สำรวจความฝันกับ 64 ฤดูชีวิตของมาโนช พุฒตาล นักเล่าเรื่องที่มีดนตรีเป็นสื่อนำ

‘ฮะซัน’ หรือ ‘ซัน’ มาโนช พุฒตาล เขาเป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุยุคแรกๆ ที่นำเพลงสากลเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย เป็นคนทำนิตยสาร เป็นนักเขียน พิธีกรรายการโทรทัศน์ นักดนตรี นักแต่งเพลง แต่ไม่ว่าจะเป็น “นัก” อะไร เขาบอกว่า สิ่งที่เขาทำล้วนมาจากพื้นฐานของการเป็น “นักเล่าเรื่อง”

มนุษย์ต่างวัย ชวน ‘พี่ซัน’ มา “เล่าเรื่องราว” ในชีวิตของเขา ตั้งแต่วัยรุ่นจนเดินทางมาถึงฤดูกาลที่ 64 ของชีวิต ชีวิตและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัย ช่วงใดเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้เขากลายเป็น “มาโนช พุฒตาล” นักเล่าเรื่องที่หลายเจนฯ หลงใหล เขามีความคิด ความเชื่อเรื่องความฝันอย่างไร ช่วงเวลาใดที่คือจุดเปลี่ยนชีวิตสำหรับเขา มาฟังเรื่องเล่าจากนักเล่าเรื่องคนนี้ไปพร้อมๆ กัน

การเติบโตของ มาโนช พุฒตาล

ตอนเป็นวัยรุ่นโลกหมุนรอบตัวเอง 64 ปี โลกหนุมรอบคนอื่น

มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราเติบโตมาจนถึงวัยนี้ได้ ไม่ใช่อยู่ๆ เผลอแป๊บเดียวอายุ 64 ปีแล้ว มันยากมาก มันค่อยๆ วิวัฒนาการ ย้อนหลังไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วเราปราดเปรียวมากกว่านี้เยอะ ทำอะไรไปแบบไม่คิด ไม่รอบครอบในการใช้ชีวิต

ยกตัวอย่างตอนผมอายุ 24 ปี ผมเริ่มเข้าสู่วงการทีวีครั้งแรก ผมอยากทำรายการทีวี ‘เที่ยงวันอาทิตย์’ เป็นรายการที่นำเอามิวสิกวีดีโอเพลงมาฉาย ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเราอยากทำ แล้วเมื่อก่อนค่าเช่าเวลาช่องมันถูก พี่ชายเรารวยเขาซื้อให้เราได้ เพราะเขาอยากดูแลน้องอยู่แล้ว เขาก็ซื้อให้เราอยากทำอะไรก็ปล่อยให้เราทำตามใจ ซึ่งตอนนั้นเราไม่ได้นึกถึงเลยว่าทำแล้วจะขายได้ยังไง ทำแล้วจะมีสปอนเซอร์ไหม ทำแล้วจะรอดหรือจะล่วง ทำไปทำมา 2-3 ปี จนเข้าปีที่ 4 พี่ชายผม (ดำรงค์ พุฒตาล) บอกว่า ถ้าเอาเงินที่จ่ายค่าเวลาให้เราไปซื้อบ้านได้สองหลังแล้วนะ แต่ตอนนั้นผมยังคิดแค่ว่า ผมกำลังมีความสุข กำลังสนุกที่ได้ทำ

ตอนอายุยังน้อยเวลาคิดอะไรผมจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอาความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลักกับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องดนตรี การงาน กับคนรอบข้าง เมื่ออายุมากขึ้นเราได้สะสมประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มใช้ชีวิตแตกต่างจากเมื่อก่อน คือทำอะไรแต่ละอย่างจะไตร่ตรองให้เยอะขึ้น สงวนท่าทีตัวเองให้นิ่งเข้าไว้ จะได้ไม่เจ็บตัวเยอะ

