Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

แฝด 3 ศุภนารี เรื่องของแม่กับลูกสาวกับชีวิตที่เปลี่ยนไป

เรื่องราวความรักความผูกพันของ 3 แม่-ลูกที่ไม่ว่าจะเดินไปไหนมาไหนใครๆ ต่างก็ทักพวกเธอว่าแฝด 3

พวกเธอตัดผมทรงเดียวกัน แต่งตัวเหมือนกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนกัน และมีความสุขในเรื่องเดียวกัน ฯลฯ

“ถ้าดูเผินๆ ไม่ได้สังเกตคนก็คงนึกว่าพวกเราเป็นแฝด เพราะเราใส่ชุดเหมือนกัน ตัดผมทรงเดียวกัน แต่ถ้ามาดูดีๆ จะรู้ว่าคนละคนเลย ลูกสาวสองคนยังดูคล้ายกันอยู่ แต่เราไม่ใช่ เราแก่แล้ว แต่บางคนพอเห็นว่าไม่เหมือนกันเขาก็แซวว่าเป็นแฝดอยู่ดี เพราะเราทำอะไรแบบเดียวกันเป๊ะ”


จามจุรี สท๊วต แฝดคนโตวัย 53 ซึ่งมีอายุห่างจากแฝดอีกสองคนราว 30 ปี บอกพร้อมกับหัวเราะออกมา

“เหตุผลในการเริ่มต้นเป็นแฝด 3 ของพวกเราก็มาจากการที่ลูกสาวทั้งสองเขาชวนเรามาทำอะไรสนุกๆ ด้วยการเปลี่ยนลุคให้เหมือนกัน แรกๆ เราก็คิดว่าจะดีเหรอ เพราะบางทีลูกเขาจะให้เราใส่ชุดว่ายน้ำ หรือชุดที่นุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนกันกับเขาแล้วมาถ่ายรูปด้วยกัน ซึ่งถ้าอยู่ในสมัยเราเป็นวัยรุ่นการแต่งตัวแบบนี้ถือว่าโป๊มาก แต่พอทำไป ได้ทำอะไรใหม่ๆ แบบที่เด็กยุคนี้ทำกันก็รู้สึกสนุกดี”

ในวัย 50 กว่าๆ จามจุรีใช้เวลาปรับตัวอยู่พอสมควร กว่าจะคุ้นชินกับการปรับลุคปรับตัวให้เข้ากับแฝดอีกสองคน

แฝดสองคนที่เติบโตมาท่ามกลางเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ในวัยเด็กเธอไม่เคยได้รับจากครอบครัวของตัวเองเลย

นกที่ไม่ได้บิน

จามจุรี สท๊วต เกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในย่านคลองเตย ด้วยความที่เป็นลูกผู้หญิงทำให้เธอได้รับความรักความเอาใจใส่และเสรีภาพในการดำเนินชีวิตแตกต่างจากพี่ชายคนโตอย่างเห็นได้ชัด

“คนจีนในสมัยก่อนจะรักลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง เพราะเขาถือว่าลูกชายสามารถที่จะสืบสกุลให้เขาต่อไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายคนโตสุดเขาจะให้ความรักมากเป็นพิเศษ อย่างพี่ชายเราเขาก็จะได้รับความการตามใจในหลายๆ อย่างมากกว่าเรา”

ในขณะที่พี่ชายได้เรียนสูง ลูกสาวคนโตอย่างจามจุรีกลับจบเพียงแค่ป.4 เธอต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยแม่ทำงานส่งเสียน้องๆ อีก 2 คนให้ได้เรียนหนังสือ

จามจุรีถูกเลี้ยงให้อยู่ในกรอบและระเบียบอย่างเคร่งครัด ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของผู้เป็นแม่เป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การแต่งตัว ไปจนถึงการเลือกคู่ครอง หากแม่ของเธอไม่เห็นด้วยทุกอย่างเป็นอันว่าจบ และหากลูกสาวอย่างเธอล้ำเส้นหรือฝ่าฝืนแม้แต่นิดเดียวก็จะโดนทำโทษอย่างรุนแรง

“แม่เราเขาเป็นคนค่อนข้างจะหัวโบราณ เขาจะเลี้ยงเราให้อยู่ในกรอบ มันไม่ใช่ว่าเขาไม่รักนะ เขารักและเป็นห่วง ไม่อยากให้เราออกนอกลู่นอกทาง ออกจากกรอบที่เขาวางไว้

