ่งในลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนที่คลุกคลีอยู่กับความเชื่อและเทศกาลเช็งเม้งมาตั้งแต่จำความได้
วัยเปลี่ยนไป ความรู้สึกต่อวัน ‘เช็งเม้ง’ ก็เปลี่ยนตาม
“ครอบครัวผมคุณตาเป็นคนจีนจากโพ้นทะเล คุณยายมีเชื้อจีน ในแต่ละปีของการเช็งเม้งเราจะต้องมีการรวมญาติ ไม่ว่าญาติคนนั้นจะอยู่ต่างจังหวัด ไกลกันแค่ไหนก็ต้องมารวมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อไปที่สุสานวัดย่านตลาดพลู สมัยนั้นถ้าใครไม่มาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก พวกเขาจะถูกถามว่าทำไมไม่มา ถูกตำหนิ เพราะคนจีนถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ ปลูกฝังลูกหลานด้วยพิธีกรรมให้ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง แล้วแม่ก็จะบอกกับผมเสมอว่าถ้าผมโตขึ้นแล้วแม่เสียไป อย่าลืมไปไหว้แม่ด้วยนะ
“เทศกาลเช็งเม้งสำหรับผม ถ้าเป็นความรู้สึก ตอนเด็กๆ เป็นเทศกาลที่สนุกดีและมีความสุขมาก เพราะเป็นช่วงเดียวที่จะมีโอกาสได้เจอกับลูกพี่ลูกน้องวัยใกล้ๆ กันที่นานๆ จะเจอกันที ทำให้การออกไปทำกิจกรรมที่สุสานเหมือนเราได้ไปเล่นกับเพื่อน แถมพอไหว้เสร็จก็ได้ไปเที่ยว ได้ไปกินอาหารดีๆ ตามที่ผู้ใหญ่จัดหาให้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไร
“แต่เมื่อโตขึ้น ผมจะเริ่มเจอกับคำถามจากญาติที่บางทีเราไม่ได้อยากตอบ โดยเฉพาะในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ ญาติที่ไม่ค่อยสนิทมักจะชอบถามว่า เรียนจบแล้วจะไปทำอะไร มีแฟนหรือยัง เมื่อไหร่จะแต่งงาน ซึ่งไม่ใช่แค่เมืองไทย ที่ประเทศจีนเองที่ญาติจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา ก็จะมีลักษณะเดียวกัน ถึงขั้นที่ว่าในช่วงสิบปีมานี้มีธุรกิจรับจ้างไปเป็นแฟน เพราะว่าเวลากลับไปเจอญาติผู้ใหญ่ มักจะเจอกับคำถามเหล่านี้ เพราะคนจีนยังกดดันให้มีครอบครัว ต้องรีบสร้างฐานะ พ่อแม่จะได้วางใจ แต่ว่ายุคนี้มันเป็นยุคที่คนแต่งงานกันน้อยลง อายุของการแต่งงานหรือจดทะเบียนมันสูงขึ้น เพราะว่าคนรุ่นใหม่มีอะไรหลายๆ อย่างที่ต้องรับผิดชอบ มีความกดดันเพิ่มมากขึ้น กว่าจะแต่งงานได้ ต้องมีบ้าน มีรถ มีคอนโด ต้องเพียบพร้อม ทำให้เมื่อต้องกลับไปรวมญาติแล้วเจอคำถามที่กดดันเขาก็ไม่อยากเจอและมีนัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นหลังไม่อยากไปเช็งเม้งเพราะมันคือเทศกาลของการรวมญาติ
“นอกจากความรู้สึกทางด้านจิตใจ ปัจจัยภายนอกทั้งเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจ การเงิน การงาน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกหลานชาวจีนรุ่นหลังๆ เริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการไปเช็งเม้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบ้านเราแต่ในประเทศจีนเองก็มีกระแสออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะใน เวย์ปั๋ว (weibo) เว็บไซต์สังคมออนไลน์ที่เปรียบได้กับทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กของจีนที่คนรุ่นใหม่ในจีนนิยมใช้กัน”
จากการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือ ‘Zocial Eye’ ของทีม “มนุษย์ต่างวัย” พบว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2559 จนถึง 2565 เริ่มมีการออกมาตั้งกระทู้และแสดงความคิดเห็นถึง ‘ความจำเป็น’ ในการไป ‘เช็งเม้ง’ ของลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน ผ่านช่องทาง Social Media ต่างๆ
หัวข้อกระทู้ ‘เชงเม้ง ยังจำเป็นต้องไปอยู่ไหม?’ มีการอธิบายเหตุผลของการตั้งกระทู้นี้ว่า เพราะการไปเช็งเม้งสำหรับเธอทำให้รู้สึกถึงความสิ้นเปลืองทั้งเงินทองและเวลา และเสนอว่าแค่ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลก็น่าจะเพียงพอ
‘ไม่ไหว้เชงเม้ง ถือว่าอกตัญญูเหรอคะ เราไม่ชอบเทศกาศพวกนี้เลยทำไงดี’ เหตุผลหลักๆ ของการออกมาตั้งกระทู้นี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ และความเหนื่อยล้าจากการลงแรง เนื่องจากครอบครัวของเจ้าของกระทู้มีสถานะเป็นหัวเรือใหญ่ และภาระทั้งหมดตกมาอยู่ที่แม่ของเธอ ทั้งค่าใช้จ่าย เวลา พละกำลัง แต่ก็กลัวว่าหากไม่ทำอากงอาม่าผู้ล่วงลับจะลำบากในอีกภพภูมิที่พวกเขาอยู่
ส่วนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักๆ ก็มีคนออกมาตั้งกระทู้ว่า ‘เช็งเม้งปีนี้เอาไงกันดีล่ะครับ #โควิดก็มาอากงอาม่าก็รอ’ ซึ่งหลังจากตั้งกระทู้ถาม เจ้าของกระทู้ก็ได้เขียนคำตอบไว้ว่า เขาเลือกที่จะ ‘ไม่ไป’ เพราะสถานการณ์โควิดที่น่าเป็นห่วง แต่ญาติๆ ดันไม่ยอม เมื่อคุยกับลูกหลานของลุงป้าน้าอาส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าไม่อยากให้ไป แต่ก็เจอปัญหาแบบเดียวกันคือ ผู้ใหญ่จะ ‘หัวดื้อ ไม่ฟัง’ และเมื่อตัดสินใจเด็ดขาดว่าไม่ไปร่วมเช็งเม้งแน่นอน ก็โดนตำหนิจากทางญาติ
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการตั้งกระทู้ถึงเรื่องของการลดทอนพิธีกรรม เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ‘จะบอกญาติผู้ใหญ่ ให้ลด/เลิกการเผากระดาษ ในงานเช็งเม้ง ได้ไหม’ โดยกระทู้นี้อธิบายว่าไม่ใช่แค่รู้สึกเปลืองเงิน แต่การเผากระดาษเงินกระดาษทองยังเป็นการก่อมลพิษเพิ่มมากขึ้นให้กับโลกโดยไม่จำเป็น
โดยแต่ละกระทู้คำถาม ก็ได้มีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งจากคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่น่าสนใจคือมีคำถามในสังคมออนไลน์ที่ตั้งขึ้นว่า หรือการไป ‘เช็งเม้ง’ ที่สุสานจะจบที่รุ่นเรา? เมื่อพิจารณาจาก ‘ต้นทุน’ ในการแสดงความกตัญญูในยุคปัจจุบัน
“คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ไม่ใส่ใจบรรพบุรุษ แต่มองว่าการแสดงความกตัญญูสามารถปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย”
อาจารย์ปออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “แม้ว่าจะมีการตั้งคำถามในทำนองไม่อยากไปเช็งเม้งไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนรุ่นใหม่ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ พวกเขายังคงเชื่อและยังอยากที่จะระลึกถึง ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาทางออกเพื่อให้ความเชื่อกับข้อจำกัดที่มีสามารถเดินไปด้วยกัน
