ห่างจากตัวเมืองแค่ 15 กิโล แต่รับประกันความฟิน กับฟาร์มดอกไม้บานทั่วทุ่ง ท่ามกลางดอกคัตเตอร์และดอกมากาเร็ต และที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ดอกไม้…แต่ยังมีแนวคิดดีๆ จากคนรุ่นใหม่ ที่สร้างการท่องเที่ยว โดยให้ผู้สูงอายุในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างคุณค่าในชีวิตให้กับผู้สูงอายุ
I Love Flower Farm เป็นสวนดอกไม้ ดอกคัตเตอร์ ดอกมากาเร็ต อยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นฟาร์มดอกไม้น้องใหม่ ที่ตอนนี้หลายคนให้ความสนใจ กลายเป็นเทรนด์เที่ยวฟาร์มดอกไม้ ชุมชนของเราปลูกดอกไม้มาเป็น 20 ปี แต่ไม่มีใครเคยรู้จักเราเลย ไม่มีใครรู้ว่าชุมชนเรามีดอกไม้ทั้งที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่แค่ 10 กิโลเมตร คุณโจ้ จาก rainforest มาจุดประกายว่า สวนเราสวยมาก น่าจะเปิดให้คนมาเที่ยวชมสวน ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเปิดสวนเพื่อให้คนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น เพราะเราเชื่อว่าพอมีคนเข้ามาท่องเที่ยวชุมชนก็จะเกิดรายได้
มนุษย์ต่างวัย : ก่อนจะเป็นสวนดอกไม้สุดชิค ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง?
I Love Flower Farm : ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องราวตามข่าวว่า ชาวบ้านมักถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงที่บ้านของเรา เราเองก็เป็นลูกหลานที่เติบโตมาในชุมชนแห่งนี้ เราเห็นมาโดยตลอดว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาจนแทบไม่เหลือกำไร ด้วยความไม่รู้หนังสือ บางครั้งส่งดอกไม้ไปขายไม่ได้เงินกลับมาสักบาทก็มี บางครั้งเขาหักราคาเราก็มี เพราะบอกว่าขายไม่ได้ราคา
เราในฐานะรุ่นลูก เรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้ใครโดนเอาเปรียบ และไม่อยากที่จะปล่อยให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ทำเท่าไหร่ ก็จนเหมือนเดิม ก็เลยใช้ความรู้ความสามารถที่มีลุยออกไปหาตลาด ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้คนซื้อได้ราคาที่ถูก และพวกเราชาวสวนก็ได้ราคาที่เหมาะสม ฟาร์มแห่งนี้นอกจากจะเป็นที่เช็คอินสุดชิคแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนประตูที่ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น
มนุษย์ต่างวัย : อยากให้พาชาวมนุษย์ต่างวัยทัวร์ I love flower farm ว่าที่นี่มีอะไรบ้าง?
I Love Flower Farm : เราเพิ่งเปิดสวนเมื่อเดือน พฤศจิกายน แต่ตอนนี้ยอดจองเต็มยาวถึงเดือน มีนาคม เพราะเราจำกัดแค่ 200 คนต่อวัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวไม่ผิดหวังกลับไป ได้ถ่ายภาพกับวิวดอกไม้อย่างเต็มอิ่ม ที่ไม่ได้เต็มไปด้วยหัวคน (หัวเราะ) มาที่นี่เราคิดค่าเข้า 70 บาท ซึ่งจะได้รับ welcome set เป็นขนมพื้นบ้าน และ น้ำสมุนไพรเย็นๆ เสิร์ฟมาพร้อมกับหลอดที่ทำจากฟางข้าว ให้สัมผัสที่หอมละมุนเมื่อดูดน้ำสมุนไพร และที่สำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
แน่นอนว่ามาเที่ยวสวนดอกไม้ทั้งที ทุกคนก็จะได้โพสต์ท่ากับดอกมากาเร็ตสีม่วง และดอกคัตเตอร์สีขาวกันอย่างจุใจ ทางสวนก็มีจัดมุมให้ถ่ายรูป ไม่ว่าจะเป็นเนรมิตมุมจิบน้ำกลางสวนให้โพสต์ท่าแบบเก๋ๆ หรือใครจะหลบร้อนเข้ามานั่งพักด้านในที่ดีไซน์เป็นโรงเรือนสังกะสีก็ถ่ายรูปเก๋ๆ ไปได้อีกมุม นอกจากนั้นก็มีโซนกังหันลม เรียกได้ว่าถ้าใครมาถ่ายรูปรับรองได้ว่าลงรูปไปได้ทั้งเดือนแน่นอน (หัวเราะ) ใครที่สนใจอยากจะซื้อดอกไม้หรือของฝากเราก็มีไว้ให้บริการในราคามิตรภาพ
มนุษย์ต่างวัย : ที่สวนมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างไร?
