ตำนานร้านขนมปังโฮมเมดแห่งเชียงใหม่ ที่เปิดมาแล้วกว่า 50 ปี ตั้งแต่สมัยก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งร้านในความทรงจำของคนเชียงใหม่ตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีบรรยากาศของร้านยังคงเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
มนุษย์ต่างวัย อาสาพาไปรู้จักกับ “ยายกี-วิไล อุดมผล” ทายาทรุ่นสองวัย 86 ปี และ “ป้ามะลิวัลย์” แห่งเกษมสโตร์ ทายาทรุ่นที่ 3 วัย 74 ปี กับเรื่องราวการเดินทางของเกษมสโตร์ตลอด 50 ปี ที่เลือกใช้ความจริงใจ ซื่อสัตย์ และยังคงความเป็นร้านเก่าแก่เพื่อรักษาพื้นที่ความทรงจำของคนเชียงใหม่
มนุษย์ต่างวัย : เกษมสโตร์เปิดมานานหรือยัง
ป้ามะลิวัลย์ : จริงๆ เกษมสโตร์เปิดมาหลายรุ่นแล้ว เดิมเป็นกิจการของคุณพ่อของ แม่กีที่ส่งต่อกันมา สมัยก่อนเกษมสโตร์เป็นแค่ร้านขายผักดอง ยังใช้ชื่อเดิมที่คุณพ่อของแม่กีตั้งไว้ แม่กีเล่าว่าเมื่อก่อนที่ร้านขายแค่ผักสดผักดองร้านเล็กๆ จนแม่กีรับช่วงต่อจากคุณพ่อ ในการดูแลร้าน ลูกค้าที่เข้ามาซื้อผักก็บอกว่าถ้าเอาอันนั้นมาขายน่าจะดีนะ คนนี้ก็บอกเอาอันนี้มาขายสิ เราก็เลยได้ งั้นเราจะเอามาขายให้เขาซื้อ มันก็เพิ่มมาเรื่อยๆ ก็ได้เลิกขายผักดองแล้วหันมาเปิดเป็นโชห่วยแทน และเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ว่า ‘เกษมสโตร์’ จนตอนนี้ที่ร้านก็มีทุกอย่างทั้งสินค้าในประเทศและต่าง ประเทศ ส่วนขนมปังเพิ่มเข้ามาก็ช่วง 50 กว่าปีให้หลัง ตั้งแต่พ.ศ.2512 ที่ป้าเข้ามาช่วยแม่กีดูแลร้านเกษมสโตร์ก็เลยเป็นทั้งโชห่วยและร้านขนมปังจนถึงทุกวันนี้
มนุษย์ต่างวัย : เกษมสโตร์เริ่มขายขนมปังได้ อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นขนมปัง
ป้ามะลิวัลย์ : เรามาเริ่มทำขนมปังขายจริงจัง เพราะตอนนั้นพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงจัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้ข้าราชการ อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยจำนวนคนที่มากทำให้คนครัวของพระราชวังทำไม่ทัน เชฟจากพระราชวังก็เลยมาถามป้าว่าทำขนมได้ไหม ซึ่งปกติเขาก็เป็นลูกค้ามาซื้อของที่ร้านประจำอยู่แล้ว พวกวัตถุดิบต่างๆ ในการทำขนมนั่นแหละ ตอนนั้นป้าทำขนมอะไรไม่เป็น เลยแต่เชฟส่วนพระองค์อาสาจะ เป็นคนสอนให้ ป้าได้รับหน้าที่ทำกะหรี่ปั๊บ จำได้ว่านั่งทำตั้งแต่บ่ายจนเช้าของอีกวัน ทำทั้งคืนไม่ได้นอนเลย พับจีบก็ไม่สวย จีบกะหรี่ปั๊บเขาพับกันยังไงเราพับไม่เป็น แต่เชฟก็บอกไม่เป็นไรเพราะต อนนั้นคงทำอะไรไม่ทันแล้ว (หัวเราะ)