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจึงเริ่มเห็นกระแสข่าว ‘ เช็งเม้งยุคใหม่ ’ ที่ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม สภาพสังคม สภาพเหตุการณ์ปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ธุรกิจดาวรุ่งช่วงโควิด-19 เช่น ธุรกิจรับจ้างไหว้บรรพบุรุษพร้อมถ่ายทอดสด Video Call โดยไม่ต้องไปถึงสุสานด้วยตนเอง
“ธุรกิจเช็งเม้งออนไลน์ที่มีการให้บริการรับจ้างทำความสะอาดสุสานและเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดทันสมัย และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของลูกหลานที่ไม่สามารถไปเช็งเม้งที่สุสานได้ ซึ่งนับว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด”
“นอกจากนี้ทางจีนยังมีการปรับตัวในเรื่องของการเผากระดาษเงินกระดาษทองหรือที่เรียกว่ากงเต็ก ที่ในบ้านเราจะนิยมเผากันในศาลเจ้าหรือเผาในถังอย่างเป็นระเบียบ แต่ในเมืองจีนเขาเป็นเมืองใหญ่ ที่พักอาศัยจะเป็นในรูปแบบของคอนโด ดังนั้นเมื่อไหร่ที่มีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เขาจะเอาช็อกมาขีดเป็นวงกลมแล้วก็เผาในบริเวรทางเท้าหรือตามสวนสาธารณะ ทำให้มักจะมีปัญหาเรื่องมลพิษ ดังนั้นหลายๆ ปีมานี้จีนเลยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อม เช่น ในสุสานบางแห่งในจีนเขาจะมีการทำ ‘ ธนาคารสวรรค์ ’ เป็นแอปพลิเคชันย่อยในวีแชต ( WeChat ) โดยให้เราสามารถฝากเงินให้พ่อแม่หรือคนที่เสียชีวิตไปแล้วแทนการเผากงเต็ก เพื่อลดมลพิษทางอากาศในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ทำโดยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ทางสุสานจัดทำไว้ให้ จากนั้นพิมพ์จำนวนเงินที่เราต้องการพร้อมกับข้อความส่งให้บรรพบุรุษ โดยหลังจากนั้นเงินที่เราฝากทางสุสานก็จะนำไปประกอบพิธีและนำเงินไปทำประโยชน์อื่นๆ ต่อไป หรือบางคนเป็นการโอนหลอกๆ ไม่ต้องเสียเงินจริงๆ สักบาท
“แต่ปรากกฎการณ์เช็งเม้งยุคดิจิทัลก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าสะดวกสบายดี กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่ามักง่าย และเป็นการไม่ให้เกียรติบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ถามว่าเราจะปรับตัวระหว่างคนจีนยุคใหม่กับคนจีนรุ่นก่อนอย่างไรให้เข้าใจกัน ผมมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันภายในแต่ละครอบครัว เพราะแต่ละคนโตมากันคนละแบบ บางคนโตมากับการไปสุสานทุกปี มันก็เหมือนกับว่าเขาเคยชินกับการทำแบบนี้ไปแล้ว แต่ว่าถ้าเรามองกันด้วยเหตุและผลตามยุคสมัยที่มันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าว่างก็ไปถ้าไม่ว่างก็คุยกับพ่อแม่ให้เข้าใจ
“อย่างตัวผมเองตอนเด็กๆ ผมก็เคยมีคำถามกับพ่อแม่เหมือนกันว่า ทำไมเราต้องไปเช็งเม้ง เพราะบางทีเราก็อยากอยู่บ้าน ดูทีวี ตามประสาเด็ก แต่แม่ก็มักจะให้เหตุผลว่า หนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียว แล้วเขาก็จะมีการหลอกล่อว่า ไหว้เสร็จเดี๋ยวพาไปเที่ยวบ้างละ ไปกินอาหารอร่อยๆ บ้างละ ทำให้เรายอมไป แต่พอโตขึ้นผมก็กล้าที่จะคุยกับเขาตรงๆ ว่าเราไม่ว่างไป บางทีมีธุระ ติดงาน เพราะว่าในเมืองไทยวันเช็งเม้งไม่ได้ตรงกับวันหยุด แต่ว่าผมก็จะส่งเงินสำหรับซื้อของไหว้ไปให้แทน ถ้าให้นับกันจริงจังก็เกือบ 10 ปี ได้แล้วที่ผมไม่ได้ไปเช็งเม้ง แรกๆ ที่บ้านก็มีน้อยใจ แต่ด้วยภาระหน้าที่ของเรา ประกอบกับมีช่วงที่ผมต้องไปเรียนต่อที่จีน เขาก็เริ่มค่อยๆ ทำความเข้าใจ