ผมมองว่าแต่ละช่วงวัยที่ผ่านมาจะมีสิ่งที่ทำให้ประทับใจในช่วงวัยนั้นไม่เหมือนกัน ตอนเด็กๆ ผมชอบอยู่บ้าน ชอบฤดูกาลที่บ้าน ชอบฤดูน้ำหลาก ชอบพายเรือ ชอบวิถีของปู่ย่าตายาย ใช้ชีวิตอยู่กับเรือ อยู่กับแม่น้ำ พอช่วงวัยรุ่น มัธยมต้นก็ชอบวิถีแบบเพื่อนชวนหนีโรงเรียน ไปเที่ยวบึงพระราม ผมเรียนโรงเรียนชายล้วน ก็ห้าวกันไปตามประสา ก็สนุกไปในแบบของวัยนั้น ชวนกันขี้จักรยานทางไกล และกิจกรรมผจญภัยอื่นๆ อีกมากมาย พอโตขึ้นอีกนิดไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของทุน AFS ไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ชีวิตก็เปลี่ยนไป จากชีวิตครอบครัวชาวมุสลิมต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวของชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาไม่ต่างกันเลย ตอนอยู่ที่อยุธยากับพ่อแม่ก็เคร่งอิสลามมาอยู่นี่ก็เคร่งแบบลูเธอร์รัน ตอนอยู่โรงเรียนที่อยุธยาผมยาวไม่ได้เลย ตั้งใจว่าพอไปอยู่อเมริกาจะไว้ผมยาว แต่ครอบครัวคริสต์บอกไว้ผมยาวห้ามเข้าบ้านผมก็ต้องตัดผมสั้นเหมือนเดิม ตอนนั้นก็รู้สึกหงุดหงิดแต่มาวันนี้ก็ถามตัวเองว่าถ้าเราต่อต้านเขา ขอย้ายครอบครัวซึ่งสามารถทำได้ ถามว่าคุ้มไหมการที่เราจะทำให้เกิดความยุ่งยากขึ้น

ผมประทับใจกับการได้อยู่กับครอบครัวที่เขาเคร่งศาสนาของเขา มันทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ได้เข้าโบสถ์ ได้ถือไบเบิล ร้องเพลงไปกับเขา ถามว่าถ้าผมไม่อยู่ครอบครัวเคร่งศาสนานี้ผมอาจจะไปอยู่กับครอบครัวที่ไว้ผมยาวได้แต่อาจจะอดๆ ยากๆ เพราะบ้านเขาอาจจะไม่สะอาดเราก็ไม่รู้ อาจจะชวนเราสูบกัญชาอะไรก็ได้ ผมก็เลยคิดว่าแต่ละช่วงเวลาแต่ละการตัดสินใจมันก็มันก็มีผลลัพธ์ของมันอยู่เสมอ มันเป็นความทรงจำที่พิเศษมากอยู่ที่ว่าเราจะจดจำช่วงเวลานั้นยังไง ถ้าเราจดจำในทางที่ดีมันก็จะสนุก แต่ถ้าจดจำในทางตรงกันข้ามก็มองว่าจะทำให้เราไม่มีความสุข

 นักเล่าเรื่องที่มีดนตรีเป็นสื่อนำ

ช่วงที่ผมสนใจดนตรีคือช่วง พ.ศ. 2510 เป็นช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม ทำให้วัฒนธรรมอเมริกันผ่านเข้ามาพร้อมกับทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ตามโคราช ตามแนวอีสานบ้านเรา แล้ววัฒนธรรมเหล่านั้นก็ส่งผ่านมาตามรายการวิทยุ วิทยุเริ่มมีรายการเพลงสากล ผมซักผ้าไปก็ฟังรายการวิทยุไป คนรอบๆ ตัวหรือแม้แต่บ้านใกล้เรือนเคียงก็มักจะนำเพลงสากลมาร้อง มาเล่นดนตรี เวลามีรำวง มีงานวัด งานปีใหม่ วงดนตรีข้างบ้านผมเขาก็จะซ้อมดนตรีกัน เล่นเพลงสากล เสียงนี่ดังกระหึ่มเลย เขาเล่นเพลงสากลแบบที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ เนื่องด้วยเป็นคนต่างจังหวัด เนื้อเพลงเขาก็จะมั่วๆ เอา

