‘อวโลกิตะ’ พื้นที่นั่งภาวนาใจกลางกรุง ที่อยากให้คนเมืองมานั่งเงียบ ๆ ด้วยกัน

“เพราะเมืองมันวุ่นวาย จึงต้องมีที่พักใจให้คนทำงาน”

ทุกวันนี้ วิถีชีวิตของคนเมืองเต็มไปด้วยความเร่งรีบ และแข่งขันสูง จนในหนึ่งวันมีเวลาน้อยมากที่จะได้ใช้เวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเอง ทำให้คนเมืองเกิดภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้เมืองจะมีพื้นที่อำนวยความสะดวกมากมายอย่างห้างสรรพสินค้า คาเฟ่ หรือฟิตเนสที่ทันสมัยไว้ให้คนเมืองเข้าไปผ่อนคลายหลังจากทำงานหนักมาทั้งวัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเมืองก็ต้องการพื้นที่สาธารณะที่ปราศจากความวุ่นวาย เพื่อให้ตัวเองได้นั่งพัก เพื่อทบทวน และปล่อยให้จิตใจได้พักผ่อน

ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย บนดาดฟ้าของตึกย่านสีลม มีห้องขนาดเล็กที่ชื่อว่า “อวโลกิตะ” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนดั่งประภาคารแห่งความว่าง ณ ใจกลางเมือง ให้คนมาพักผ่อนทางกายและทางใจหลังเลิกงานได้ทุกวัน โดยพื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้มีจุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อเผยแผ่ศาสนา เนื่องจากที่นี่ไม่แบ่งแยกว่าจะมาจากศาสนาไหน แต่เน้นการมานั่งภาวนาร่วมกัน อยู่กับลมหายใจตัวเอง และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความทุกข์ชั่วขณะ เพื่อเยียวยาตัวเองทั้งทางกายและใจให้พร้อมใช้ชีวิตต่อไปเมื่อวันใหม่มาถึง

ในวันที่เหนื่อยล้า ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน เพื่อน ๆ ก็สามารถ มาเปิดประสบการณ์ใหม่ หรือจะมานั่งพักใจหลังเลิกงานที่นี่ได้ทุกวันก็ได้นะครับ

“อวโลกิตะ” มาจากนามของ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” แปลว่าผู้เพ่งเสียงโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของ “มูลนิธิวัชรปัญญา” ที่ตั้งใจเปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับ “Meditation Space” ใจกลางเมือง ให้คนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดศาสนา สามารถเข้ามาใช้บริการได้ฟรีทุกวัน เพราะมูลนิธิฯ อยากให้ประเทศไทยมีพื้นที่สำหรับนั่งภาวนาใจกลางเมืองที่มีองค์กรเอกชนดูแลเองกันเอง โดยไม่อยู่ภายใต้องค์กรศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

เหตุผลต้องเป็นห้องชั้น 9 บนดาดฟ้า ของอาคารตั้งฮั่วปัก เพราะมูลนิธิฯ เห็นว่าพื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีห้องประชุมเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ และมีดาดฟ้าที่สามารถเดินออกไปชมบรรยากาศยามเย็นของย่านสีลมได้อย่างเพลิดเพลิน จึงเหมาะสำหรับเปิดให้คนเมืองเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงานได้ และที่นี่ก็มีค่าเช่ารายเดือนที่ไม่สูงมากนัก บวกกับเดินทางมาง่าย ทำให้มูลนิธิฯ มองว่า พื้นที่ตรงนี้สามารถเป็นที่พักใจที่ยั่งยืนของคนเมืองได้ ซึ่งนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ อวโลกิตะก็เปิดให้บริการมากว่าปีครึ่งแล้ว

ที่นี่เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ช่วง 17.00 – 21.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่คนเมืองเลิกงานพอดี จึงเหมาะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับมานั่งพักผ่อนก่อนกลับบ้าน ซึ่งที่นี่ไม่มีระบบลงทะเบียน หรือระบบสมาชิกใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกคนสามารถ “วอล์กอิน (Walk in)” เข้ามาได้เลย เพราะ “อวโลกิตะ เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามานั่งภาวนาร่วมกัน โดยภายในห้องจะตกแต่งแบบเรียบง่าย มีแค่เบาะรองนั่งวางไว้เรียงรายเอาไว้ และมีหน้าต่างที่แสงสาดส่องเข้ามา ทำให้ไม่ว่าจะมานั่งภาวนาช่วงเย็น หรือช่วงค่ำก็สามารถสัมผัสพลังงานดี ๆ ภายในพื้นที่แห่งนี้ได้ไม่ยาก จึงมีคนเมืองหลากหลายวัย หลากหลายอาชีพแวะเวียนเข้ามาใช้บริการทุกวัน