“การเลี้ยงลูกสาวในยุคนั้นจะมีความเชื่อว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว ห้ามแต่งตัวโป๊ ต้องแต่งตัวมิดชิด เราจะไม่เคยได้ใส่กางเกงขาสั้นเลย ขนาดนอนยังต้องใส่กางเกงขายาว เสื้อก็ต้องใส่คอกลม ไม่มีการใส่คอกว้างเหมือนในสมัยนี้ นอกจากเสื้อปกติแล้วก็ยังต้องใส่เสื้อทับอีกตัวก่อนจะถึงเสื้อใน มีอยู่วันหนึ่งเราเคยแอบซื้อกางเกงขาสั้นมาใส่ พอแม่เดินมาเห็นเราโดนไม้หวายตีจนเป็นแนว ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเราต้องขึ้นอยู่กับเขา เราไม่มีสิทธิ์เลือกหรือออกความเห็น แม้แต่คู่ชีวิตเราก็ต้องแต่งงานกับคนที่แม่หาให้”

จามจุรีต้องทนแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่ได้รักเพียงเพราะไม่อยากขัดใจผู้เป็นแม่ ชายหนุ่มที่แม่จัดหามาให้เป็นคนย่านเยาวราช ขยันขันแข็ง นิสัยใจคอก็ไม่ได้เลวร้าย หน้าตาก็พอใช้ได้ เรียกว่าไม่มีอะไรที่ดูแย่ เพียงแต่ว่าเขาไม่ใช่ผู้ชายที่เธอรัก

“แม่บอกว่าอยู่ด้วยกันไปเดี๋ยวก็รักกันเอง เราเองก็ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้หรือเจอใครในชีวิต เคยมีคนมาจีบ แต่พอเขียนจดหมายมาที่บ้านแม่ก็เอาไปฉีกทิ้ง สุดท้ายเราก็ยอมแต่งงานตามที่แม่ต้องการ เขาเป็นคนจีนย่านเยาวราช นิสัยดี เจอกันครั้งแรกก็คือวันที่พ่อแม่ของเขากับของเรามาคุยกัน เจอแล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกปิ๊งหรือว่าชอบอะไร เขาเองก็รู้สึกแบบเดียวกัน มันกลายเป็นว่าเราสองคนแต่งงานกันเพื่อพ่อแม่มากกว่าที่จะรักกันจริงๆ”

หากเปรียบเป็นนก จามจุรีก็เหมือนกับนกที่ถูกขังอยู่ในกรงแคบๆ ไม่มีสิทธิที่จะได้ออกโบยบินไปบนฟ้ากว้างตามอย่างที่ใจต้องการ ทุกอย่างต้องทำตามที่แม่กำหนดไว้ให้ทั้งหมด ชีวิตคู่ของเธอจึงเหมือนเป็นการทนอยู่มากกว่าที่จะอยู่ทน

“ด้วยความที่เราไม่ได้รักกัน พออยู่ด้วยกันไปมันจึงกลายเป็นความอึดอัด เราสองคนทะเลาะกันบ่อย ซึ่งก็เรื่องไม่เป็นเรื่องทั้งนั้น ยิ่งอยู่ไปนานวันเข้าเราสองคนก็ยิ่งไม่เข้ากัน แล้วในสมัยนั้นการแต่งงานแล้วเลิกกันมันคือความอับอายและล้มเหลวผู้ใหญ่เขาจะรู้สึกเสียหน้า เราก็เลยต้องทนอยู่กันไป แต่สุดท้ายเราทั้งสองก็ทนไม่ไหว ทนอยู่กันต่อไปก็มีแต่จะยิ่งแย่ลง เราจึงตัดสินใจว่าจะไม่ทนอีกต่อไปแล้ว”

การเลิกกับอดีตสามีแทบจะเป็นเหตุการณ์แรกๆ ในชีวิตที่จามจุรีตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง เธอเดินไปบอกสิ่งที่ต้องการกับคู่ครอง เคลียร์กันด้วยดี ก่อนที่ทั้งคู่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริงด้วยการเดินจูงมือไปบอกให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายรับทราบความจริงด้วยกัน

“เราเปิดอกคุยกันกับอดีตสามีอย่างตรงไปตรงมาว่าทุกวันนี้เราอยู่ด้วยกันเพื่ออะไร แล้วเรารู้สึกยังไงต่อสิ่งที่เป็นอยู่ก่อนที่เราจะได้ข้อสรุปว่าเราควรยุติความสัมพันธ์ของเราเอาไว้แค่นี้ หลังจากนั้นเราสองคนก็นัดผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายแล้วก็บอกให้รู้ถึงสิ่งที่เราสองคนตัดสินใจ”

เมื่อได้รับฟังความเป็นจริง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่คัดค้าน ทั้งคู่จากกันด้วยดีและกลายมาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

