ลาวัลย์ ลายสุวรรณ อายุ 71 ปี อดีตครูภาษาไทย

ลาวัลย์ สายสุวรรณ อายุ 71 ปี อดีตครูภาษาไทย

เราเริ่มเป็นครูสอนภาษาไทยเมื่ออายุ 24 ปี สอนเรื่อยมาจนถึงเกษียณอายุราชการ ถ้าจะเอาเป็นตัวเลขชัดๆ ก็ตั้งแต่ปี 2515-2551 รวมเวลาทั้งหมดก็   36 ปี

ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบแต่งโคลง แต่งกลอน เห็นความสวยงามของภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก จึงมีความตั้งใจว่าเมื่อโตขึ้นอยากจะเป็นครูภาษาไทย สำหรับเราภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงาม สื่อความได้ลึกซึ้ง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

แล้วถ้าจะว่ากันภาษาไทยถือเป็นภาษาที่จริงๆ แล้วเรียนยากนะ

ถ้าลองสลับกันให้เราไปเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาอังกฤษ ยังง่ายกว่าการที่คนอังกฤษมาเรียนภาษาบ้านเรา เอาแค่เรื่องวรรณยุกต์ ก็งานยากแล้ว ยกตัวอย่างคำว่า ‘มา’ แค่เติมไม้โทตัวเดียวเป็น ‘ม้า’ ก็เปลี่ยนไปคนละความหมายแล้ว ไม่ต้องนับว่ามีทั้งม้าแกลบ ม้าพยศ ม้าดีดกะโหลก หรือม้านั่งที่ความหมายแตกต่างกันออกไปอีก เอาแค่นี้ฝรั่งหลายคนก็มึนแล้ว

คนต่างประเทศเขียนและใช้ภาษาไทยผิดๆ เรายังพอเข้าใจได้นะ แต่คนไทยเองเขียนภาษาตัวเองผิดนี่ต่างหากที่น่าเป็นห่วง

ปัจจุบันคนไทยเขียนและใช้ภาษาไทยผิดกันเยอะมาก เอาแค่คำว่า ‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ เขายังไม่รู้เลยว่าต้องใช้อย่างไร เรารู้สึกว่าเด็กสมัยนี้สนใจภาษาไทยน้อยเกินไป สังเกตว่าเด็กในยุคนี้จะเก่งภาษาอังกฤษกันมาก บางคนพ่อแม่ส่งเรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดนะ โลกยุคปัจจุบันเราควรที่จะต้องสื่อสารภาษาต่างชาติได้ นั่นคือสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องแข็งแรงในภาษาของเราเองด้วย มันคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ ถ้าเราสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ แต่ดันไม่เข้าใจภาษาตัวเอง นอกจากใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องแล้ว เรายังพบว่าคนในยุคใหม่ยังไม่ค่อยยอมรับความผิดและว่ากล่าวตักเตือนได้ยากมาก สมัยก่อนผู้ปกครองเด็กเขียนจดหมายมาที่โรงเรียนแล้วสะกดคำผิด เราฝากลูกเขาไปบอก เขายังรับฟัง ฝากลูกมาขอบคุณเรา เพราะเขารู้ว่าเราหวังดี แต่เด็กสมัยนี้กลับบอกว่าเขาจะสะกดอย่างไรก็ได้ขอให้อ่านออกก็แล้วกัน เราเคยเห็นในเฟซบุ๊กนะบางคนด่าผู้ใหญ่กลับมาด้วยซ้ำว่าเป็นพวกเต่าล้านปี

“เราเข้าใจว่าเด็กในยุคใหม่ เขาเป็นตัวของตัวเอง แต่ว่าก็ควรแนบความนอบน้อมถ่อมตนด้วยไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ติติงอะไรไม่ได้ กลายเป็นว่าจากเรื่องไม้เอกแค่ตัวเดียว กลายเป็นความบาดหมางใหญ่โต”

การใช้ภาษาเขียนภาษาผิดๆ นอกจากจะบ่งบอกถึงความไม่ละเมียดละไมของผู้สื่อสาร รวมทั้งส่งความรู้สึกที่ไม่ดีไปถึงผู้รับสารแล้ว มันยังบ่งบอกไปถึงการศึกษาของประเทศด้วย

ในช่วงยุคหลังๆ มานี้ เป็นยุคที่เราผลิตครูกันมากมายมหาศาล แต่ถามว่าในเชิงคุณภาพแล้วยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่เยอะมากนะ โดยเฉพาะครูวิชาภาษาไทย สมัยก่อนคนจะเรียนครูได้ ต้องสอบ ต้องชิงทุน เรียกว่าไม่ง่ายเลยที่จะได้เป็นครู แต่ในยุคหลังๆ บางคนไปไหนไม่รอดก็เรียนครู แล้วครูที่คนคิดว่าเป็นง่ายที่สุดก็คือครูภาษาไทยเพราะคิดว่ามันเป็นภาษาของเรา เมื่อแม่พิมพ์มันบิดเบี้ยว ก็ไม่แปลกที่ผลผลิตจะบิดเบี้ยวตามไปด้วย ครูบางคนในยุคนี้แค่เขียนคำว่า ‘สมบัติ’ สระอิยังไม่มีเลย แล้วอย่างนี้สมบัติของชาติจะเหลืออะไร

การใช้ภาษามันเป็นการแสดงถึงภูมิรู้ของคนคนนั้นนะ ไม่ต้องพูดถึงการนำไปใช้ในแบบสากลหรือเป็นทางการอย่างการเขียนจดหมายสมัครงานหรือเอกสารสำคัญหรอกเอาแค่คุณไปวิพากษ์วิจารณ์ใครในโลกโซเชียลแล้วเขาตอกคุณกลับมาว่าไปเขียนภาษาไทยมาให้ถูกก่อน แค่นี้คุณก็หน้าหงายแล้ว

เราจะมีสิทธิไปวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินใครได้ ในเมื่อภาษาที่เป็นเจ้าของและอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด เรายังใช้ให้ถูกต้องไม่ได้เลย

ลาวัลย์ ลายสุวรรณ อดีตแม่พิมพ์ของชาติวัย 71 ปี

ผู้สอนวิชาภาษาไทยมาเกินกว่าครึ่งชีวิต 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