ด้วยสภาพแวดล้อมรอบตัวผมซึมซับดนตรีมาเต็มๆ เลยนะ ซึ่งดูเหมือนว่าผมจะชอบทางนี้มาก แต่เอาเข้าจริงๆ ก็รู้สึกว่ามันเป็นไปได้ยากมาก เพราะว่าการจะเป็นนักดนตรีมันมีอุปสรรคอยู่เยอะ ต้องมีเครื่องมือซึ่งราคาสูง ต้องมีความรู้ อาจจะต้องเรียนดนตรี ซึ่งอันนี้อาจจะยากหน่อยสำหรับตอนนั้น เพราะพ่อแม่คงไม่ยอมส่งเรียนดนตรีแน่ๆ แต่ผมก็ไปสมัครเรียนเองนะ เรียนแบบเป็นรายชั่วโมง

นอกจากมีเวลาเรียนดนตรี ผมคิดว่าเรื่องพรสวรรค์ก็เป็นเรื่องสำคัญในการเล่นดนตรี เหมือนเปรียบเทียบผมกับเพื่อน เรียนพร้อมกันแต่ทำไมเพื่อนไปได้เร็วกว่า ทั้งที่เราฝึกใช้เวลาเท่ากับเพื่อนเลยนะ แต่ตอนที่มีการจัดแสดงดนตรีแถวบ้านเพื่อนที่เก่งดนตรีกว่าได้รับความสนใจน้อยกว่าผม เพราะเขาเล่าเรื่องไม่เป็น แต่ผมสื่อสารเก่ง รู้ว่าตัวเองชอบดนตรีอาจจะเล่นไม่เก่งมากก็หาวิธีอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่โชว์เทคนิค พอรู้ว่าตัวเองมีพรสวรรค์เรื่องการสื่อสารก็เล่าเรื่องผ่านดนตรี เริ่มมีความถนัดจนความคิดที่ว่ากว่าจะเป็นนักดนตรีได้ค่อยๆ คลี่คลาย สุดท้ายผมตัดสินใจสอบเข้ามหาวิยาลัยจุฬาลงกรณ์ คณะนิเทศศาสตร์ เพราะว่าผมอยากเป็นนักเล่าเรื่องด้วยสื่อต่างๆ

สำรวจความฝัน

วัยที่กำลังโลดแล่นอยู่กับงานดนตรีผมเคยฝันไปถึงการเป็นนักดนตรีระดับโลกแต่ก็พบกับความจริงที่ว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดเล่นกับเพื่อนในวงไทยบางครั้งเรายังตามเพื่อนไม่ทันเลย ตอนเรียนมหาวิทยาลัยช่วงปี 1-3 ผมวงดนตรีทำกับกลุ่มเพื่อนเป็นวงสมัครเล่น ตอนนั้นเริ่มรู้จักวงรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างวง หิน เหล็ก ไฟ ในปัจจุบัน แต่มองแล้วรู้สึกว่าเราห่างไกลกับเขามากเลย พอรู้ว่าเราไม่สามารถเป็นแบบนั้นได้ก็ถอยเลยนะ แล้วมาทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่า ผมรู้ว่าเราต้องไปสายพูดแต่พูดด้วยดนตรี ทำงานรายการทีวีผมก็ขอใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านดนตรี อย่างรายการสามัญชนคนไทยเวลาจะสรุปเนื้อหาผมก็ขอเล่นกีตาร์ไปด้วย

คนเราเมื่อเกิดมาแล้วมักจะพยายามคิดว่าตัวเองจะมีความฝันอะไร แต่ผมคิดว่าของแบบนี้มันควรจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พอมันเกิดขึ้นแล้วก็ทำมัน แต่ระหว่างทีทำมันก็ต้องพิจารณาด้วยว่าทำแล้วสนุกด้วยหรือเปล่า มีความสุขไหม ทำแล้วออกมาดีไหม เพราะถ้าทำแล้วมันออกมาไม่ดีสิ่งที่เราทำก็ไม่มีใครสนใจหรอก ผมจึงปล่อยให้ความฝันมันเกิดขึ้นเอง เกิดแล้วทำ ทำแล้วตรวจสอบว่าตัวเองทำได้แค่ไหน ถนัดกับมันไหม

 จุดเปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปในช่วงชีวิตของพี่ซัน ตั้งแต่เกิดจนอายุ 20 ต้นๆ เขาเป็นคนที่ไม่คิดจะดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีความหวาดกลัวว่าจะส่งผลไม่มีต่อสมองและสุขภาพ แต่พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผสมกับความเป็นวัยรุ่นที่มีเพื่อนพ้องมากมาย มีสังคมที่คุยถูกคอ การเฉลิมฉลองในวาระต่างๆ ค่อยๆ แทรกซึมจนกลายเป็นชีวิตประจำวันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พี่ซันเล่าว่าช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตแบบหนักๆ ของเขามากว่า 30 ปี

ถ้าสมมุติไปนั่งกินกับเพื่อนแถวอนุสาวรีย์ชัย ก็พูดเลยว่ากินจนพระบิณฑบาต จนเจ้าของร้านปิดร้านแล้วบอกว่าตู้เครื่องดื่มไม่ได้ล็อกเปิดกันเองนะแล้วจ่ายตังค์ด้วยละกัน

เรากินทุกวันไม่มีกำหนด ต่อมาเมื่อทำงานทีวี เราเลิกงานดึกประมาณ ตี 3-4 ระหว่างที่นั่งตัดต่อก็จะมีพวกซาตานทั้งหลายมารวมตัวกันในห้องตัดต่อ รอเวลาเลิกงานแล้วหาที่ไปต่อกันไม่ยอมกลับบ้านไปนอน ใช้ชีวิตแบบนี้มาจนปี 2558 อายุ 58 ผมหัวใจวาย

เมื่อชีวิตอยู่ใกล้ความตาย

เหมือนกับร่างกายมันสะสมความเสื่อมโทรมมาตลอดโดยที่เราไม่รู้ตัว เส้นเลือดมันตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องมาจากอดนอน ดื่มแอลกอฮอร์ สูบบุหรี่ กินอาหารไม่ระมัดระวัง ผสมกับความเครียดด้วย ผมเป็นคนที่มีความเครียดง่าย อย่างเช่น ขับรถอยู่เห็นป้ายนักการเมืองมาตั้งอยู่บนเกาะกลางถนน ต้นไม้ที่เขาทำไว้สวยๆ ถูกป้ายนั้นบังหมด ทำแบบนี้ได้ยังไง ผมโมโหทันทีเลยเป็นแบบนี้บ่อยมากกับทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องของเราหรือของคนอื่น มันสะสมในตัวเรื่อยๆ โดยเราไม่รู้ตัว จนไปให้หมอหมอตรวจคลื่นหัวใจ หมอบอกว่าหัวใจคุณมีปัญหานะ แต่เชื่อไหมผมไม่เชื่อหมอ เพราะมีความวิตกว่าหมอจะหลอกเพื่อที่จะให้เราเข้ารับการรักษาแล้วเรียกเก็บตังค์เราแพงๆ ตอนนั้นผมมีความเชื่อแบบนั้น จนวันหนึ่งผมไปเป็นวิทยากรให้กับคณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ อยู่ๆ ก็มีอาการแน่นหน้าอกตอนเดินอยู่ริมถนนจนต้องนั่งพัก รู้สึกเหมือนจะตายเลย อยู่ๆ พอรู้สึกดีขึ้นก็ขับรถกลับบ้าน แล้วมาเป็นที่บ้านอีกภรรยาก็ขับรถพาไปส่งโรงพยาบาล หมอบอกคุณเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบต้องทำบอลลูนเดี๋ยวนี้ ผมก็ไม่เชื่ออีกเพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชนผมยังกังวลอยู่ว่าเขาจะหลอกเอาตังค์ ตอนนั้นผมบอกว่าถ้าจะให้ผมทำต้องพาผมไปโรงพยาบาลรามาฯ หมอต้องเอาผมขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉิน หมอต้องถือเครื่องปั๊มหัวใจ โชคดีของความไม่เชื่อเพราะมันทำให้ผมไม่กลัวความตายเลย ระหว่างที่ถูกส่งตัวมาโรงพยาบาลรามาฯ อาการทุกอย่างมันบอกแล้วว่าเราจะตายภายใน 90 นาที วันนั้นหมอบอกว่าถ้ารถติดคุณตายนะ สุดท้ายพอมาถึงโรงพยาบาลเข้าห้องฉุกเฉิน หมอฉายภาพให้ดูก็เห็นว่าเลือดมันไม่มาเลี้ยงหัวใจผมเลย หัวใจของผมตายไปแล้วบางส่วนเพราะเลือดไม่ไปเลี้ยง มีหัวใจที่ทำงานอยู่ 75 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบที่เคยทำมาตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ผมเปลี่ยนชีวิตตัวเองฉับพลันเลย 4 ทุ่มผมบอกกับตัวเองว่าต้องพักผ่อนได้แล้วนะ แล้วมานั่งถามตัวเองว่าเมื่อก่อนเราทนอยู่ได้ยังไง เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้สนุก มันเหนื่อยมากนะ มันแสบคอ มันง่วง ไม่รู้จะฝืนตัวเองทำไม มาถึงตอนนี้ผมไม่ยอมฝืนตัวเองแบบนั้นอีกเลย ผมกลับมากินอาหารอย่างระมัดระวัง กินผักผลไม้ ออกกำลังกาย