สำหรับจามจุรีแม้ชีวิตคู่ของเธอจะล้มเหลวและต้องปิดฉากลง แต่อย่างน้อยเธอก็ได้ของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิต

ของขวัญที่ว่าคือลูกสาวคนแรก เธอมีชื่อว่าเฟิน-ศุภนารี สุทธวิจิตรวงษ์

  ปล่อยลูกให้บินไปตามแต่ใจต้องการ

ตอนที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกได้ 3-4 เดือน จามจุรีบอกกับตัวเองว่าจะไม่เลี้ยงลูกเหมือนกับที่ตัวเองถูกเลี้ยงมาอย่างเด็ดขาด

เธอจะไม่ขังลูกอยู่ในกรง แต่จะปล่อยให้ลูกได้ออกบินไปตามแต่ใจปรารถนา

“ตอนท้องน้องเฟินได้ซัก 3-4 เดือนเราบอกกับตัวเองเลยว่าจะไม่เลี้ยงเขาเหมือนที่แม่เลี้ยงเรามา เราจะไม่จับเขาขังไว้ในกรง ชีวิตมันเป็นของเขา เขาจะต้องได้ทำอะไรอย่างที่เขาชอบ ได้บินออกไปดูว่าตรงไหนมีอาหารอร่อย ได้บินออกไปดูโลกว่ามันสวยงามแค่ไหน แต่เราก็ไม่ได้ปล่อยให้เขาบินออกไปเลยคนเดียวนะ แต่จะแอบบินอยู่ห่างๆ คอยประคองเขาไว้โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกอึดอัด”

ในเวลาต่อมาจามจุรีแต่งงานใหม่อีกครั้งกับชายชาวต่างชาติและมีลูกสาวด้วยกัน 1 คนคือซาร่า-รัศมี สท๊วต ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 15 ปี ห่างจากพี่สาว 1 รอบนักษัตรพอดิบพอดี จามจุรีมักบอกกับลูกสาวทั้งสองของเธอเสมอว่าตราบใดที่คิดว่าทำอะไรแล้วมีความสุข ไม่เดือดร้อนใคร และไม่ผิดกฎหมาย จงทำไปเลย ใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับที่เกิดมา และอย่าไปคิดว่าจะทำอะไรแล้วต้องมานั่งเกรงใจกัน

“เราอยากให้เขาได้ใช้ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ใช้ตอนอายุเท่ากันกับเขา อยากใส่ชุดอะไรใส่ อยากทำอะไรทำ ส่วนเรื่องผู้ชายเราก็จะบอกให้เขาได้เรียนรู้ คบได้ คุยได้ เป็นเพื่อนกันได้ ซึ่งเขาก็จะรู้ว่าประมาณไหนที่จะไม่มีเรื่องเสียหาย”

ด้วยความที่ลูกสาวหน้าตาดีทั้งคู่ รวมทั้งมีการแต่งตัวที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ เก๋ไก๋ มีสไตล์ทำให้ทั้งสองได้รับการทาบทามไปเป็นนางแบบตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟิน-ศุภนารี ที่มีดีกรีชนะเลิศการประกวด FHM Girls Next Door ในปี 2014 ซึ่งเป็นนิตยสารแนวเซ็กซี่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย ทำให้เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะนางแบบดาวรุ่งที่น่าจับตามอง

“ก่อนที่เขาจะลงสมัครประกวดของ FHM เขาก็มาถามเราว่าจะลองลงประกวดดูดีไหม แล้วเขาก็เอาภาพชุดที่ต้องใส่ให้ดู ซึ่งถ้าอยู่ในสมัยเราต้องถือว่าโป๊มาก เรียกว่าถ้ากลับกันเป็นเราใส่ชุดแบบนี้แล้วเอาไปให้แม่ดูนี่ก็เตรียมตัวหลับคาโอ่งได้เลย (หัวเราะ) แต่เราก็บอกเขาไปว่าภาพดูสวยมาก ซึ่งมันก็ดูสวยจริงๆ”

ความสัมพันธ์ระหว่างจามจุรีและลูกๆ ทั้งสองคนดูไปแล้วจะคล้ายกับเพื่อนมากกว่าที่จะเป็นแม่กับลูก แม้จะได้รับการเลี้ยงดูมาไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งคือนกในกรงที่ไม่เคยได้ออกไปไหน ส่วนอีกฝ่ายคือนกสองตัวที่โบยบินอยู่บนฟ้ากว้าง แต่ทั้งหมดกลับเต็มไปด้วยความเข้าใจและเข้ากันได้ดี

