เช็คลิสต์สำรวจพ่อแม่ในวันที่แก่ลงว่ายังมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่หรือไม่?

คุณรู้ไหมว่าในช่วงเวลา 10 ปีสุดท้ายของชีวิตมีผู้สูงอายุถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีคุณภาพชีวิตไม่ดี! 

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ชวนสำรวจผู้สูงอายุในครอบครัวตามตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต โดยวัดจากความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (Barthel Activities of Daily Living : ADL)กับความสามารถในการทำกิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้น (Instrumental Activities of Daily Living : IADL)ว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรายังมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่?

“การนิยามคุณภาพชีวิตในทางการแพทย์ เรามีตัวชี้วัดอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือช่วงวัยใกล้ตายจริงๆ เราจะนิยามด้วยตัวชี้วัดที่เรียกว่า กิจวัตรจำเป็น 5 อย่าง ที่จำเป็นต้องทำให้ได้ เพื่อแสดงออกว่าคุณยังช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งถ้าทำไม่ได้คุณคือคนเดี้ยงที่แท้จริง มี 5 ข้อได้แก่ ดูแลความสะอาดพื้นฐานของตัวเองได้ เช่น คุณต้องยังสามารถอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม ซึ่งเป็นกิจวัตรขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต ถ้าคุณยังทำได้คุณภาพชีวิตก็ยังดีอยู่

“ต้องแต่งตัวเองได้ เลือกเสื้อผ้าเองได้อย่างเหมาะสม นั่นหมายความว่าคุณยังเป็นคนแก่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เดี้ยง

“ยังกินอาหารด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแล อย่างเรื่องการกินให้ได้เป็นกิจวัตรเป็นเรื่องจำเป็น บางคนกินได้แต่ให้คนอื่นป้อนก็ผิดนะ ความเข้าใจผิดอาจจะเกิดจากผู้ดูแลซึ่งอาจจะเป็นบุตรหลาน ป้อนพ่อแม่ด้วยความกตัญญูแต่ไปทำให้คุณภาพชีวิตท่านเสีย ทำให้ท่านเปลี่ยนจากคนที่กินได้มาเป็นกินไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น แค่กินได้ก็ถือว่าคุณเป็นคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

“สามารถเข้าห้องน้ำด้วยตัวเองได้ ขับถ่ายเองได้เป็นปกติ นั่นคือคุณยังเป็นคนไม่เดี้ยง

“ยังเคลื่อนไหวหรือเดินเหินได้

“สำหรับกิจวัตรจำเป็น 5 ข้อนี้ ถ้าคุณทำอันใดอันหนึ่งไม่ได้นี่คุณเดี้ยงแล้วนะ นั่นหมายความว่า คุณจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และคุณก็จะเป็นผู้สูงอายุที่คุณภาพชีวิตไม่ดีตามนิยามทางการแพทย์

“ส่วนที่ 2 กิจวัตรสำคัญ IADL (Instrumental Activity Daily Living) คือกิจวัตรประจำวันที่มีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 7 ข้อ ได้แก่ ต้องความทนเหงาได้ คือคุณต้องอยู่คนเดียวได้ ถ้าอยู่คนเดียวแล้วเป็นโรคซึมเศร้า ไม่มีความสุข น้อยใจที่ลูกหลานไม่มาหา ต้องมีคนมาอยู่ด้วย มาให้การพยุงทางใจจึงจะอยู่รอด ซึ่งถ้าไม่สามารถทนเหงาได้ก็เท่ากับมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี

“สามารถขนส่งตัวเองได้ ขนส่งตัวเองได้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องขับรถเองได้ แต่หมายความว่าถ้าคุณขับรถไม่เป็นคุณสามารถหาวิธีการเดินทางไปถึงจุดหมายได้ เช่น ขึ้นรถสาธารณะด้วยตนเองได้ ถ้าคุณทำไม่ได้คุณภาพชีวิตคุณเสียไปแล้ว

“ยังเป็นสายช็อปได้ คุณต้องไปจ่ายตลาดเองได้ซื้อข้าวซื้อของเองได้ ข้อนี้ถือเป็นคุณภาพชีวิต คุณจ่ายตลาดเองไม่ได้ ซื้อของเองไม่ได้ ก็ต้องพึ่งพาคนอื่นหมายความว่าคุณภาพชีวิตคุณก็จะเสีย

“ต้องยังมีความสามารถทำอาหารเอง ถ้าคุณทำเองไม่ได้ก็มีสิทธิ์ที่จะกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาหารขยะมากขึ้น คุณต้องไปพึ่งปากซอย คุณภาพชีวิตคุณเสียไป

“สามารถจัดการกินยาของตัวเองได้ คุณจะต้องดูแลยาของตัวเองได้ ยาที่หมอให้มีกี่ตัว ยาตัวนี้กินเพื่ออะไร กินอย่างไร ขนาดเท่าไร กินวันละกี่ครั้ง ถ้ามันมากไปคุณจะมีอาการอย่างไร คุณต้องดูแลตัวเอง ถ้าคุณดูแลตัวเองในส่วนนี้ไม่ได้คุณภาพชีวิตคุณเสีย

“ยังบริหารเงินของตัวเอง คุณจะต้องสามารถจัดการเรื่องการเงินของคุณได้ บัญชีคุณมีกี่บัญชี มีบัตรเครดิตกี่ใบ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ประปา ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน และลงทุนทางการเงินได้เองโดยไม่โดนใครหลอก ถ้าคุณไม่สามารถดูแลบัญชีการเงินของตัวเองคุณภาพชีวิตของคุณก็เสีย

“ความสามารถจัดการที่อยู่ของตัวเอง คุณจะต้องดูแลที่อยู่ของตัวเองได้ คุณตื่นมาแล้วคุณสามารถเอาผ้าห่มมาปัด สามารถกวาดห้องนอนของคุณเองได้ ซักผ้า กวาดพื้น ถูพื้น ดูดฝุ่น เอาขยะไปเท เอาสัมภารกไปทิ้ง นั่นหมายความว่าคุณยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่

“คนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต้องเตรียมตัวมานานแค่ไหน ก็ต้องเตรียมตัวมาตั้งแต่ก่อนที่ 7 อย่างนี้จะเกิดขึ้น มีงานวิจัยของประเทศแคนาดาพบว่า 10 ปีสุดท้ายของชีวิต ครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุจะมีชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็น ทำอย่างไรจะให้ชีวิตในวัยเกษียณของคุณมีคุณภาพ มันไม่ได้มาจากการทำประกันหรือการมีเงินเกษียณหลักล้าน แต่มันจะได้มาจากการที่คุณลงแรงดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตที่ถูกต้อง การกินที่ดีการออกกำลังกาย การจัดการความเครียดที่ดี”

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