“ผมเชื่อว่าช่วงนี้มันเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่าน ระหว่างคนสองวัยที่มีค่านิยมทางความคิดแตกต่างกัน เป็นไปตามความเชื่อ สิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมพวกเขามา แต่ผมก็เชื่อว่ามันจะค่อยๆ คลี่คลาย ถามว่าจะคลี่คลายได้อย่างไร อย่างแรกเลยคือนำเทคโนโลยีมาช่วย อย่างในประเทศจีน นโยบายของรัฐบาลคือการนำเสนอข่าวสารว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยทำให้เราเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่างได้ เช่น การเผากระดาษเงินกระดาษทองออนไลน์ รัฐบาลจีนก็พยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ค่อยๆ ซึมซับและจะกลายเป็นการเปิดใจ ยอมรับไปในที่สุด”
“สุดท้ายถามว่า การไป ‘เช็งเม้ง’ ที่สุสานจะจบที่รุ่นเราไหม ก็ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่ผมเชื่อว่ามันจะไม่เลวร้ายไปถึงขั้นที่ว่าขนบธรรมเนียมความเชื่อเรื่องการกราบไหว้บรรพบุรุษ การแสดงความกตัญญู การรวมญาติ เหล่านี้จะสูญหายไป เพียงแต่มันจะถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคสมัย และเราจะค่อยๆ ค้นพบวิธีอยู่ร่วมกับเทศกาลเช็งเม้งที่เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น จากการฝังศพที่สุสานก็อาจจะแค่เปลี่ยนมาเป็นการเผาและเก็บอัฐิไว้ที่บ้าน เพราะข้อจำกัดทางการเงินและสถานที่ เนื่องจากการฝังศพที่สุสานไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ มันต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสถานที่ ในการสร้างที่ฝังศพ การเผาและเก็บอัฐิไว้ที่บ้านทำให้ลูกหลานไม่ต้องดิ้นรนไปไหว้ที่สุสาน แต่สามารถทำในสิ่งที่ควรทำได้อย่างสบายใจ หรือ การไหว้บรรพบุรุษอาจจะลดทอนเหลือแค่การออกไปทำบุญ ตักบาตร อุทิศส่วนกุศล แต่สุดท้าย จุดหมายปลายทางของการทำสิ่งนี้ก็คือการส่งผลบุญไปถึงคนที่อยู่ในโลกหลังความตายไม่ต่างจากการไปเซ่นไหว้ที่สุสาน
“ส่วนการรวมญาติต้องบอกว่าสภาพสังคมปัจจุบันครอบครัวเปลี่ยนจากการเป็นครอบครัวใหญ่ มาเป็นครอบครัวขนาดเล็ก และครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ถามว่าทุกคนยังต้องการความเป็นครอบครัวอยู่ไหม เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องการ ส่วนตัวผมเองถ้าถามว่าวันหนึ่งผมแก่ตัวลง แล้วต้องการพบกับลูกหลานในวันสำคัญๆ แต่เขาไม่สะดวก ไม่ว่างมาเจอเราด้วยเหตุผลต่างๆ จะเป็นอย่างไร ประเด็นนี้ผมก็มีการคุยกับภรรยาอยู่ตลอด เพราะว่าเรามีหลานที่ค่อนข้างสนิทกันมาก ก็คิดว่าถ้าเขาโตขึ้นเขายังจะสนิทกับเราอยู่ไหม เขาจะยังมีเวลามาคุยกับเรา มากินข้าวกับเราเหมือนเดิมไหม ก็ได้คำตอบว่า มันก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทุกคนย่อมมีทางของตนเอง ตัวเราเองก็เช่นกัน พอโตมาก็มีภาระ หน้าที่ที่ต้องทำ ทำให้ไกลบ้าน เราก็ทำได้เท่าที่ทำ เวลามีโอกาสเจอกันก็ทำให้ดีที่สุด”