“ถ้าเราปล่อยเขาเป็นอิสระถึงเวลาหนึ่งเขาจะบินกลับมาหาเราเอง แต่ถ้าเราก้าวก่าย ล้อมกรอบ หรือขังเขาไว้เขาจะออกห่างเรา เวลามีอะไรเขาจะกลัวและไม่กล้าบอกในสิ่งที่เขาคิดเขารู้สึก”

คำพูดของจามจุรีเชื่อถือได้และเป็นจริง เมื่อในวันหนึ่งลูกสาวทั้งสองได้ตรงเข้ามาบอกเธอถึงสิ่งที่พวกเขาคิดไว้

มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตร้ายแรง เพียงแต่เป็นสิ่งที่หญิงวัย 53 ปีอย่างจามจุรีไม่เคยทำ

“แม่…เรามาเป็นแฝดสามกันเถอะ”


  แฝดสาม

“มันเริ่มจากตอนที่เราตัดผมสั้น แล้วหลังจากนั้นเราก็ชวนแม่ตัด แล้วก็ลามมาถึงน้องสาวให้ไปตัดด้วย แรกๆ แม่เขาก็ไม่อยากตัด แต่สุดท้ายเขาก็ยอม พอทุกคนตัดผมมาเหมือนกัน เราก็คิดว่าไหนๆ ก็ตัดผมเหมือนกันแล้ว ถ้าแต่งตัวเหมือนกันด้วยก็คงจะน่ารักดี ก็เลยชวนทุกคนมาแต่งตัวเหมือนกัน”

เฟิน-ศุภนารี ลูกสาวคนโตวัย 27 ปี อธิบายจุดเริ่มต้นของการเป็นแฝด 3 แห่งบ้านศุภนารี โดยหลังจากนั้นทั้งสามแม่ลูกก็หาชุดต่างๆ มากมาย มาถ่ายรูปด้วยกันไม่ว่าจะเป็นชุดว่ายน้ำลายจุด ชุดแนบเนื้อลายเสือดาว ชุดสายเดี่ยวชิคๆ ฯลฯ ก่อนนำลงในเพจ Supanaree story ซึ่งก็มีคนพาเหรดเข้ามากดไลค์และคอมเม้นท์ให้กำลังใจกันมากมาย

“เวลาหาชุด เราก็จะหาชุดเหมือนกัน แล้วแก๊งค์เราก็มีชื่อว่าแก๊งค์ S M L เพราะชุดไซส์ S จะเป็นของน้องสาว ไซส์ M จะเป็นของเรา และไซส์ L จะเป็นของแม่

“เวลาเดินไปไหนคนก็จะแซวว่าเป็นแฝดสาม”

แน่นอนว่าในมุมของลูกๆ นับเป็นความสนุก หากแต่ในมุมของแม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบมาตลอด การทำอะไรอย่างที่ชีวิตไม่เคยทำ อาจไม่ใช่อะไรที่ปรับตัวได้ง่ายนัก ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป สีสันในโลกใบใหม่ก็ทำให้เธอรู้สึกตื่นตาตื่นใจเสียยิ่งกว่าลูกสาว

“เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แต่พอได้ทำไปมันก็รู้สึกสนุกดี อย่างเราไม่เคยใส่ชุดว่ายน้ำเพราะรู้สึกว่ามันโป๊ ยังบอกว่าเฟินอย่าถ่ายรูปแม่นะ แต่พอมาดูก็รู้สึกว่าจริงๆ มันก็สวยดี ความคิดเราก็เลยเปลี่ยน อีกอย่างเราได้มีกิจกรรมทำอะไรร่วมกันกับลูกมากขึ้น มันกลายเป็นว่าชีวิตของเราตอนเริ่มแก่กลับมีความสุขความตื่นเต้นมากกว่าตอนเริ่มสาว”

ในวัย 53 แฝดคนโตอย่างจามจุรีรู้สึกสนุกกับชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เธอได้ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ

รวมไปถึงการมีรอยสักอยู่บนร่างกาย


  รอยสักของแม่

สำหรับมนุษย์ในสมัยนี้การมีรอยสักประดับอยู่บนร่างกาย ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แต่สำหรับคนที่อยู่กรอบมาแทบทั้งชีวิตอย่างจามจุรี การตัดสินใจสักเป็นครั้งแรกในตอนอายุ 50 กว่าๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

“กลายเป็นทุกวันนี้เราไปไกลกว่าลูกแล้ว ลูกเราสองคนยังไม่มีรอยสักเลย” แฝดคนโตแห่งบ้านศุภนารีพูดกลั้วหัวเราะ