อวโลกิตะไม่มีพนักงานประจำ แต่มีอาสาสมัครแวะเวียนกันเข้ามาดูแลทุกวัน

ในช่วงแรก อาสาสมัครกลุ่มนี้คือคนจากมูลนิธิวัชรปัญญา แต่เมื่อที่นี่เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงมีอาสาสมัครที่เป็นคนทั่วไปเข้ามาช่วยดูแลมากขึ้น ซึ่งพวกเขาส่วนใหญ่ก็เป็นพนักงานประจำที่เริ่มจากวอล์กอินเข้ามาแล้วประทับใจในพื้นที่ตรงนี้ จึงอาสามาเป็นผู้ดูแลในภายหลัง

หน้าที่หลัก ๆ ของอาสาสมัคร คือการดูแลผู้ภาวนาทุกคน ซึ่งจะกำหนดเป็นเซสชันละ 40 นาที โดยระหว่างนั่งภาวนา ต้องไม่พูดคุยกันและไม่ส่งเสียงใด ๆ เพื่อให้ตัวเราและเพื่อนรอบข้างเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ปล่อยวางความทุกข์ลงชั่วคราว รับรู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อเกิดความสงบทางใจให้ได้มากที่สุด จนกว่าอาสาสมัครจะส่งสัญญาณว่าหมดเซสชัน แล้วจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ออกพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในช่วงเวลาสั้น ๆ 15 นาที ก่อนจะกลับมานั่งภาวนาใหม่ในเซสชันถัดไป

กระบวนการนี้จะเป็นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงเวลาสามทุ่ม ซึ่งผู้ที่มาครั้งแรก หรือผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องภาวนามาก่อนก็ไม่ต้องกังวล เพราะที่นี่เปิดกว้างมาก โดยไม่กำหนดทั้งการแต่งตัว นั่งตามท่าศาสนาของตัวเองก็ได้ สามารถเข้ามาได้ทุกเวลาที่เปิดทำการ รวมถึงระหว่างทำสมาธิจะลืมตาหรือหลับตาก็ได้ และจะกลับก่อนหมดเซสชันก็ทำได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะมองไม่ดี

“ออม สุวนันท์” พนักงานบริษัทวัย 34 ปี ที่ชอบแวะเวียนไปนั่งภาวนาตามสถานที่ต่าง ๆ เล่าความประทับใจของพื้นที่ตรงนี้ว่าทำให้มีความสงบทั้งกายและใจหลังเลิกงานได้ เพราะบรรยากาศเป็นกันเอง นั่งสบาย และมีอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เหมือนเพื่อนคอยดูแล จนทำให้เธออยากมานั่งพักผ่อนทุกวันถ้ามีโอกาส

“เราเป็นสายภาวนาอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้เวลาไปตามสถานปฏิบัติธรรม หรือตามวัด เราพบว่ามันไม่ได้เอื้อต่อการนั่งสมาธิอีกแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และพิธีก็เยอะแยะ กว่าจะได้นั่งเงียบ ๆ ก็สมาธิหลุดไปแล้ว ส่วนจะเลือกนั่งคนเดียวที่บ้าน มันก็ไม่สะดวก เพราะพื้นที่กับบรรยากาศมันไม่เหมาะให้เรานั่งได้นาน”

“สิ่งที่เราสัมผัสได้ครั้งแรกตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาที่นี่คือความไม่ตัดสิน ทั้งจากตัวพื้นที่เอง และคนที่มานั่งภาวนาข้าง ๆ เรา เพราะมันสบาย ๆ ไม่ใช่การมาทำพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน แต่ทั้งเราและคนอื่น ๆ ต่างก็มาเพราะอยากปล่อยวางความทุกข์กับเรื่องวุ่นวายที่เจอมาทั้งวัน ทำให้เวลานั่งตรงนี้เราได้ปลดปล่อยพลังงานลบออกไปเต็มที่ และก็รับพลังงานบวกจากคนที่นั่งภาวนาข้าง ๆ เราเต็มที่เหมือนกัน ทำให้เรื่องเครียดจากการทำงานลดลงไปบ้าง จนรู้สึกว่าเวลาห้าโมงถึงสามทุ่มที่อยู่ที่อวโลกิตะผ่านไปเร็วมาก”

ส่วนอีกคนหนึ่งที่มาภาวนาที่นี่ประจำคือ “นน – ณัฐนนท์ ปานคง” นักศึกษาจบใหม่ อายุ 26 ปี ที่เล่าว่าตนเองเป็นคนจากจังหวัดภูเก็ตที่เพิ่งเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน ด้วยความที่เป็นคนสนใจเรื่องศาสนาอยู่แล้ว เขาจึงอยากหาพื้นที่สงบ ๆ เพื่อให้เวลากับการเรียนรู้ธรรมหลังเลิกงาน แต่ในเมืองที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ บวกกับมีเวลาไม่มากหลังเลิกงาน ทำให้เขาเลือกมานั่งที่ “อวโลติกะ” เพื่อทำจิตใจให้สงบแทนการไปวัด