พอเราได้เข้าไปเรียนรู้วิธีการต่างๆ เราเองก็รู้สึกชอบ สนุกกับการทำเราก็ได้มาหลาย อย่างก็จำจากตรงนั้นมา แล้วก็มาทำขาย จนตอนนี้ก็มีเมนูขนมปังหลาย แบบในร้านแล้วทุกแบบทุกชิ้น ก็เป็นโฮมเมดหมดเลย
มนุษย์ต่างวัย : ลูกค้าที่เข้ามาซื้อขนมปังท ี่เกษมสโตร์มีแบบไหนบ้าง
ป้ามะลิวัลย์ : จริงๆ ลูกค้าที่เข้ามาเป็นลูกค้าทั่วไปทั้งลูกค้าที่เข้ามาซื้อขนมปังและลูกค้าที่เข้ามา ซื้อของโชห่วย แล้วก็นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเชียงใหม่ เดินผ่านไปผ่านมาเห็นร้านเราขายขนมปัง เขาก็เข้ามาซื้อเพราะต่างชาติเขาก็กินขนมปังกันอยู่แล้ว ร้านของเราก็มีขนมปังหลายแบบให้เขาเลือก หลายคนก็เป็นลูกค้าดั้งเดิมเก่าแก่ของร้าน ซื้อมาตั้งแต่ร้านเปิดใหม่ๆ ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่น ลูกรุ่นหลาน บางคนเข้ามาซื้อขนมที่ร้านตั้งแต่เรียนอนุบาลจนตอนนี้ทำงานมีครอบครัว อายุก็ปาเข้าไป 30-40 ปีแล้วก็ยังมาซื้ออยู่ แต่งงานมีครอบครัวมีลูกก็พาลูกมาซื้อ เรียกว่าทุกรุ่นเลย บางคนย้ายบ้าน ย้ายที่ทำงานไปอยู่ต่างจังหวัดก็ยังโทรกลับมาสั่งขนม เราก็ไปส่งให้ เหมือนเป็นความผูกพันกันมาตั้งแต่แรกจนถึงทุกวันนี้ จนลูกค้าหลายคนก็บอกว่าเกษมสโตร์เกิดมาพร้อมๆ กับเชียงใหม่
มนุษย์ต่างวัย : คุณป้าคิดว่าอะไรที่ทำให้เกษมสโตร์ดำเนินธุรกิจมาจนถึง ทุกวันนี้
ป้ามะลิวัลย์ : ความซื่อสัตย์สำคัญที่สุดเลยสำหรับร้านของเรา คุณภาพของวัตถุดิบทุกอย่างมันจะฟ้องออกมาในรสชาติของขนมหมด เราใช้เนยยี่ห้อนี้นะวันหนึ่งมันขึ้นราคา ราคาสูงขึ้น เราจะเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นไม่ได้ เราต้องใช้ยี่ห้อเดิมคุณภาพ ทุกอย่างต้องพิถีพิถัน ต้องใส่ใจถ้าเราพลาดนิดเดียวขนมที่ออกมาก็ไม่เหมือนเดิม เราก็เลยคงคุณภาพและรสชาติไว้ตลอดตั้งแต่เมื่อก่อนจนถึงปัจจุบัน เราจะคิดอยู่เสมอว่าเราต้อง ซื่อสัตย์กับลูกค้า ต้องให้ความเชื่อใจกับเขา มอบสิ่งที่ดีให้เขา
มนุษย์ต่างวัย : คุณป้าอายุ 74 แล้ว เคยคิดที่จะเกษียณตัวเองบ้างไหม
ป้ามะลิวัลย์ : ไม่เคยเลยค่ะ ไม่เคยคิดเลยเพราะเราทำแบบนี้มาทุกวันตลอด 50 กว่าปีกลายเป็นกิจวัตรความเคยชินไปแล้ว เรามีความสุขกับการที่ได้ตื่นมาทำขนม ได้คิดได้ทำมันเหมือนสมองกับหัวใจเราได้ทำงานไปพร้อมๆ กัน อีกอย่างเป็นกิจการของครอบครัวด้วย มีลูกหลานมาช่วยกันทำขนม จัดของ เราเจอกันทุกวันได้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว พูดคุยทักทาย ช่วยกันต้อนรับลูกค้าซึ่งมันกลายเป็นชีวิตจิตใจไปแล้ว เรารักแล้วก็มีความสุขกับการทำตรงนี้เลยไม่เคยมีความคิด หรือรู้สึกว่าอยากพักอยากหยุดทำเลย ก็คิดว่าจะทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลย จนกว่าจะไม่ไหวนั่นแหละค่ะ
