‘กรุณา บัวคำศรี’ จากหมู่บ้านตะเข็บชายแดนสู่นักข่าวหญิงผู้เดินทางไปทั่วโลก กับรายการ ‘รอบโลก BY กรุณา บัวคำศรี’

สำหรับคอข่าวชื่อ กรุณา บัวคำศรี คงเป็นชื่อที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี ในฐานะนักข่าวมากฝีมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวต่างประเทศ เธอคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงข่าวมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3-4 ปีหลัง รายการ รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี ได้เปิดโอกาสให้เธอได้ทำสิ่งที่เธอบอกว่าเป็น “ความฝัน” ที่เธออยากทำ เพราะเปิดโอกาสให้เธอเล่าเรื่องของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก และได้ทำให้ข่าวเป็นมากกว่าข่าว แต่คือพื้นที่ที่บอกเล่าความทุกข์ ความสุขของมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ จุดใดของโลก ผู้ชมก็สามารถสัมผัสสิ่งเหล่านั้นได้

มนุษย์ต่างวัยนั่งคุยกับเธอเพื่อค้นหาว่า ส่วนผสมอะไรที่ประกอบร่างสร้างให้กลายเป็น กรุณา บัวคำศรี ในทุกวันนี้ เรื่องราวของเธออาจจะทำให้คุณมองเห็นถึงคุณค่าของทุกประสบการณ์ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแต่ละช่วงวัยว่า ไม่มีประสบการณ์หรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นอย่างไร้ความหมายต่อชีวิต

เกิดตะเข็บชายแดนไทย – กัมพูชา

วัยเด็กเกิดและเติบโตที่ อ.อรัญประเทศ สักช่วงประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว เป็นช่วงที่กัมพูชามีสงครามกลางเมือง ตอนนั้นมีเขมรสามฝ่าย เราอยู่ชายแดน คุณพ่อเป็นคุณครูบ้านนอกอยู่บนแนวชายแดน มีครูคนเดียวทำหน้าที่ทุกอย่าง

บ้านที่เราอยู่เป็นจุดสุดท้ายก่อนที่จะถึงกัมพูชา ซึ่งขณะนั้นมีสงครามกลางเมือง ฉะนั้นภาพในความทรงจำในวัยเด็กก็คือเวลามีลูกกระสุน หรือระเบิดก็ต้องวิ่งไปลงบังเกอร์ นั่นคือชีวิตประจำวันของเรา ตอนหลังเลิกเรียนต้องกินข้าวให้เสร็จก่อน 6 โมงเย็นเพราะว่าเปิดไฟไม่ได้ มันจะเป็นเป้าของกระสุนทางฝั่งนั้น เราก็ต้องมานั่งบนชานบ้านดูเฮลิคอปเตอร์เขายิงกัน

เราเติบโตมาเป็นเด็กบ้านนอก เคยทำนาเลี้ยงควายมาแล้ว นอกจากนั้นเราก็มีอาชีพอีกอย่างหนึ่ง คือรับจ้างขนของ หรือที่เขาเรียกว่าพวกกองทัพมด จะขนพวกข้าวสารอาหารแห้งไปขายให้คนฝั่งกัมพูชา เพื่อที่จะได้เงินมาซื้อขนม ซื้อหนังสือ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ด้วยความที่อยู่โรงเรียนตามแนวชายแดนหนังสือในห้องสมุดก็มีไม่มาก นานๆ จะมีหนังสือมาเพิ่มที เราก็เลยอ่านหนังสือเกือบทั้งห้องสมุด บางเล่มอ่านเป็นสิบรอบอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วมันก็ทำให้เรารู้ว่ามันมีอะไรที่ใหญ่กว่าอรัญประเทศ

สงครามตามแนวชายแดน ภาพจำในวัยเด็ก

เราจำได้ว่าตอนที่เขมรแตกใหม่ๆ เรานั่งอยู่ชานบ้านที่ติดเขมรมาก มีคนเป็นหมื่นๆ เดินผ่านหน้าบ้าน เข้ามายังประเทศไทยเพื่อหนีสงคราม แล้วพ่อก็จะพาเราขึ้นมอเตอร์ไซค์เอาพวกอาหารหรืออะไรที่เราพอมีไปให้พวกเขา ภาพที่เราเห็นตอนนั้นคือสดใหม่เลย คือเดินเท้าเข้ามา วัด พระ ชาวบ้านช่วยกัน ทำที่อยู่ เอาอาหารไปให้เขากิน