“จริง ๆ ผมจะนั่งที่ห้องคนเดียวก็ได้ เพราะผมก็ชอบนั่งสมาธิคนเดียวประจำ แต่รู้สึกว่าถ้านั่งคนเดียว มันก็ได้แค่การอยู่กับตัวเอง แต่ถ้ามานั่งที่นี่เหมือนเราได้เรียนรู้ที่จะสงบนิ่งท่ามกลางคนอื่นด้วย”

เวลาคนในสังคมอยู่ด้วยกัน มักจะมีแต่เสียงเอะอะโวยวาย แต่พวกเรามีโอกาสอยู่ด้วยกันแบบเงียบสงบน้อยมาก ซึ่งที่นี่ช่วยให้ผมเพิ่มทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบได้ เพราะแค่มานั่งหลับตาเฉย ๆ แล้วรับรู้ว่ามีคนอื่นอยู่รอบข้างจากการฟังเสียงลมหายใจของเขา ก็ทำให้ผมไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและสัมผัสได้ถึงพลังงานดี ๆ ที่เขาแบ่งปันมาถึงเราระหว่างนั่งภาวนาได้โดยไม่ต้องหันหน้ามาพูดกันด้วยซ้ำ”

“อาจารย์ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” หนึ่งในอาสาสมัครที่มาดูแลและนำภาวนาของ อวโลกิตะบอกว่าทุกวันนี้มีพื้นที่สาธารณะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปนั่งภาวนาได้ฟรีอยู่บ้าง ซึ่งมักจะเป็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่พื้นที่ของเอกชนที่ดำเนินการกันเอง และเปิดกว้างโดยไม่แบ่งแยกศาสนามีน้อยมากจนน่าตกใจ

“กรุงเทพฯ มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งเต็มไปด้วยคนที่มีศาสนาและความเชื่อแตกต่างกัน พื้นที่ตรงนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อให้คนธรรมดา ดูแลคนธรรมดาด้วยกัน เพราะมีแต่คนเมืองเท่านั้นที่เข้าใจปัญหาของคนเมืองด้วยกัน

“จริงอยู่ที่ ‘อวโลกิตะ’ มาจากพุทธศาสนา แต่ที่มูลนิธิวัชรปัญญาเลือกใช้นามของพระองค์ เพราะเป็นนามของ ‘พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์’ ที่เป็นตัวแทนของความกรุณาและความเมตตาต่อกัน ก็เลยเลือกชื่อนี้ เนื่องจากเราอยากสื่อสารออกไปว่าที่นี่หัวใจสำคัญคือการนั่งภาวนาเท่านั้น

“การนั่งภาวนาที่นี่ ไม่ใช่ชวนคนมาบรรลุธรรม แล้วกลับออกไปเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิมได้ทันที แต่มันคือการมีเวลานิ่ง ๆ อยู่กับตัวเอง เพื่อรู้จักทั้งอารมณ์ด้านดีและด้านลบหรือตัวตนที่ลึกกว่านั้น ผมคิดว่าพื้นที่ตรงนี้ให้พลังงานแบบนั้นได้ ทำให้มีทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่อยากหนีจากความวุ่นวายในเมืองหรืออยากหลุดจากขนบประเพณีเดิม ๆ แวะเวียนเข้ามานั่งพักที่นี่ไม่ขาดสาย

“อย่างผมที่มาเป็นอาสาสมัคร ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจิตใจผ่องใสแบบร้อยเปอร์เซ็นต์จนอยู่เหนือกว่าคนอื่นได้ เพราะเวลาอยู่ข้างนอกผมก็ยังมีความหงุดหงิด และพร้อมจะด่าว่าคนอื่นได้ทุกเมื่อ แต่พอมาอยู่ในพื้นที่ภาวนาผมก็ไม่ได้เสแสร้งว่าเป็นอีกคนแต่อย่างใด เพียงแค่รู้ตัวว่าเรามาอยู่ในพื้นที่สงบ เพราะฉะนั้นจิตใจเราก็ควรอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งมันต้องอาศัยบรรยากาศรอบข้างช่วยด้วย ถ้าเราอยู่แต่กับบรรยากาศที่วุ่นวาย เราคงไม่มีโอกาสเรียนรู้อารมณ์ตัวเองในทุก ๆ มุมเหมือนกับที่นี่

“ผมไม่ได้หวังว่าที่นี่ทำให้ความทุกข์ของทุกคนหายไปได้ แต่อย่างน้อยก็อาจทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง และเลิกตัดสินตัวเองกับคนอื่น เพราะท่ามกลางเมืองใหญ่แห่งนี้ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวที่มีความทุกข์แน่นอน

สถานที่: อวโลกิตะ (Avalokita)

เวลาเปิดให้บริการ : จันทร์-อาทิตย์ (รวมวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 17.00 – 21.00 น.

ที่ตั้ง : อาคารตั้งฮั่วปัก ชั้น 9 ซ.สาทร 10 (สถานี BTS เซนต์หลุยส์)

Credits

Authors

  • นิติภัค วรนิติโกศล

    Authorปรกติไม่ชอบความวุ่นวาย เวลาว่างชอบอ่านหนังสือกับเล่นเกม ความฝันสูงสุดของชีวิตคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