มนุษย์ต่างวัย : ทำไมการทำขนมถึงทำให้คุณป้า มีความสุข
ป้ามะลิวัลย์ : การทำขนมปังทำให้ป้าได้ทุกอย่างเลย ได้เจอลูกค้า ได้พบปะทักทาย ลูกค้าบอกอร่อย มันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการทำขนม ความสนุกจากการที่ต้องคิดว่าวันนี้จะทำขนมอะไร มันท้าทาย ชวนให้เราต้องคิดทุกวันว่าวันนี้เราจะทำขนมอะไรดี ช่วงเทศกาลเราก็จะมีเมนูพิเศษเข้ามา ตอนนี้เราทำธุรกิจเราไม่ได้ คำนึงเรื่องเงินเป็นหลักแล้ว เพราะลูกเราก็เรียนจบหมดแล้ว ทุกคนเป็นเหมือนครอบครัวเรา เห็นกันมาตั้งแต่บางคนเด็ก จนตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัว ทุกขั้นตอนเราเลยทำด้วยใจมองลูกค้าเป็นเหมือนครอบครัว ถ้าคนในครอบครัวมีความสุข เราเองก็มีความสุขไปด้วย มันเป็นความสุขยิบย่อยที่ได้มาจากแต่ละขั้นตอน ยิ่งผลตอบรับจากลูกค้าว่าอร่อย มันคือความสุขที่เรารู้สึกว่านี่แหละคือเหตุผลที่เราทำมาตลอด
มนุษย์ต่างวัย : เกษมสโตร์เป็นอย่างไรบ้างใน ความทรงจำของคนเชียงใหม่
ป้ามะลิวัลย์ : เกษมสโตร์อยู่คู่มากับกาดหลวงเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยก่อน สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ร้านเดิมที่อยู่ตรงข้ามศาลเจ้าจีน เราผ่านทุกเหตุการณ์มาพร้อมกับคนเชียงใหม่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่กาดหลวง ที่ทำให้ต้องย้ายร้าน เป็นร้านเดียวในเชียงใหม่ที่ขายสินค้าหายากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใครอยากได้อะไรก็ต้องมาซื้อ ที่นี่อยู่มาทุกรุ่นตั้งแต่ลูกค้าพาลูกพาหลานมาซื้อ จนตอนนี้ลูกหลานเติบโตมีลูก มีหลานเป็นของตัวเอง บางคนแยกย้ายไปทำงานต่างจังหวัด กลับมาเชียงใหม่ทุกครั้งก็ยังแวะเข้ามาที่ร้าน เขาบอกกับเราว่ากลับมาเชียงใหม่กี่ครั้ง เชียงใหม่เปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ที่นี่ไม่เคยเปลี่ยนเลย
ทุกวันนี้เกษมสโตร์ก็ยังคงเหมือนเดิม การจัดวางสินค้า บรรยากาศภายในร้าน รสชาติของขนมปังเบเกอรี สินค้าในร้านบางตัวเราขายจน เลิกผลิตไปแล้ว หลายคนที่มาเชียงใหม่แล้วคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตจะแวะเวียนเข้ามาที่ร้าน แวะมาพูดคุยทักทายแม่กี ชวนคุยเรื่องเก่าๆ เพื่อย้อนคิดถึงบรรยากาศเชียงใหม่ในอดีต