“เราเดินผ่านร้านสักแล้วเฟินเขาก็บอกว่าร้านนี้สักสวยดี เขาก็ชวนว่าแม่ลองสักไหม สักครั้งในชีวิต ตอนแรกเราก็ปฏิเสธไปเพราะงานเราบางทีมันต้องมีติดต่อกับราชการ ถ้าสักแล้วจะดูไม่น่าเชื่อถือไม่น่าเคารพ อีกอย่างเราเองก็แก่แล้วจะมาสักอะไรกันตอนอายุ 50 กว่า แต่ก็ยอมรับว่าไอ้คำว่า ‘สักครั้งในชีวิต’ นี่มันแล่นอยู่ในหัว ในที่สุดเราก็คิดมุมกลับว่าแล้วทำไมเราจะต้องสนใจด้วยว่าคนจะเคารพหรือไม่เคารพ ถ้าจะสักเราเองก็สักในที่มิดชิด พอคิดแล้วมันก็อยากลองดู จากนั้นก็โทรบอกลูกว่าแม่ตัดสินใจว่าจะสัก”

ไหนๆ จะสักทั้งที จามจุรีไม่ได้สักแค่รอยเดียว หากแต่เลือกที่จะสักถึงสองที่ ที่แรกคือสีข้างด้านซ้ายสักเป็นชื่อของลูกสาวคนโต ขณะที่สีข้างด้านขวาเป็นชื่อของลูกสาวคนเล็ก

“ช่างที่สักให้เขาบอกว่าเปลี่ยนที่ได้นะ เพราะตำแหน่งตรงนี้มันเจ็บมาก แล้วอีกอย่างเราเองก็มีภาวะความดันโลหิตสูงด้วย เสี่ยงจะเป็นสโตรกแต่เราก็ไม่เปลี่ยนใจ เราอยากลอง อยากเอาชนะอะไรบางอย่างที่ไม่เคยคิดจะทำ แล้วก็อยากให้ชื่อลูกทั้งสองคนซึ่งเป็นคนที่เรารักที่สุดสลักอยู่บนร่างกายของเรา แล้วก็ตายไปพร้อมกับตัวเราไปเลย”

ช่วงเวลา 2 ชั่วโมงเศษที่เข็มจากเครื่องสักทิ่มลากลงไปบนเนื้อ จามจุรีบอกว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนกับวันที่เธอคลอดลูกสาวทั้งสองออกมาดูโลก

“ตอนที่สักทั้งเฟินทั้งซาร่าจะจับมือเราไว้ตลอด มันให้ความรู้สึกอบอุ่นมาก ความรู้สึกของเราในวันนั้นเป็นความรู้สึกเดียวกับวันที่ลูกเกิดมาเลย”

ไม่ใช่แค่เรื่องของการสักชื่อลูกที่รักไว้บนร่างกาย แต่นับตั้งแต่การได้เป็นแฝด 3 ได้ทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่างในชีวิตทำให้จามจุรีกลับไปเอาชนะความกลัวที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่เด็กอีกด้วย

“เราเป็นคนกลัวการลงน้ำมาก เพราะตอนอายุ 9 ขวบเราเคยนั่งเรือแล้วเรือคว่ำจนเกือบจมน้ำตาย โชคดีที่มีคนช่วยไว้ทัน แต่นับจากวันนั้นเราก็กลัวการลงน้ำมาตลอด กลัวชนิดที่หน้าซีด ตัวสั่น ความดันพุ่งขึ้นไปถึง 200 กว่า

“แต่พอเราได้มาเป็นแฝด 3 การได้ลดวัยกลับไปเป็นเด็ก เป็นเพื่อนกับลูก มันก็ทำให้ชีวิตมีพลัง อยากเอาชนะความกลัวทั้งหลายที่มีอยู่ในตัวเอง ทำไมเราจะต้องไปกลัวด้วย ทุกวันนี้พอเลิกงานสิ่งแรกที่เราทำก็คือไปสระว่ายน้ำ ไปหัดว่ายน้ำ หัดจับโฟม หัดตีขา คือเราอาจจะยังว่ายไม่ได้เหมือนกับคนที่เขาว่ายน้ำเป็นหรอก แต่เราก็ไม่ได้มีความรู้สึกกลัวอีกต่อไป”

คำพูดทิ้งท้ายของแฝดคนโตแห่งบ้านศุภนารีอาจไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องการลงน้ำอย่างเดียวเท่านั้น

เชื่อสิ .. เธอไม่ได้แค่ไม่กลัวที่จะกลับไปว่ายน้ำอย่างเดียวหรอก ยังมีอย่างอื่นที่สำคัญยิ่งกว่านั้น

เธอไม่ได้กลัวที่จะใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