เราก็ถามพ่อว่า เขามาทำอะไร พ่อก็จะบอกว่าเขายิงกัน เราก็เห็นเพราะบางทีระเบิดก็ลงข้างๆ บ้าน เราต้องขุดหลุมบังเกอร์ จำได้มีอยู่วันหนึ่งกลัวมากมีเสียงเฮลิคอปเตอร์อยู่บนหลังคาบ้านเสียงดังมาก คือเราได้เจอประสบการณ์จริง แล้วเราก็คิดว่ามันคงน่ากลัวมากเขาถึงต้องข้ามมาฝั่งเรา มันคงเป็นแบบนี้แหละเขาถึงต้องมาที่นี่ พ่อก็บอกว่า ใช่ ที่เราเห็นมันแค่ส่วนเดียว แต่ที่นั้นมันแย่มาก

แล้วช่วงนั้น UN เริ่มเข้ามาจัดระเบียบ มีการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยมากมายตามแนวชายแดน ช่วงนั้นฝรั่งเยอะมาก แล้วก็มีนักข่าว เรามองดูว่าเขาเท่ แต่ก็ไม่รู้ว่าเขามาทำอะไรนะ เราคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้มันคงเป็นส่วนหนึ่งที่ค่อยๆ ซึม เข้ามาในชีวิต

จากเด็กนักเรียนอรัญประเทศสู่นิสิตจุฬาฯ

ตอนนั้นเราอยากเข้าธรรมศาสตร์มากด้วยความเริ่มสนใจในเรื่องการเมือง แต่ก็ไม่ได้เข้า เพราะไปติดอักษร จุฬาฯตอนเข้าไปแรกๆ เราก็แปลกแยกนะ แต่มีอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเข้ากับเพื่อนๆ ได้ จนกลายเป็นที่เอ็นดูของเพื่อนๆ ก็คือการเล่นบาสเกตบอล แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา และทำให้เรามีเพื่อนหลายคณะคือเราเล่นด้วยเท้าเปล่า เพราะรองเท้าที่เราใส่มันเก่า ไม่เหมาะกับพื้นลื่นๆ ก็เลยถอดรองเท้าเล่นทำให้เพื่อนๆ กลุ่มหนึ่งที่วิศวะมองมา แล้วคงรู้สึกสะดุดตามั้ง

แต่ก่อนเราโดนเรียกว่า อีดำ เพราะว่าพี่นาตัวเล็กๆ ดำๆ แต่เพื่อนๆ รักเรามาก แต่งเพลงให้เราแล้วในที่สุดเราก็ได้เป็นเพื่อนกับคนกลุ่มนั้นซึ่งเป็นเพื่อนรักกันมาจนถึงปัจจุบัน พอขึ้น ปี 3 ก็มีพี่คนหนึ่งจู่ๆ ก็เดินมาหาเราแล้วบอกว่าจะฟอร์มทีมลงองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.)  แล้วเขาก็บอกให้เราเป็นรองนายกเพราะเห็นว่าเราสมควรที่จะเข้าไปทำในฝ่ายกิจการภายนอก คงเพราะเห็นว่าเราชอบพูดคุยกับคนโน้นคนนี้ เราก็ตอบคำรับปากไป

ปีนั้นเราชนะทั้งทีม ก็เลยได้ขึ้นมาเป็นองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ซึ่งปีนั้นมีรัฐประหารพอดี เราก็เลยได้เข้าไปทำกิจกรรมทางการเมืองเต็มตัว เราเริ่มมองเห็นว่าแกนของชีวิตเราคืออะไรมากขึ้น อะไรคือหลักการในชีวิต อะไรคือหลักการที่เราจะนำไปใช้กับการทำงานตั้งแต่วันนั้นจนวันที่เราตาย

ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่หล่อหลอมตัวเองให้เข้มข้นเรื่องประชาธิปไตย แต่มันก็จะมาคู่กับสิ่งที่เราคิดว่า จะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มาตลอด เราจึงเลือกงานที่เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และตอบสนองสิ่งที่เราเชื่อ มันก็มาลงที่อาชีพนักข่าว อาชีพนี้ถึงจะไม่รวยแต่เราก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ช่วง พ.ศ .2535 ตอนนั้นที่อยากเป็นนักข่าว เพราะมีเหตุการณ์ที่กลายเป็นการนองเลือด แล้วมีอะไรหลายอย่างที่มันไม่ควรจะเกิดก็คือการเสียชีวิตของคน ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าคนไม่ได้รับรู้ข่าวสารที่ตรงไปตรงมา ตอนนั้นโทรทัศน์มี 4-5 ช่อง ซึ่งจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล ไม่มีนิวส์มีเดียอะไรเลย หนังสือพิมพ์กว่าจะออกมาก็อีกวันหนึ่ง ตอนนั้นเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับสถานการณ์ตรงนั้น เรารู้สึกอึดอัดคับแค้นใจ ที่เรื่องบ้างเรื่องมันควรที่จะได้รับการสื่อสาร เพราะตอนนั้นเราเชื่อในความโปร่งใส และโอกาสที่ชีวิตมันควรจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

เรามองว่าเป็นนักข่าวแล้วไม่อยากมีชื่อเสียงเลยก็ผิดปกติ เพราะว่าการเป็นนักข่าวหรือเป็นคนที่มีชื่อเสียงมันทำให้งานของเราทำได้ง่ายขึ้น แต่จะมีชื่อเสียงอย่างเดียวโดยไม่มีการก่อประโยชน์ให้สังคม มันก็ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะสื่อมวลชนต้องมีส่วนผสมระหว่างสองอย่างนี้ ถ้าทำงานแล้วบอกว่าไม่อยากดังก็ไม่จริง เพราะการที่เรามีคนรู้จักเยอะ สิ่งที่เราทำก็จะมีคนฟังมากขึ้น

รายการรอบโลก By กรุณา บัวคำศรี

ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ไปมาน่าจะ 30 – 40 ประเทศ แต่เราจะพูดเสมอว่าเราไม่ค่อยอยากนับจำนวนประเทศเพราะว่าสิ่งที่เราทำ เราคิดจากประเด็นมากกว่า ฉะนั้นทุกครั้งที่วางแผนการเดินทางเราจะใช้ประเด็นเป็นตัวนำ จะเห็นบางประเทศเราไปบ่อยๆ เช่น ฟิลิปปินส์

ตอนที่ทำ ไม่ได้คิดถึงประเด็นปัญหาสากลเลย คิดว่าแค่อยากจะทำ ไม่ได้คิดด้วยว่าคนดูอยากดูหรือเปล่า รายการรอบโลก By กรุณา บัวคำศรี เป็นรายการในฝัน เพราะมีช่วงหนึ่งได้ไปทำงานกับสำนักข่าวต่างประเทศ เราก็มีโอกาสได้ไปช่วยในเรื่องของสารคดีสั้นเชิงข่าว เนื่องจากเราเป็นคนสนใจเรื่องการเมือง และช่วงหลังๆ สนใจต่างประเทศ เราชอบอ่านประวัติศาสตร์ เวลาเราดูข่าว นั่งดูแล้วทำไมไม่มีคนทำแบบนี้บ้างที่เป็นคนไทย ซึ่งเราอยากทำมาก ทำตามสัญชาตญาณของตัวเอง คือไม่ได้คิดว่าเรื่องที่ทำจะเป็นเรื่องประเด็นปัญหาสากลหรือไม่สากลแต่พอเรามาดูทีหลังก็คือเป็นเรื่องปัญหาสากลทั้งหมด อย่างเช่นเราไปทำเรื่องโสเภณี เราก็มองว่าประเทศมุสลิมถึงไม่ยอมรับการมีอยู่ของโสเภณี แต่มีอีกส่วนที่ทำให้เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เราก็พยายามหาจุดที่เป็นประเด็นบางอย่างที่เด่นและดึงออกมา แล้วเราก็ไปทำ

คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาดูเยอะ ต้องไปดูในทวิตเตอร์ ตั้งแต่เราเด็กจนปัจจุบันสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเราจะเป็นประเด็นที่เป็นสากลหมดเลย แล้วเรื่องพวกนี้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ หมายถึงทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ พวกนี้หล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่เขามีวิธีคิดอีกแบบไม่เหมือนคนรุ่นเรา พวกเขาไม่ได้ทำตามแฟชั่นแต่เพราะพวกเขาโตมากับข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้นเราจึงไปแปลกใจที่คนดูจำนวนมากเป็นเด็กรุ่นนี้

ถ้าต้องมีอะไรจะบอกคนรุ่นใหม่ คงไม่มี เพราะมันเป็นโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไนแง่ของความรู้ เพียงแต่ว่าความโชคไม่ดีของเด็กรุ่นนี้คือความปั่นป่วนที่เกิดจากการปกครอง การเมือง หรือทุนนิยม ที่เป็นกันทั่วโลกทำให้ความเลื่อมล้ำมันสูงขึ้น จำได้ว่าเราทำงานครั้งแรกที่บางกอกโพสต์เรามีเงินผ่อนบ้าน และผ่อนหมดภายใน 10 ปี ถามเด็กรุ่นนี้ว่าเด็กรุ่นนี้ทำได้หรือเปล่า โลกในยุคเราปั่นป่วนน้อยกว่าตอนนี้ เรามีเวลาบ่มเพาะตัวเอง ในแง่หนึ่งเรารู้สึกว่าเราโชคดีที่เกิดในยุคนั้น แต่ในอีกแง่เราก็ไม่มีอะไรเหมือนเด็กรุ่นนี้ เพราะฉะนั้นรุ่นเรากับรุ่นเด็กมันมีความท้าทายกันคนละแบบ

เราจึงไม่กล้าเอาประสบการณ์ของเราไปบอกเด็กหรอกว่าควรจะทำหรือไม่ควรจะทำอะไร พวกเขาควรจะบอกเราว่าเราควรจะทำอะไรด้วยซ้ำ

ไม่มีงานไหน “สบาย” หรือ “ลำบาก” มีแต่งาน “อยากทำ” หรือ “ไม่อยากทำ”

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า สิ่งที่เราทำอยู่นี้มันทำยาก แต่เรากลับคิดว่า ยิ่งยาก ยิ่งต้องทำ อะไรที่คนทำเยอะอยู่แล้วเราจะทำไปทำไม คือเรารู้สึกว่าทำไมเราต้องไปกองทำอะไรเหมือนกัน ตอนที่มาเริ่มทำรายการนี้แรกๆ เพราะมันไม่มีใครทำ เราเชื่อมากเลยว่าควรจะมีรายการแบบนี้มากๆ ในทีวีไทย

เราไม่เคยแบ่งว่างานไหนลำบากหรือสบาย สำหรับเรามีงานอยู่อย่างเดียวคืองานที่เราอยากทำ อยากนั่งอ่านข่าวอยู่ในห้องแอร์ เราก็จะทำ มันอยู่ที่ว่าช่วงชีวิตของเราในช่วงนั้นอยากทำอะไร และปัจจัยอะไรรอบตัวเราที่ทำให้อยากทำตรงนี้เพราะเป็นความรับผิดชอบ ที่เราต้องทำให้มันดีที่สุด

งานสำหรับเรามันไม่ใช่ภาระหน้าที่ เราเคยถามตัวเองว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราคิดว่า เราเกิดมาต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ดูแลตัวเอง ครอบครัว และอีกอย่างหนึ่งคือการงาน สังเกตเวลาเราทำอะไรสำเร็จเราจะรู้สึกมีความสุข เพราะฉะนั้นถ้าเราถามหาความหมายของชีวิต ไม่ต้องไปหาไกล อะไรที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามีความสุข โดยเฉพาะการทำให้คนอื่นด้วย มันทำให้เรามีแรงในการอยู่ต่อ สำหรับเราแล้ว งานกับชีวิตมันไม่ควรจะแยกกัน

Credits

Author

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