พอดูแลสุขภาพชีวิตก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผมว่าผมแข็งแรงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ฤดูกาลชีวิตของมาโนช พุฒตาล ในวัย 64 ปี

กับการทำงานร่วมกับคนต่างเจนฯ

ปัจจุบันผมทำงานคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ ทำรายการทีวีกับคนอายุ 20 ต้นๆ 20 ปลายๆ ทั้งนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ผมมองว่ายิ่งมีประโยชน์กับผมอย่างยิ่ง พอขึ้นรถทีมงาน ผมจะถามพวกเขาเลยว่าตอนนี้เพลงอะไรกำลังดัง พวกเขาก็จะป้อนข้อมูลให้ผม ส่วนผมก็แลกเปลี่ยนกับเขาเล่าประวัติเพลงยุคก่อนๆ ให้เขาฟัง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่เรื่อยๆ เพราะผมไม่ได้วางตัวที่ทำให้เขารู้สึกไม่อยากเข้าใกล้ ไม่กล้าพูดคุย ผมไม่ได้วางตัวให้นิ่ง พอเราไม่นิ่งเขาก็มองว่าไม่ใช่รุ่นใหญ่แต่เขากำลังคุยกับคนรุ่นเดียวกันเพียงแต่ผมหงอกกับผมดำแค่นั้นเอง

ถึงแม้เราจะมีวิธีคิดที่แตกต่างกันแต่เราไม่มีช่องว่างระหว่างวัย ผมคิดว่าคนแต่ละรุ่นแต่ละยุคสมัยจะมีแนวคิดที่ต่างกัน แต่ไม่ว่ารุ่นไหนก็ต้องมีมาตรฐานที่เหมือนกันคือ เรื่องปัจจัยสี่ สิ่งแวดล้อม ศรัทธา เพราะเรื่องนี้มันเปลี่ยนกันไม่ได้ บางทีผมก็คิดว่าเหมือนเห็นตัวเองตอนเด็กๆ เขาอาจจะคิดไม่เหมือนกับเราในวัยแบบนี้ แต่เราก็มองว่ามีเราก็เคยเป็น

ความฝันที่ยังหลงเหลือของ มาโนช พุฒตาล

มีคนคนหนึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังชื่อ ‘คุณสันติ’ แกขับรถไปเที่ยวสิบสองปันนากับผม ตอนนั้นแกก็ถามผมอายุ เท่าไรแล้วละ ผมตอบไปว่า 60 แล้วพี่ พี่สันติก็บอกว่าอย่าเผลอแล้วกันเดี๋ยวมันจะ 70 โดยไม่รู้ตัว เพราะพี่ผ่านมาแล้ว เมื่อวานยังอายุ 60 อยู่เลยวันนี้ 70 แล้ว มีคนเตือนหลายคนว่ายิ่งอายุเยอะเวลามันจะเดินเร็วมาก ผมก็เลยไม่จิตรนาการอะไร ไม่พยายามนึกภาพตัวเองตอนแก่ตัวไปกว่านี้ จิตนาการแค่ว่าจะอยู่ถึงหรือเปล่า จะตายก่อนไหม ผมชอบขับรถเที่ยว ก็ได้แต่หวังว่าสายตา ร่างกายยังคงขับรถเที่ยวได้ เข่าอย่าเพิ่งเป็นอะไรไปนะ ผมอยากไปเดินบนเขาเสมอปูนที่เขาใหญ่ ยังไงขอให้ได้ไปเดินเขาสมอปูนก่อน

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