I Love Flower Farm : สวนของเรามีการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตั้งแต่ก่อนที่จะถึงสวนจนไปถึงนักท่องเที่ยวกลับ ก็คือเรามีบริการรถพ่วงจากชาวบ้านที่จะให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากลานจอดรถเข้ามาในสวน เพื่อป้องกันการจราจรติดขัด เพราะทางค่อนข้างแคบ เนื่องจากเป็นวิถีชนบท ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ และนอกจากนั้นยังมีสวนเกิดใหม่ขึ้นในหมู่บ้านของเรา เป็นสวนของชาวบ้านจริงๆ ที่อยู่ในท้องที่ไม่ว่าจะเป็นสวนน้านัท สวนป้าปวง สวนยายปวน สวนป้ายัน สวนลุงลพ สวนลุงทน เนื่องจาก I love flower farm รับจำนวนจำกัดแค่ 200 คน นักเที่ยวเที่ยวที่จองไม่ทันก็ยังสามารถถ่ายรูปสวยๆ ที่สวนชาวบ้าน ซึ่งรายได้ก็จะเป็นของชาวบ้านทั้งหมด เราไม่ได้หักส่วนแบ่ง นอกจากนั้นยังมีโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในชุมชนก็ได้ประโยชน์ไปด้วย
มนุษย์ต่างวัย : ทำไมถึงไม่ทำทุกอย่าง บริการครบจบในหนึ่งสวน?
I Love Flower Farm : มีคนเคยถามเหมือนกันว่าทำไมเราไม่ทำเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่สวนเราเป็นที่รู้จัก คำตอบคือ ที่นี่คือบ้านของเราทุกคน เราอยากให้ชาวบ้านที่เป็นเหมือนพ่อแม่พี่น้องเราได้กินอิ่มนอนหลับ มีชีวิตที่ดีกันทุกคน ไม่ใช่แค่เรา
มนุษย์ต่างวัย : รู้สึกอย่างไรกับผลตอบรับที่ทุกคนให้ความสนใจ
I Love Flower Farm : รู้สึกดีใจมากและไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ มีคนให้ความสนใจมากขนาดนี้ สิ่งที่ดีใจที่สุดคงเป็นการเห็นพลังชุมชนที่เกิดขึ้นจริง เรารวมกลุ่มและจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างเป็นระบบ มีรายได้กระจายสู่ทุกคนในชุมชน ตั้งแต่คนขับรถ ร้านอาหาร ที่พัก สวนดอกไม้ แต่สิ่งที่สะเทือนใจมากที่สุดก็คือการที่มีกลุ่มเอกชนเข้ามาเปิดสวนในช่วงจังหวะที่กำลังมีคนสนใจการท่องเที่ยวสวนดอกไม้ ซึ่งไม่ได้เป็นการคืนกำไรหรือสร้างรายได้ให้ชุมชน ในฐานะคนริเริ่มที่กว่าจะประสบความสำเร็จ แน่นอนเราเหนื่อย เราเครียด วิตกกังวลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ก็อดเสียใจและสะเทือนใจไม่ได้ ที่ความตั้งใจดีของเรามีคนหยิบนำไปเป็นโอกาสในการหาประโยชน์ส่วนตน